Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019) ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้สะท้อนไปถึงศักยภาพของผู้นำในยามสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ของทุกประเทศว่า มีฝีมือในการต่อกรกับปัญหานี้อย่างไร ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่เหนือความคาดหมายของทุกผู้นำรัฐบาล

ทันทีที่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศไทย เราได้เห็นมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่ต้องออกมาเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบความเดือดร้อนที่ประชาชนต้องประสบ โดยเฉพาะในแง่ของการดำรงชีวิตประจำวัน คำสั่งหรือประกาศใด ๆ ของรัฐบาลที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา รัฐบาลก็ควรต้องจะมีการออกมาตรการต่าง ๆ มารองรับสิ่งที่ตนเองออกประกาศ หรือคำสั่งใด ๆ

มาตรการเยียวยาตามโครงการ“เราไม่ทิ้งกัน” ที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือผู้ขาดรายได้ หรือรายได้ลดลงจากการประกาศปิดสถานที่บางแห่งของรัฐบาล ที่ทำให้เขาเหล่านั้นไม่สามารถประกอบอาชีพได้นั้น แม้จะเป็นมาตรการที่ดีที่รัฐบาลพึงกระทำ แต่หากมองในแง่ของจำนวนประชาชน 9 ล้านคนที่ได้รับการเยียวยาตามมาตรการนี้แล้ว และมีผู้ถูกปฏิเสธการเยียวยาถึง 18 ล้านคน บอกได้คำเดียวว่าความวุ่นวายโกลาหลกำลังจะตามมา ยิ่งถ้าย้อนไปดูตัวเลขเดิมที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้จำนวน 3 ล้านคน ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงฝีมือในการบริหารสถานการณ์ของรัฐบาลได้ดีทีเดียวว่ามีฝีมือขนาดไหน

ไม่ว่าจำนวนผู้ได้รับผลกระทบนี้จะมีจำนวนเท่าไร สิ่งที่รัฐบาลควรทำที่สุดคือการทำอย่างไรให้เขาดำรงชีพอยู่ได้ต่างหากคือสิ่งสำคัญ ดังนั้นถ้ามองจากมุมนี้การใช้เงินเยียวยาด้วยเงินสดจำนวนถึง 1.35 แสนล้านบาทนี้ อาจเป็นการใช้เงินแบบไม่ได้คิดคำนึงถึงประโยชน์ที่ควรจะก่อให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้

ยกตัวอย่างง่าย ๆ สมมติบ้านหนึ่งมี 4 คนลงทะเบียนผ่านตามเกณฑ์ทั้งหมด บ้านหลังนี้จะได้รับเงินเยียวยาถึง 2 หมื่นบาทต่อเดือน ในขณะที่อีกบ้านหนึ่งอยู่คนเดียวได้รับผลกระทบเหมือนกัน แต่ลงทะเบียนไม่ผ่าน ไม่ได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียว เขาจะอยู่อย่างไร ดังนั้นหลักในการเยียวยาที่ถูกต้องคือรัฐจะต้องจัดหาสิ่งอุปโภค บริโภค ไปแจกจ่ายตามบ้านทุกหลังถึงหน้าบ้าน ไม่ต้องนัดจุดรับแจกที่ต้องให้คนไปรวมกันมาก ๆ แล้วก็ดูแจกจ่ายตามความเหมาะสมว่าแต่ละหลังอยู่กันกี่คน ถึงจะถูกและทั่วถึงกว่า โดยอาจมีการใช้รถตรวจการณ์ ติดเบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ให้ประชาชนได้โทรประสานขอรับบริการในกรณีขาดเหลืออะไร ซึ่งจริง ๆ แล้วตรงนี้รัฐบาลมีพร้อมทุกอย่างทั้งกำลังพล และพาหนะในการไปตระเวนแจกจ่าย และถ้าเกรงว่าจะไม่ได้เอื้อให้บรรดาค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ ๆ ก็ไม่เห็นจะยากก็ให้ใช้เงินจำนวน 1.35 แสนล้านนี่แหละไปซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคดังว่าจากบรรดาค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ ๆ มาแพ็คแจกจ่ายประชาชน เท่านี้ก็แฮปปี้กันทุกฝ่าย

หลายคนอาจจะแย้งว่า แจกเงินนั่นแหละเหมาะที่สุดเพราะแต่ละคนอาจจำเป็นต้องใช้จ่ายไม่เหมือนกันนี่ถือว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคิดการดำรงชีพของประชาชนทุกคนในประเทศนี้ต่างหากที่คือสิ่งสำคัญ แต่รัฐบาลก็ต้องมีมาตรการอื่น ๆ ออกมาสนับสนุนด้วยเช่นกัน เพราะปัญหาที่ตามมาคือเมื่อไม่แจกเงิน เขาขาดรายได้ เขาจะเอาเงินตรงไหนจ่ายค่าใช้จ่ายรายเดือนที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกันที่ว่านั้น ตรงนี้สำคัญ   เพราะมาตรการสนับสนุนนี่แหละที่จะช่วยได้ตรงสำหรับคนที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งของภาครัฐ โดยเฉพาะการให้ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ที่รณรงค์มาตรการให้คนทำงานอยู่บ้าน สิ่งที่ตามมาคือค่าสาธารณูปโภคที่จะต้องเพิ่มขึ้นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งบางมาตรการที่ภาครัฐออกมานี้ ถือว่ายังไม่น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการจะช่วยเหลือค่าน้ำ หรือค่าไฟ หรือค่าอินเตอร์เนท อะไรก็แล้วแต่ ทำไมไม่อิงเกณฑ์ที่จะต้องเยียวยาให้ได้รับเท่า ๆ กันไปเลยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่นเรื่องค่าไฟฟ้า ถ้าจะให้ผู้ที่ใช้มิเตอร์ 5 แอมป์ที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยได้ใช้ไฟฟ้าฟรี ถามทำไมไม่กำหนดไปเลยว่าผู้ได้รับผลกระทบทุกรายได้ใช้ไฟฟรี 150 หน่วย ดังนั้นใครใช้ไฟเกินจากนี้ ก็จ่ายเฉพาะส่วนเกินจาก 150 หน่วย เท่านี้ก็ ไม่มีข้อเรียกร้องใด ๆ กรณีนี้จะเห็นชัดเลยว่าคนที่ใช้ไฟฟ้า 151 หน่วย ต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนทั้ง ๆ ที่ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ก็ควรใช้หลักการเดียวกันนี้ ไม่ใช่ออกมาตรการบ้าบอคอแตกให้เกิดปัญหาตามมาไม่จบสิ้น

ส่วนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ค่าผ่อนชำระบ้าน ค่าผ่อนชำระรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรืออื่น ๆ หรือแม้แต่ค่าบัตรเครดิตต่าง ๆ นั้น รัฐบาลควรจะมีการพูดคุยเจรจากับผู้ประกอบการในการผ่อนปรนการชำระให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลอาจจะสนับสนุนภาคเอกชนให้เขาสามารถดำเนินธุรกิจได้เป็นเรื่อง ๆ ตามที่เหมาะสม โดยทุกอย่างขอเพียงให้รัฐบาลยึดหลักเพียงว่า “ดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่มีรายจ่ายใด ๆ” ในช่วงที่ขาดรายได้ เชื่อว่าทุกฝ่ายก็จะพึงพอใจในมาตรการของรัฐบาลอย่างแน่นอน ถ้าทุกคนได้เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะคนที่เดือดร้อนจริง ๆ ความวุ่นวายโกลาหลจากมาตรการของรัฐ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันคือ “มาตรการไม่สนับสนุน” นั่นเอง

บางครั้งเงินสดอาจจะไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับคนที่เดือดร้อนก็เป็นไปได้ และบางทีอาจจะไม่จำเป็นต้องออก พรก.กู้เงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้ก็เป็นได้เช่นกัน ถ้าจะว่ากันไปแล้วรัฐบาลนี่มีครบทุกอย่างเลย ทั้งกลไกงบประมาณ กำลังพล อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ ยานพาหนะ ขาดเพียงอย่างเดียว....

ลองใช้ “สมอง” ตรองคิดดูว่าขาดอะไร..หุหุ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net