Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ตัวอย่างหนังสือพิมพ์เพื่อคนจรจัดในต่างประเทศ (The Street Newspapers)


 


ไม่ว่าจะก่นด่าให้เป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต หรืออาจโทษว่าเป็นความผิดส่วนบุคคลที่ไม่มีความขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพสุจริตหรืออะไรก็ตามแต่ เหตุผลทั้งสองประการก็ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะอธิบายปรากฏการณ์ "คนจรจัด" หรือ "คนไร้บ้าน" (Homeless) ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลกได้อย่างหมดจด


 


ล่าสุด นิตยสาร Big Issue ของอังกฤษ ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางของคนจรจัดได้ไปสัมภาษณ์บรรดาคนไร้บ้านที่อาศัยสวนสาธารณะและถนนหนทางในมหานครลอนดอนแทนบ้านและที่ซุกหัวนอน พบว่ามีคนจรจัดหลายคนทีเดียวที่เคยดำรงสถานะ "ชนชั้นกลาง" ซึ่งประกอบหน้าที่การงานเป็นหลักเป็นแหล่งมาก่อน แต่ที่ต้องออกมานอนตากน้ำค้างดูดาวอยู่ข้างถนนก็เป็นเพราะเหตุผลที่แตกต่างกันไป


 


บางรายประสบปัญหาครอบครัว เช่นแม่ม่ายลูกสามอย่าง เดบบี วัย 43 ปี ผู้มาจากนิวคาสเซิล หนีออกจากบ้านเพื่อให้พ้นจากสามีเจ้าปัญหา และเธอคิดว่าคงจะพึ่งพาตัวเองได้ แต่กลายเป็นว่าผู้หญิงที่อายุล่วงเข้าวัยกลางคนอย่างเธอกลับหางานที่ไหนไม่ได้เลย จึงต้องลงเอยด้วยการมาอาศัยอยู่ข้างถนน และรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ ไปวันๆ เพื่อหาเงินมาประทังชีวิต แต่เธอก็ไม่เคยมีเงินเก็บมากพอจะหาที่พักดีๆ ให้กับตัวเองและลูกๆ ได้


 


และบางรายอย่าง มัลคอล์ม วัย 26 ปี จากเบอร์มิงแฮม เป็นคนจรจัดไร้บ้านมาได้ 6 ปีกว่าแล้ว นับตั้งแต่ที่พ่อของเขาเสียชีวิตไปเมื่อตอนที่เขาเพิ่งจะอายุ 19 ปี


 


เมื่อสูญเสียพ่อซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่เพียงคนเดียว มัลคอล์มไปทำงานเป็นคนยกของเพื่อที่จะหารายได้เลี้ยงตัวเอง แต่มันก็ยังไม่พอ ค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัยกลายเป็นภาระหนัก ในที่สุดเด็กหนุ่มวัย 20 ต้นๆ ก็ต้องออกมาใช้ถนนและสวนสาธารณะซุกหัวนอนแทนบ้าน


 


"ผมทำใบขับขี่หาย ผมเลยไม่สามารถทำงานเป็นคนขับรถได้ ผมต้องไปทำงานเป็นคนยกของ พอทำงานหนักๆ วันละ 8 ขั่วโมงและต้องมานอนที่ไหนก็ไม่รู้ตามข้างถนน ไม่เป็นหลักแหล่ง นาฬิกาชีวิตผมก็รวนไปหมด และทุกสิ่งทุกอย่างก็ค่อยๆ พังทลายลง ผมอยากจะเรียนต่อในวิทยาลัย แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะคุณไม่สามารถเรียนจนจบปริญญาได้หรอก ถ้าคุณไม่มีรหัสไปรษณีย์หรือที่อยู่เป็นหลักแหล่ง"


 


เช่นเดียวกับแรงงานเถื่อนที่ลักลอบเข้าเมืองบางส่วนก็กลายมาเป็นคนจรจัดด้วย


 


ท่ามกลางสายตาไม่ไว้วางใจที่บรรดาคนจรจัดได้รับจากคนที่มีบ้านเป็นหลักแหล่ง มีความรุนแรงของการแบ่งชนชั้น และแยก "พวกเขา" ออกจาก "พวกเรา" อย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคนจรจัดเหล่านั้นอาจเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกกระทำชำเราจากโครงสร้างของสังคมที่มีจุดบกพร่องไม่ต่างจากเราๆ เช่นกัน


 



นิตยสารรายสัปดาห์เพื่อคนจรจัดในอังกฤษ "The Big Issue"


 


เพื่อสร้างหนทางในการทำความเข้าใจการมีอยู่ของคนจรจัดไร้บ้าน และเพื่อหาแนวทางที่คนในสังคมจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีปัญหาน้อยที่สุด สื่อทางเลือกที่ถูกเรียกว่า Street Newspaper จึงถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1989 ที่นิวยอร์ก-เมืองใหญ่ที่มีจำนวนคนจรจัดมากมายติดอันดับต้นๆ ของโลก


 


สตรีทนิวส์เปเปอร์ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า Homeless Paper คือหนังสือพิมพ์ที่คนกลุ่มหนึ่ง และองค์กรหรือมูลนิธิหนึ่งๆ จัดทำขึ้นเพื่อวางจำหน่ายตามกลไกการตลาดทุกประการ มีบรรณาธิการ มีกอง บก.ที่คอยสรรหาเรื่องราวต่างๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์มานำเสนอ ทั้งยังมีการหาสปอนเซอร์มาลงโฆษณาเพื่อต่อยอดการลงทุนหมุนเวียนต่อไปด้วย


 


เนื้อหาที่บรรจุอยู่ในสตรีทนิวส์เปเปอร์ไม่ได้นำเสนอภาพของคนจรจัดเพียงด้านเดียว แต่จะมีการนำเสนอข่าวสารของชุมชนนั้นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบันเทิงคดี หรือแม้แต่กิจกรรมที่จัดขึ้นในท้องถิ่นก็ตาม


 


จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการตีพิมพ์และหาตัวแทนจำหน่าย ซึ่งตัวแทนเหล่านั้นไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน แต่เป็นบรรดาคนจรจัดไร้บ้านที่เห็นกันอยู่ทั่วไปนั่นเอง


 


กว่าที่คนจรจัดแต่ละรายจะมาเป็นตัวแทนจำหน่ายสตรีทนิวส์เปเปอร์ได้ จะต้องมีการตรวจสอบวินัยความประพฤติกันก่อนด้วย ถ้าเห็นว่ารายไหนมีปัญหาเกินเยียวยา ผู้จัดทำส่วนใหญ่ก็จะไม่ออกตรารับรองให้


 


ส่วนต่างของผลกำไรที่ได้จากการขายสื่อทางเลือกเหล่านี้จะเป็นของคนจรจัดที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสื่อเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันมีรูปแบบเพิ่มเติมจากการเป็นหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว เพราะมีทั้งนิตยสารรายเดือน รายสัปดาห์ และมีเวบไซต์ให้อ่านทางอินเตอร์เนต จุดมุ่งหมายของสื่อประเภทหลังสุดไม่ได้อยู่ที่การเพิ่มยอดขาย แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ "แนวคิด" ให้คนในซีกโลกอื่นหยิบไปใช้ต่อตามสบาย (และอาจเป็นได้ว่าเวบไซต์คือหนทางหาแหล่งเงินทุนหรือผู้สนับสนุนออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็วอีกทางหนึ่ง)


 


หนังสือพิมพ์เพื่อคนจรจัดเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา และแพร่ต่อไปยังแคนาดา อังกฤษ แอฟริกาใต้ และบางประเทศในแถบยุโรปที่ประสบปัญหาคนจรจัดไม่แพ้กัน


 


น่าดีใจที่สื่อเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังอยู่มาได้ด้วยแรงสนับสนุนของคนในสังคมที่ซิ้อสื่อทางเลือกเหล่านี้มาอ่าน และแรงขับเคลื่อนสำคัญของสื่อเหล่านี้ขึ้นอยู่กับความความกระตือรือร้นของคนจรจัดด้วยอีกแรงหนึ่ง


 


อย่างน้อยที่สุด การเกิดขึ้นของสื่อทางเลือกประเภทนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ที่ดีว่าหากเรามีการแบ่งปันโอกาสให้แก่คนที่ไม่เคยมี หลายคนเลือกที่จะรับมันไว้และพยายามรักษาประคับประคองอย่างดี ซึ่งมันแตกต่างจากการเอาเงินช่วยเหลือไปหว่านโปรยให้กันเพียงอย่างเดียว…


 


แม้กระทั่งในเมืองไทยเอง ภาพของคนเร่ร่อนจรจัดที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ข้างถนนก็มีอยู่เกลื่อนกล่นไปหมด และคนจรจัดเหล่านี้มีวิถีที่ต่างจาก "ขบวนการขอทาน" ที่ทำงานกันอย่างเป็นระบบ และไม่เหมือนกันเสียทีเดียวกับบรรดาผู้ขายบริการที่ประจำอยู่ตามสถานที่บางแห่งอย่างค่อนข้างจะถาวร


 


ผู้คนที่เร่ร่อนจนถูกเรียกขานว่า "จรจัด" ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ๆ มีเหตุผลและแรงจูงใจที่ต่างกันอยู่มากกับผู้ประกอบการทั้ง 2 แบบที่พูดถึงข้างต้น เพราะจากผลสำรวจของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เพิ่งจะจัดเสวนาวิชาการเรื่องคนไร้บ้านไปหมาดๆ เมื่อ 3 ตุลาคม 2549 พบว่าสิ่งที่ผลักดันให้คนจำนวนมากออกมาอาศัยอยู่ข้างถนน มีเหตุผลจากการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐ ในด้านที่อยู่อาศัย มีปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินของคนอื่นและที่สาธารณะ และเป็นเหยื่อถูกล่อลวงจากนักต้มตู๋นที่อ้างตัวว่าเป็นนายหน้าขายบ้านราคาถูก หลอกกินเงินมัดจำ (ซึ่งบางคนเก็บหอมรอมริบมาเกือบทั้งชีวิต) และนายหน้าเหล่านั้นก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย


 


แน่นอนว่าในจำนวนคนจรจัดกว่าร้อยกว่าพันคนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป อาจมีเหตุผลอื่นๆ ที่ต่างออกไป และไม่น่าเห็นอกเห็นใจเท่ากับคนที่โดนหลอก แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าโครงสร้างที่ยังมีปัญหาของสังคมไทย เอื้อประโยชน์ให้คนจรจัดเหล่านี้ถูกเอาเปรียบซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่แพ้กัน


 


และแม้จะไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การกระทำของคนจรจัดบางกลุ่มเป็นการสร้างความเดือดร้อนอย่างเหลือทนให้กับคนอื่นจริงๆ แต่เหตุผลของการออกมาเร่ร่อนกลางถนนของคนจรจัดแต่ละคนล้วนแตกต่างกันออกไป และพวกเขาไม่ควรจะได้รับสายตาดูถูกเหยียดหยามเพราะความอคติแบบ "เหมารวม" จากใครเช่นเดียวกัน


 


ข้อมูลอ้างอิง:


+บทความเรื่อง You just bite your lips and smile จากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ The Guardian (http://www.guardian.co.uk/g2/story/0,,1887736,00.html)


+เวบไซต์นิตยสารรายสัปด์เพื่อคนไร้บ้านของอังกฤษ The Big Issue (http://www.bigissue.com)


+http://www.street-papers.com/


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net