Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาไม่รับฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลยคดีบริษัทเหมืองแร่โปแตชเป็นโจทก์ฟ้องละเมิดสมาชิกกลุ่ม “รักษ์อำเภอวานรนิวาส” เรียกค่าเสียหายถึง 3.6ล้านบาท แต่ทางกลุ่มยังต้องจ่าย 40,000 บาทให้บริษัทตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ตัวแทนกลุ่มแจงที่คัดค้านเพราะบริษัทไม่สร้างความมั่นใจให้ว่าเหมืองจะไม่สร้างผลกระทบ ชี้ควรมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาคัดกรองคดีฟ้องกลั่นแกล้ง

เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.65) ประชาชนกลุ่ม “รักษ์อำเภอวานรนิวาส” จังหวัดสกลนคร จำนวน 30 คน เดินทางไปที่ศาลจังหวัดสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เพื่อเข้าร่วมรับฟังคำสั่งของศาลฎีกา กรณีที่กลุ่มฯได้ยื่นคำร้องขอฎีกาในคดีที่สมาชิกจำนวน 9 คน ถูกบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งกรณีที่ร่วมกันชุมนุมเพื่อคัดค้านการเข้าสำรวจการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับคำขอฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลย โดยให้ความเห็นว่า “ ฎีกาของจำเลยทั้งเก้าไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย เพราะพิจารณาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4”

ทำให้ทั้ง 9 คน ยังต้องจ่ายค่าเสียหายให้ทางบริษัท 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี หรือ 3,000 บาทต่อปีนับตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องเมื่อ 26 ต.ค.2561 ตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ลดมาจาก 1,500,000 บาทตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไว้

สุดตา คำน้อย หนึ่งในตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสที่ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องดำเนินคดีกล่าวภายหลังจากรับฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาเสร็จสิ้นแล้วว่า วันนี้ก็มีอารมณ์ทั้งดีใจและหลายอารมณ์มาก พวกเราเองก็เคารพในคำสั่งของศาล การต่อสู้ของพวกเรายาวนานมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 จนถึงปี พ.ศ. 2565 แลกมาด้วยการโดนฟ้อง แต่ก็คุ้มค่าที่เราสามารถรักษาทรัพยากรของเราไว้ได้ เพราะถ้าเกิดเหมืองขึ้นได้เหมือนที่อื่นในพื้นที่ของบ้านเรา อาจจะมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของเรามากกว่านี้ เรามองว่าการต่อสู้ของเรา 4-5 ปี แล้วต้องเสีย 4 หมื่นก็เพียงพอแล้ว

“ ตอนนี้ถ้าถามว่าพวกเราว่าเหนื่อยกันหรือไม่ก็ต้องตอบตามตรงว่าเหนื่อย แต่พวกเราก็จะสู้กันเหมือนเดิม เราอยู่ที่นี่ ถ้าทรัพยากรของเราหายไปแล้วเราไม่ได้ประโยชน์อะไร คนในชุมชนไม่ได้ประโยชน์แต่คนนอกชุมชนมาเอาทรัพยากรไป เปรียบเทียบเหมือนเขาเอาของเสียมาทิ้งที่บ้านเราแล้วคนที่ได้ประโยชน์คือคนข้างนอก แต่คนที่ได้รับผลกระทบคือคนในชุมชน คนในชุมชนก็ต้องไม่ยอมรับอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องสู้ก็ต้องตามเรื่องกันต่อจนถึงที่สุด” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหนึ่งในตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่ถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องดำเนินคดีกล่าว

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คำสั่งของศาลในวันนี้ก็คือการได้รับชัยชนะของชาวบ้านที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนานหลายปี จากคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ให้ชาวบ้านต้องจ่ายค่าเสียหายให้บริษัทเอกชน 3 ล้านกว่า จนมาถึงศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาที่ตัดสินให้จ่าย 4 หมื่นกว่า จึงถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของการต่อสู้ของชาวบ้าน

จุฑามาสยังกล่าวอีกว่าที่น่าสนใจก็คือในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ระบุว่า การต่อสู้ของชาวบ้านในครั้งนี้เป็นการกระทำละเมิดให้บริษัทได้รับความเสียหาย แต่เหตุที่ชาวบ้านไปกระทำเช่นนั้นก็เพราะเห็นว่าที่บริษัทมาสำรวจ จะก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ศาลจึงหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาบอกว่าเป็นพฤติการณ์ที่ชาวบ้านจำเป็นต้องกระทำเช่นนั้น ศาลจึงพิจารณาว่าถึงชาวบ้านจะทำละเมิดบริษัทก็จริง แต่มีเหตุให้ต้องทำและไม่ร้ายแรง ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายให้ใหม่ตามที่มีหลักฐานและบริษัทนำสืบได้ เพราะบริษัทไม่ได้เสียหายถึงล้านห้าตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา และชาวบ้านก็มีเหตุที่ต้องกระทำว่าถ้าโครงการนี้เกิดขึ้นมันจะเกิดผลกระทบ และตัวบริษัทเองก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านว่ามันจะไม่เกิดผลกระทบ

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ จึงทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ศาลท่านมองเห็นว่าการกระทำของชาวบ้านนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ซึ่งการต่อสู้ของชาวบ้านไม่ใช่การต่อสู้เพื่อให้ยอดเงินที่ถูกฟ้องร้องลดลง แต่เราอยากได้บรรทัดฐานหรือมาตรฐานใหม่ๆ ในมุมมองของกฎหมายว่าการใช้สิทธิในการชุมนุมเพื่อคัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่ของชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากเหมืองต่างๆ นั้นไม่ควรถูกฟ้องในฐานละเมิด เพราะถ้าการชุมนุมเพื่อปกป้องทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองเป็นการละเมิดมันก็เหมือนเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้กฎหมายฟ้องปิดปากชาวบ้านได้อีกในหลายพื้นที่ เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม

“เราอยากให้มีกฎหมายที่จะใช้คัดกรองการฟ้องร้องกับการต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งเรื่องที่ดินสิ่งแวดล้อมและประเด็นสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ว่าเป็นการฟ้องร้องที่ใช้กลั่นแกล้งหรือฟ้องปิดปากไม่ให้นักต่อสู้ออกมาเคลื่อนไหว หรือเพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของนักต่อสู้ เพราะหลายครั้งหลายกรณีที่บริษัทเอกชนหรือผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการลุกขึ้นมาต่อสู้ของนักปกป้องสิทธิในหลากหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะจะถูกฟ้องกลั่นแกล้งฟ้องละเมิดด้วยการเรียกค่าเสียหายในจำนวนเงินที่มากเหมือนในกรณีที่ชาวบ้านจากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนครเจออยู่ในขณะนี้ มันควรมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาคัดกรองคดีในลักษณะนี้ออกไปจากสารระบบของคดีฟ้องแพ่งออกไปเลยเพื่อยุติการใช้ช่องว่างของกฎหมายแพ่งมากลั่นแกล้งนักต่อสู้ ” จุฑามาสกล่าว

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เพราะสามเสาหลักของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนก็คือการปกป้อง คุ้มครอง และเยียวยา ซึ่งกรณีของชาวบ้านที่สกลนครเป็นขั้นแค่ขอสำรวจแร่ยังไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลยแม้แต่ขั้นตอนเดียว เพราะแค่ขั้นตอนของการสำรวจมันก็ทำให้เกิดผลกระทบกับชาวบ้านแล้ว ดังนั้นตอนนี้แม้แต่การปกป้องยังไม่มี จึงไม่ต้องพูดถึงการคุ้มครองหรือเยียวยาเลย ดังนั้นจึงทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาปกป้องตนเองด้วยการใช้สิทธิการชุมนุมสาธารณะตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้ทุกคนช่วยกันจับตากรณีของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร อย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

ทั้งนี้คดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากพื้นที่ของแอ่งสกลนครเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายในการทำเหมืองแร่โปแตช ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการขุดเจาะสำรวจแร่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ก็มีการรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส” เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ต้องการให้ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ต้องได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะสำรวจแร่ และโครงการเหมืองแร่โปแตช ซึ่งเป็นเหมืองแร่ใต้ดินขนาดใหญ่ที่จะมีขึ้นในอนาคต

จากการติดตามสถานการณ์การขุดเจาะสำรวจแร่ ของบริษัทพิพาท ชาวบ้านพบหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและทางบริษัท ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เป็นด้านลบของโครงการทำเหมืองแร่ให้แต่ข้อมูลด้านดีของโครงการอีกทั้งตอนบริษัทนำอุปกรณ์ขุดเจาะเข้าพื้นที่เมื่อ 18 ก.พ.2561 ยังให้ทหารและตำรวจเข้าคุ้มกันบวนรถอีกด้วย ทั้งที่โครงการอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทรุดตัวของดิน การปนเปื้อนของเกลือลงสู่พื้นที่การเกษตร และการแย่งชิงแหล่งน้ำของชุมชนเพื่อไปใช้ในกิจการเหมืองและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เป็นต้น รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพ และวีถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนตามมา

จากเหตุดังกล่าวนำมาสู่การชุมนุมคัดค้านไม่ให้มีการขุดเจาะสำรวจแร่ในพื้นที่อีก โดยในวันที่ 7- 14 พฤษภาคม 2561 กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสและประชาชนวานรนิวาส ได้ทำการชุมนุมคัดค้านบริษัทเอกชนที่จะทำการเจาะหลุมสำรวจแร่โปแตส หลุมที่ 4 บริเวณบ้านน้อยหลักเมือง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จนนำมาสู่การถูกกล่าวหาจากพนักงานสอบสวน และถูกฟ้องคดีแพ่ง จากบริษัทขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช ที่เป็นบริษัทพิพาท

ในการชุมนุมดังกล่าว ตำรวจได้ตั้งข้อกล่าวหาตัวแทนชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมจำนวน 9 คน ว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ ซึ่งกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสยืนยันว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ไม่มีความผิด พนง.สอบสวน สภ.วานรนิวาส จึงยุติการดำเนินคดี และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจหรือของผู้อื่น จนถึงผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น โดยร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป แต่อัยการมีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิด

ในขณะที่ฝั่งบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าฟ้องคดีแพ่งต่อชาวบ้าน ในฐานความผิดละเมิดและเรียกค่าเสียหาย 3,600,000 บาท และการฟ้องปิดปากในลักษณะก็ยังคงใช้ได้เสมอ ชาวบ้านที่ออกมาคัดค้านบางส่วนเกิดความหวาดกลัว บางส่วนก็ยังคงสู้ไม่ถอย เพราะนี่คือการปกป้องแผ่นดินเกิดไว้ให้ลูกหลาน

31 ก.ค.2562 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 9 คน มีความผิดโดยศาลคิดค่าเสียหายที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท ชาวบ้านจึงตัดสินใจยื่นอุทธรณ์เพื่อยืนยันว่าการชุมนุมในวันเกิดเหตุนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต เป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ และค่าเสียหายที่ทางบริษัทพิพาทเรียกมานั้นก็เกินไปจากความเป็นจริง

9 ก.พ.2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 9 ได้กระทำการละเมิดโจทก์จริง แต่เรื่องค่าเสียหายศาลพิจารณาแล้วให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง ชาวบ้านตัดสินใจยื่นคำร้องขอยื่นฎีกา

ทั้งนี้ในวันที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายความของสมาชิกกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ให้สัมภาษณ์ว่า คำพิพากษาในครั้งนี้วางบรรทัดฐานเรื่องการทำละเมิดไว้ค่อนข้างดี โดยมีการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาด้วย จึงมีการพิจารณาว่าแม้จะเป็นการละเมิด แต่เป็นการละเมิดที่ไม่ร้ายแรง โดยมีการฟังเหตุผลของจำเลยในส่วนของปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการทำเหมืองแร่ ซึ่งเป็นส่วนที่ทางโจทก์ไม่สามารถให้ข้อมูลได้ว่าหากมีผลกระทบเกิดจริง จะมีมาตรการอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net