Skip to main content
sharethis

งานข่าวสืบสวนสอบสวนข้ามชาติจาก 39 ประเทศทั่วโลกพบผู้นำเผด็จการ ผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวง สายลับ ท่อน้ำเลี้ยงมาเฟีย ไปจนถึงผู้มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน มีบัญชีในธนาคารสวิตเซอร์แลนด์ ที่ๆ มีกฎหมายรักษาความลับทางธนาคารเข้มงวด สำหรับไทย พบนักธุรกิจชั้นนำ อดีตข้าราชการ ต่างชาติที่เคยถูกตั้งคำถามเรื่องการเลี่ยงภาษี

21 ก.พ. 2565 SuisseSecrets คือชื่อของโครงการข่าวสืบสวนสอบสวนข้ามชาติเพื่อเปิดโปงข้อมูลการทำธุรกรรมที่น่าสงสัยในธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse Bank) ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งธุรกรรมเหล่านั้นอาจเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจผิดกฎหมาย การทุจริต หรือการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

“ฉันเชื่อว่ากฎหมายความลับทางธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศีลธรรม ข้ออ้างเรื่องปกป้องความลับทางการเงินเป็นเพียงการปักธงเพื่อปกปิดบทบาทอันน่าละอายของธนาคารในสวิสในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มคนที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษี … สถานการณ์เช่นนี้เอื้อต่อการทุจริตและความหิวกระหายก่อตัวขึ้นในประเทศที่ต้องการรายได้จากการเก็บภาษี ประเทศเหล่านี้คือหนึ่งในผู้ที่เจ็บปวดอย่างมากกับการทำตัวเป็นโรบินฮู้ดมุมกลับของสวิตเซอร์แลนด์”

“ฉันต้องการเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าความรับผิดชอบในสภาพการเช่นนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับธนาคารสวิสอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายของสวิสด้วย ธนาคารเป็นนายทุนที่สามารถสร้างผลกำไรสูงสุดได้ภายใต้กรอบกฎหมาย หมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติของสวิสก็มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อ[การออกกฎหมายที่เอื้อต่อ]อาชญากรรมทางการเงิน ขณะที่ประชาชนชาวสวิสเองก็มีอำนาจแก้ไขเรื่องนี้ได้โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตยโดยตรง แม้ว่าฉันจะตระหนักดีว่ากฎหมายความลับทางธนาคารของสวิสมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศประสบความสำเร็จ แต่ฉันมีความคิดเห็นอันหนักแน่นว่าประเทศที่มั่งคั่งควรจะมีสำนึกผิดชอบชั่วดี (...)”

“ฉันทราบดีว่าการมีบัญชีเงินฝากต่างประเทศอยู่ในธนาคารสวิสไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำเพื่อหนีภาษีหรือก่ออาชญากรรมทางการเงินอื่นๆ เสมอไป ฉันมั่นใจว่าบัญชีธนาคารบางบัญชี (...) เปิดขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม บัญชีธนาคารในชุดข้อมูลเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่เปิดขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์หนึ่งเดียวคือการปกปิดความร่ำรวยของเจ้าของบัญชีไม่ให้สถาบันการเงินรับรู้ และ/หรือหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจากรายได้ส่วนบุคคล” แหล่งข่าวผู้ให้ข้อมูลระบุในแถลงการณ์

ซุดดอยท์เชอไซทุง (Süddeutsche Zeitung) หนังสือพิมพ์รายวันที่ใหญ่ที่สุดในเมืองมิวนิก รัฐบาวาเรียของเยอรมนี และโครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริต (Organized Crime and Corruption Reporting Project: OCCRP) ได้รับข้อมูลบัญชีธนาคารเครดิตสวิสที่น่าสงสัยจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ นักข่าวมากกว่า 160 คนจากสำนักข่าว 48 แห่งใน 39 ประเทศทั่วโลก โดยประชาไทเป็นหนึ่งในทีมข่าวผู้ร่วมสืบค้นข้อมูลบัญชีต้องสงสัยมากกว่า 18,000 รายการ ที่เปิดบัญชีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940 หรือในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันมากกว่า 120 ล้านฟรังก์สวิส

เครดิตสวิสและ 'จอมทุจริต' ผู้ฉ้อราษฎร์บังหลวง

โปรเจ็กต์ SuisseSecret ค้นพบข้อมูลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาว่าธนาคารเครดิตสวิสทำธุรกิจกับชนชั้นนำทั่วโลกหลายคนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘จอมทุจริตระดับโลก’ เช่น การ์ลอส อากีเลรา (Carlos Aguilera) อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นคนสนิทของอูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) อดีตนายพลและประธานาธิบดีจอมเผด็จการของเวเนซุเอลาที่อยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2542-2556 อากีเลราเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลเวเนซุเอลาให้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายแห่งในประเทศ หนึ่งในโครงการทุจริตที่อื้อฉาวที่สุดคือการปรับปรุงเส้นทางรถไฟในกรุงคาราคัส ที่บริษัทของเขาได้รับสัมปทานโดยไม่ผ่านขั้นตอนการประมูลแบบปกติ และเขาได้รับส่วนแบ่งค่านายหน้า 4.8% หรือคิดเป็นเงินเกือบ 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อากีเลรามีบัญชีในธนาคารเครดิตสวิส 2 บัญชีที่ยังไม่ได้ปิดใช้งาน มีเงินฝากร่วมอย่างน้อย 7.8 ล้านฟรังก์สวิส และในปี 2558 อากีเลราและคนใกล้ชิดของอดีตประธานาธิบดีชาเบซถูกทางการสเปนสอบสวนในข้อหาฟอกเงิน

อีกหนึ่งบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตครั้งใหญ่และมีชื่อเป็นลูกค้าของธนาคารเครดิตสวิส คือ นักการเมืองและธุรกิจเบอร์ต้นของยูเครน ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยความมั่นคงในสมัยรัฐบาลของวิกเตอร์ ยานูโควิช อดีตประธานาธิบดียูเครนช่วงปี 2553-2557 ที่มีข่าวฉาวเรื่องการทุจริตและการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมจนเสียชีวิตจากเหตุประท้วงยูโรไมดานในปี 2557 ปัจจุบัน ยานูโควิชลี้ภัยอยู่ในรัสเซียโดยได้รับความช่วยเหลือจากสายลับและทางการรัสเซีย โดยอดีตนักการเมืองผู้ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดียูเครนคนนี้มีเงินอยู่ในหลายบัญชีของธนาคารเครดิตสวิสมากกว่า 1,000 ล้านฟรังก์สวิส

นอกจาก 2 กรณีที่กล่าวไปข้างต้น โปรเจ็กต์ SuisseSecret ยังพบชื่อของนักธุรกิจ นักการเมือง ทหาร และผู้มีอิทธิพลในหลายประเทศที่อาจเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม การฟอกเงิน และการละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชาวอิตาลีที่ถูกจับฐานฟอกเงินและให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ ‘Ndrangheta’ ซึ่งเป็นแก๊งมาเฟียในอิตาลี, ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทซีเมนส์ (Siemens) ที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่ในไนจีเรียแลกกับสัญญาการทำธุรกิจด้านโทรคมนาคม, ครอบครัวของอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองอียิปต์ที่เคยซื้อหุ้นในสโมสรฟุตบอลเชลซี และเกี่ยวข้องกับกาเมล อับเดล นัสเซอร์ (Gamel Abdel Nasser) อดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการของอียิปต์, มุลเลอร์ คอนราด ‘บิลลี่’ เราเตนบัค นักธุรกิจชาวซิมบับเวที่มีความใกล้ชิดกับโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดีจอมเผด็จการของซิมบับ รวมถึงมีชื่อของสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดน ซึ่งพระองค์มีชื่อเสียงที่ไม่ดีนักเรื่องการทุจริตและความร่ำรวยที่ผิดปกติ จนถูกกลุ่มผู้ต่อต้านตั้งฉายาให้ว่า “กษัตริย์อาลีบาบาที่ 2 และโจร 40 คน” ซึ่งล้อเลียนมาจากชื่อนิทานพื้นบ้านในภูมิภาคตะวันออกกลางเรื่องอาลีบาบาและโจร 40 คน

สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ที่ 2 แห่งจอร์แดน (ภาพจากสำนักพระราชวังจอร์แดน)
 

พบข้อมูลนักธุรกิจ ชาวต่างชาติ อดีตข้าราชการจากไทย

แม้ยังไม่พบชื่อบุคคลระดับก้องโลก แต่ชื่อของชาวไทยและผู้มีถิ่นพำนักในไทยที่เคยมีประวัติทางการเงินหรืออาชญากรรมก็มีชื่ออยู่ในบัญชีสวิสเซอร์แลนด์นี้ด้วย

* สืบเนื่องจากประชาไทยังไม่ได้รับการชี้แจงจากการสอบถาม จึงยังไม่สามารถเปิดเผยชื่อและรายละเอียดที่จะนำไปสู่การระบุตัวตนได้ ทั้งนี้ ข้อมูลธนาคารชุดนี้เป็นข้อมูลในอดีต ซึ่งไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าธุรกรรมทางการเงินนี้ยังคงอยู่หรือไม่

รายแรกคือชาวต่างชาติเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับวงการแฟชั่นที่เคยประกอบธุรกิจในไทยในช่วงทศวรรษที่ 80-90 ชื่อของเขาเคยถูกเอ่ยถึงในเอกสารหลุดทางการเงินชื่อดัง ‘ปานามา เปเปอร์ส’ ชิ้นข่าวสืบสวนสอบสวนของสื่อประเทศฝรั่งเศสค้นพบว่าเขามีบริษัทในประเทศหมู่เกาะอันเป็นพื้นที่ภาษีต่ำที่มักเป็นที่จดทะเบียนนอกชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในประเทศต้นทางที่มีการทำธุรกิจจริง ชิ้นข่าวสืบสวนสอบสวนดังกล่าวยังระบุว่าชาวต่างชาติคนนี้ใช้วิธีนี้ในการเลี่ยงจ่ายภาษี “แทบทั้งหมด” จากรายได้ประมาณปีละกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในฐานข้อมูลยังพบชาวต่างชาติอีกหนึ่งรายที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย ชาวต่างชาติผู้นี้มีชื่อในฐานข้อมูลบริษัทนอกชายฝั่ง (offshore leaks) ของสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ในฐานะผู้อำนวยการและคนกลางของบริษัทโฮลดิ้งสองแห่งที่จดทะเบียนในหมู่เกาะซีเชลล์และประเทศไซปรัส ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มักเป็นที่จดทะเบียนของบริษัทเนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีและธุรกิจ โดยบริษัทที่จดทะเบียนที่หมู่เกาะซีเชลล์ มีบริษัทนิติบุคคลอีกบริษัทถือตำแหน่งเป็นเลขานุการ ซึ่งบริษัทนั้นก็เป็นผู้ถือหุ้นในอีก 27 บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน หมู่เกาะซีเชลล์ และซามัว

สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไซปรัสนั้นพบว่ามีบริษัทอีกแห่งถือตำแหน่งเป็นเลขานุการ ซึ่งบริษัทนี้เองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดที่มีชื่อบริษัทเป็นผู้ให้บริการเรื่องน้ำมันและแก๊สธรรมชาติสองแห่งที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส โดยขณะนี้ยังไม่อาจสืบทราบได้ว่ามีใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์แท้จริงจากความเชื่อมโยงที่ซับซ้อนนี้

ประชาไทเดินทางไปยังที่อยู่ตามที่มีการจดทะเบียนไว้และสามารถยืนยันที่อยู่ได้จริง แต่ได้ข้อมูลว่าเจ้าตัวเดินทางออกจากประเทศไทยไปเมื่อต้นปี 2565 ยังไม่เดินทางกลับมา จึงยังไม่สามารถได้รับคำชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการมีบัญชีในต่างประเทศ ขณะนี้เครือข่ายผู้สื่อข่าวในประเทศเจ้าตัวถือสัญชาติกำลังดำเนินการสืบหาข้อมูลต่อ

อีกรายหนึ่งที่พบในกรณีบัญชีคนไทยคือชาวไทยรายหนึ่งที่เคยถูกศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาในคดียักยอกและความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประชาไทติดต่อไปยังที่อยู่อีเมลในที่ทำงาน ซึ่งอีเมลที่ส่งไปไม่ได้ถูกตีกลับ รวมถึงขอสัมภาษณ์ไปในช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ

อย่างไรก็ดี ต้องเน้นย้ำว่าการมีบัญชีธนาคารในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องผิดในตัวของการกระทำเอง เพราะวัตถุประสงค์ของการมีบัญชีเงินฝากเช่นว่ามีอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการรับรายได้จากธุรกิจหรือคู่ค้าในต่างประเทศและการเปิดบัญชีสำหรับการลงทุนในกองทุนต่างประเทศ ไปจนถึงการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้ในประเทศไทย ที่แม้มีกระบวนการทางบัญชีที่กระทำได้ แต่ก็เป็นที่ถกเถียงในเชิงศีลธรรมจรรยาในฐานะพลเมืองที่มีหน้าที่เสียภาษีให้แก่รัฐตามที่มีการยกประเด็นขึ้นเมื่อมีการปล่อยเอกสารหลุดในอดีต เช่น 'ปานามา เปเปอร์ส' หรือ 'แพนโดรา เปเปอร์ส'

ในกรณีประเทศไทย พบว่ามีผู้ถือบัญชีมีทั้งบุคคลและนิติบุคคลจากธุรกิจต่างๆ เช่น โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร ค้าขายอัญมณี ค้าวัสดุก่อสร้าง อดีตนายกสมาคมการค้าต่างๆ บุคคลที่เป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจแนวหน้า ไปจนถึงนักธุรกิจที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร อดีตข้าราชการระดับอธิบดีกรม อดีตผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง และนักธุรกิจที่มีประวัติเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ

เมื่อ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาไททำหนังสือสอบถามไปยังกรมสรรพากรเกี่ยวกับข้อมูลผู้เสียภาษีที่มีบัญชีในธนาคารเครดิตสวิสในช่วงปีของข้อมูล แต่จนถึงวันที่ 18 ก.พ. ยังคงไม่ได้รับการชี้แจงอย่างเป็นทางการ อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ได้รับทราบมาว่าทางกรมสรรพากรยังไม่น่าจะมีข้อมูลข้างต้น

ทั้งนี้ ประชาไทยังคงทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อนานาชาติเพื่อหาความคืบหน้าและขยายผลข้อค้นพบทั้งในส่วนที่มีการเผยแพร่แล้วและที่ยังไม่เผยแพร่

ทำไมความลับทางการธนาคารสวิสจึงเป็นปัญหา

แนวคิดเรื่องความลับทางการธนาคารของสวิสมีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดด้านการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยด้านศาสนาและการเมือง ซึ่งในขณะนั้นสวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นนครรัฐอิสระ ต่อมา ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นครรัฐอิสระในเทือกเขาแอลป์รวมตัวกันจัดตั้งประเทศสมาพันธรัฐสวิสขึ้น และได้บัญญัติแนวคิด ‘สิทธิในความเป็นส่วนตัว’ ไว้รัฐธรรมนูญที่มีอายุเกือบ 150 ปี จนกลายเป็นคุณค่าที่ชาวสวิสยึดถือร่วมกันอย่างเหนียวแน่น จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 กฎหมายความลับทางการธนาคารของสวิสเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะนโยบายวางตัวเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และความต้องการสร้างชาติให้เป็นประเทศ ‘จักรวรรดิทางการเงิน’ อันยิ่งใหญ่ ต่อมา ใน ค.ศ.1934 รัฐสภากลางของสวิสออกกฎหมาย ‘รักษาความลับด้านข้อมูลทางการเงินส่วนบุคคล’ ซึ่งเปลี่ยนโฉมธนาคารสวิสให้กลายเป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกด้านการรักษาความลับของลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของธนาคารสวิสกลับถูกท้าท้ายในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะการค้าขายกับฝ่ายอักษะโดยเฉพาะกลุ่มนาซี ซึ่งทำให้ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มตั้งคำถามกับ ‘ความเป็นกลาง’ และ ‘การรักษาความลับ’ ของธนาคารสวิสว่าเป็นช่องโหว่ในการทุจริตและการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ธนาคารสวิสถูกจับตามองอย่างมากจากชาติตะวันตกเรื่องนโยบายดังกล่าวที่อาจขัดต่อ ‘ความโปร่งใส’ ในการทำธุรกิจและการเงิน โดยเฉพาะในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดโปงว่านักการเมือง นักธุรกิจ และผู้นำโลกหลายคนอาศัยช่องทางการทำธุรกรรมผ่านธนาคารสวิส เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจสอบการกระทำที่ผิดกฎหมาย

ฉันเชื่อว่ากฎหมายความลับทางธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักศีลธรรม ข้ออ้างเรื่องปกป้องความลับทางการเงินเป็นเพียงการปักธงเพื่อปกปิดบทบาทอันน่าละอายของธนาคารในสวิสในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มคนที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษี … สถานการณ์เช่นนี้เอื้อต่อการทุจริตและความหิวกระหายก่อตัวขึ้นในประเทศที่ต้องการรายได้จากการเก็บภาษี ประเทศเหล่านี้คือหนึ่งในผู้ที่เจ็บปวดอย่างมากกับการทำตัวเป็นโรบินฮู้ดมุมกลับของสวิตเซอร์แลนด์

เดิมทีนั้น กฎหมายเรื่องความลับทางธนาคารในสวิสเป็นเรื่องทางแพ่งซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันตามมลรัฐ และเกิดขึ้นมายาวนานหลายศตวรรษแล้ว หนึ่งในกฎหมายการเงินและการธนาคารฉบับเก่าที่สุดของสวิสตราขึ้นใน ค.ศ.1713 โดยรัฐสภาแห่งนครเจนีวา กฎหมายดังกล่าวระบุว่า “ธนาคารมีหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูลของลูกค้าและข้อมูลการทำธุรกรรมของพวกเขาไว้ แต่ห้ามเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้นให้กับบุคคลอื่นนอกจากลูกค้า ยกเว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากสภาเมือง”

แม้ว่านโยบายความเป็นส่วนบุคคลและการรักษาข้อมูลความลับของลูกค้าจะเป็นจุดขายที่แข็งแกร่งของธนาคารสวิสมานานหลายร้อยปี แต่รัฐสภากลางของสวิสเพิ่งตรากฎหมายด้านการธนาคารให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้ระดับประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 โดยใน ค.ศ.1934 รัฐสภากลางของสวิสมีมติเห็นชอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธนาคารและธนาคารออมทรัพย์ ค.ศ.1934 (Federal Act on Banks and Savings Banks 1934) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘กฎหมายการธนาคารสวิส 1934’ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้บัญญัติเรื่องการรักษาความลับทางธนาคารเอาไว้ในมาตราที่ 47 ที่ระบุว่า “บุคคลใดก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคการธนาคาร บุคคลนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลของลูกค้า” และกำหนดโทษทางอาญาเพิ่มเติม จากเดิมที่มีเพียงโทษทางแพ่ง โดยเมื่อ 1 ก.ค. 2015 มีการแก้ไขกฎหมายให้มีความเข้มงวดขึ้นในส่วนการรักษาความลับและโทษ

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยธนาคารและธนาคารออมทรัพย์แห่งสวิตเซอร์แลนด์ ค.ศ.1934

มาตรา 47

1 บุคคลที่ระบุไว้ในมาตรา 1 ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่จงใจกระทำการดังต่อไปนี้อาจต้องโทษปรับหรือจำคุกสูงสุด 3 ปี

(a) เปิดเผยข้อมูลของลูกค้าซึ่งถือเป็นข้อมูลความลับที่ลูกค้ามอบให้แก่ธนาคารด้วยความไว้วางใจ

(b) พยายามชักชวนให้กระทำผิดกฎหมายความลับทางธนาคาร

(c) เปิดเผยข้อมูลซึ่งเป็นความลับให้แก่บุคคลที่สามหรือใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อหาประโยชน์ให้กับตนหรือบุคคลอื่น

1 (ทวิ) บุคคลที่กระทำการให้ตนเองหรือบุคคลอื่นได้รับผลประโยชน์ตามการกระทำในวรรค 1 (a) หรือ (c) อาจต้องโทษปรับหรือจำคุกสูงสุด 5 ปี

2 บุคคลที่กระทำความผิดตามมาตรานี้มีโทษปรับสูงสุด 250,000 ฟรังก์สวิส

3 … (ถูกยกเลิกตาม พ.ร.บ.โครงสร้างตลาดการเงิน ค.ศ.2015)

4 การละเมิดข้อตกลงการรักษาความลับทางวิชาชีพยังคงมีผลตามกฎหมายแม้ว่าธนาคารจะถูกเพิกถอนในอนุญาตประกอบกิจการหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคธนาคารจะยุติการทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้นๆ ไปแล้วก็ตาม

5 หากการเปิดเผยข้อมูลลูกค้ากระทำโดยรัฐบาลกลางหรือรัฐบาลมลรัฐเพื่อใช้เป็นหลักฐานหรือเป็นข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ จะได้รับการยกเว้นจากมาตรานี้

6 การกำหนดบทลงโทษและการพิพากษาการกระทำความผิดตามมาตรานี้ให้เป็นไปตามความรับผิดชอบของเขตอำนาจศาลในแต่ละมลรัฐ และใช้ข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญาสวิส ค.ศ.1937

ที่มา:

ธนาคารเครดิตสวิสพัวพันแก๊งค้าโคเคนข้ามชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2563 สื่อด้านเศรษฐกิจและการเงินระดับโลกอย่างบลูมเบิร์กและฟอบส์ รวมถึงสำนักข่าวด้านการเงินของสวิตเซอร์แลนด์อย่าง finews.ch รายงานว่าอัยการของสวิตเซอร์แลนด์มีคำสั่งฟ้องธนาคารเครดิตสวิสและอดีตพนักงานคนหนึ่งของธนาคารในข้อหาฟอกเงินจากแก๊งค้ายาเสพติดข้ามชาติที่มีเครือข่ายหลักอยู่ในบัลแกเรีย ซึ่งต่อมาได้รับการเปิดเผยภายหลังว่าขบวนการค้ายาเสพติดดังกล่าวเป็นของ เอฟลิน บาเนฟ นักมวยปล้ำ เจ้าของฉายา ‘ราชาโคเคนแห่งบัลแกเรีย’

สำนวนคำฟ้องของอัยการสวิสระบุว่าบาเนฟเป็นลูกค้าของธนาคารเครดิตสวิส และสามารถใช้ช่องทางการทำธุรกรรมผ่านธนาคารเครดิตสวิสเพื่อฟอกเงินที่ได้มาจากการค้าโคเคนทั่วยุโรป โดยได้รับการช่วยเหลือจากอดีตพนักงานของธนาคารเครดิตสวิสที่จัดทำ “ธุรกรรมการเงินพิเศษ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์และการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์อื่นๆ ทำให้เขาสามารถนำเงินจากการค้ายาเสพติดมาฟอกจนขาวสะอาดได้ ข้อมูลจากอัยการสวิสระบุสาเหตุที่ธนาคารเครดิตสวิสถูกฟ้องร่วมในคดีนี้ว่าเป็นเพราะธนาคารปล่อยปละละเลยให้เกิดการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งขัดต่อกฎหมายฟอกเงินของสวิสที่กำหนดให้ธนาคารต้องตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยเป็นการภายใน

ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 สำนักข่าวสวิสอินโฟและรอยเตอร์สรายงานว่าศาลสวิสเริ่มไต่สวนคดีนัดแรกจากทั้งหมด 4 นัด โดยอัยการแถลงต่อศาลว่าตั้งแต่ปี 2547-2551 ขบวนการค้ายาเสพติดของบาเนฟฟอกเงินที่ได้จากการขายยาเสพติดจำนวน 146 ล้านฟรังก์สวิสผ่านช่องทางการทำธุรกรรมของธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งในจำนวนนี้มีธุรกรรมที่เป็นเงินสดทั้งสิ้น 43 ล้านฟรังก์สวิส ทั้งนี้ อัยการได้เรียกค่าเสียหายจากธนาคารเป็นเงินทั้งสิ้น 42.4 ล้านฟรังก์สวิส นอกจากนี้ ในวันที่ 10 ก.พ. 2565 รอยเตอร์สรายงานเพิ่มเติมว่าอดีตพนักงานของธนาคารเครดิตสวิสผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ให้การในชั้นศาลว่าเธอทำตามคำสั่งของหัวหน้าที่มีตำแหน่งสูงกว่าอีกที และปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

อย่างไรก็ตาม บาเนฟไม่ได้ตกเป็นจำเลยในคดีฟอกเงินที่ศาลสวิส แต่เขาเคยถูกจับกุมข้อหาลักลอบขนยาเสพติดเมื่อปี 2560 ในอิตาลีและถูกตั้งข้อหาฐานฟอกเงินในบัลแกเรียเมื่อปี 2561 ส่วนคดีฟอกเงินในธนาคารเครดิตสวิสนั้นมีผู้ถูกฟ้อง 5 ราย ได้แก่ ธนาคารเครดิตสวิส อดีตพนักงานของธนาคารเครดิตสวิส อดีตนายธนาคาร Julius Baer และผู้ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับแก๊งค้ายาเสพติดอีก 2 คน

รักษาความลับ: วัฒนธรรมองค์กรที่ล้มเหลวของธนาคารสวิส

หลังจากสำนักข่าวซุดดอยท์เชอไซทุง (Süddeutsche Zeitung) และ OCCRP ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวไม่เปิดเผยนาม OCCRP ในฐานะตัวแทนนักข่าวผู้ร่วมสืบสวนสอบสวนในโปรเจ็กต์ SuisseSecret ได้ส่งอีเมลไปยังธนาคารเครดิตสวิสเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลบัญชีชุดดังกล่าวซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายอาชญากรรมและการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งธนาคารได้ส่งแถลงการณ์ตอบกลับมา 2 ฉบับ และปฏิเสธว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

แถลงการณ์จากธนาคารเครดิตสวิสฉบับแรกส่งกลับมาในเดือน ก.พ. 2565 (ไม่ลงวันที่) ระบุว่า “เครดิตสวิสขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อข้อกล่าวหาและการแทรกแซงเรื่องแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ประเด็นที่ถูกยกขึ้นมานั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ในบางกรณีเกิดขึ้นก่อนช่วงทศวรรษที่ 1970 อีกทั้งบัญชีที่ปรากฏตามข้อซักถามนี้ถูกหยิบเลือกมาโดยใช้อคติ ไม่เป็นกลาง และปราศจากบริบทแวดล้อม เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการตีความโดยมีจุดประสงค์จำเพาะต่อการประกอบธุรกิจของธนาคาร แม้ว่าเครดิตสวิสจะไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ เรื่องความสัมพันธ์ของลูกค้าได้ แต่ธนาคารสามารถยืนยันได้ว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นไปตามนโยบายปฏิบัติและข้อบังคับในช่วงเวลาที่สอดคล้องกัน และประเด็นปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไขแล้ว”

ส่วนแถลงการณ์อีกฉบับ ลงวันที่ 4 ก.พ. 2565 ระบุว่า “ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ธนาคารเครดิตสวิสดำเนินธุรกิจในหลายประเทศและตระหนักอย่างสุดซึ้งถึงความรับผิดชอบต่อลูกค้าของธนาคาร รวมถึงความรับผิดชอบต่อระบบการเงินในภาพรวม เพื่อรับประกันว่าธนาคารได้คงไว้ซึ่งมาตรฐานจริยธรรมทางวิชาชีพขั้นสูงสุด เครดิตสวิสดำเนินธุรกิจโดยสอดคล้องกับกฎหมายและข้อบังคับทั้งในระดับโลกและระดับท้องถิ่น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ธนาคารได้นำมาตรการที่สำคัญมากมายที่สัมพันธ์กับการปฏิรูประบบการเงินของสวิสมาปรับใช้ ซึ่งรวมถึงการลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อต่อสู้กับอาชญากรรมทางการเงินเป็นการเฉพาะ ทั้งนี้ เครดิตสวิสจะยังคงเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กรอบงานจัดการความเสี่ยงและการควบคุมระบบอย่างต่อเนื่อง”

ผู้เชี่ยวชาญบอกกับ OCCRP ว่าการทำธุรกิจระหว่างธนาคารเครดิตสวิสและลูกค้าที่มีส่วนพัวพันกับการทุจริตและการละเมิดสิทธิถือเป็น ‘วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ’ ซึ่งปนเปื้อนอยู่ในทุกระดับตั้งแต่บนลงล่าง เจอร์ฮาร์ด อังเดรย์ (Gerhard Andrey) ส.ส. จากพรรคกรีนสวิส กล่าวถึงเหตุอื้อฉาวเมื่อปี 2557 ที่อูร์ส โรห์เนอร์ (Urs Rohner) ผู้บริหารธนาคารเครดิตสวิสในขณะนั้นปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะปัจเจกต่อกรณีที่ธนาคารช่วยเหลือพลเมืองอเมริกันจำนวนหนึ่งในการหลีกเลี่ยงภาษี

“เขาเป็นประธานบริษัทนะ ถ้าคุณเป็น CEO หรือเป็นประธาน คุณจะมาบอกว่า ‘ไม่ใช่เรื่องของผม’ แบบนี้ไม่ได้ เพราะว่ามันคือหน้าที่ของคุณที่ต้องกำหนดวัฒนธรรมภายในองค์กร” อังเดรย์กล่าว ก่อนจะเสริมว่า “วัฒนธรรม[องค์กร]ถูกกำหนดจากบนลงล่าง จากผู้บริหารระดับสูง กรรมการบริหาร และพนักงานอาวุโส”

เจอร์ฮาร์ด อังเดรย์ (Gerhard Andrey) ส.ส. จากพรรคกรีน สวิตเซอร์แลนด์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก Gerhard Andrey)
 

อดีตพนักงานธนาคารสวิสเปิดเผยกับ OCCRP ว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ถูกกำหนดจากบนลงล่างทำให้เกิดข้อครหาเรื่องการละเลยต่อการทุจริตและอาชญากรรมอื่นๆ พนักงานระดับกลางเองก็รู้สึกว่าพวกเขาไร้อำนาจจัดการปัญหาเหล่านี้

“ฉันเกษียณก่อนกำหนด เพราะวัฒนธรรมที่เป็นพิษซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการยอมเป็นคนหัวอ่อนและการยอมให้ธุรกิจเจริญเติบโต ยิ่งอยู่ไปนานๆ ก็ยิ่งเฉื่อยชาและกลายเป็นเหมือนทาสรับใช้[บริษัท]อย่างเต็มตัว” อดีตพนักงานธนาคารอาวุโสคนหนึ่งกล่าว

อีเมลภายในของธนาคารเครดิตสวิสที่ถูกปล่อยออกมาให้ OCCRP ยืนยันได้ว่าวัฒนธรรมดังกล่าวยังคงเป็นปัญหาขององค์กร อีเมลฉบับหนึ่งในเดือน ต.ค. 2564 ที่ผู้บริการธนาคารเครดิตสวิสส่งถึงพนักงาน 50,000 คนเพื่อขอให้ทำแบบสำรวจออนไลน์ ชี้ชัดว่า “ความจำเป็น[ในการทำงาน]คือสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เพื่อนร่วมงานกล้าที่จะพูด” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าวัฒนธรรมองค์กรของเครดิตสวิสจะไม่มีทางเปลี่ยนจนกว่าผู้บริหารระดับสูงจะเผชิญกับผลสะท้อนกลับจากข่าวฉาวที่กลายเป็นหายนะของธนาคาร

“ต้องมีเรื่องให้ผู้บริหาร[ของธนาคาร]ได้ลองเข้าคุกสักครั้ง จะได้เขย่าเสาบ้านไปในตัว” เจมส์ เฮนรี นักเศรษฐศาสตร์และที่ปรึกษาระดับสูงของเครือข่ายภาษีเพื่อความยุติธรรม (Tax Justice Network) กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net