Skip to main content
sharethis

เวทีเครือข่ายฯ ขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จังหวัดขอนแก่น ประสานเสียงขานรับรัฐสวัสดิการต้องมาพร้อมการกระจายอำนาจ ย้ำอย่าวางใจมติสวัสดิการเด็กเล็กและผู้สูงอายุถ้วนหน้าหากยังไม่เข้า ครม.

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2567 คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 450 องค์กรได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 450 องค์กร เพื่อขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ณ โรงแรม Gallery Lake view จังหวัดขอนแก่น  ซึ่งครั้งนี้เป็นพื้นที่ที่ 3 หลังจากที่จัดมาแล้ว ที่ภาคกลางจังหวัดเพชรบุรี และภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา โดยในช่วงแรกเป็นเวทีสรุปบทเรียนการขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว  ในหัวข้อ พลวัตสังคมการเมือง เส้นทางการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) "

ไว้ใจได้ แต่อย่าวางใจ หลัง รัฐมีมติรับสวัสดิการเด็กเล็กและผู้สูงอายุถ้วนหน้า แต่ไม่ผลักเข้า ครม.

อรนุช ผลภิญโญ ในฐานะผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) กล่าวกถึงการเคลื่อนประสานความเคลื่อนไหวในประเด็นสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าว่า Pmove  มีเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 10 เครือข่าย  ซึ่ง  Pmove จะเคลื่อนไหวรายประเด็น เช่น ที่ดินทำกิน สวัสดิการสังคม ชาติพันธุ์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมายนิรโทษกรรม ฯลฯ เป็นต้น โดยยึดหลักการตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน 
        
สำหรับประเด็นสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งอยู่ในประเด็นสวัสดิการถ้วนหน้า Pmove  ได้ตั้งเป็นคณะกรรมการและจัดทำข้อเสนอยื่นต่อ นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้มีการเข้าพบเพื่อหารือ ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นสวัสดิการ ที่ประชุมมีมติรับรอง เงินสวัสดิการเด็กถ้วนหน้า 600 บาท ผู้สูงอายุ 1,000 บาท ฯลฯ

“ที่ประชุมมีมติแล้ว ลำดับต่อไปคือนำเสนอ ครม. แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหว เรา “ไว่ใจได้ แต่อย่าวางใจ ซึ่งฝากเครือข่ายภาคประชาชนต้องช่วยกันติดตามและไม่ปล่อย เราจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง”

รัฐสวัสดิการต้องไปพร้อมการกระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นออกแบบตนเอง ปัญหาอยู่ไหนแก้ตรงนั้น

ด้านว่าที่ร้อยเอกพงเจตน์ พรกุณา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น  ผู้แทนสมาคม อบจ แห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องการขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าว่า  การขับเคลื่อนในทุกนโยบายที่ท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ประเด็นการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ  ตั้งแต่ยุครัฐธรรมนูญ 2540 การกระจายอำนาจถูกพูดถึงมาก ส่วนกลางให้ความสำคัญกับท้องถิ่น โดนผ่านงบประมาณมาให้ท้องถิ่น  ส่วนยุค 2550  เสมอตัว  ในขณะที่ยุค  2560  เรียกได้ว่าถอยหลัง ซึ่งทุกนโยบายต้องอาศัยการกระจายอำนาจในการขับเคลื่อนแต่การกระจายอำนาจยังมาไม่เต็มที่  อย่างเช่นเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ที่รัฐบาลมักจะอ้างว่าเงินไม่พอ หากมีการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ทั้งงบประมาณและกฎหมายที่เอื้อ ท้องถิ่นจะดำเนินการได้เลย

“กฎหมายการกระจายอำนาจเขียนมาดี แต่จะมาเกิดปัญหาตรงข้อสั่งการที่จะมีข้อ สวัสดิการถ้วนหน้าต้องควบคู่ไปกับการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจจะเป็นยาหม้อที่อาจจะแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้ ประเทศที่เจริญวัดกันที่การกระจายอำนาจ การแก้ปัญหาท้องถิ่น หากจะใช้คนส่วนกลางแก้ปัญหา เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน  เสน่ห์ของท้องถิ่นคือความแตกต่าง แต่ละพื้นที่บริบทในสังคมแตกต่างกัน การแก้ปัญหาก็แตกต่างกันออกไป ปัญหาอยู่ตรงไหนแก้ตรงนั้น”

สส.ก้าวไกล เห็นพ้องให้ท้องถิ่นทำเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ย้ำกมธ.จะไม่ตัดงบรายหัว

ส่วน สส.ก้าวไกล  อิทธิพล ชลธราศิริ ในฐานะที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม ส.ส.เขต 2 ขอนแก่น กล่าวถึงในส่วนของงบประมาณปี 2567  จากข้อมูลการเกิดของประชากรที่ลดลง สวนทางกับผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น อย่างเช่นในจังหวัดขอนแก่น มีผู้สูงอายุมากถึง 300,000 กว่าคน เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเด็กค่อนข้างสูง ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจไม่มีลูก

ในส่วนงบประมาณ มีคำขอเพิ่มขึ้น 1ล้านล้านบาท มีการจัดสรรงบ 4 ล้านล้านบาท ในปี 2568 ในส่วนที่บอกว่าเงินสวัสดิการที่มีมติ เช่นเงินสวัสดิการเด็กหรือผู้สูงอายุ ไม่แน่ใจว่าอยู่ในส่วนที่อนุมัติมาหรือไม่ หรือจะใช้งบกลาง  เด็ก 0-6 ขวบมี 4 ล้านกว่าคน จะใช้งบสวัสดิการเด็ก ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาท แต่งบที่อนุมัติมา 1.7 หมื่นล้านบาท แสดงว่าจะมีเด็กที่ไม่ได้เงิน 1.5   ล้านคน ซึ่งทำให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาล

ส่วนของ กรรมาธิการ และ.สส. สิ่งที่ทำได้ คือ จะไม่ตัดงบรายหัวที่เป็นงบประมาณสวัสดิการ เช่นสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า

“เราจะพิทักษ์ รักษางบประมาณรายหัว ที่ไม่ควรตัด ส่วนเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า สามารถให้ท้องถิ่นดำเนินการได้ เพราะท้องถิ่นจะรู้เรื่องของประชาชนในพื้นที่ได้ดี”

ระบุชัด เครือข่ายประชาชนต้องส่งเสียงขอสวัสดิการถ้วนหน้า พร้อมย้ำต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นทำ

ปริญดา เอียสกุล ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม   เทศบาลนครขอนแก่น   กล่าวถึงประเด็นการสนับสนุนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ว่า คำว่าถ้วนหน้ามาจากประชาชน สังคม แต่ไม่ได้มาจากการเมือง หากประชาชนไม่ผลักดันการขับเคลื่อน เคลื่อนไหวจะไม่เกิดขึ้น  ในขณะที่ท้องถิ่นมีส่วนสำคัญแต่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย อย่างเรื่องกระจายอำนาจ กระจายจริงหรือไม่  กรณีการสงเคราะห์เงินฌาปนกิจ ที่เราจ่ายได้อย่างรวดเร็ว แต่วันนึงเราถูกตรวจสอบและระบุว่าเราทำงานซ้ำซ้อนกับ อบจ. เช่นกันเงินเด็กเล็กถ้วนหน้า หากให้ท้องถิ่นทำ จะดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่กฎหมายกำหนดให้เรามีหน้าที่แค่รวบรวมข้อมูลเสนอ พมจ. และท้องถิ่นไม่สามารถรู้ว่า พัฒนาสังคมและความมั่นคงจังหวัด หรือพมจ.อนุมัติหรือไม่ ขณะนี้เรามีโครงการครัวหรรษา เน้นเรื่อวงโภชนาการเด็ก ซึ่งอยากจะนำเสนอคณะผู้บริหารว่าเรายังขาดเรื่องแรกรับ  

“ฝากเครือข่ายสังคมช่วยผลักดันให้รัฐบาลให้ท้องถิ่นดูแลเด็กแรกเกิด – 2 ขวบ เพราะเด็กในวัยนี้ต้องการการพัฒนาการ”

ต้องให้สังคมช่วยผลักดันเรื่องกระจายอำนาจให้เต็มที่

ผศ.สุนี  ไชยรส ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า  450 องค์กร กล่าวว่า ในการดำเนินการเรื่องสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าที่ผ่านมา มีความแตกต่างในการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ บางพื้นที่ยืนยันว่าทำได้ ในขณะที่บางพื้นที่บอกว่าทำไม่ได้ ดังนั้น นั่นหมายถึงการตีคงวามของข้อสั่งการและข้อปฏิบัติ รวมถึงการตรวจสอบจากส่วนกลาง ทั้งนี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ การกระจายอำนาจจึงเป็นนโยบายสำคัญ ที่ต้องเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เพื่อแนวการปฏิบัติที่เหมือนกันและเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

นอกจากนี้ ผศ.สุนี กล่าวอีกว่า คณะทำงานที่เริ่มต้นจาก 9 ปีที่แล้ว ที่มีเพียง 30 กว่าองค์กร วันนี้เครือข่ายฯ มีจำนวน 450 องค์กรแล้ว และยังต้องการขยายเพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้องค์กรเล็กๆ ได้มีส่วนร่วม และส่งเสียงไปถึงรัฐบาลว่า ประชาชนต้องการรัฐสวัสดิการ  รวมถึงการกระจาย ขยายและช่วยกันเผยแพร่ประเด็นดังกล่าวให้สังคมในวงกว้างได้รับรู้ ผ่านการใช้สื่อต่างๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้  

“เรากำลังหารือ 3 สมาคมและกทม. และกรรมธิการต่าง ๆเพื่อขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการและการกระจายอำนาจ เรายังเชื่อมั่นการกระจายอำนาจ”

ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เน้นย้ำ สร้าง 3 ประสาน พม.มหาดไทย สาธารณสุข

ในช่วงของการถอดบทเรียนจากเครือข่ายฯ ที่ขับเคลื่อนในพื้นที่ภาคอิสาน ได้ร่วมกันนำเสนอการถอดบทเรียน เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนต่อไป   
    
มีนา ดวงราษี แกนประสานงานพื้นที่นำร่อง จังหวัดสุรินทร์ กล่าวในการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ว่า  แนวทางในการเลือกพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนประเด็นฯ ดังกล่าวนั้น มีการมองหาภาคีเครือข่ายที่จะสามารถส่งต่อประเด็นและขับเคลื่อนต่อไปได้  จากนั้นตั้งคณะทำงานเด็กโดยกำหนดเป้าหมายในการประสาน 3   กระทรวงใหญ่ที่มีอำนาจ หน้าที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะผลักดันนโยบายได้ 
         
อย่างไรก็ตาม  หากพิจารณาว่าสวัสดิการเด็กที่รัฐจัดให้เพียงพอหรือไม่  คณะทำงานฯ จะต้องพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย จากนั้นผลักดันด้วยกระบวนการต่าง ๆ อาทิ ทำ MOU  จัดเวทีขับเคลื่อนเพื่อสร้างเครือข่ายในกลุ่มต่าง ๆ  ใช้ความเป็นเครือข่าย ทำงานผ่านเครือข่าย กลุ่มงาน จะทำให้ขับเคลื่อนงานได้มากขึ้น  พลังจากรัฐเป็นส่วนเสริมปลายทางจากนั้นจัดทำข้อมูล ลงพื้นที่เก็บรายละเอียด กรณีที่มีเด็กตกหล่นเข้าไม่ถึงสวัสดิการเด็ก ซึ่งเด็กที่ตกหล่นจะอยู่ชายแดนพื้นที่ห่างไกล  
                
“ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ท้องถิ่นรับผิดชอบ เพื่อให้ 3 กระทรวงหลักหันมาให้ความสำคัญ มีกลไกมารองรับ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ การขยับจำนวนเงินให้เหมาะสมกับคุณภาพชีวิต 
          
พรทิพย์  มังกร  สมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะ จ.สุรินทร์ทิพย์ เล่าถึงแนวทางการดำเนินงานผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ว่า เทศบาลตำบลสังขะทำงานโดยเชื่อมโยงกับโรงพยาบาล  โดยอาศัยข้อมูลจากโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลจะประสานกับ อสม. แนะนำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล สวัสดิการต่าง ๆ  เพื่อผู้ปกครองและเด็กจะสามารถเข้าถึงสวัสดิการได้ 
               
ป้าพรทิพย์ ยังเล่าด้วยว่า นอกจากการประสานข้อมูลความร่วมมือกับโรงพยาบาลและ อสม.แล้ว งานเอกสารถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยป้าจะจัดทำเรื่องเอกสารต่างๆให้ผู้ปกครอง ตั้งแต่การกรอก ช่วยเตรียมเอกสาร  กรณีอยู่กับตายาย เราจะขอเบอร์โทรเพื่อคุยกับพ่อแม่

นอกจากนี้ ป้าพรทิพย์ ยังสร้างเครือข่ายพยาบาลในการช่วยเรื่องแนะนำสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับเทศบาลข้างเคียงด้วยโดยการให้คำแนะนำ สำหรับเงินสวัสดิการจำนวน 600 บาทนั้น ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างมากสำหรับพื้นที่อำเภอชายแดน และสิ่งที่สำคัญต่อเด็กเงินจำนวนนี้ต้องเข้าบัญชีผู้ปกครองที่ดูแลเด็กโดยตรง
        
ด้านพยาบาลวิชาชีพอย่าง จิรภิญญา  สุขล้น พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลสังขะ จ.สุรินทร์  กล่าวถึงบทบาทของโรงพยาบาลในการช่วยขับเคลื่อนนโยบาย ว่า โรงพยาบาลจะช่วยในส่วนของการดูแลเด็กแบบองค์รวม ประเด็นสำคัญในการดูแลสุขภาพเด็กในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวโยงกันระหว่างภาวะเศรษฐกิจและสุขภาพ คือ หากครอบครัวมีภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี การดูแลสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวจะถูกลดลำดับความสำคัญรองลงมา  ดังนั้น จึงเป็นที่มาของปัญหาเด็กขาดการฉีดวัคซีน โภชนาการไม่ดี หรือการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ 
            
ส่วนการเข้าถึงนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เด็กในพื้นที่ได้รับเงินอุดหนุนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์  ซึ่งผู้ปกครองจะรับรู้มาจากเพื่อนบ้าน และ อสม. สะท้อนให้เห็นว่าเพื่อนบ้านมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ผู้ปกครองตัดสินใจรับเงิน ซึ่งเงิน 600 บาท ผู้ปกครองจะใช้ซื้อนมเป็นหลักและรองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่ารถ ค่าเดินทางเด็กไปโรงเรียน อาหาร ขนม  

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กที่ต้องดูแลต่อ คือข้อมูลจากครอบครัว เด็กส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย หรือเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ละครอบครัวจะเป็นครอบครัวใหญ่มีสมาชิกหลายคน และเงินในส่วนนี้จะถูกใช้ไปกับเรื่องอื่น ๆในครอบครัวด้วย  ส่วนข้อกังวลจากพื้นที่ คือความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กไปที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่อาจจะไม่สะดวกนัก  การเสริมพัฒนาการเด็ก และอยากให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กมีกล้องวงจรปิด 
    
“การขับเคลื่อนกลไก ต้องมีผู้ประสานงานหลักที่มองเห็นถึงความสำคัญและมีใจ สนับสนุนคีย์แมนให้ทำงานให้ได้”
          
ลักขณา  แต่งภูเขียว ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กปฐมวัยและครอบครัว ตำบลนาหนองทุ่ม จังหวัดขอนแก่น เล่าถึงความเป็นมาของศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กปฐมวัยและครอบครัว โดยเริ่มมาจาก การเป็นอสม. และได้ร่วมประชุมกับแกนนำที่ขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการเด็ก เมื่อได้เข้าร่วมประชุมจึงรู้ว่ายังมีเด็กในชุมชนที่ประสบปัญหานี้ และจะช่วยเด็กได้อย่างไร  ซึ่งในพื้นที่มีพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำจากกลไกตำบล ช่วยขับเคลื่อนเรื่องเด็กปฐมวัย  
          
ผู้จัดการศูนย์ฯ เล่าอีกว่า จากที่เรียนรู้ข้อมูลจึงได้ลงพื้นที่ในชุมชน และสังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจ จึงเกิดแนวคิดจะแก้ปัญหาช่วยเด็กๆ และได้สละพื้นที่สร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ขึ้นในตำบล จัดหาพี่เลี้ยงดูแลเด็ก ที่ศูนย์ฯจะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พาเด็กเล่นการละเล่นพื้นบ้าน มีพื้นที่ที่สร้างและดูแลเด็ก  พี่เลี้ยงที่ศูนย์ฯ เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ปกครองกับ อบต. ให้เด็กได้สวัสดิการ การขับเคลื่อนงานในอนาคต คือกลไกของคนในชุมชน หารือกัน ชุมชนต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา เด็กของเรามีแต่ผู้สูงอายุดูแล ถ้าหากจะทำให้เด็กมีพัฒนาการมากขึ้น เราต้องขยายองค์ความรู้ไปสู่ผู้ปกครอง
     
ด้านนิตติยาพร คำใบ ผู้แทนจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนทุ่งทอง ริมรางรถไฟขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กล่าวสรุปถึงผลการขับเคลื่อนการนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าว่า  ในส่วนของตนเอง การทำงานที่สำเร็จคือ ไม่มีเด็กตกหล่นได้รับสวัสดิการครบทุกคน  สิ่งที่ไม่สำเร็จ คือ จำนวนเงินสวัสดิการที่ได้ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ราคาของทุกอย่างที่แพงขึ้น 
         
“การดำเนินการที่สำคัญ คือการสื่อสารกับพี่น้องให้เข้าใจ และใช้ตัวเองลงไปทำงานในส่วนที่มีอำนาจตัดสินใจ” 
       

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net