Skip to main content
sharethis

บังเกอร์ รอย จากวิทยาลัยเท้าเปล่า ร่วมถกผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ มธ. ถอดบทเรียน-พัฒนาชนบท ขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในเอเชีย ทำข้อเสนอถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ชู 3 ปมทรัพยากรธรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน รวมทั้งคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี

23 ส.ค.2560 โครงการ 100 ปี ชาตกาล ศาสตราจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 - 4 ส.ค. ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกับภาคีเครือข่ายเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ เรื่อง “การพัฒนาชนบทเพื่อการขจัดความยากจนในเอเชีย” ณ โรงแรมเซ็นทารา จังหวัดอุดรธานี ในโอกาสที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ยกย่องให้ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ในวาระ 100 ปี ชาตกาล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559  

การประชุมผู้เชี่ยวชาญนานาชาติครั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจาก 19 ประเทศ จำนวนกว่า 200 คน มาร่วมกันถอดบทเรียน และหาแนวทางในการพัฒนาชนบท ขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในเอเชีย รวมถึงจัดทำข้อเสนอถึงรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป  ในประเด็นหลัก 3 เรื่อง คือ (1) ทรัพยากรธรรมศาสตร์และสิ่งแวดล้อม  (2) ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และ (3) คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี

วีดีทัศน์เปิดการประชุม 

ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการชี้ให้เห็นความจำเป็นในการมีอยู่ของชนบท การทบทวนและแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาชนบทเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจนอย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาหลากมิติที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนชนบทในศตวรรษที่ 21 ผลลัพธ์ที่คาดหวังคือการตกผลึกความเห็นร่วมให้กลายเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อรัฐบาลและสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาชนบทในอนาคต

รายงานระบุด้วยว่า มีบุคคลสำคัญหลายท่านได้ให้เกียรติมากล่าวถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการพัฒนาชนบท  เริ่มจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นประธานเปิดการประชุม ได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดประชุมครั้งนี้  อิทธิพลของอาจารย์ป๋วยต่อตนเอง  และบทบาทของอาจารย์ป๋วยต่อการพัฒนาชนบท  พร้อมทั้งนำเสนอนโยบายปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสถาบันการศึกษาของไทย  นพ.ธีระเกียรติ เน้นย้ำว่าในปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน รวมทั้งพยายามจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลและยากจนอย่างทั่วถึง     

บังเกอร์ รอย ซึ่งเป็น 1 ใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี 2010 ของนิตยสารไทมส์ ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ โดยกล่าวถึงประสบการณ์การเปิด “วิทยาลัยเท้าเปล่า” (barefoot college) ณ รัฐราชาสถาน ประเทศอินเดีย อันเป็นสถาบันการศึกษาที่รับเฉพาะผู้หญิงยากจนและไร้การศึกษา (อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้) เพื่อนำมาฝึกสอนวิชาชีพในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะสอนให้พวกเธอสามารถเป็นวิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ได้ภายใน 6 เดือน โครงการดังกล่าวของรอยได้รับการขนานนามว่า “โซลาร์มามาส์”  วิทยาลัยของรอยไม่เพียงฝึกสอนวิชาชีพให้กับผู้หญิงยากจนชาวอินเดียเท่านั้น แต่ยังนำผู้หญิงจากประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มาฝึกอบรมร่วมกันและทำให้พวกเธอสามารถกลับไปสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ที่หมู่บ้านของตนเองได้ วิทยาลัยของรอยได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลอินเดียและองค์กรด้านสตรีอีกหลายแห่ง  จนถึงปัจจุบันวิทยาลัยเท้าเปล่าแห่งนี้ได้ฝึกอบรมวิชาชีพให้กับผู้หญิงยากจนไปมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว ข้อสำคัญคือ ที่นี่ไม่มีการแจกปริญญาบัตรหรือใบรับรองให้กับผู้สำเร็จการศึกษาเหมือนสถาบันการศึกษาทั่วไป เพื่อเปลี่ยนมุมมองต่อการศึกษาว่าคนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และไม่มีใบปริญญา ก็สามารถเรียนรู้การเป็นมืออาชีพได้เช่นกัน (อ่านบทสัมภาษณ์บังเกอร์ รอย ได้ที่ https://thestandard.co/barefoot-college-bunker-roy/)

เวทีที่สำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนี้ คือการให้ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุมจากนานาประเทศได้ร่วมกันแบ่งปันบทเรียน ประสบการณ์และข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแล้วให้แต่ละบุคคลสามารถนำกลับไปขับเคลื่อนผลักดันเข้าสู่วาระของภาครัฐ และอีกส่วนหนึ่งได้มีการเสนอแนวทางการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับการทำงานด้านการพัฒนาชนบทในอนาคต       

ข่าวน่ายินดีสำหรับประเทศไทย คือ ที่ประชุมของผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ มีมติร่วมกันว่าให้ใช้ชื่อของอาจารย์ป๋วย ในฐานะบุคคลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจด้านการพัฒนาชนบท  ตั้งเป็นชื่อเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาชนบทระดับนานาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายการพัฒนาชนบท ป๋วย อึ๊งภากรณ์” (Puey Ungphakorn Rural Development Network)   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net