Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา กรุงวอชงตัน ดีซี ศาลอุทธรณ์รัฐบาลกลางแห่งดีซี ปฏิเสธเหตุผลของรัฐบาลสหรัฐที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนกลางมีสิทธิโดยปราศจากเงื่อนไขในการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งด้วยระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (จีพีเอส) บนยานยนต์ใด ๆ โดยไม่ต้องมีหมายค้น

ในคดี สหรัฐอเมริกา v. เมย์นาร์ด (United States v. Maynard) - เจ้าหน้าที่เอฟบีไอได้ติดตั้งอุปกรณ์จีพีเอสกับรถยนต์คันหนึ่งขณะมันจอดในสถานที่ส่วนบุคคล และใช้มันในการติดตามตำแหน่งของรถคันดังกล่าวทุกสิบวินาทีเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ทั้งหมดนี้โดยไม่มีหมายค้น มูลนิธิพรมแดนอิเล็กทรอนิกส์ (EFF) และสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU)  แห่งเขตเมืองหลวง ได้เสนอคำอธิบายเหตุผลต่อศาล เพื่อแย้งว่าการใช้วิธีดังกล่าวโดยไม่มีการตรวจตราดูแล จะเปิดโอกาสให้ตำรวจลุแก่อำนาจและติดตามตำแหน่งทางกายภาพของใครก็ตามอย่างต่อเนื่องด้วยเหตุผลอะไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องให้ศาลพิจารณาตรวจสอบก่อนว่าการจับตาสอดส่องดังกล่าวนั้นชอบด้วยเหตุผลหรือไม่

ศาลรัฐบาลกลางเห็นด้วยกับเหตุผลของ EFF และ ACLU ว่าการสอดส่อง 24 ชั่วโมงเช่นนี้ จำเป็นต้องมีหมายค้นบนฐานของเหตุอันควรจึงจะทำได้ ศาลรัฐบาลกลางได้ปฏิเสธอย่างชัดเจนต่อเหตุผลของรัฐบาลที่ว่าการสอดส่องวันละ 24 ชั่วโมงในขอบเขตขยายโดยไม่มีหมายค้นนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยรัฐบาลอ้างคำตัดสินในอดีตเกี่ยวกับการสอดส่องกิจกรรมในที่สาธารณะจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งในขอบเขตจำกัดโดยใช้วิทยุติดตามตัวที่ใช้คลื่นวิทยุ ศาลรัฐบาลกลางแสดงให้เห็นว่าในคำตัดสินเหล่านั้นศาลฎีกาไม่ได้พิจารณาไปถึงการติดตามตำแหน่งในระยะเวลาและขอบเขตอย่างที่เกิดขึ้นในคดีนี้ และตั้งข้อสังเกตว่า "ในเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้ว การรู้ร่องรอยทั้งหมดอย่างต่อเนื่องอาจเปิดเผยอะไร ๆ ไปได้เยอะกว่าการรู้เป็นส่วนๆ ประกอบกัน"

ศาลอุทธรณ์รัฐบาลกลางยังได้กล่าวต่อว่า "การที่คนที่ผ่านไปมาสังเกตการณ์หรือกระทั่งติดตามใครก็ตามระหว่างการเดินทางหนึ่งครั้งไปตลาดหรือกลับบ้านจากที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการที่คนแปลกหน้าคนนั้นจะตามรอยใครคนนั้นอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น อีกวันต่อไป สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่า ตามติดเหยื่อจนกระทั่งเขาสามารถระบุสถานที่ ผู้คน กิจกรรมหย่อนใจ และสิ่งละอันพันละน้อย ที่เป็นกิจวัตรส่วนตัวของคนคนนั้น นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง"

"ศาลรัฐบาลกลางได้ยอมรับอย่างถูกต้องแล้วถึงข้อแตกต่างสำคัญ ระหว่างการจับตาสอดส่องอย่างมีขอบเขตถึงกิจกรรมสาธารณะด้วยการใช้สายตาหรืออุปกรณ์ติดตามรถยนต์แบบดั้งเดิม กับการจับตาสอดส่องที่กว้างขวางบุกรุกทั่วทุกแห่งหนทั้งวันทั้งคืนที่อุปกรณ์จีพีเอสทำได้" Jennifer Granick ผู้อำนวยการฝ่ายเสรีภาพพลเมืองของ EFF กล่าว และว่า "ตรรกะเดียวกันนี้ใช้ได้กับกรณีของการติดตามโทรศัพท์มือถือ และเราหวังว่าศาลอื่น ๆ ที่กำลังพิจารณาถึงคำถามว่ารัฐบาลควรจะมีหมายศาลก่อนหรือไม่ก่อนจะใช้โทรศัพท์มือถือของคุณเป็นอุปกรณ์ติดตาม จะตัดสินใจตามการตัดสินของศาลรัฐบาลกลางในครั้งนี้"

"การติดตามด้วยจีพีเอสทำให้ตำรวจรู้ว่าคุณไปหาหมอของคุณ ไปหาทนาย ไปโบสถ์ หรือไปหาคนรักตอนไหน" Arthur Spitzer ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของ ACLU-NCA กล่าว "และถ้าคนจำนวนมากถูกติดตาม ข้อมูลจีพีเอสจะแสดงได้ว่าที่ไหนและเมื่อใดที่คนเหล่านี้พบกัน กฎหมายเพื่อตรวจตราควบคุมการใช้เทคโนโลยีที่ทรงพลังนี้จำเป็นอย่างยิ่งยวด ถ้าเราต้องการจะปกป้องเสรีภาพของบุคคลแต่ละคน การตัดสินในวันนี้ได้ช่วยนำ Fourth Amendment (บทแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องจากการถูกยึดค้นโดยไม่มีเหตุผล) มาสู่ศตวรรษที่ 21"

 

ข้อมูลเพิ่มเติมของคดี (เดิมชื่อ U.S. v. Jones)

แปลจาก Court Rejects Warrantless GPS Tracking, 6 สิงหาคม 2553

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net