Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองเชียงใหม่จำหน่ายคดีนักศึกษาวิจิตรศิลป์ มช. ฟ้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยออกจากสารบบ ปมไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยจัดแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ แต่ศาลให้เหตุผลที่เป็นประโยชน์ต่อสิทธิของตัวผู้ฟ้องคดี ทนายสิทธิฯ ชี้ศาลสร้างบรรทัดฐานยืนยันสิทธินักศึกษา-อาจารย์ใช้สถานที่หอศิลปฯ ผู้บริหารต้องไม่ยืดเยื้อปิดกั้น ขณะที่อาจารย์วิจิตรศิลป์ ระบุการกล่าวหานักศึกษาบุกรุกถือเป็นมิจฉาทิฏฐิ

 

4 พ.ย. 2564 วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. ศาลปกครองเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 24 คน ยื่นฟ้อง รศ.กิตติ มาลีพันธุ์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยลัยเชียงใหม่, รศ.อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ และศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากกรณีการไม่อนุญาตให้ใช้นักศึกษาใช้หอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการจัดแสดงผลงานศิลปนิพนธ์ ระหว่างวันที่ 16 – 22 ต.ค.ที่ผ่านมา

ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาระบุว่า การกระทำของผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เรื่องที่ไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งที่ได้รับคำขอของนักศึกษาผู้ฟ้องคดีแล้วในระยะเวลาตามสมควร

โดยศาลชี้ว่า เมื่อได้รับคำขอและผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คน (นักศึกษา)ได้จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมครบถ้วนตามที่แจ้งให้ทราบแล้ว ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ 2 (คือ ผอ.หอศิลปวัฒนธรรม และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์)จะต้องพิจารณาคำขอและมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คน เข้าใช้พื้นที่ดังกล่าว จะเรียกเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมอื่นใดอีกไม่ได้ หรือหากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คน ไม่ส่งเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติมตามที่แจ้งให้จัดส่งก็ชอบที่จะคืนคำขอให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คน พร้อมแจ้งเป็นหนังสือถึงเหตุแห่งการคืนคำขอให้ทราบด้วยอย่างช้าควรจะก่อนถึงกำหนดระยะเวลาในการใช้พื้นที่ตามที่ระบุในการขอใช้พื้นที่ของผู้ฟ้องทั้ง 24 คน เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนและผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 คน ได้วางแผนจัดการเกี่ยวกับการเรียนในรายวิชาดังกล่าวต่อไปได้

แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่านักศึกษาผู้ฟ้องคดีทั้งหมดได้ทำการอารยะขัดขืนเข้าไปใช้หอศิลป์จัดแสดงผลงานการเรียนและได้มีอาจารย์ตรวจให้คะแนนผลงานแสดงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่จำต้องกำหนดคำบังคับให้ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมและคณบดีคณะวิจิตรศิลป์พิจารณาเรื่องการขอใช้หอศิลปวัฒนธรรมอีกต่อไป เนื่องจากไม่มีผลเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของนักศึกษาในคดีนี้อีกต่อไป

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องที่ 3 อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมและคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ดูแลรับผิดชอบแล้ว จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในกรณีนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิฟ้องอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้

ก่อนที่ศาลปกครองเชียงใหม่จะได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ

 

ทนายสิทธิฯ ชี้ศาลสร้างบรรทัดฐานยืนยันสิทธินักศึกษา-อาจารย์ใช้สถานที่หอศิลปฯ ผู้บริหารต้องไม่ยืดเยื้อปิดกั้น

ศุภณัฐ บุญสด ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นทนายความของทางฝั่งนักศึกษาระบุว่า คำพิพากษาในวันนี้ของศาลปกครองถือเป็นการยืนยันสิทธิของตัวนักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าไปใช้สถานที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ว่านักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าไปมีสิทธิที่จะใช้สถานที่จริง ดังนั้นกรณีที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหรือผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าไปใช้สถานที่จึงต้องคิดให้หนักจากผลคำพิพากษาของศาลปกครองครั้งนี้ เนื่องจากศาลปกครองได้ยืนยันแล้วว่านักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าไปใช้สถานที่สามารถมีสิทธิใช้ได้

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวอีกว่า คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานว่าเมื่อนักศึกษาได้ทำตามระเบียบขั้นตอนที่มหาวิทยาลัยกำหนดแล้ว ผู้บริหารคณะหรือมหาวิทยาลัยไม่ควรใช้วิธีการพิจารณายืดเยื้อเพื่อเป็นการปิดกั้นสิทธิในการแสดงออกของนักศึกษา

อาจารย์วิจิตรศิลป์ ระบุการกล่าวหานักศึกษาบุกรุกถือเป็นมิจฉาทิฏฐิ

ปฐมพงศ์ มานะกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช. มีควาเห็นว่า ศาลได้ชี้แจ้งว่าการกระทำของผู้บริหารคณะที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและกระทบต่อการจบการศึกษาของนักศึกษา และการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์อ้างว่าการที่นักศึกษาและบุคลากรเข้าไปใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นการบุกรุกนั้น นักศึกษาและอาจารย์สาขาวิชา Media Arts and Design มีสิทธิเต็มที่ที่จะเข้าไปในบริเวณนั้น เนื่องสาขาวิชา Media Arts and Design เอง ก็มีพื้นที่อาคารที่ใช้ทำการเรียนการสอนอยู่ภายในบริเวณนั้น การใช้คำว่าบุกรุกจึงเป็นการแสดงถึงมิจฉาทิฏฐิของผู้ที่กล่าวหานักศึกษา

ปฐมพงศ์ มานะกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Arts and Design คณะวิจิตรศิลป์ มช.

อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Arts and Design มช. ระบุอีกว่า การเข้าไปแสดงผลงานศิลปะของนักศึกษาในกรณีดังกล่าวยังเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งยวด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อเกรดและการจบการศึกษาของนักศึกษา ทั้งนี้การแสดงผลงานศิลปะของนักศึกษาดังกล่าวยังมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่หอศิลปวัฒนธรรมแต่อย่างใด และในฐานะที่เป็นภัณฑารักษ์ของมิวเซียมทั้งในประเทศและต่างประเทศ มิวเซียมหรือหอศิลป์โดยทั่วไปไม่มีสิทธิมาก้าวก่ายหรือขอตรวจสอบรายละเอียดผลงานของศิลปิน เพื่อดูว่าศิลปินทำงานแบบไหน ทำงานการเมืองหรือไม่ สิ่งที่มิวเซียมควรจะรู้มีเพียงรายละเอียดการติดตั้งอย่างคร่าวๆ ของผลงานแต่ละชิ้นของศิลปินเท่านั้น

หมายเหตุ : วันที่ 17 พ.ย.2564 กองบรรณาธิการประชาไท ได้รับหนังสือด่วนที่สุด จาก อัศวิณีย์ หวานจริง รองศาตราจารย์และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ลงวันที่ 15 พ.ย.2564 เรื่อง ขอให้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลประเด็นข่าวตามคำพิพากษา กรณีหอศิลปวัฒนธรรม มช. โดยมีรายละเอียดดังนี้ https://prachatai.com/journal/2021/11/95985

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net