Skip to main content
sharethis

เมื่อเดือน มี.ค. 67 สหรัฐฯ กำลังพิจารณาผ่านร่างกฎหมายปิดกั้น TikTok เหตุกังวลจีนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคลลพลเมืองอเมริกัน แต่ย้อนไปปี’63 แอปฯ TikTok หยุดให้บริการในฮ่องกง เพราะถูกบีบจากกฎหมายความมั่นคงเช่นกัน คาดเลี่ยงให้ข้อมูลผู้ใช้แพลตฟอร์มกับ จนท.รัฐ

 

ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา สภาล่างของสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมาย (H.R.7521) เพื่อบีบให้เจ้าของโซเชียลมีเดีย TikTok ต้องตัดความสัมพันธ์กับบริษัทแม่สัญชาติจีน "ไบต์แดนซ์" (ByteDance) ไม่เช่นนั้นจะถูกแบนในสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็บอกว่าเขาจะลงนามรับรองกฎหมายนี้ถ้าหากมันผ่านร่างในระดับวุฒิสภา การออกกฎหมายนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลว่า รัฐบาลปักกิ่งจะมีอิทธิพลเหนือแอปฯ TikTok ที่ได้รับความนิยม และกลัวว่าจะใช้มันในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกันได้

ก่อนหน้านี้ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้สั่งห้ามเจ้าหน้าที่กระทรวงติดตั้งแอปฯ TikTok โดยเด็ดขาด 

TikTok เป็นโซเชียลมีเดียที่เน้นการเผยแพร่วิดีโอ รูปภาพ หรือการไลฟ์สด จากบริษัทไบต์แดนซ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไบต์แดนซ์เคยเปิดตัวโซเชียลรูปแบบเดียวกันมาก่อนในจีนด้วยชื่อแอพฯ ว่า Douyin ก่อนที่ต่อมาจะเปิดตัว TikTok ในฐานะโซเชียลมีเดียแบบเดียวกับ Douyin แต่เป็นเวอร์ชันนานาชาติ นั่นทำให้ในจีนมีการใช้ Douyin แต่จะไม่มี TikTok ใช้ นอกจากนี้ยังมีการแบน TikTok ในจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย โดยที่ในฮ่องกงยังคงใช้ TikTok ได้มาจนถึงปี 2563

ทางการจีนซึ่งแบนทั้ง TikTok และโซเชียลมีเดียตะวันตกอื่นๆ ในบ้านตัวเอง ระบุถึงเรื่องที่สหรัฐฯ จะออกกฎสกัดกั้นบริษัทสัญชาติจีนจาก TikTok ว่า พวกเขา "จะใช้มาตรการที่จำเป็นในทุกทางด้วยความแน่วแน่ในการที่จะรักษาสิทธิและผลประโยชน์ที่มีความชอบธรรมของตัวเอง"

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์การใช้กฎหมายบีบ TikTok ให้ยุติการให้บริการ ไม่ได้กำลังเกิดขึ้นแค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่เมื่อปี 2563 หลังฮ่องกงประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง เคยทำให้ TikTok ต้องยุติการให้บริการเช่นกัน 

ปัจจุบัน ใครก็ตามในฮ่องกงที่อยากเข้าชมคลิป TikTok จะต้องพบกับข้อความว่า "พวกเราเสียใจที่จะต้องบอกคุณว่า พวกเราได้ยุติการให้บริการ TikTok ในฮ่องกงแล้ว ขอบคุณที่ใช้เวลาของคุณไปกับเราบนพื้นที่แห่งนี้และให้โอกาสพวกเราในการสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของคุณ"

ถ้าหากมีผู้ที่อยู่ในฮ่องกงพยายามเข้า TikTok ด้วยชื่อโดเมนในเบราเซอร์อินเทอร์เน็ต มันจะเด้งไปที่หน้าเว็บไซต์ของบริษัทแทน ทำให้ชาวฮ่องกงต้องหันไปใช้พื้นที่โซเชียลอื่นๆ อย่าง ยูทูบ หรือ อินสตาแกรม

TikTok ยุติให้บริการในฮ่องกงปี'63 หลังประกาศใช้ กม.ความมั่นคง

แถลงการณ์ยุติบริการ TikTok จากบริษัทไบต์แดนซ์ ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2563 ไม่กี่วันหลังจากที่ทางการจีนประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงคือเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า "สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อไม่นานนี้ พวกเราตัดสินใจที่จะหยุดให้บริการแอป TikTok ในฮ่องกง" และหลายวันถัดจากนั้นก็มีการระงับการให้บริการตามมา อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ TikTok ไม่ได้ให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่าทำไมถึงมีการถอนแอปฯ ออกจากฮ่องกง

ทั้งนี้ กฎหมายความมั่นคงฮ่องกง เมื่อปี 2560 ให้อำนาจตำรวจในการขอลบเนื้อหาออนไลน์ได้ถ้าหากว่ามันมี ‘มูลเหตุ’ ให้ต้องสงสัยว่าเนื้อหาเหล่านั้นได้ฝ่าฝืนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ตำรวจอาจจะขอให้ผู้ให้บริการพื้นที่แพลตฟอร์มนั้นๆ ส่งบันทึกการระบุตัวตนหรือความช่วยเหลือในการเข้ารหัสข้อมูลด้วย ไม่เช่นนั้นจะถูกสั่งปรับเป็นวงเงินสูงสุด 100,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 470,000 บาท) และจำคุก 6 เดือน

เพื่อเป็นการโต้ตอบต่อกฎหมายความมั่นคงฉบับของจีน บรรษัทไอทีของตะวันตกส่วนใหญ่ระงับการปฏิบัติตามคำขอข้อมูลของทางการที่อาศัยอำนาจภายใต้กฎหมายความมั่นคงนี้ แพลตฟอร์มไอทีใหญ่ๆ ที่หยุดปฏิบัติตามคำสั่งเหล่านี้คือ กูเกิล, เฟซบุ๊ก, วอทส์แอป, ทวิตเตอร์ (ปัจจุบันคือ X), เทเลแกรม, Zoom และ LinkedIn ของไมโครซอฟต์

ในตอนนั้นโฆษกของกูเกิล กล่าวว่า "พวกเราเชื่อว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและสนับสนุนสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวเรื่องความปลอดภัยหรือการถูกโต้ตอบอื่นๆ"

โฆษกของทวิตเตอร์ในสมัยนั้นระบุว่า พวกเขา "ใส่ใจและมีความรับผิดชอบที่จะต้องปกป้องประชาชนผู้ที่ใช้บริการของพวกเราและปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพวกเขา"

สื่อ HKFP ได้สอบถามบรรษัทโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมตา (เจ้าของเฟสบุค), กูเกิล, X และไมโครซอฟต์ว่านโยบายการไม่ให้ความร่วมมือกับทางการฮ่องกงนั้น ขยายความไปถึงกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ล่าสุดที่รัฐบาลฮ่องกงร่างขึ้นมาเองที่เรียกว่ากฎหมายมาตรา 23 ด้วยหรือไม่ ซึ่งบรรษัทโซเชียลมีเดียเหล่านี้ก็ยังไม่ได้ให้คำตอบกลับมา

ในสมัยที่มีการพยายามดันกฎหมายความมั่นคงจากจีนปี 2563 นั้น ไม่มีกระบวนการตรวจสอบทางนิติบัญญัติใดๆ ทั้งสิ้น มีกระบวนการผ่านร่างกฎหมายนี้ออกมา 1 ปีหลังจากเกิดการประท้วงใหญ่จากฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยและเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้น กฎหมายดังกล่าวนี้มีบทลงโทษทางอาญาต่อ การกระทำเชิงบ่อนทำลาย, ยุยงปลุกปั่น, สมคบคิดกับต่างชาติ และการก่อการร้าย ซึ่งมีการนิยามไว้กว้างๆ ให้รวมถึงการกีดขวางการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ด้วย

กฎหมายความมั่นคงจากฮ่องกง ฉบับปี 2563 ให้อำนาจตำรวจในการกวาดจับประชาชนหลายร้อยคนโดยอาศัยข้ออ้างกฎหมายใหม่นี้ ในขณะเดียวกันกลุ่มภาคประชาสังคมก็หดหายไป ทางการฮ่องกงอ้างว่าพวกเขาใช้กฎหมายนี้เพื่อคืนเสถียรภาพและความสงบในเมืองนี้ และปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มประเทศคู่ค้า รวมถึงจากองค์การสหประชาชาติและเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ ด้วย

ไบต์แดนซ์ เคยปฏิเสธเสมอมาว่า พวกเขาไม่ได้ส่งข้อมูลส่วนตัวใดๆ ของผู้ใช้งาน TikTok ให้กับทางการจีน อย่างไรก็ตาม กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนนั้นได้กำหนดให้บริษัทจีนต้องให้ความร่วมมือกับทางการถ้าหากว่ามีการขอข้อมูลโดยทางการ

"เราไม่เคยให้ข้อมูลผู้ใช้ (TikTok) กับรัฐบาลจีน และจะไม่ทำต่อให้มีการขอข้อมูล (จากรัฐบาลจีน) เข้ามาก็ตาม" สื่ออ้างคำชี้แจงของโฆษกแอป TikTok 

บริษัทไบต์แดนซ์ มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่งของจีน แต่ก็มีสำนักงานสาขาย่อยในยุโรปและในสหรัฐฯ ด้วย โดยมีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการที่หมู่เกาะเคย์แมน

มีการประเมินว่า TikTok มีผู้ใช้งานราว 1,000 ล้านคนทั่วโลก แต่ก็มีการบล็อกผู้ใช้งานในฮ่องกงผ่านวิธีการบล็อกตามเลขไอพีและซิมการ์ดของโทรศัพท์มือถือชาวฮ่องกง ผู้ใช้งานในฮ่องกงที่ต้องการใช้งาน TikTok จะยังคงสามารถทำได้ด้วยการถอดซิมการ์ดของฮ่องกงออกและใช้เครื่องมือ VPN เพื่อ 'มุด' การปิดกั้นแทน

อย่างไรก็ตาม TikTok ในเวอร์นจีนแผ่นดินใหญ่ คือ Douyin นั้นยังสามารถใช้งานได้
 

เรียบเรียงจาก

Explainer: Why is TikTok blocked in Hong Kong?, HKFP, 15-03-2024
https://hongkongfp.com/2024/03/15/explainer-why-is-tiktok-blocked-in-hong-kong/


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/TikTok

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net