Skip to main content
sharethis

19 เครือข่ายภาคประชาชนประกาศค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ชี้ การรวมกลุ่มดําเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาและทําประโยชน์สาธารณะเป็นเสรีภาพที่ต้องไม่ถูกควบคุม แต่ร่างกฎหมายนี้จำกัดเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิในรัฐธรรมนูญ พร้อมประกาศเดินหน้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อสภา และเดินหน้าสู้ต่อที่ทำเนียบ

15 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (15 ธ.ค. 2564) ที่โรงแรมกานต์มณีพาเลซ กรุงเทพฯ เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน จัดกิจกรรมรณรงค์คัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน หรือร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอ จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการของร่างกฎหมายว่าด้วยการดําเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกําไรมาแบ่งปันกันซึ่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้เสนอ โดยมีตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน 19 กลุ่มร่วมกิจกรรม เช่น เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายแรงงาน กลุ่มองค์กรสวัสดิการชุมชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายองค์กรผู้สูงอายุ องค์กรด้านเด็ก และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศเข้าร่วม รวมถึงแสดงตนออนไลน์

สุนี ไชยรส ผู้ริเริ่มร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมภาคประชาสังคม (ฉบับเข้าชื่อ) และผุ้ดำเนินรายการ กล่าวเปิดการเสวนาว่าตนเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้เป็นร่างกฎหมายส่งเสริมภาคประชาสังคม ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ (พม.) ได้รับไปผลักดันต่อและกลายเป็นร่างที่เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งถูกแปลงสารจากการส่งเสริมไปเป็นการควบคุมภาคประชาชน และผิดจากความตั้งใจของตน ในฐานะภาคประชาชนที่ร่วมผลักดันร่างกฎหมายนี้ การเสวนาครั้งนี้จึงมุ่งนําเสนอข้อเท็จจริงว่าด้วยเรื่องบทบาทของภาคประชาชนต่อการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการทํางานของภาคประชาชนซึ่งทําหน้าที่สนับสนุนงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาในแบบที่รัฐราชการอาจทําไม่ได้

ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวถึงบทบาทของภาคประชาสังคมต่อการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผลกระทบจากร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมฉบับล่าสุดที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ไพโรจน์ระบุว่าเราได้รณรงค์คัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 นับตั้งแต่ที่ ครม. นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภา โดยจากวันนั้นจนถึงวันนี้ที่มีร่างแก้ไขฉบับล่าสุดออกมา ตนพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในแง่ของภาษาเขียน และ ‘ความเนียน’ เพราะหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าสาระสำคัญของร่างกฎหมายไม่ต่างจากร่างแรกของ ครม. มากนัก

(จากซ้ายไปขวา) ไพโรจน์ พลเพชร, สุนี ไชยรส และสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง
 

ไพโรจน์กล่าวว่าเครือข่ายภาคประชาสังคมที่มาร่วมเสวนาในวันนี้ทำงานอย่างต่อเนื่อง ช่วยส่งเสียงให้สังคมได้ยิน และทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมมาเป็นเวลาอย่างน้อย 20 กว่าปีนับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่รับรองสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน รับรองให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของรัฐ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิ จนเกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมทางสังคมที่เข้มแข็ง

ไพโรจน์กล่าวต่อไปว่าเสรีภาพในการรวมตัวเป็นสิทธิพื้นฐานสำคัญที่สุดของประชาธิปไตย ถ้าประชาชนไม่รวมตัวกันก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะการรวมกลุ่มจะทำให้เสียงของประชาชนดังขึ้นมาได้ ดังเช่น การรวมตัวกันเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่แสดงให้เห็นว่าหากรัฐกระทำการใดที่กระทบสิทธิประชาชน ประชาชนก็มีสิทธิที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องได้ ซึ่งหัวใจสำคัญที่ประชาชนรวมกลุ่มกันก็เพื่อต่อรองกับรัฐ แต่กลายเป็นว่าถูกรัฐตีตราว่าคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง คือ ศัตรูของรัฐและกลุ่มทุน

“ถ้าเป็นสังคมประชาธิปไตย [ประชาชน]จะมีอำนาจในการต่อรองสูง แต่รัฐบาลชุดนี้มาจากการยึดอำนาจ อย่างไรก็ตาม [รัฐบาล]จะต้องควบคุมภาคประชาชนสังคมให้อยู่ภายใต้วินัยแบบทหาร” ไพโรจน์กล่าว

ไพโรจน์ ระบุว่ารัฐไทยในปัจจุบันใช้ 2 วิธีในการควบคุมประชาชน คือ การควบคุมทางกฎหมายที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐ และการควบคุมทางความเชื่อหรืออุดมการณ์ ซึ่งรัฐพยายามอธิบายว่าคนที่ลุกขึ้นมาต่อรองหรือขัดขวางอำนาจรัฐพวกขัดขวางความเจริญของรัฐ ทุกคนต้องคิดเห็นไปในทางเดียวกับรัฐ ถ้าใครติดต่างไปจากนี้ก็ถือว่าเป็นคนที่ไม่เหมาะสม

ไพโรจน์กล่าวว่านับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา องค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะเครือข่ายทั้งหมดที่นั่งอยู่ในที่นี้ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนมามาก แต่ร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอ ฉบับใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่สภาจะทำให้รัฐเข้ามาแทรกแซงการรวมกลุ่มและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยอ้างเหตุผลว่า ‘เพื่อประโยชน์สาธารณะ’ แต่จริงๆ แล้ว การทำงานของภาคประชาสังคมนั้นก็ทำไปเพื่อประโยชน์สาธาณะทั้งสิ้น ตนจึงมองว่าการอ้างเหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น

ไพโรจน์สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.เอ็นจีโอ ฉบับนี้ให้ฟังโดยสังเขปว่ารัฐต้องการควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมโดยใช้ 3 ขั้นตอนหลักๆ ได้แก่ ขึ้นทะเบียนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ใช้กฎหมายปกครองมากำหนดรูปแบบการทำกิจกรรมหรือการเคลื่อนไหวขององค์กร และควบคุมแหล่งเงินทุนทั้งในและออกประเทศ

“หากพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านกฤษฎีกาฉบับล่าสุด พบว่าหมวดแรกเหมือนจะสนับสนุนให้มีภาคประชาสังคม แต่พอไปดูหมวด 2 ก็ยังคงเจตจำนงในการควบคุมไว้ แม้ไม่ควบคุมการจัดตั้ง แต่บังคับให้ลงทะเบียนและให้ข้อมูลทุกอย่างกับรัฐโดยอ้างเรื่องความโปร่งใส และต้องไปแจ้งเรื่องที่กระทรวง พม. ปัจจุบัน องค์กรภาคประชาสังคมเราก็แจ้งอยู่แล้ว ถ้าเป็นมูลนิธิหรือสมาคมก็แจ้งหมด เปิดเผยหมด เพราะองค์กรส่วนใหญ่ต้องการแสดงผลงานของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ต้องมีกฎหมายมาควบคุม เราก็แจ้งให้ทราบอยู่ตลอด ร่างกฎหมายอ้างว่าเพื่อให้รัฐและสาธารณชนรับรู้ แต่เราแจ้งอยู่แล้ว ตรวจสอบได้ทั้งหมด” ไพรโรจน์กล่าว พร้อมบอกว่าการขึ้นทะเบียนองค์กรตามร่างกฎหมายนี้ก็มีความซ้ำซ้อน เพราะเขียนไม่ชัดเจนว่าหากบางองค์กรเคยแจ้งจัดตั้งไปที่หน่วยงานรัฐ จะต้องไปจดทะเบียนซ้ำที่กระทรวง พม. หรือไม่

ไพโรจน์กล่าวต่อไปอีกว่าในร่างกฎหมายฉบับก่อนกำหนดให้มีโทษทางอาญา หากองค์กรไม่แสวงหากำไรไม่ปฏิบัติตามร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ร่างฉบับใหม่เปลี่ยนจากโทษอาญามาเป็นโทษทางปกครอง แต่อย่างไรเสียก็มีผลกระทบไม่ต่างกัน เพราะร่าง พ.ร.บ.ควบคุมภาคประชาสังคม มาตรา 20 ให้อำนาจนายทะเบียนตักเตือนการกระทำขององค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งนายทะเบียนในที่นี้หมายปลัดกระทรวง พม. และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย หากเตือนแล้วไม่ฟัง ก็สามารถออกคำสั่งให้ยุติการดำเนินการ และมีโทษทางอาญา และทางปกครอง ทั้งยังต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินก้อนอีก 500,000 บาท หากในระหว่างที่คำสั่งมีผลบังคับใช้ องค์กรยังฝ่าฝืนกระทำการอยู่ก็จะปรับเงินเป็นรายวันอีก โดรยปรับทั้งในระดับองค์กร หัวหน้าองค์กร และผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งตนขอตั้งคำถามว่าหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ตัดสินหรือไหมว่าใครทำผิดกฎหมาย เพราะผู้ตัดสินว่าใครทำผิดกฎหมายคือศาล ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับใช้กฎหมายลักษณะไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และหากรัฐต้องการจะเอาผิดองค์กรไม่แสวงหากำไรจริงๆ ก็มีช่องทางเดิมตามกฎหมายที่มีอยู่อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายควบคุมเพิ่มให้ซ้ำซ้อน

 

ส่วนการควบคุมแหล่งรายได้ขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ระบุว่าต้องแจ้งที่มาของแหล่งทุนและวัตถุประสงค์ในการใช้จ่าย รวมถึงบัญชีรายรับรายจ่ายต่อรัฐนั้น จริงๆ แล้วรัฐสามารถใช้ช่องทางเดิมตามกฎหมายการเงินเพื่อตรวจสอบได้เช่นกัน เพราะการเปิดบัญชีในนามองค์กรกับธนาคารก็ต้องใช้เอกสารยืนยันเต็มไปหมด และรัฐก็มีกฎหมายควบคุมหรือกำกับสถาบันทางการเงินอยู่แล้ว รวมถึงมีช่องทางในการขอเรียกเอกสาร เรียกให้มาชี้แจง หรือใช้ช่องทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เพื่อเขาตรวจสอบได้

นอกจากนี้ มาตรา 15 ของร่างกฎหมายดังกล่าวยังให้อำนาจแก่นายทะเบียนในการประสานงานกับแหล่งทุนขององค์กรทั้งหลายเพื่อเก็บรวบรวมเงินทุนทั้งหมดมาไว้ที่กระทรวง พม. แล้วกระทรวงค่อยออกกฎเกณฑ์ทีหลังเพื่อระบุว่าเงินทุนเหล่านั้นจะมอบให้องค์กรใดบ้าง ซึ่งตนสงสัยว่าในกรณีนี้หมายรวมถึงแหล่งทุนที่เป็นหน่วยงานรัฐในประเทศด้วยหรือเปล่า กล่าวคือถ้าองค์กรภาคประชาสังคมที่ไม่แสวงหากำไรต้องการขอทุนจากองค์กรรัฐ สามารถขอได้โดยตรงกับหน่วยงานนั้นๆ หรือเปล่า หรือต้องมาทำเรื่องขอทุนซ้อนกับกระทรวง พม. อีก

ไพโรจน์ กล่าวว่ารัฐนำเรื่องการฟอกเงินมาเพื่อควบคุมการเงินขององค์กรไม่แสวงหากำไร เพราะอ้างว่ากลัวการก่อการร้าย ซ้ำร้าย ป.ป.ง. ยังเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งตนอ่านแล้วก้ยังไม่เข้าใจนัก แต่รู้จุดประสงค์ว่าต้องการจะควบคุมองค์กรภาคประชาสังคม

“สมมติฐานของ ป.ป.ง. เชื่อว่ามีการฟอกเงินในบางองค์กร ซึ่งอาจจะมีจริง แต่การออกกฎหมายมาควบคุมองค์กรไม่แสวงหากำไรและภาคประชาสังคมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผิด ถ้ามีการฟอกเงินในบางองค์กรจริง ทำไมถึงออกกฎหมายมาควบคุมทั้งประเทศ หากจะตรวจสอบการฟอกเงินก็มีเครื่องมือทางกฎหมายอื่นๆ ในการตรวจสอบอยู่แล้ว” ไพโรจน์กล่าว

ไพโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าหากพิจารณาจากร่างกฎหมายฉบับแรกที่ออกมาเมื่อต้นปีกับร่างล่าสุด ตนพบว่ารัฐบาลยอมถอย แต่ไม่ได้มาก ดังนั้น ภาคประชาสังคมและประชาชนต้องเดินหน้าต่อเพื่อแสดงเจตจำนงแห่งอิสรภาพและการมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ

สุนีกล่าวเสริมว่าแม้ร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาสังคมฉบับล่าสุดจะ ‘ดูเนียน’ แต่จริงๆ แล้วไม่เนียน เพราะเนื้อหาข้างในบิดเบี้ยว อย่าไปหลงเชื่อว่า “รับๆ ไปเถอะเดี๋ยวจะดีเอง” เพราะอาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

ต่อมา สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ และหนึ่งในผุ้ดำเนินรายการ กล่าวว่าร่างกฎหมายดังกล่าว ดูก็รู้แล้วว่ามีเจตนาต้องการควบคุมประชาชน เช่นเดียวกับการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ พร้อมขอให้ประชาชนช่วยกันจับตาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมภาคประชาสังคมฉบับนี้ซึ่งจะเข้าในที่ประชุม ครม. สัปดาห์หน้า

“ถึงคุณจะตั้งชื่ออย่างกำกวมอย่างไร แต่เราก็อ่านออกว่าคุณต้องการจะควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ” สุนทรี กล่าว พร้อมระบุว่าผู้ลงชื่อในแถลงการณ์คัดค้านวันนี้คือตัวแทนจาก 19 เครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วยองค์กรมากกว่า 1,000 องค์กร และมีสมาชิกรวมกันหลายพันคน

หลังจากนั้น ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมกล่าวถึงเหตุผล ความจำเป็น ในการคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน โดยมีทั้งสิ้น 19 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายเด็กและครอบครัว เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายคนจนเมือง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เครือข่ายด้านสุขภาพ เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เครือข่ายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เครือข่ายสภาชุมชน เครือข่ายนักวิชาการด้านสังคม เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศ และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน

 

ผู้แทนทั้ง 19 เครือข่ายกล่าวโดยสรุปว่าร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชนยับยั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน โดยเฉพาะสิทธิในการรวมตัว คุกคามและทำลายการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักการกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอยู่หลายฉบับ ตัวแทนภาคประชาสังคมระบุว่าการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาด้านสังคมรวมถึงด้านต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ และต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนเพราะรัฐต่างๆ ล้วนมีข้อจำกัดให้การเข้าถึงประชาชนทุกพื้นที่ รัฐบาลควรเอาเวลาตรวจสอบประชาชนไปตรวจสอบองค์กรรัฐอื่นๆ ที่ทำงานล้มเหลวมากกว่า นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายยังระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดขวางการทำงานและพัฒนาสิทธิการพัฒนาคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐตั้งเป้าเล่นงนองค์กรไม่แสวงหากำไรแต่ไปโอบอุ้มองค์กรแสวงหากำไรสูงสุดจนกลายเป็นธุรกิจผูกขาดเป็นการชี้ชัดว่ารัฐอยู่ข้างกลุ่มทุน รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าหน่วยงานภาครัฐก็รับเงินจากแหล่งทุนจากต่างชาติเช่นกัน จะกล่าวหาเฉพาะองค์กรภาคประชาสังคมว่ารับเงินต่างชาติไม่ได้ ที่สำคัญที่สุดคือร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นเพราะการตั้งสมมติฐานบนตรรกะที่บิดเบี้ยวของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งภาคประชาชนต้องทำความเข้าใจใหม่กับความคิดนี้ และส่งสารไปให้ถึงภาครัฐ

ภายหลังจากผู้แทนองค์กรด้านต่างๆ ได้ร่วมเสนอเหตุผลและความจําเป็นในการคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ได้มีแถลงการณ์แสดงความผิดหวังต่อการดําเนินการของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกาที่ดําเนินการโดยขัดรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพในการรวมกลุ่ม จากนั้น 19 เครือข่ายภาคประชาชนได้ประกาศข้อเรียกร้องร่วมกันโดยไม่ยอมรับร่าง พระราชบัญญัติการว่าด้วยการดําเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากําไรฯ ฉบับนี้ และพร้อม เคลื่อนไหวให้ถึงที่สุด เพื่อให้เกิดการยกเลิกร่างกฎหมายนี้ในทุกขั้นตอนกระบวนการทางนิติ บัญญัติโดยผู้แทนในการประกาศแถลงการณ์บอกถึงเหตุผลสําคัญ 5 ประการในการจัดกิจกรรม รณรงค์เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ว่า “ร่างกฎหมายนี้เป็นการควบคุมและกีดกันการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะ เพื่อความมุ่งหมายการรวมศูนย์อํานาจในการปกครองประเทศ ซึ่งเป็นการขัดกับหลักประชาธิปไตย หลักสิทธิมนุษยชน และหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งกฎหมายนี้มา จากการสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกระบวนการในการจัดทํา กฎหมาย คือก่อนการตรากฎหมายต้องรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจ เกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน”

ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าว มีวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้แทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วมรับฟังการเสวนาและข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคม

ภายหลังจากจัดกิจกรรม ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ได้มีการ นัดหมายเพื่อไปยืนแถลงการณ์ต่อประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ณ อาคารรัฐสภา ในเวลา 14.00 น. และอาจจะเดินหน้าเรียกร้องต่อที่ทำเนียบรัฐบาลในโอกาสถัดไป หากร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุม ครม.

แถลงการณ์ของเครือข่าย 19 องค์กรภาคประชาสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net