Skip to main content
sharethis

เวทีถอดบทเรียนเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 35 กับการพัฒนาประชาธิปไตย” ประธานญาติวีรชนฯลั่น ไม่พอใจสภาพบ้านเมืองปัจจุบันเนื่องจากถอยหลังเข้าคลองมากเพราะความเลวร้ายของกลุ่มคนบาป  'จาตุรนต์-อภิสิทธิ์-โภคิน-พิชาย' ประสานเสียงปฏิรูปกองทัพและศาล จี้หยุดตีความรับรองการรัฐประหาร แนะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกลไกประเพณีการปกครองให้ศาลใช้ตีความในอนาคต  เย้ยทหารไร้ฝีมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ขอทุกพรรคการเมืองร่วมกันผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

25 มี.ค.2565 เวทีสภาที่ 3 The Third Council Speaks รายงานข่าวต่อสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มศว.ประสามิตร จัดเวทีสาธารณะ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม “ประสานมิตร : ถอดบทเรียนเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 35 กับการพัฒนาประชาธิปไตย" ที่ห้องประชุม ศ.ดร.ประสาท หลักศิลา (ชั้น 2) คณะสังคมศาสตร์ มศว (ประสานมิตร) โดยมี ฝ่ายการเมือง คนเดือนพฤษภา 2535,  อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมอภิปรายทางออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ร่วมด้วย

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์  ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดงานว่า ดีใจที่สังคมเห็นความชัดเจนว่า การรัฐประหารไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดีขึ้น ไม่ใช่ทางออกของบ้านเมืองในการแก้ไขปัญหาทั้งนี้ ตนพยายามทำให้สังคมยอมรับว่าทหารอาชีพคือทหารของพระราชา ซึ่งต้องแยกกับทหารการเมือง เพราะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงตนเชื่อว่าการรัฐประหารมาถึงจุดสุดท้าย โอกาสจากนี้ไปคงยากแล้วและไม่เชื่อว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เพราะทหารการเมืองสร้างความเร็วร้ายให้กับสังคมมาก ตราบใดที่ตนยังมีชีวิตอยู่ จะต่อต้านทุกทางไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า ตนไม่พอใจสภาพบ้านเมืองปัจจุบัน เนื่องจากเราถอยหลังเข้าคลองมากเกินไป ทำไมบ้านเมืองทุกวันนี้ถึงเป็นอย่างนี้ก็เพราะความเลวร้ายของกลุ่มคนบาป ซึ่งตนขอตำหนิกลุ่มคนบาป เช่น นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เนื่องจากปี 2534 สร้างปัญหาให้บ้านเมือง จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มาปี 60 ท่านร่างธรรมนูญ ที่ตนออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย ซึ่งผลเป็นที่ประจักษ์ว่าบ้านเมืองเสียหายทุกรูปแบบ เราเคยคิดว่าพฤษภาทมิฬเสียหายมากมาย เพราะมีทั้งคนตายและคนหายรวมแล้ว 700 กว่าคน บาดเจ็บ 5,473 คน  และปัจจุบันนี้อาจจะไม่ได้ตาย เพราะการสู้รบระหว่างทหารการเมืองกับประชาชน แต่ตายเพราะความผิดพลาดในการบริหารงาน ยิ่งกว่าการทำสงคราม เพราะเศรษฐกิจพังย่อยยับ และตราบใดที่พวกเรายังมีชีวิตอยู่เราจะไม่ยอมให้ประยุทธ์ทำแบบนี้อีกเด็ดขาด

จาตุรนต์ กล่าวพร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมบ้านเมืองถึงถอยหลังไปมากขนาดนี้ ทั้งที่คนไทยลุกขึ้นมาปฏิเสธการยึดอำนาจ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2535 และเรียกร้องนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ แต่ผ่านไปไม่กี่ปีก็มีการรัฐประหารอีก และต่อมาพลังหลายฝ่ายที่เคยร่วมกันเรียกร้องประชาธิปไตย ร่วมกันคัดค้านเผด็จการ  ร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปทางการเมือง แต่หลายฝ่ายนั้นกลับมาเห็นดีเห็นงาม กับการยึดอำนาจและสนับสนุนระบบ ที่คณะรัฐประหารทั้ง 2 ชุดสร้างไว้  การรัฐประหารในปี 2534 เกิดจากผู้มีอำนาจทางทหารรุ่นเดียว ยึดอำนาจแตกแยกโดดเดี่ยวตัวเอง จากคนส่วนใหญ่ในสังคมและเป็นการนำสังคมถอยหลังไปมาก ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังเห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศภายใต้การบริหารของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งจึงขัดแย้งนำไปสู่การต่อต้าน ทั้งนี้การที่หลายฝ่ายร่วมกันล้มรัฐบาลสุจินดาลงไป และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประเด็น ให้เป็นประชาธิปไตยต่อมามีการปฏิรูปทางการเมืองโดย สสร.

“ธรรมนูญปี 2540 มีแนวคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และรัฐบาลไม่สามารถบริหารได้ไม่มีเสถียรภาพ ฝ่ายที่มีอำนาจต่อรองมากเกินไปเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมานายกรัฐมนตรีก็ยุบสภา เพราะต้องการสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ สร้างผู้นำทางฝ่ายบริหารที่มีความเข้มแข็ง เช่น การอภิปรายในวางใจ ส่งเสริมระบบพรรคการเมือง มีระบบบัญชีรายชื่อขึ้นเป็นครั้งแรก แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้เต็มที่ในปี 2544 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมา 4 ปี แล้วประชาชนเห็นความล้มเหลวในการบริหารงาน จนโหยหาพรรคการเมืองโหยหานโยบายและผู้นำ ในการที่จะมาแก้ไขปัญหาประเทศ  นอกจากนี้ต้องการให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยมีองค์กรอิสระจากฝ่ายบริหาร จากรัฐสภาและจากประชาชน ในที่สุดสร้างองค์กรที่มีอำนาจคล้ายเป็นอำนาจอธิปไตยที่ 4”

จตุรนต์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นฉบับที่พรรคการเมือง เสนอนโยบายแข่งกัน และประชาชนก็รู้สึกว่านี่คือประชาธิปไตยกินได้ คือเป็นประชาธิปไตยแล้วสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นได้ จากกระบวนการเลือกตั้งในระบบรัฐสภาและฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง  แต่สิ่งที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้ทำ คือ 1.ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบทบาทโครงสร้างของกองทัพ ทำให้กองทัพสะสมอำนาจบารมีของตัวเองมาตลอด ไม่ได้ทำให้กองทัพต้องเล็กลงไม่ได้ทำให้ กองทัพต้องแยกออกไปจากการเมือง และ 2.ไม่ได้แตะต้องอำนาจโครงสร้างของฝ่ายตุลาการ ทำให้ฝ่ายตุลาการยังคงเป็นอำนาจที่ ไม่ยึดโยงกับประชาชน น่าจะเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศในโลกที่เป็นเหตุให้นำเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาแทรกแซง เพื่อจะจัดการกับการเมือง

“แนวความคิดตุลาการภิวัตน์ ก็ออกฤทธิ์ในปี 2548- 2549 หลังจากนั้นก็เข้ามาเชื่อมโยงกับองค์กรอิสระ ซึ่งองค์กรอิสระก็ถูกครอบโดยฝ่ายตุลาการมาผนวกเป็นอันเดียวกัน เป็นระบบที่มีอำนาจอย่างมาก ไม่สามารถตรวจสอบ ถ่วงดุล ได้โดยประชาชนแม้แต่น้อย ตรงนี้ถูกค้ำจุนถ้อยทีถ้อยอาศัยกับกองทัพ ที่มีแนวโน้มพร้อมที่จะยึดอำนาจ ถ้าไม่พอใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือระบบที่ทำให้ฝ่ายที่ตัวเองสนับสนุนจะไม่ได้เป็นรัฐบาล  ที่จะะเข้ามายึดอำนาจและสร้างระบบนี้ให้แข็งแรง”

จตุรนต์ กล่าวอีกว่า  สิ่งที่ขาดไปคือความเชื่อในหลักเสรีประชาธิปไตย ความเชื่อในระบบรัฐสภา ความเชื่อที่ว่าประชาชนจะต้องเป็นผู้กำหนดความเป็นไป  ทั้งนี้ผู้ที่ร่วมกันในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เค้าร่วมกัน เพราะเค้าไม่พอใจ จปร.5 ที่มีไม่กี่คนมามีอำนาจเหนือทุกฝ่าย แต่เขาร่วมกันไม่ใช่เพราะว่า เห็นดีเห็นงามกับเสรีประชาธิปไตย ไม่เห็นดีเห็นงามว่าทุกอำนาจอธิปไตยทั้งหลาย ต้องกำกับตรวจสอบถ่วงดุลควบคุมได้โดยประชาชน

ขณะที่ อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในปี 2535 เป็นปีที่หลายคนมองว่า เป็นจุดสิ้นสุดของสงครามเย็น และมีความเชื่อว่าโลกเสรีประชาธิปไตยกำลังเติบโต แต่ 20 ปีที่ผ่านมาไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่โลกทั้งโลกกำลังประสบกับ การทดถอยของระบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งผู้นำในหลายประเทศในขณะนี้ ได้เปลี่ยนรูปแบบของเผด็จการหรืออำนาจนิยม ซึ่งอาจจะไม่ต่างจากไทยเท่าไหร่คือ  ใส่เสื้อกลุ่มประชาธิปไตยเพราะมาจากการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมือง  ในส่วนของประเทศไทย ความปรารถนาของคนที่จะได้ระบบประชาธิปไตยแบบเต็มใบ แต่ไม่เคยได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน มีแต่ได้ช่วงสั้นๆหลัง 14 ตุลาคม แต่ถามว่าความไว้วางใจตัวนักการเมืองและพรรคการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีปัญหามาตั้งแต่ตอนนั้นจะเห็นได้ว่า พล.อ.สุจินดา คราประยูรสามารถเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม ก็เพราะเสียงส่วนใหญ่ของสภา ยกมือสนับสนุนถ้าใครจำภาคต่อหลังเหตุการณ์ พฤษภาคมได้คือมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อถึงเวลาหานายกรัฐมนตรี มาแทนพล.อ.สุจินดา สังคมกลับต้องยอมขานรับนายกที่มาจากนอกสภา คือ อานันท์ ปันยารชุน

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลังจากการเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2535 ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังคงมีการเรียกร้องว่าประชาธิปไตย หรือการเมืองไทยยังมีปัญหานั่นคือที่มาของการประท้วงจะนำไปสู่การแต่งตั้ง คณะกรรมการที่มีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน ต่อมารัฐบาลบรรหารได้หยิบไปใช้ ที่ให้กำเนิด สสร.

“ถ้าเราอยากจะก้าวเดินไปข้างหน้า เราต้องเก็บเกี่ยวทุกแง่ทุกมุม ของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ เพื่อมาออกแบบระบบการเมือง ที่เราจะสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าปฏิรูปแล้วไปเสรีประชาธิปไตยซึ่ง 1. เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่การเมืองไทยจะเดินไปข้างหน้า แล้วพัฒนาเป็นเสรีเป็นประชาธิปไตย ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้นภารกิจสำคัญก็คือต้องมีการเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขหรือจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นไปตามหลักการเสรีประชาธิปไตย” อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แต่เรายังมีปัญหาสิ่งตกค้าง จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือบทเฉพาะกาล ซึ่งมีอายุเกินกว่าสภาชุดนี้และมีความสูงเสี่ยงอย่างมาก ที่จะมีการสร้างความขัดแย้งหลังการเลือกตั้ง ในกรณีที่วุฒิสภา 250 คนกับเสียงข้างมาก ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีความเห็นไม่ตรงกัน  สำหรับตนแล้วการจะก้าวเดินต่อไปก็ยังต้องหมุนกลับมาแก้ไข รัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ก่อนการเลือกตั้งทั้งหน้าควรจะต้องแก้ไขมาตรา 272 เสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แต่จะเป็นการลดปัญหาความขัดแย้ง

อภิสิทธิ์ กล่าวว่า หลังจากการเลือกตั้ง ตนคิดว่าควรที่จะนำบทเรียนต่างๆ ที่ได้พูดทั้งในการเสวนาวันนี้ และหลายเวทีสัมมนามาตกผลึก เพื่อจัดการรัฐธรรมนูญ ตนเห็นด้วยกับนายจาตุรนต์ ที่ว่าถ้าจะต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขอให้เป็นรัฐธรรมนูญที่กระชับและเน้นเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับโครงสร้างอำนาจและสิทธิเสรีภาพ อย่าให้กลายเป็นสิ่งที่ใครอยากได้ อะไรก็ใส่ไปในนั้นแบบที่นายจตุพรพูด คือทำให้เกิดความสับสนรุงรัง ซึ่งหัวใจก็คือจากโครงสร้างอำนาจและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเชิงโครงสร้างนั้นเราต้องยืนยันว่าคนที่จะมีอำนาจในการบริหารประเทศต้องมาจากประชาชน 

อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เสรีประชาธิปไตยในทัศนะของตน คือนอกจากสนับสนุนนโยบาย ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนแล้ว ยังต้องเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจจำกัด ถูกตรวจสอบได้ โปร่งใส รักษาหลักนิติรัฐ ซึ่งตรงนี้ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแสวงหา โครงสร้างองค์กรที่จะมาทำหน้าที่เป็นที่ยอมรับและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยได้  ไม่ว่าเราจะออกแบบ  รัฐธรรมนูญอย่างไรพยายามป้องกันหรือเปลี่ยนดุลอำนาจอย่างไร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในอนาคต เราต้องยอมรับว่าสิ่งแรกที่คณะรัฐประหารทำ ก็คือ ฉีกฉบับปัจจุบัน เพราะฉะนั้นในความเห็นของ ผมการจะหยุดวงจรหรือสกัดกั้นการรัฐประหารได้คือ นอกจากเราจะต้องพยายามลดเงื่อนไข ผ่านการออกแบบระบบการเมือง และสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการช่วยโอกาส ของผู้ที่การเข้ามาทำรัฐประหารแล้ว ต้องคิดว่าจะหยุดยั้งการรัฐประหารในอนาคตได้ ต้องเกิดขึ้นจากตุลาการ  คือจะต้องเปลี่ยนแนวทางการวินิจฉัยกฎหมาย จากที่บอกว่าเมื่อมีการรัฐประหารแล้ว สามารถที่จะออกกฎหมายมาลบล้างทุกสิ่งทุกอย่างได้ ต้องมีการวินิจฉัยเสียใหม่ว่าการกระทำต่างๆ ของคณะรัฐประหาร ยืนยันว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย น่าจะเป็นวิธีที่ชัดเจนที่สุดและจะเป็นการคุ้มครองคนที่ออกมาต่อสู้หรือต่อต้านการรัฐประหารได้ในอนาคต

ส่วน โภคิน กล่าวว่า ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีพลังอยู่สามพลังที่ เป็นพลวัตอยู่ในสังคมไทย และ 3 พลังบางครั้งก็ขัดแย้งกัน บางครั้งก็ร่วมมือกัน 2 พลังร่วมมือกันต่อสู้กับอีก 1 พลังมีช่วงน้อยมากที่สามารถร่วมเดินไปด้วยกัน ทั้งนี้ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลังหลักคือศักดินานิยม พลังที่เกิดขึ้นมาใหม่ก็คือพลังราชการอำนาจนิยม ซึ่งมักจะนำโดยผู้นำกองทัพเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มักจะล้มกลไกเดิมในระบบศักดินานิยมลง เป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญบอกว่าอำนาจเป็นของประชาชน

โภคิน กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนายจตุพรที่บอกว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเป็นข้ออ้างทุกยุคทุกสมัยของประเทศ ที่เวลาทหารยึดอำนาจ คือ 1. มีการทุจริตคอร์รัปชัน 2.ไม่จงรักภักดี ภาพรวมแบบนี้ในที่สุดก็เกิดการยึดอำนาจโดย ทหารทุกเหล่าในสมัยปี 35 ทั้งนี้เมื่อมีการยึดอำนาจก็มีผู้คนออกไปชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 17 พฤษภาคมที่สนามหลวง แล้วก็ถูกปราบปรามอย่างหนัก และจากนั้นก็เป็นพระมหาคุณาที่คุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านโปรดเกล้าให้ พล.อ.สุจินดาและพล.ต.จำลอง ศรีเมืองเข้าเฝ้า คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและในที่สุดก็นำมาซึ่ง รธน.40

“พลังอำนาจนิยม พลังราชการอำนาจนิยม ที่นำโดยผู้นำกองทัพพอถึงวันนี้ไม่สามารถที่จะสืบทอดอำนาจได้ เพราะพอเกษียณหมดวาระการดำรงตำแหน่ง ก็ไม่มีอำนาจใดๆ ดังนั้นพลังตรงนี้จะกลายเป็นเครื่องมือ ให้อีก 2 พลังมีมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย  ทั้งนี้ 90 ปี เป็นพลวัตของพลัง 3 พลังช่วง 90 ปี มีพลังมีทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือ แต่พัฒนาประชาธิปไตยต้องถือว่าล้มเหลว สาเหตุก็คือ ความไม่แข็งแรงของฝ่ายประชาธิปไตย  ซึ่งพลเอกประยุทธ์บริหารประเทศมา 7 ปีทำให้คน เห็นว่าแบบนี้ไปไม่ไหว  เพราะพลังราชการอำนาจนิยมที่ นำโดยผู้นำกองทัพจะไม่ฟังใคร จะฟังระบบเฉพาะระบบของตัวเอง ขณะเดียวกันก็เกิดพลังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการคำตอบต้องการคำอธิบาย และเหตุผลต้องการเสรีภาพ เขาบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคทั้งหมด”

โภคิน กล่าวว่า พลังของประชาชนที่รักประชาธิปไตย และนักศึกษาเป็นพลังที่ไม่ได้มีระบบที่เป็นสถาบันอย่างชัดเจน การสืบทอดเจตนารมย์และความรู้ความเข้าใจต่างๆ ไม่ได้ผ่านตัวผู้นำเข้ามาในแต่ละยุคสมัย ขณะที่พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองไม่ได้เป็นระบบ ที่ปกป้องประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่อาศัยกลไกเข้าสู่อำนาจ ตอนเลือกตั้งประกาศแทบตายว่าไม่เอาเผด็จการ แต่พอเข้าไปบริหารประเทศแล้ว  ฉันก็เอาแม้ฉันจะบอกว่าก็ต้องร่วมงาน เพราะไม่เช่นนั้นฉันบริหารประเทศไม่ได้ก็ทำให้คนรู้สึกไม่เชื่อถือ เพราะคุณพูดแต่วาทะกรรมถึงเวลาที่คุณต้องพิสูจน์ตัวเอง

“ฉะนั้นกระบวนการโดยประชาชน ถูกบิดเบือนทั้งหมดคนที่มาจากการใช้อำนาจ อิทธิพลและเงิน บารมีก็ต้องตอบโจทย์อันนั้น จะไปตอบโจทย์เพื่อประชาชนทำไมเพราะประชาชนไม่สามารถทำอะไรเขาได้ นอกจากว่าให้ประชาชนเลือกเขาในช่วงเลือกตั้ง” โภคิน  กล่าว

พิชาย กล่าวว่า หลายคนมองว่าการรัฐประหาร ยิ่งสร้างปัญหาให้กับสังคม เพราะก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม และไม่มีฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ เป็นเงื่อนไขทำให้ประชาชนจำนวนมาก มีค่านิยมที่ต่อต้านการรัฐประหาร และสิ่งหนึ่งที่ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็คือทำให้ประชาชนปฏิเสธบุคคล ที่มีอาชีพแบบนี้เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศ  อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยว่างเว้นจากการรัฐประหารมานานมาก ซึ่งกระแสประชาธิปไตยใน เหตุการณ์พฤษภานั้น ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมือง และเชิงบรรทัดฐานการกระทำ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเมืองหลายประการ เช่น ที่สภามีการเคลื่อนไหวเรื่องการกระจายอำนาจของภาคประชาชน ทำให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ความคิดของการกระจายอำนาจเริ่มที่รับรู้ จากนั้นในเวลาไม่กี่ปีก็เกิดกฎหมายให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องคิดว่าเป็นผลพวงที่สำคัญของการเหตุการณ์พฤษภา 35 แนวความคิดนี้ได้รับความสนใจพัฒนาต่อเนื่อง และธรรมนูญหลังจากนั้นก็ การยอมรับค่านิยมประชาธิปไตยหลายอย่างมีการก่อตัว เช่น การต่อต้านการรัฐประหารยังขยายตัวมากขึ้นซึ่งชัดเจนและขยายวงกว้างมากขึ้นด้วย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net