Skip to main content
sharethis

21 ก.ย. 2549  -   ความเคลื่อนไหวของกระทรวงไอซีที หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกประกาศให้ทำหน้าที่ควบคุมยับยั้ง สกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสาร อันอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองนั้น


 


วันนี้ นายไกรสร พรสุธี ปลัดกระทรวงไอซีที ได้เรียกผู้แทนรัฐวิสาหกิจ ผู้ให้บริการเว็บไซต์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อมวลชนทั้งวิทยุและโทรทัศน์ เข้าร่วมประชุมเพื่อขอความร่วมมือเว็บมาสเตอร์ดูแลกลั่นกรองข้อความที่แสดงความเห็นที่สร้างความแตกแยกผ่านเว็บไซต์ในเบื้องต้น 12 วัน


 


ไอซีทีระบุว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการปิดห้องแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ แต่ขอให้ผู้ให้บริการช่วยกันตรวจสอบความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม แต่หากไม่มีขีดความสามารถดูแลทั่วถึงจะปิดไม่ให้แสดงความคิดเห็นไปก่อนก็ได้  โดยการพิจารณานั้นมีหลักการดังนี้


 


1. ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเหมือนเดิม เพียงแต่ผู้แสดงความคิดเห็นและเว็บมาสเตอร์ ต้องรับผิดชอบต่อการแสดงความเห็นที่สร้างความแตกแยกในสังคม  2. หลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันอันเป็นที่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย   3. ไม่แสดงความเห็นพาดพิงหรือ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยในสังคม


 


ส่วนของสถานีโทรทัศน์ ไอซีทีพบว่า บางรายการเปิดให้แสดงความคิดเห็นที่ไม่เหมาะสม คณะปฏิรูปฯ จึงมีคำสั่งให้งดเผยแพร่ข้อความเอสเอ็มเอส เอ็มเอ็มเอส ส่วนการจัดรายการของสถานีวิทยุกระจายเสียง ขอให้งดการโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็น เพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว


 


ด้านผู้ให้บริการข่าวสั้นผ่านโทรศัพท์มือถือ ขอให้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวกับกระทรวงไอซีทีก่อนเผยแพร่ข่าว โดยข้อความข่าวที่เป็นข่าวลืออันอาจจะสร้างความสับสนให้กับสังคมถือเป็นข้อความที่ไม่ควรนำเสนอ


 


อย่างไรก็ตาม ประเด็นคำสั่งห้ามเอสเอ็มเอสเข้ามาแสดงความคิดเห็นผ่านสถานีโทรทัศน์ ผู้แทนจากสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี และไอทีวี ได้แสดงความเห็นโต้แย้งว่า สถานีมีขีดความสามารถในการกลั่นกรองข้อความแสดงความคิดเห็นของประชาชนได้มากกว่าเว็บไซต์ต่างๆ ตรงกันข้ามคำสั่งให้งดเอสเอ็มเอสอาจจะส่งผลกระทบในภาพลบต่อคณะปฏิรูปฯได้


 


ทางด้านผู้แทนสถานีวิทยุ จส.100 ซึ่งต้องเปิดรับข้อมูลจราจรและอุบัติเหตุจากประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ได้โต้แย้งว่า การห้ามโทรศัพท์เข้ารายการจะส่งผลกระทบต่อรายการ ซึ่งนายไกรสรยอมรับจะนำความเห็นดังกล่าวไปเสนอต่อคณะปฏิรูปฯ เพื่อหาทางผ่อนคลายแนวทางปฏิบัติ


 


สำหรับคำถามที่ว่า จะสามารถเผยแพร่ข่าวของอดีตรัฐมนตรีได้หรือไม่นั้น นายไกรสรชี้แจงว่า ยังไม่มีการหารือในประเด็นดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะนำไปหารือให้เกิดความชัดเจนต่อไป


 


ในส่วนของคปค. ก็มีการเรียกประชุมสื่อทุกแขนงเช่นกัน โดยพล.ท.พลางกูร กล้าหาญ โฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ขอความร่วมมือให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างสร้างสรรค์ เป็นไปในทางเดียวกัน โดยใช้วิจารณญาณว่าข่าวไหนควรหรือไม่ควรนำเสนอเพื่อสันติสุขของบ้านเมือง อีกทั้งควรระมัดระวังในการใช้ภาษาด้วย


 


"วันนี้การใช้ภาษามีความหมายอย่างยิ่ง ทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องขอความร่วมมือให้เขียนชื่อให้เต็ม หากไม่เต็มรูปแบบความหมายจะเปลี่ยนไป และหากมีการใช้คำว่า ปฏิวัติ หรือรัฐประหารความหมายจะเปลี่ยนไปในทันที " พล.ท.พลางกูรกล่าว


 


นอกจากนี้ คปค.ยังขอความร่วมมือไม่อยากให้นำเสนอภาพเก่าสมัย รสช. เพราะกลัวว่าคนจะเข้าใจผิด และการพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 จะทำให้เกิดความเสียหาย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net