Skip to main content
sharethis

มติพรรคร่วมฝ่ายค้านโหวตรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญภาคประชาชน หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ย้ำ ส.ส.รัฐบาล-ส.ว.ให้เกียรติประชาชน 1.3 แสนชื่อโหวตรับหลักการไปก่อน

15 พ.ย.2564 เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'พรรคเพื่อไทย' โพสต์รายงานว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติเป็นเอกฉันเห็นควรรับหลักการ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าชื่อกันเสนอ ซึ่งประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 16 พ.ย.นี้ ในวาระที่ 1 โดยมีเหตุผลสำคัญที่เป็นแนวทางในการรับหลักการดังกล่าวนี้ 6 ประการ คือ

1. หลักการและเหตุผลที่เสนอแก้ไขเป็นไปเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจและทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยจะมีการแก้ไขยกเลิกหมวด 16 ที่ว่าการปฏิรูปประเทศ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

2. ปรับโครงสร้างระบบรัฐสภา จากระบบ 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ให้เหลือสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร

3. การสร้างกลไกตรวจสอบยึดโยงอำนาจอธิปไตยของพี่น้องประชาชน สร้างให้มีกลไกผู้ตรวจการสภาผู้แทนราษฎร เช่น ผู้ตรวจการศาลทหาร ผู้ตรวจการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการองค์กรอิสระ

4. การปรับโครงสร้าง ที่มา อำนาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

5. ยกเลิกการคงอยู่และการสืบทอดอำนาจของผู้ทำการยึดอำนาจที่ยังคงสภาพบังคับใช้อยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีต ปัจจุบันจนถึงอนาคต ต้องยกเลิกให้สภาพอำนาจนั้นสิ้นสุดลง

6. สร้างกลไกการแก้ไขบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้เข้มข้นขึ้น เมื่อเปลี่ยนเป็นระบบสภาเดียว ก็ต้องเพิ่มบทบัญญัติการตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้น

นอกจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านยังมีความห่วงใยสถานการณ์บ้านเมือง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยซึ่งผูกพันทุกองค์กรและนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งถ้านำไปสู่การปฏิบัติโดยมิชอบ เป็นเครื่องมือการเมืองอาจก่อให้เกิดความแตกแยกวุ่นวาย จึงอยากให้อยู่ในกรอบของหลักนิติรัฐ นิติธรรม และความชอบธรรม พรรคร่วมฝ่ายค้านห่วงใยการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม ไม่ควรมีการใช้อาวุธความรุนแรง และต้องห่วงใยผู้ชุมนุมซึ่งเป็นเยาวชน จึงอยากให้ใช้เวทีสภาผู้แทนราษฎร เป็นเวทีปลอดภัยหาทางพูดคุยคุย โดยจะให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมดอีกครั้ง

วอยซ์ออนไลน์ รายงานเพิ่มเติมว่า  หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า ร่างนี้เป็นประโยชน์ เพราะเป็นร่างที่ภาคประชาชน 1.3 แสนรายชื่อได้เสนอเข้ามา เราเห็นพ้องต้องกันรับหลักการ

 ได้ปรึกษาหารือการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงของปัญหาบ้านเมืองเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา โดยฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายเรื่องนี้ แต่ขึ้นกับสภาพปัญหาข้อเท็จจริงจะมีเรื่องอะไรที่จะต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในสัปดาห์หน้าและจะกำหนดกรอบเวลาการอภิปราย

นพ.ชลน่านระบุว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ให้ความสำคัญกับสถานกาณ์บ้านเมืองและหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเห็นร่วมกันว่าห่วงใยกับสถานการณ์ เป็นห่วงมาก ถ้านำไปสู่ปฏิบัติเป็นไปโดยมิชอบหรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจะเกิดความแตกแยก ฝ่ายค้านเป็นห่วงและอยากให้ผู้เกี่ยวข้องที่จะใช้กับการชุมนุุมหรือไล่ล่ายุบพรรคการเมือง ควรจะเป็นไปตามหลักนิติธรรม พร้อมเป็นห่วงการใช้ความรุนแรง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรเกิด ควรตำหนิเหตุการณ์รุนแรง รวมทั้งห่วงใยอนาคตผู้ชุมนุมทางการเมือง อยากเรียกร้องทุกฝ่ายใช้เวทีที่ปลอดภัยในการพูดคุยโดยเฉพาะสภาฯ ทั้งนี้จะมีการส่งเรื่องไปยัง กมธ.ป.ป.ช. และ กมธ.พัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มิชอบ เพื่อศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่าการลงมติในวาระที่หนึ่งขานชื่อทีละคนในวันที่17 พ.ย.นี้ อยากวิงวอนพรรคร่วมรัฐบาลทุกคนและ ส.ว.ได้เล็งเห็นการเสนอกฎหมายของภาคประชาชน เพราะกว่าจะรวมรายชื่อได้ใช้เวลาหลายเดือน โดยให้เกียรติประชาชนรับหลักการวาระที่หนึ่ง อาจจะไม่เห็นด้วยในวาระที่หนึ่งก็ใช้โอกาสในชั้นแปรญัตติได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net