Skip to main content
sharethis

ไม่รับข้อเสนอ ไม่เจรจา ไม่ต่อรอง ไม่ถอย ไม่ประนีประนอม มีการชุมนุมก็สลายการชุมนุม เป็นภาพที่เห็นชัดเจนขึ้นทุกขณะ ชนชั้นนำไทยมั่นใจอำนาจที่กุมอยู่ในมืออย่างยิ่ง การปราบปรามผู้ชุมนุมจะเกิดขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่คำถาม แต่เมื่อไหร่ต่างหากที่ชนชั้นนำไทยจะลงมือ คือการวิเคราะห์ของอดีตผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53

  • การชุมนุมอย่างสงบ รัฐไม่มีความชอบธรรมในการเข้าสลายการชุมนุม
  • ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องระมัดระวังไม่ให้ฝ่ายรัฐทำลายความชอบธรรม
  • กระแสความเกลียดชังนักศึกษาและผู้ชุมนุมไม่น้อยไปกว่าในอดีต เป็นกระบวนการปลุกปั่นเช่นเดียวกับช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
  • การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นข้อเรียกร้องที่ชนชั้นนำไม่มีทางประนีประนอม
  • การปราบปรามผู้ชุมนุมจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว หากชนชั้นนำไทยรู้สึกว่าตนไม่สามารถจัดการได้ แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นฝ่ายชนะ
  • การไม่ยอมถอยเลยแม้แต่ก้าวเดียวของชนชั้นนำไทยนำสถานการณ์มาสู่ทางตันทางการเมือง

แกนนำฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถูกกวาดเข้าคุกด้วยมาตรา 112 โดยไม่ได้รับการประกันตัว การใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุมโดยรัฐทวีความเข้มข้นขึ้นทุกระดับจากฉีดน้ำถึงกระสุนยาง จนถึงเหตุการณ์คืนวันที่ 20 มีนาคม 2564 ที่ชัดเจนแล้วว่าจะไม่มีการรับข้อเสนอ ไม่มีการต่อรอง ไม่มีการเจรจา และไม่มีการประนีประนอม

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำไทยไม่มีทางประนีประนอมด้วยเด็ดขาด เป็นสิ่งที่พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) กล่าวกับ ‘ประชาไท’

เมื่อแรกเราคิดว่าการสนทนานี้จะช่วยลดแรงเสียดทานและถอดสลักความรุนแรงบางตัวออกเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบปี 2553 หรือปีไหนๆ ในอดีต แต่พวงทองวิเคราะห์ว่าการไม่ยอมประนีประนอม ซ้ำยังรุกคืบฝ่ายเดียวของชนชั้นนำ และอาการหน้ามืดที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากคุมการเรียกร้องที่ขยายตัวไม่อยู่ การกดปราบด้วยความรุนแรงโดยรัฐจะเกิดขึ้นหรือไม่จึงมิใช่คำถาม

เมื่อไหร่ต่างหากที่ชนชั้นนำจะลงมือ

ไม่มีสลักให้ถอด แต่ฉากทัศน์ที่เราเห็นอยู่ข้างหน้าอาจช่วยให้เราทำอะไรได้บ้าง...

พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.)

เฝ้าระวังการทำลายความชอบธรรมของผู้ชุมนุมเพื่อเป็นข้ออ้างในการปราบ

ดูจากการใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุมของรัฐที่ผ่านมา คำที่ได้ยินซ้ำๆ จากตำรวจคือเป็นไปตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก เป็นคำเดียวกับที่เกิดขึ้นตอนสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ตามรายงานของ ศปช. ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุมย่อมเห็นด้วยกับตำรวจ ทว่า มันไม่ได้อยู่ที่มาตรการที่ตำรวจใช้

“แต่ประเด็นคือมันมีความชอบธรรมหรือไม่ที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าคุณมีเครื่องมืออะไร แล้วนึกจะใช้เมื่อไหร่ก็ใช้ได้ อย่างกรณีการใช้รถฉีดน้ำผสมสารเคมี เราเห็นว่าหลายครั้งทีเดียวไม่มีเหตุอะไรจะต้องฉีด มันไม่มีเหตุอะไรเลย ไม่มีเหตุว่าเขากำลังจะบุกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ หรือห้างร้านเพื่อไปทำลายข้าวของ เรารู้ว่าเมื่อถึงช่วงเวลาหนึ่งเขาก็สลาย นี่คือลักษณะแฟลชม็อบที่ดำเนินมาสักพักหนึ่ง แล้วคุณไปฉีดเขาทำไม ดังนั้น ไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้”

กล่าวคือมันละเลยที่จะพูดถึงสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ แต่ข้ามไปที่การสลายการชุมนุมทันทีโดยไม่มีความชอบธรรม พวงทองย้ำว่าการเฝ้าระวังความรุนแรงต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ทันที

“ดิฉันพูดมาอย่างน้อยปีหนึ่งแล้วว่าผู้มีอำนาจรัฐในขณะนี้ไม่ต้องการประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น เขาอาจจะชะลอการใช้มาตรการปราบปรามอย่างรุนแรงอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความขัดแย้งขึ้นสูงสุดและเขาคิดว่าเขามีความชอบธรรมที่จะปราบปราม เขาก็จะทำ นี่คือแนวโน้มที่มันเกิดขึ้น ดิฉันเฝ้าระวังตลอดว่าเขาพยายามเพิ่มมาตรการจัดการผู้มีความเห็นต่างอย่างไร ซึ่งเราก็เห็นว่าตอนนี้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นตอนนี้คือการจับแกนนำทั้งหมดและไม่ให้ประกัน”

ประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังคือการทำลายความชอบธรรมของผู้ชุมนุม การระดมมวลชนฝ่ายตนออกมาการใช้โฆษณาชวนเชื่อหรือการใส่ร้ายป้ายสี และการใช้ไอโอ ใช้เทคโนโลยีโซเชียลมีเดียแบบเดียวกับคนรุ่นใหม่ ถึงแม้จะช้าและเชย แต่ก็มีการปรับตัว ซึ่งมีลักษณะเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีกระบวนการเกิดขึ้นเป็นปีๆ ก่อนจะนำไปสู่เหตุการณ์

พวงทองตั้งข้อสังเกตว่าตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้วมีการระดมมวลชนของทางราชการออกมาทุกจังหวัด เป็นมวลชนที่สนับสนุนรัฐ ต่อต้านนักศึกษา ออกมาประกาศปกป้องสถาบันหลักของชาติ ลักษณะแบบนี้จะเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทางฝ่ายผู้ชุมนุมต้องไม่พลาดพลั้งให้อีกฝ่ายเกิดความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงมากขึ้น

ความเกลียดชังไม่ต่างกัน

กระแสความเกลียดชังที่มีต่อฝ่ายผู้ชุมนุม ในทัศนะของพวงทองก็ไม่ต่างกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคมและเมษายนปี 2553 อย่างกรณีหลังกระแสความเกลียดชังคนเสื้อแดงในหมู่คนเสื้อเหลืองแรงมาก มีการเชียร์ให้ฆ่าสูงมากอย่างน่ากลัว หรือเมื่อมีการฆ่าเกิดขึ้นก็ไม่รู้สึกรู้สมอะไรและช่วยกันกวาดล้างคราบเลือด คราบของคนบ้านนอกออกไปจากถนนของกรุงเทพ ซึ่งถ้าดูในโซเชียลมีเดียขณะนี้ก็เห็นว่าการโจมตีนักศึกษาก็ด้วยภาษาของความเกลียดชังทำนองเดียวกัน

“กระแสความเกลียดชังในอดีตรุนแรงไม่น้อยไปกว่าปัจจุบัน ในปัจจุบันอาจจะดีกว่าก็คือเราเชื่อว่าประชาชนฝ่ายที่ต่อต้านทหารมีจำนวนมากกว่าในขณะนี้ นอกจากคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นแล้ว ยังมีคนเสื้อแดงอีกจำนวนมากที่เขาก็ไม่เอากับระบอบทหาร เพียงแต่ว่าขณะนี้ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างเขายังไม่อาจออกมาแสดงพลังร่วมกับนักศึกษาได้

“ตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ดิฉันคิดว่าถ้าคุณเริ่มปราบ มันไม่มีอะไรรับประกันว่าคุณจะชนะ มันก็อาจทำให้คนลุกฮือขึ้นมามากยิ่งขึ้น แล้วขณะนี้ลักษณะของแฟลชม็อบที่มีความเป็นไปเองสูง มีความสามารถในการออแกไนซ์ตัวเองได้สูงในหลายๆ จังหวัด มันก็เป็นจุดที่ดิฉันคิดว่าทำให้ผู้มีอำนาจขณะนี้ต้องคิดหนัก คุณจะฆ่าสักเท่าไหร่ ยิ่งฆ่ามากเขายิ่งสูญเสียความชอบธรรมมากในกรณีนี้ แต่ภาวะหน้ามืดของผู้มีอำนาจไทยเราอย่าไปประเมินต่ำ ความไม่มีเหตุมีผลของเขามันสูงมากๆ”

ปฏิรูปสถาบัน ข้อเรียกร้องที่ไม่มีวันประนีประนอม

“ตรงนี้เป็นจุดที่ประนีประนอมกันไม่ได้ ดิฉันคิดว่านักศึกษาเห็นว่าสถาบันอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในสังคมไทย ถ้าไม่แก้ตรงนี้ต่อให้ไปแก้ในส่วนอื่นในที่สุดแล้วก็จะกลับมาสู่ที่อำนาจของสถาบัน อีกฝ่ายเขาก็เห็นเหมือนกัน เขาก็รู้ว่าถ้าอำนาจของสถาบันกษัตริย์ถูกสั่นคลอน มันก็สั่นคลอนต่ออำนาจของเขา”

พวงทองวิเคราะห์ว่าสถาบันยังเป็นประเด็นที่ชนชั้นนำเชื่อว่ายังสามารถระดมการสนับสนุนจากประชาชนได้ เพราะสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างน้อย 70 ปีภายใต้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ความรู้สึกนี้ไม่สามารถสลายหายไปได้ในเวลาอันสั้น ขณะที่เรื่องความจงรักภักดีของคนไทยต่อสถาบันกษัตริย์เป็นมากกว่าเรื่องตัวบุคคล แม้ว่าตัวบุคคลจะมีส่วน แต่คนไทยยังรู้สึกว่าถ้าไม่มีสถาบันกษัตริย์ย่อมไม่ใช่สังคมไทย สถาบันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยซึ่งจะทำลายไม่ได้ยังฝังอยู่ในความรู้สึกของคนจำนวนมาก

ข้อเสนอของฝ่ายนักศึกษาจะเป็นการปฏิรูป ทว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ได้แยกแยะระหว่างการปฏิรูปกับการล้มล้าง เพียงแค่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยภาษาแบบคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะได้ยินเฉพาะด้านที่เป็นความก้าวร้าวกระทั่งบดบังข้อเสนอ พวงทองเสนอแนะว่าจะดีกว่าถ้าพูดถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ในเชิงตัวสถาบันมากกว่าการมุ่งไปที่ตัวบุคคล ซึ่งอาจจะลดความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ในหมู่คนที่ยังอยู่ภายใต้อุดมการณ์กษัตริย์นิยมมาอย่างยาวนาน

“เรื่องสถาบันกษัตริย์ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรมด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย 112 คุณกำลังท้าทายวัฒนธรรมที่อยู่ในสังคมไทยมาเจ็ดสิบแปดสิบปี มันก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน ถ้าเราต้องการสร้างความเข้าใจใหม่ มันต้องใช้เวลา ต้องใช้ความอดทน ต้องใช้ข้อมูล คนที่ตั้งคำถามกับสถาบันมีมากขึ้นเรื่อยๆ หรือคนจำนวนมากเองก็อยู่ในภาวะตาสว่าง คนเสื้อแดงก็อยู่ในภาวะตาสว่างมาตั้งนานแล้ว แต่มันมีคนที่ยังเอาอยู่ซึ่งไม่ใช่จำนวนแค่ร้อยสองร้อย อันนี้ก็หลายล้านเหมือนกัน อันนี้เป็นปัญหาที่ต้องคำนึงถึง ต้องทำงานกับเขา”

การไล่กวาดจับแกนนำด้วยมาตรา 112 ส่งผลกระทบแน่นอนต่อการเคลื่อนไหว ความกลัวจะมีเพิ่มขึ้นในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ พวงทองกล่าวว่าคณะทำงานควรต้องประเมินใหม่ว่าจะทำอย่างไรในภาวะที่ไม่มีแกนนำ จะทำอย่างไรให้คนที่มาร่วมชุมนุมรู้สึกปลอดภัย และจะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร

“จะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างไรที่จะทำให้ไม่มีการถูกกวาดจับอีก แต่ก็สามารถผลักดันประเด็นนี้ได้ต่อไป อันนี้เป็นเรื่องท้าทาย แต่ดิฉันคิดว่าด้วยสติปัญญาของคนรุ่นนี้น่าจะทำออกมาได้ อาจต้องให้เขาปรับตัวสักพักหนึ่ง นี่เป็นเรื่องปกติของการเคลื่อนไหวในการจัดม็อบที่บางครั้งก็ขึ้นสูงมาก บางครั้งก็ลดลง เพราะมันไม่มีอะไรหยุดนิ่งเราก็ถูกปะทะ ถูกกดดันอย่างมาก รังแกตลอดเวลา หรือทางฝ่ายผู้จัดการชุมนุมเองบางครั้งก็อาจไม่รอบคอบและก่อให้เกิดปัญหาขึ้น นี่เป็นกระบวนการที่เราต้องสู้กันอีกนาน นี่อาจเป็นขั้นหนึ่งที่ทำให้ขบวนหยุดชะงักไปชั่วคราวหรือช้าลง แต่ก็ไม่เป็นไร

“ดิฉันคิดว่ามาถึงวันนี้คนที่อยู่ในขบวนการต่อสู้เรียกร้องรู้ดีว่าไม่ได้สู้กันสั้นๆ สามเดือนหกเดือนแล้วจะชนะ อันนี้เป็นเรื่องระยะยาว เรากำลังสู้กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจซึ่งมีคนเยอะแยะที่ได้รับผลกระทบ และโครงสร้างอำนาจในขณะนี้ถูกยึดครองโดยฝ่ายพวกเขา จะผลักไปตรงไหน จะทำอะไร  มันแก้ยากมาก ซึ่งก็ทำให้คนที่เคลื่อนไหวเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าคุณจะต้องจัดการกับระบบ กับกลไกอะไรบ้างในระยะยาว แต่ว่ามันก็ยิ่งยาก เราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแค่ตัวบุคคลแล้ว เราต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ”

ขยับเข้าใกล้การปราบปราม

เทียบกับเหตุการณ์ปี 2553 พวงทองกล่าวว่าการใช้ความรุนแรงกับเยาวชนยากกว่าการปราบคนเสื้อแดง ซึ่งมีภาพลักษณ์ที่ปรากฏในสื่อส่วนใหญ่และสื่อฝ่ายขวาเป็นพวกโง่ จน เจ็บ มีบุคลิกที่ไม่ถูกใจชนชั้นกลาง มีอาวุธ การตัดสินใจปราบคนจนหรือคนเสื้อแดงจึงง่ายกว่าการปราบนักศึกษาในขณะนี้

“แต่ถามว่าเป็นไปได้ไหม ดิฉันคิดว่ายังเป็นไปได้ที่จะเกิด แต่ความเป็นไปได้นี้อาจจะไม่ได้รุนแรงถึงขนาด 6 ตุลาคม เวลาที่เราพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่ามันมีลักษณะเฉพาะ จำนวนคนตายไม่เยอะ แต่ความรุนแรง ความโหดเหี้ยมมันสูงมาก มันอาจจะไม่เกิดภาวะแบบนี้อีกก็ได้ แต่การกวาดจับมากขึ้น การใช้ความรุนแรงมากขึ้น นี่เป็นแนวโน้มที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะปีสองปีนี้ถ้าเรามองว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระยะยาว ถึงตอนนั้นความรู้สึกของคนแต่ละฝ่ายก็อาจจะทนไม่ได้มากยิ่งขึ้น มวลชนฝ่ายขวา มวลชนเสื้อเหลือง เขาก็อยู่กับความโกรธแค้น กับความโกรธเกลียดที่มากยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น เขาอาจจะเชียร์ให้ปราบแบบเดียวกับที่เขาเชียร์ให้ปราบเสื้อแดง”

อย่างไรก็ตาม พวงทองกล่าวว่าหากรัฐใช้วิธีปราบปรามก็มิได้หมายความว่าจะเป็นฝ่ายชนะ เนื่องจากคนรุ่นใหม่เองก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกด้านหนึ่งฝ่ายผู้มีอำนาจก็สุมความโกรธแค้น อย่างกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้คนรู้สึกจนมุม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยวิถีทางปกติได้

เมื่อถามว่าการใช้โซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางและการเพิ่มขึ้นของสื่อทางเลือกจะมีช่วยความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงหรือไม่ พวงทองมีทัศนะว่าไม่ เพราะปัจจัยข้างต้นไม่ต่างกันมากกับปี 2553 ซึ่งเวลานั้นมีเฟซบุ๊กแล้ว แต่ละฝ่ายมีทีวีและวิทยุชุมชนของตนซึ่งเป็นทั้งกระบอกเสียงและเครื่องมือระดมคน ผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายต่างติดตามเครือข่ายข่าวเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ภาพความรุนแรงก็แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วผ่านมือถือ ผ่านเฟซบุ๊ก แต่ก็ยังเกิดความรุนแรงได้อีก

“ดิฉันไม่คิดว่าโซเชียลมีเดียเป็นจุดที่จะป้องกันความรุนแรงได้มีประสิทธิภาพมาก มันเป็นเครื่องมือได้ทั้งระดมคนออกมาต่อต้านรัฐและระดมคนออกมาต่อต้านนักศึกษาด้วยเหมือนกัน เพียงแต่การระดมคนออกมาต่อต้านนักศึกษาในขณะนี้เราเชื่อว่าคนที่ออกมาส่วนใหญ่เป็นคนของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นทหาร ตำรวจนอกเครื่องแบบ หรือข้าราชการ แต่ชาวบ้าน คนทั่วไปเมื่อครั้งออกมาในการชุมนุมของพันธมิตรอาจจะไม่ออกมาโดยตรง

“ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นเยาวชนคนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพ่อแม่ที่เคยร่วมการชุมนุมพันธมิตรฯ กับ กปปส. อาจต้องคิดมากขึ้นในการเรียกร้องให้มีการปราบ ดิฉันคิดว่ามวลชนพันธมิตรฯ และ กปปส. จำนวนมากเองมีคนรุ่นใหม่ในครอบครัวที่เข้าร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ นี่ก็อาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้การปราบของรัฐมันยาก คือคุณกำลังปราบเด็กชนชั้นกลางจำนวนมาก”

แต่...

“ดิฉันคิดว่าถ้าเขาหน้ามืดขึ้นมาในระยะปีหรือสองปีข้างหน้าและรู้สึกว่าเขาจัดการไม่ได้ ดิฉันไม่คิดว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นจุดที่มาหยุดไม่ให้เขาตัดสินใจใช้ความรุนแรง สำเร็จหรือไม่สำเร็จเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

การปราบปรามผู้ชุมนุมจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว

พวงทองไม่สามารถแนะนำว่าจะหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้อย่างไร เนื่องจากไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยฝ่ายเดียว เพราะตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมาชนชั้นนำไทยไม่ประนีประนอมใดๆ มีแต่รุกคืบมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ 2 จะเห็นว่าชนชั้นนำไทยมั่นใจมากว่าสามารถกุมอำนาจได้หมด ทั้งในสภา ศาล และองค์กรอิสระ ขณะที่การกระทำหลายๆ อย่างเห็นได้ชัดว่าเหิมเกริมและตบหน้าประชาชนหลายครั้ง การตั้งรัฐมนตรีที่มีเรื่องฉาวโฉ่ นี่คือการมองไม่เห็นหัวประชาชน ยิ่งนับว่าคนก็ยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น ส่วนกลไกแก้ปัญหาก็ถูกล็อกหมด

“คนมันลุกฮือไม่ใช่เพราะกำลังจะอดตาย แต่เพราะมันแค้น ดังนั้น คนที่ออกมาจำนวนมากไม่ได้กำลังจะอดตาย แต่เขารู้สึกรับไม่ได้กับความอยุติธรรม ความเหลิงอำนาจ และมองไม่เห็นหัวประชาชน พอแค้นมากๆ ขึ้น อีกฝ่ายไม่ยอมฟัง ไม่ยอมประนีประนอม ดิฉันคิดว่าการเผชิญหน้ามันก็นำไปสู่ความรุนแรง”

แกนนำกลุ่มราษฎร 2563 ยืนยันจะใช้แนวทางสันติวิธีในการต่อสู้กับรัฐเพราะตระหนักดีว่าถ้าเริ่มต่อสู้กับรัฐด้วยความรุนแรงเมื่อใด จะยิ่งเป็นข้ออ้างให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรงที่มากกว่าจัดการ

“แต่ถามว่าถ้าวันหนึ่งฝ่ายผู้ชุมนุมทนไม่ได้ ใช้ความรุนแรงขึ้นมาบ้าง เขาจะสูญเสียความชอบธรรมทั้งหมดหรือไม่ ก็คงไม่ถึงขนาดนั้น ดิฉันเคยเตือนเรื่องการใช้สันติวิธีในหมู่ผู้ชุมนุมด้วยว่า สันติวิธีมุ่งที่จะเอาชนะจิตใจของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ไม่ได้อยู่ข้างเราหรือคนที่ไม่สนใจเรา คนกลางๆ เพื่อให้เห็นว่าเราได้พยายามต่อสู้ด้วยวิธีการที่สันติที่สุด มีความอดทนมากที่สุด

“แต่ถ้าวันหนึ่งผู้ชุมนุมอาจจะใช้ความรุนแรงบ้าง เช่น โยนระเบิดขวดใส่ โยนก้อนหินใส่ จะทำให้การชุมนุมสูญเสียความชอบธรรมทันทีไหม มันก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ได้เหมือนกัน เช่น คุณชุมนุมกันอย่างสันติแล้วเขาใช้ปืน บอกว่านี่คือเขตกระสุนจริงยิงใส่คุณ แล้วคุณตอบโต้ด้วยการเผายาง ปาระเบิดขวด แน่นอนว่าวิธีแบบนี้อยู่นอกขอบเขตของนิยามสันติวิธี แต่มันก็อาจจะทำให้ผู้เห็นรู้สึกว่าคนที่ตอบโต้รัฐด้วยวิธีการแบบนี้ขณะที่รัฐมีปืนเอ็ม 16 จะเห็นเลยว่าระดับของการตอบโต้ต่างกันโดยสิ้นเชิง คนที่ดูอยู่อาจรู้สึกว่าเขาก็มีความชอบธรรมที่จะตอบโต้ แต่อันนี้เป็นคนละเรื่องกับสันติวิธี แต่การใช้วิธีรุนแรงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ต้องตระหนักว่าสุ่มเสี่ยงที่ผู้ชุมนุมจะสูญเสียความชอบธรรม”

พวงทองเชื่อว่าจะมีการปราบปรามแน่นอน

“ดิฉันเชื่อว่าจะมีการปราบแน่ๆ แต่ไม่ได้รับประกันว่าเขาจะชนะ เราอาจจะรู้สึกว่าเป็นเด็กนักศึกษา ไม่กล้าปราบหรอก จริงบางส่วน แต่จะไม่จริงตลอดไป เพราะเขาเองก็พยายามสร้างความชอบธรรมที่จะปราบอยู่เสมอ สิ่งที่นักศึกษาพูดในขณะนี้เกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์ ถ้าเป็นคนเสื้อแดงพูดตอนปี 2553 ตายกันไปหมดแล้ว ถูกจับกันเป็นร้อยเป็นพันแล้ว เขาไม่ทน แต่ว่าการดีลกับคนรุ่นใหม่ กับนักศึกษา และพูดในลักษณะที่มีเหตุมีผลด้วย มีข้อมูลต่างๆ มาแสดง มันยากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้”

หากชนชั้นนำไทยเรียนรู้ที่จะถอยบางก้าว สังคมไทยคงไม่เดินมาถึงจุดที่ต้องเผชิญหน้ากัน พวงทองกล่าวทิ้งท้าย

อาจยังไม่สายที่ชนชั้นนำไทยจะเริ่มเรียนรู้...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net