Skip to main content
sharethis

Highlight

  • 14 ปีก่อน ท่ามกลางสถานการณ์รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้กำลังทหารล้อมปราบประชาชนคนเสื้อแดง ไทยได้เคยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ มาก่อนแล้ว แต่ทำไมไทยยังถูกเลือกให้เป็นและยังได้เป็นต่อหลังเหตุการณ์
  • นานาชาติจะเลือกหรือไม่เลือกประเทศไหนเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ หรือไม่นั้น ไม่ได้พิจารณากันแค่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศผู้สมัครเท่านั้น แต่ปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจที่อาจถูกให้น้ำหนักมากกว่า แต่มาตรฐานขั้นต่ำก็ยังต้องเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง 
  • แม้ปัจจัยด้านปัญหาสิทธิมนุษยชนทั้งคดีการเมืองที่ยังคงค้างจากยุครัฐบาลประยุทธ์ ทั้งคดีม.112 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังติดตามคุกคามประชาชนอยู่ ไปจนถึงศาล รธน.ก็ยังตั้งท่าจะยุบพรรคก้าวไกล ยังเป็นเรื่องที่องค์กรทั้งในและนอกประเทศวิจารณ์รัฐบาลไทย แต่เหตุใดกลไกฝ่ายความมั่นคงและตุลาการที่สืบทอดแนวปฏิบัติจากยุครัฐบาลทหารกลับไม่ถูกจัดการ?
  • ยังมีการบ้านที่องค์กรสิทธิในไทยและนอกประเทศจะต้องทำเพื่อให้รัฐบาลไทยต้องแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนก่อนที่จะได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เพราะถ้าไม่ถูกแก้เสียตั้งแต่วันนี้หลังไทยได้เป็นสมาชิกแล้วก็อาจจะไม่แก้ไข

ท่ามกลางสถานการณ์คดีทางการเมืองที่ยังคงมีเพิ่มเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนมากนักว่าเรื่องนี้จะถูกจัดการอย่างไรเพราะดูเหมือนจะติดประเด็นเรื่องคดีม.112 ที่อย่าว่าแต่จะมีคนไม่อยากให้นิรโทษกรรม แค่ให้ประกันตัวตามสิทธิทางกฎหมายมาสู้คดีก็ยังไม่อยากให้

ประเด็นหนึ่งที่องค์กรสิทธิมนุษยชนในไทยและต่างชาติพูดกันในช่วงที่ผ่านมาแต่ไม่เป็นข่าวมากนัก คือการส่งเสียงคัดค้านต่อนานาชาติว่าอย่าโหวตเลือกให้รัฐบาลไทยได้เข้าไปเป็น “สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ” หรือ Human Rights Council ในวาระปี 2567-2569 เนื่องจากองค์กรต่างๆ มองว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศด้านต่างๆ ยังไม่ถูกแก้ไขและยังมีแนวโน้มว่าจะยังมีต่อไป(และหลายเรื่องก็ค้างมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์)

เรื่องนี้เริ่มถูกพูดถึงในเวทีพูดคุยหรือในแถลงการณ์ที่เกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนของไทยมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่ถือเป็นช่วงท้ายๆ ในการบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงว่าไทยจะสมัครเข้ารับการโหวตเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ที่ต่อไปจะเรียกแค่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ) และสถานการณ์ล่าสุดคือรัฐบาลไทยภายใต้การนำของเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคกเพื่อไทยก็ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกในกลุ่มประเทศอาเซียนให้เป็นตัวแทนในการเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในโควต้า 13 ประเทศของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว 

แต่ชื่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ นี้อาจเป็นชื่อที่หลายคนอาจไม่คุ้นหูนัก เพราะกลไกย่อยใดๆ ที่อยู่ภายใต้องค์กรระหว่างประเทศขนาดใหญ่โตมโหราฬอย่างสหประชาชาติมักจะถูกรายงานในพาดหัวข่าวไปรวมๆ กันหมดว่าเป็น “ยูเอ็น” ไม่ว่าจะบทบาทด้านความมั่นคงในข่าวสงครามระหว่างประเทศ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและความยั่งยืน(SDG) มาจนถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่มุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานของกลไกย่อยๆ ภายในยูเอ็นที่มีภารกิจแตกต่างกันไป

กฟหดฟหดการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ 26 ก.พ.2567 ภาพจาก UN Geneva

ถ้าอ้างตามเอกสารที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญไทย คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ตามหลักการแล้วมีหน้าที่จะต้องส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนตามชื่อของมัน รวมถึงยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนหารือกันระหว่างประเทศสมาชิกยูเอ็นโดยเฉพาะในประเด็นนี้ ส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ นำพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนจากการประชุมไปปรับใช้ในกฎหมายภายในประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและยังมีหน้าที่ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปจนถึงตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชนอย่างทันท่วงที

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่าทำไมไทยจึงพยายามเข้าไปเป็นสมาชิกในกลไกของยูเอ็นที่มีชื่อห้อยท้ายด้วยคำว่า “สิทธิมนุษยชน” ที่ดูย้อนแย้งมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ แถมยังเกิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่ใครๆ ก็รู้ว่าเขาคือผู้นำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 (ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อปี 2553 เขาก็เกี่ยวข้องกับการสลายชุมนุมที่เพิ่งครบรอบ 14 ปีไปไม่กี่วัน) 

ประชาไทชวน สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาของฮิวแมนไรต์วอท์ช (Human Rights Watch หรือ HRW) ประจำประเทศไทยที่คร่ำหวอดในวงการสิทธิมนุษยชนและการเมืองระหว่างประเทศภายใต้กลไกของยูเอ็น เพื่อตอบคำถามว่าแรงจูงใจของรัฐบาลไทยในการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ คืออะไร อะไรที่ผลักดันไทยมาถึงจุดที่ได้เป็นตัวแทนอาเซียนทั้งที่ยังมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศ และหากไทยได้เป็นสมาชิกขึ้นมาจริงๆ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศจะดีขึ้นตามมาหรือไม่

สุณัย ผาสุข แฟ้มภาพจาก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

รัฐบาลประยุทธ์ที่สวนทางกับ “สิทธิมนุษยชน” แต่อยากเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ

การประกาศของรัฐบาลประยุทธ์ที่ถูกวิจารณ์ว่ามาจากการรัฐประหารแล้วยังเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนคงเป็นเรื่องชวนสงสัยที่สุดว่าทำไม่ถึงอยากจะเป็นสมาชิกในกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น

สุณัยมองเรื่องนี้แยกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนบทบาทอำนาจหน้าที่ในเชิงหลักการของการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ส่วนที่สองคือการได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกนั้นยังมีเรื่องศักดิ์ศรีหน้าตาของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ด้วย โดยเฉพาะกับประเทศที่ถูกประณามจากนานาชาติว่าขาดความเป็นประชาธิปไตย

เขาเปรียบเทียบว่าการได้รับเลือกเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ นั้นเป็นเสมือนกับตราประทับความชอบธรรมว่าประเทศนั้นกลับสู่ความเป็นปกติและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติแล้ว แม้ว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศสมาชิกไม่ได้ดีนักแล้วยังไม่ให้ความร่วมมือกับกลไกใดๆ ของยูเอ็นเลยก็ตาม แต่ก็ยังผลักดันตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิก 

นอกจากนั้นกลไกของคณะมนตรียังถูกใช้เป็นเครื่องมือในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ทั้งเพื่อใช้ปกป้องตัวเองและประเทศพันธมิตรจากการถูกวิจารณ์และในทางกลับกันก็ยังถูกใช้เพื่อวิจารณ์ประเทศคู่แข่งหรือฝ่ายตรงข้ามอีกด้วย

“ถ้าใช้กรอบวิเคราะห์นี้ของไทยก็อยู่ในส่วนของความพยายามฟื้นคืนหน้าตาของประเทศในเวทียูเอ็น” สุณัยกล่าว

ถึงถูกวิจารณ์เรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนก็ยังได้เป็นสมาชิก

สุณัยอธิบายถึงกระบวนการเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกที่จะให้ประเทศที่เป็นสมาชิกของยูเอ็นที่ตอนนี้มีอยู่ 192 ประเทศเข้ามาโหวตเลือกแล้วให้ใช้เสียงข้างมาก ในเชิงหลักการการโหวตเลือกจะต้องพิจารณาถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนทั้งด้านสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมืองไปจนถึงสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงว่าประเทศที่เข้าชิงได้ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและการให้ความร่วมมือกลไกสิทธิของยูเอ็นมากน้อยแค่ไหน

แม้หลักการจะเป็นอย่างนั้น แต่สุณัยก็บอกว่าเมื่อการโหวตมาจากเสียงข้างมากของสมาชิกยูเอ็น ทำให้ปัจจัยหลักเลยก็คือการล็อบบี้ จึงเป็นคำอธิบายที่ทำให้ประเทศที่มีสถานการณ์ด้านสิทธิไม่ได้ดีนัก แต่กลับได้คัดเลือกเข้าไปเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิฯ อยู่เป็นระยะ เช่น จีน

สุณัยชี้ว่าในกรณีของไทยมีความชัดเจนว่าได้เลือกวิธีการล็อบบี้ที่ง่ายกว่าการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ ตั้งแต่ตอนรัฐบาลประยุทธ์ประกาศที่จะสมัครมาจนถึงตอนที่รัฐบาลเศรษฐาไปให้คำมั่นในเวทีสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติจากมุมมองของเขาคำมั่นที่เศรษฐาพูดบนเวทีก็อ่อนมากที่พูดถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนน เคารพนิติธรรมและฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม เพราะเมื่อดูผลทางปฏิบัติวันนี้ก็ยังไม่เห็นการปรับปรุงด้านทั้งสามด้านนี้แม้จะผ่านมา 7 เดือนแล้ว

แม้เขาจะเห็นว่ามีการพัฒนาในด้านสิทธิด้านเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรมอยู่บ้าง เช่นการใช้ประเด็นอย่างสมรสเท่าเทียม หรือเรื่องของชาติพันธุ์ที่เพิ่งเริ่มมีการผลักดันขึ้นมาบ้าง แต่สิทธิในด้านนี้ก็ยังมีเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้ทำอย่างเช่น แผนปฏิบัติการแห่งชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ตอนนี้ยังเกิดกรณีบริษัทเอกชนฟ้องคดีปิดปาก(SLAPP) กับกลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนอยู่โดยที่รัฐไม่ได้เข้ามาหยุดยั้งจนเรียกได้ว่ารัฐ “ปล่อยจอย” ให้เกิดขึ้น

“เรื่อง LGBTQ ก็สำคัญมากแต่องค์ประกอบสิทธิมนุษยชนในไทยที่มีปัญหามันมีมากกว่านั้น ถ้าเราเอามาตรวัดมาจากคำถามที่ตั้งไว้กับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องจากกลไก UPR ก็คือการตรวจสอบด้านสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองตามวงรอบมีคำถามสำคัญๆ ที่ตั้งไว้ทุกครั้งแต่ไม่เห็นการปรับปรุงแก้ไขใดๆ เลย แต่มาสร้างภาพ (window dressing) ในเรื่องที่มันหวือหวา มันตื่นตาตื่นใจเพราะเดียวก็จะมีงานเดือนไพรด์ในช่วงกลางปีมันก็ตื่นตาตื่นใจ” 

ทั้งนี้ ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ เองก็มีกลไกในการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในแต่ละประเทศอย่างเช่น ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ที่มีการรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลต่างๆ อยู่ หรือกลไกการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่าง Universal Periodic Review (UPR) ที่เป็นกระบวนการให้แต่ละประเทศมาตั้งคำถาม ถูกตั้งคำถาม และต้องตอบคำถามถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศด้วย และไทยก็มักได้รับทั้งข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะจากทั้งสองกลไกนี้ต่อปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างต่อเนื่อง(ดูได้ในล้อมกรอบท้ายสัมภาษณ์)  

สุณัยเห็นว่าในกระบวนการโหวตเลือกประเทศสมาชิก ประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนของประเทศที่เข้าสมัครควรถูกนำมาพิจารณาโดยประเทศสมาชิกมากกว่านี้ แม้ว่าจะมีบางประเทศที่นำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาอยู่บ้างแต่ไม่ได้ให้น้ำหนักมากนักทั้งที่ควรเป็นเรื่องที่ได้รับการให้น้ำหนักมากกว่านี้เพราะถือเป็นเรื่องใหญ่

รัฐบาลล้อมปราบประชาชนแต่ยังได้เป็นสมาชิก

ย้อนเวลาไปเมื่อ 14 ปีก่อน ไทยเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2553 และเป็นเหมือนตลกร้ายเมื่อวันที่ไทยได้รับเลือกยังเกิดขึ้นหลังรัฐบาลอภิสิทธิ์เพิ่งสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง 10 เมษาฯ ได้เพียงหนึ่งเดือนและกำลังเริ่มปฏิบัติการล้อมปราบที่แยกราชประสงค์ต่อ อีกทั้งยังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อการควบคุมสถานการณ์ต่อไปอีกหลายเดือน โดยที่สถานภาพการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ของไทยก็ยังคงอยู่ต่อไปด้วย

สุณัยมองเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เห็นชัดเจนว่า ปัจจัยสำคัญที่ประเทศใดจะได้รับการโหวตเข้าเป็นสมาชิกคือการล็อบบี้เสียงสนับสนุนมากกว่าสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้นจริงในประเทศ อย่างกรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่มือเปื้อนเลือด มีหลักฐานจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารใช้ความรุนแรงโดยไม่ได้สัดส่วนและไม่รับผิดการกระทำของตัวเองก็ยังได้รับการโหวตเลือกให้เป็นสมาชิกได้

ภาพที่ถูกถ่ายจากดาดฟ้า สตช. เย็นวันที่ 19 พ.ค.53 ทหารในภาพเล็งอาวุธไปยังวัดปทุมฯ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เขาเห็นว่าการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกครั้งนั้นได้กลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับรัฐไทยได้ใจว่าทำขนาดนั้นแล้วก็ยังได้รับเลือกเป็นสมาชิก เพียงขอให้ยังเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็พอโดยอาศัยผลประโยชน์เรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่ไทยมีความสำคัญ หรือผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ

เขายังเปรียบเทียบกรณีรัฐบาลประยุทธ์หนึ่งที่สอบตกไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกเพราะในเวลานั้นถือว่าเป็นรัฐบาลที่ทำรัฐประหารเข้ามาทั้งที่คู่เทียบไทยเวลานั้นคือรัฐบาลของบังกลาเทศที่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่แต่ก็ยังเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง กับรอบรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ยังถือว่าอยู่ในเพดานรัฐบาลเลือกตั้งทั้งที่รัฐบาลจะมีส่วนในการฆ่าฟันประชาชนและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงก็ยังล็อบบี้จนเข้าเป็นสมาชิกได้

แต่เมื่อเป็นรัฐบาลประยุทธ์สองที่มาจากการเลือกตั้งแล้วจนมาถึงรัฐบาลเศรษฐาจึงกลายเป็นแต้มต่อภายใต้มาตรวัดที่ต่ำมากของการเป็นสมาชิกคือเพียงแค่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ทำให้รัฐบาลไทยยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้น ดังนั้นถ้าหากสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยยังไม่ดีขึ้นแล้วยังได้รับเลือกก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลได้ใจ

“เมื่อได้ในสิ่งที่อยากได้แล้วถ้างั้นจะไปแคร์อะไรก็เดินหน้าเต็มสูบในการกดดันปราบปรามต่อไปและไม่แคร์เสียงเรียกร้องการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเหมือนการตีเช็คเปล่าให้ เราจึงเสนอว่าไม่ควรให้เช็คเปล่าด้วยการกดดันอย่างเป็นรูปธรรมว่าถ้าไม่มีการปรับปรุงไม่มีการปฏิรูปก็จะไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ถ้านานาชาติยังเดินหน้าสนับสนุนโดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ลำบากแน่สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย” สุณัยกล่าว

ไทยมีจุดขายเป็นทางผ่านความช่วยเหลือประเทศไปพม่า แต่ใช่ว่าจะทำได้ดี

เมื่อขยับถอยออกมามองในภาพกว้างขึ้น ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์หนึ่งในคำมั่นที่ไทยพูดเสนอตัวเป็นผู้สมัคร คือการแก้ปัญหาในภูมิภาคซึ่งก็คือสถานการณ์ในพม่า 

สุณัยเห็นว่าเมื่อไทยเป็นตัวแทนของอาเซียนก็โยงตัวเองเข้าบทบาทตามที่อาเซียนมีฉันทามติ 5 ข้อยุติความรุนแรงในพม่า ไทยเลือกที่จะเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไทยเริ่มทำแล้วก็เอามาเป็นจุดขายว่าไทยทำแล้วได้รับการตอบรับจากทางการพม่าจากที่ผ่านมาพม่าไม่เคยให้ความร่วมมือเลย และถ้าเทียบกับกลุ่มอาเซียนบนภาคพื้นทวีปอย่าง ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า แล้วก็ถือว่าแย่น้อยสุดในกลุ่ม

แต่เมื่อเขาชวนกลับมามองดูประเด็นที่มีความซับซ้อนอย่างเช่น ท่าทีต่อผู้ลี้ภัยทั้งจากพม่า หรือประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่เข้ามาในไทย รัฐบาลไทยก็เลี่ยงและไม่ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งยังมีการจับกุมไปจนถึงส่งกลับประเทศต้นทางทั้งที่พวกเขามีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีหรืออาจจะเผชิญภยันอันตรายอย่างอื่นอีก

สุณัยอธิบายว่าในช่วงที่ผ่านมาแทบจะทุกเดือน HRW ต้องเข้าไปช่วยผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกจับไม่ให้เจ้าหน้าที่ไทยส่งพวกเขากลับประเทศต้นทางแล้วส่งไปประเทศที่สามแทน หรืออย่างกรณีผู้ลี้ภัยสงครามไทยเองก็บอกว่าเป็นคนหลบหนีเข้าเมืองแล้วก็ผลักดันกลับประเทศทั้งที่ต้องมีการคัดกรองก่อน ไปจนถึงกรณีเด็กไร้สัญชาติ 19 คนที่เกือบโดนส่งกลับแต่ได้คนจากก้าวไกลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าไปช่วยได้ก่อนถูกส่งกลับ

เขาสะท้อนว่าเรื่องเหล่านี้ทำให้เห็นความลักลั่นของไทยที่บอกว่าได้ให้ความช่วยเหลือแล้วแต่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วถึงมือคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน แต่การทำให้สถานการณ์ดีขึ้นจริงๆ ไทยก็ยังไม่ได้ทำ

ปัญหาสิทธิมนุษยชนถ้าไม่ถูกแก้ก่อนไทยได้ตำแหน่งสมาชิก หลังเป็นก็จะไม่ถูกแก้

เมื่อรัฐบาลไทยดูมีความมั่นใจมากว่าจะได้เป็น แม้องค์กรสิทธิมนุษยชนอาจจะไม่พอใจกับความพยายามแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเศรษฐานัก เพราะอยากเห็นว่าการสมัครเข้าชิงตำแหน่งสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ จะเกิดการพัฒนามากกว่านี้

แต่สุณัยมองว่าเมื่อรัฐบาลเลือกใช้วิธีทางการทูตแบบการตลาดที่ขายภาพลักษณ์มากกว่าการปฏิบัติที่นำไปสู่สาระสำคัญจริงๆ เมื่อรัฐบาลได้เสียโอกาสที่จะแก้ปัญหาจริงๆ ตอนนี้ทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนในไทยและต่างประเทศก็ต้องพยายามรณรงค์กับประเทศที่จะโหวตให้ไทย ต้องผลักดันไทยให้ทำสิ่งที่เป็นรูปธรรมด้วย โดยเฉพาะในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมกลุ่มการสมาคม และเสรีภาพการชุมนุม ที่ยังมีคดีค้างคาอยู่เป็นจำนวนมากแล้วก็ยังมีคนถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก ไปจนถึงต้องตอบเรื่องอย่างการใช้มาตรา 112 หรือเรื่องที่ง่ายกว่านั้นอย่างสิทธิประกันตัว

นอกจากนั้นเขายังยกเรื่องไทยไม่ได้ให้ความร่วมมือกับกลไกของยูเอ็นด้วย ตั้งแต่สมัยรัฐบาลประยุทธ์รัฐบาลไทยจะให้คำเชิญโดยให้คำมั่นแบบเปิดกับกลไกพิเศษต่างๆ ของยูเอ็น เช่น ผู้รายงานพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ว่า ถ้าผู้รายงานพิเศษอยากมาตรวจสอบเมื่อไหร่ก็ให้แจ้งว่าจะมา แต่พอผู้รายงานพิเศษจะขอเข้ามาจริงรัฐบาลก็ไม่ให้เข้ามา หรือเวลาองค์กรสิทธิอื่นๆ หรือยูเอ็นมีข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนถึงรัฐบาลไทย รัฐบาลก็แค่ตอบว่าได้รับเรื่องแล้วแต่ไม่ตอบว่าจะทำเมื่อไหร่หรือแผนปฏิบัติการเป็นอย่างไรก็ไม่มี

สุณัยกล่าวต่อว่าทาง HRW เองได้คุยกับ 16 ประเทศและจะคุยกับประเทศอื่นเพิ่มขึ้นอีกว่า ควรเพิ่มเรื่องการยุบพรรคก้าวไกลที่ค่อนข้างแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งมาตรวัดความเป็นประชาธิปไตยของไทยและใช้ในการตัดสินใจว่าจะโหวตให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ เพราะการยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและยังกระทบต่อสิทธิด้านการร่วมกลุ่มด้วยเพราะการตั้งพรรคการเมืองก็เป็นรูปแบบหนึ่งเสรีภาพในการร่วมกลุ่ม

พรรคก้าวไกลแถลงข่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำนิจฉัยเมื่อ 31 ม.ค.2567

อีกทั้งถ้าเอาเรื่องมาตรวัดขั้นต่ำของการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีฯ จะต้องเป็นรัฐบาลเลือกตั้งแล้ว การยุบพรรคฝ่ายค้านที่ได้คะแนนเสียงจากประชาชนเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งจนมีเสียงในสภามากที่สุดและยังทำหน้าที่นากรตรวจสอบอย่างแข็งขันที่สุด ก็จะทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่มีความหมายอีกต่อไป และทำให้ข้ออ้างเรื่องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหมดไปด้วย 

“เราใช้คำว่า Redline เป็นเส้นที่ข้ามไม่ได้ หากข้ามเมื่อไหร่นานาชาติก็ควรจะทบทวนจุดยืนต่อการสนับสนุนการแข่งขันในตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิฯ ของไทย เพราะว่ามันจะทำให้ความเป็นประชาธิปไตยของไทยหายไปเลย ถ้ามีพรรคฝ่ายค้านอยู่ในรัฐสภาแล้วก็เป็นพรรคที่มาจากการเลือกการลงคะแนนของคน 14 ล้านคน เป็นพรรคที่มาจากการแสดงเจตจำนงในการรวมกลุ่มด้วย มันถูกทำลายหลักการของสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานไปขนาดนี้คุณยังจะให้การสนับสนุนได้หรือ มันก็ไม่ควร”

อ่านความเห็นทางวิชาการของวรเจต ภาคีรัตน์ต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนโยบายแก้ม.112 ล้มล้างการปกครองได้ที่

แม้ปัญหาสิทธิมนุษยชนยังเป็นเรื่องที่ถูกใช้กดดัน แต่ทำไมรัฐบาลเศรษฐาไม่จัดการ

หากย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในไทย ทั้งเรื่องคดีทางการเมือง หรือการติดตามคุกคามประชาชนและนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 1 และ 2  ไปจนถึงกลไกศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้เห็นว่าทั้งฝ่ายความมั่นคงอย่างตำรวจ กองทัพ ไปจนถึงองค์กรตุลาการยังสืบทอดวิธีการและวิธีคิดมาจากยุค คสช.นี้ กลับไม่ถูกจัดการโดยรัฐบาลเศรษฐา  และสะท้อนให้เห็นจากสถิติที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมไว้ตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาเข้ามาบริหาร

ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา แม้ในทางสถิติจำนวนคดีอาจไม่ได้พุ่งทะยานแบบยุครัฐบาลประยุทธ์แต่ก็ยังมีเพิ่มมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้มีคดีใหม่เพิ่มขึ้นในช่วง 7 เดือนนี้ 39 คดี มีเหตุเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามคุกคามประชาชน 144 ครั้ง ยังไม่รวมถึงจำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองที่ทยอยเพิ่มขึ้นโดยที่แนวโน้มเรื่องนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองยังคงไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าจะมีออกมาเมื่อไหร่หลังจากกรรมาธิการวิสามัญพิจารณานิรโทษกรรมต่ออายุเพิ่มออกมาอีก 60 วันหลังจากรอบแรกเพิ่งครบไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา 

https://tlhr2014.com/archives/66097

ข้อมูลสถิติคดีการเมืองและการคุกคามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมไว้ ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อกลไกและแนวปฏิบัติของหน่วยงานความมั่นคงและฝ่ายตุลาการจากยุค คสช.ยังเสมือนตีคู่ขนานกันไปกับรัฐบาลเศรษฐาที่มาจากการเลือกตั้งด้วย คำถามที่ตามมาคือทำไมรัฐบาลจึงไม่จัดการกับกลไกเหล่านี้ทั้งที่อาจไปกระทบต่อการเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ได้

“นิตยสารไทม์เรียกว่า “การดีลกับปิศาจ” ก็เพื่อให้ตัวเองได้เข้าสู่อำนาจ ก็ยอมรับสภาพซึ่งมันแลกมาด้วยการไม่เอาจริงเอาจังกับการปฏิรูปการเมืองตามที่สัญญาไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมันถูกถ่วงเวลาอย่างไม่มีกำหนดและทำให้ยากอย่างไม่มีความจำเป็น อย่างเรื่องที่โหวตให้ส่งกลับไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ทำไมต้องถามอีก” 

สุณัยเห็นว่าฝ่ายตุลาการได้ชี้นำกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นกระบวนการโดยชอบธรรมในตัวเองอยู่แล้วเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แล้ว หรือการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลเพราะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ก็เป็นเรื่องของกระบวนการนิติบัญญัติแต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เข้ามา แต่รัฐบาลเพื่อไทยก็ไม่มีปฏิกิริยาอะไรแล้วก็ยอมรับสภาพไป และการไม่ยอมรับสภาพก็อาจจะมีจุดจบแบบก้าวไกล

ส่วนกลไกระดับฝ่ายปฏิบัติการที่เป็นระดับย่อยลงมาอย่างการคุกคามกดดันประชาชนไปจนถึงคดีนโยบายต่างๆ สุณัยก็มองว่าแม้เป็นเรื่องที่รัฐบาลสามารถสั่งการในชั้นตำรวจได้ว่าการกระทำแบบไหนบ้างที่ไม่ต้องดำเนินคดี ไปจนถึงสั่งการให้พวกหน่วยข่าวกรองอย่างพวกสายสืบหรือสันติบาลว่าอย่าไปตาม แต่รัฐบาลก็ไม่สั่งการลงไป

นอกจากเหตุผลเรื่องยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ของกลไกที่ส่งทอดมาจากยุครัฐประหารแล้ว เขาเห็นว่ารัฐบาลเองยังมองคนเห็นต่างเหล่านี้เป็นภัยคุกคามด้วย เพราะคนเหล่านี้ท้าทาย “รัฐพันลึก” (Deep State) ที่เป็นโครงสร้างที่ใหญ่กว่ารัฐบาล ทำให้รัฐบาลมองว่าถ้าอะลุ่มอล่วยหรือผ่อนปรนให้กับคนที่ไปท้าทายรัฐพันลึกตัวเองก็จะถูกมองว่าเข้าข้างคนเหล่านี้ไปด้วย

สุณัยอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้ครอบคลุมแค่การเสนอแก้ไขกฎหมายแต่ยังขยายไปถึงการกระทำที่เป็นการสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองไปด้วย

“ทำให้พรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลที่อาจมีธงในใจอยู่แล้ว พอมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมา ก็คิดว่าเห็นมั้ยละแม้แต่ไปแสดงการสนับสนุนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น ยืนหยุดขัง ไปแปะสติกเกอร์ หรือแม้แต่การรณรงค์ไปจนถึงช่วยประกันตัวก็ถือว่าผิด จนถึงการปล่อยให้กลุ่มทะลุวัง ทะลุแก๊ส หรือกลุ่มสามนิ้วอื่นๆ ทำกิจกรรมได้ก็อาจจะถูกบอกว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายไปด้วย” 

สุณัยชี้ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างบรรทัดฐานว่า ถ้ารัฐบาลยังอยากอยู่ในอำนาจต่อไปก็จะต้องไม่ท้าทายหรือไปเขย่าสถานภาพที่เป็นอยู่ (Status Quo) ของรัฐพันลึก จนทำให้รัฐบาลไม่ไปแตะต้องทั้งในระดับโครงสร้างใหญ่อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญและระดับการปฏิบัติรายวันของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง

ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลไทยคงเสียหน้า 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าถ้าสุดท้ายแล้วถ้าไทยไม่ได้เป็นสมาชิกจะกระทบกับไทยอย่างไรบ้าง

สุณัยบอกว่ารัฐบาลไทยคง “หน้าแหก” มาก ถ้าวัตถุประสงค์ของรัฐบาลไทยที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกคือเรื่องศักดิ์ศรีหน้าตา เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็แล้ว นายกฯ ไปหาเสียงใหญ่โตบนเวทีสมัชชาใหญ่ด้วยตัวเองก็แล้ว คนจากกระทรวงการต่างประเทศยังเดินสายไปหลายที่แล้วยังไม่ได้เป็นอีก และถ้าหากคู่เทียบจาก 13 ประเทศเป็นเหมือนรอบที่ก่อนที่ไทยแพ้บังกลาเทศ แล้วรอบนี้รัฐบาลทำขนาดนี้แล้วยังสอบตกโดยที่มีคู่เทียบไม่ได้ดีกว่ากันไทยก็จะหน้าแหกมาก และตอนนี้ถ้ามองจากมุมขององค์กรสิทธิไทยก็ไม่ได้ดีพอจะรับตำแหน่งนี้

เขาเสนอว่าถ้าไทยอยากทำให้ตัวเองดีพอที่จะได้เป็นจริงๆ และทำได้ง่ายที่สุดก็คือทำเรื่องที่เศรษฐาเคยไปพูดไว้ในสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติในเรื่องของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เคารพนิติธรรมและฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม

ทานตะวัน ตุลานนท์ หรือตะวัน และณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร แฟรงค์ กำลังถูกนำตัวไป สน.พหลโยธินหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับ ภาพ แมวส้ม

ตัวอย่างที่สุณัยเห็นว่าทำได้ง่ายและเป็นรูปธรรมคือการให้สิทธิประกันตัวอย่างเสมอหน้าไม่เลือกปฏิบัติเพราะสิทธิประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มคดีการเมืองหรือคดีคนเห็นต่างอย่างคดีมาตรา 112 หรือมาตรา 116 ที่มีการคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดี และเรื่องนี้ยูเอ็นเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ มีกลไกพิเศษของยูเอ็นที่ลงความเห็นว่าการคุมขังระหว่างรอพิจารณาคดีหลายกรณีในไทยเป็นการคุมขังตามอำเภอใจ (arbitrary detention) เช่น กรณีของตะวัน ทานตะวัน ตุลานนท์และแฟรงค์ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร ก็เข้าข่าย

อย่างไรก็ตาม สุณัยเห็นว่า ถ้าไทยจะต้องการสร้างผลงานจริงๆ เพื่อเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ก็ควรต้องทำ แต่เขาก็เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่ได้หวังจะใช้เลย แล้วอย่างเรื่องยุบบพรรคก้าวไกลก็ยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่ถูกนำมาทบทวนและคาดว่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

กลไกที่ใช้กดดันประเทศสมาชิกเคารพสิทธิมนุษยชนมีแรงไม่พอ

ที่ผ่านมาคณะผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ จะค่อนข้างมีบทบาทอย่างมากในการส่งความเห็นและข้อเสนอถึงรัฐบาลต่างๆ อย่างแข็งขันและชี้ปัญหาการละเมิดสิทธิของประเทศนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมา 

แต่ในเมื่อกลไกนี้เองก็ยังอยู่ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ที่รวมเอาเหล่าประเทศที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนมาเป็นสมาชิกเอาไว้ด้วย คำถามที่ตามมาคือเมื่อกลไกดังกล่าวมีความเห็นและออกข้อเสนอมาให้ประเทศสมาชิกต้องแก้ไขแต่ไม่ถูกแก้นี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม “ราษฎรหยุดAPEC2022” เมื่อ 18 พ.ย. 2565 ซึ่งถือเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ในช่วงท้ายรัฐบาลประยุทธ์ที่ยังคงถูกใช้กำลังสลายแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามจากนานาชาติมาหลายครั้งแล้วก็ตาม

สุณัยอธิบายว่าเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของประเทศสมาชิกที่ออกแสดงความกังวลปัญหาสิทธิมนุษยชนของอีกประเทศหนึ่งนั้นเป็นประเทศที่มีอำนาจต่อรองระหว่างประเทศสูงแค่ไหน อย่างเช่นเป็นประเทศมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นระดับโลกหรือระดับภูมิภาคหรือเป็นประเทศที่เป็นทวิภาคีกับประเทศที่ถูกแสดงความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่

อย่างในกรณีของไทย ถ้าเป็นประเทศที่มีผลประโยชน์กับไทยเยอะหรือกำลังมีการเจรจาการค้าเสรีกันอยู่ เช่น สหภาพยุโรป หรืออังกฤษที่เพิ่งมาลงนามความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่าน เรื่องเหล่านี้ก็สามารถูกเอามาใช้ต่อรองกับไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องอำนาจเฉพาะตัวของประเทศสมาชิกในคณะมนตรี

อย่างไรก็ตาม สุณัยชี้ว่าตัวคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเองฯ กลับมีอำนาจต่อรองผ่านกลไกน้อยเมื่อเทียบกับอำนาจเฉพาะตัวของแต่ละประเทศ แล้วองค์ประกอบของประเทศสมาชิกเองก็มีปัญหาอย่างประเทศจีนที่มีปัญหาสิทธิมนุษยชนก็เข้าไปเป็น “หัวโจก” อยู่ในนั้น ทำให้ไทยก็หวังพึ่งจีนเป็นคนคุ้มหัวให้ หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ เองก็คอยช่วยไทยเวลาทำอะไรแย่ๆ เพราะรัฐบาลไทยก็มักจะใช้วิธีว่าสหรัฐฯ กลัวจะเสียไทยให้จีน ส่วนจีนก็กลัวเสียไทยให้สหรัฐฯ ส่วนประเทศที่อยากได้ประโยชน์ทางการค้ากับไทยก็จะไม่กดดันไทยมากนัก 

“เลยกลับไปที่คำตอบที่ว่าเป็นเรื่องเทคนิกล็อบบี้ล้วนๆ ต้องยอมรับว่าไทยเขี้ยวในเรื่องทักษะการล็อบบี้มาก” 

สุณัยยังเสริมด้วยว่าเป็นเรื่องที่หวังได้ยากที่การรณรงค์ขององค์กรสิทธิต่างๆ จะทำให้เกิดแรงกดดันในด้านอื่นๆ อย่างการกดดันทางเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนได้ แต่ก็ยังควรจะหวังให้เกิดขึ้นและผลักดันต่อไปแม้ว่าความคาดหวังนั้นจะเกิดเป็นผลจริงๆ มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก เพราะว่าที่ผ่านมายังมีประเทศอื่นที่ถูกกดดันผ่านกลไกคณะมนตรีสิทธิฯ มากกว่านี้แล้วยังไม่เห็นผลในทางปฏิบัติจนต้องไปกดดันผ่านช่องทางอื่น 

เขาได้ทิ้งการบ้านถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนหรือภาคประชาสังคมของไทยว่า ต้องทำงานล็อบบี้กับประเทศที่ไปโหวตให้หนักขึ้นเพื่อสู้กับกับการล็อบบี้ของรัฐ เพราะองค์กรเหล่านี้เองก็มีศักยภาพและบางองค์กรยังเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิทธิมนุษยชนเสียเองด้วย

“เอาเข้าจริงความสำคัญของข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนผ่านกลไกต่างๆ ของยูเอ็นน้ำหนักในทางปฏิบัติมันน้อยไปกว่าการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ผ่านการล็อบบี้ เพราะฉะนั้นการรณรงค์ในเรื่องที่จะกดดันให้มีการปฏิรูปสิทธิมนุษยชนในไทยมันถึงต้องทำคู่กันในส่วนของมาตรฐานยูเอ็นมันก็เป็นแบบนั้น แต่ในส่วนที่เราต้องทำงานหนักขึ้นมากๆ คือการสู้กับการล็อบบี้”

นานาชาติวิจารณ์ปัญหาการใช้มาตรา 112 ของไทยมากว่า 10 ปีแล้วและมีแต่จะแย่ลง

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้รวบรวมหนังสือที่ผู้รานงานพิเศษกลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ที่ส่งถึงรัฐบาลไทยในประเด็นปัญหาการใช้มาตรา 112 ของไทย ที่เริ่มมีการส่งมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2567 นี้มีมาแล้วถึง 20 ครั้ง

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ไม่เพียงเท่านั้น คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention:; UN WGAD) ซึ่งเป็นกลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเช่นกัน ยังเคยส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยถึงเรื่องการใช้มาตรา 112 เป็นการเฉพาะด้วยว่าการคุมขังในคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ยังถือเป็นการคุมขังตามอำเภอใจอีกด้วย โดยเริ่มกลไกนี้ได้เริ่มส่งหนังสือรัฐบาลไทยถึงเรื่องนี้มาแล้ว 10 ครั้งตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ทำความรู้จักกลไกด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่ 

นอกจากนั้นในอีกกลไกหนึ่งของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ อย่างทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนผ่านกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หรือ Universal Periodic Review – UPR ที่เป็นการให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เป็นรัฐสมาชิกของ UN 193 ประเทศมาต้องมาตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะ ไปจนถึงต้องชี้แจงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลกันทุกๆ 4 ปี และไทยผ่านเวทีนี้มาแล้ว 3 รอบ

ที่ผ่านมาในเวที UPR รอบล่าสุดเมื่อพฤศจิกายน 2564 รัฐบาลประเทศต่างๆ ยังมีข้อแนะนำที่เกี่ยวกับประเด็นการใช้กฎหมายในการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกทั้งมาตรา 112 มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์รวมถึงการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม บางประเทศระบุอย่างเฉพาะเจาะจงถึงมาตรา 112 เป็นการเฉพาะว่าต้องมีการแก้ไขด้วยอย่างเช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฟินแลนด์ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส แคนาดา นอร์เวย์ 

หลังผ่านเวที UPR รอบล่าสุดมาและอีกไม่กี่เดือนจะครบ 3 ปีถ้าเทียบกับฟุตบอลโลกตอนนี้ประเทศต่างๆ ก็คงต้องเตรียมทีมกันแล้ว แต่จากสถิติที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมไว้ทั้งเรื่องจำนวนคดี ทั้งเรื่องการไปติดตามคุกคามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว คงบอกได้ว่าสถานการณ์แย่ลงกว่าตอนรัฐบาลไทยต้องไปชี้แจงรอบก่อนอย่างไม่ต้องสงสัย

สถิติล่าสุดจากศูนย์ทนายความฯ ที่เริ่มนับตั้งแต่การชุมนุมของขบวนการเยาวชนเมื่อปี 2563 ถึงมีนาคม 2567 มีคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งหมด 1,954 คน นับเป็นจำนวนคดีทั้งหมด 1,293 คดีแล้ว 

จำนวนผู้ต้องขังทางการเมือง

 คน
ขังระหว่างพิจารณาคดี28
คดีสิ้นสุด15
ขังในสถานพินิจ2
 รวม45

จำนวนคดีทางการเมืองแบ่งตามข้อหา

 คนคดี
มาตรา 112270301
มาตรา 11615250
ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ1,469669
พ.ร.บ.ชุมมุนมฯ18199
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์200223
ละเมิดอำนาจศาล4325

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net