Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




 


Middle East Uncensored






โดย  อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


เมื่อพูดถึง "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" (ของบุช) จนถึงบัดนี้ มีอย่างน้อย 3 เรื่องที่ปัญญาชนซ้าย (และบางส่วนไม่ซ้าย) ทั้งเถียงกันเอง เถียงกับวอชิงตัน และยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ค่อยได้


 


3 เรื่องที่ว่าได้แก่ความลึกลับเกี่ยวกับเหตุการณ์ 9/11 อัล-ไคดา และโอซามา บิน ลาเดน


 


เถียงกับวอชิงตัน? อันเนื่องมาจากความจำเป็นของเอ็มไพร์อเมริกาที่จะต้องมี "ศัตรูที่ยิ่งใหญ่น่ากลัวสุดสยอง" ไว้หลอนประชาชนตัวเองเสมอ เรื่องเล่าอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวที่เกี่ยวกับบิน ลาเดน และอัล-ไคดา จึงมีแรงจูงใจทุกประการที่จะเว่อร์ การก่อการร้ายหลายๆ เรื่องเกี่ยวข้องกับอัล-ไคดาจริงหรือไม่? บิน ลาเดนมีบทบาทจริงๆ แค่ไหน? มีข้อโต้แย้งวอชิงตันเกิดขึ้นมากมาย ขณะที่บางคนถึงกับตั้งข้อสังเกตว่า บิน ลาเดนอาจจะตายไปแล้วด้วยซ้ำ


 


เถียงกันเอง? เพราะจุดกำเนิดของอัล-ไคดา มีกลิ่นไอและรอยนิ้วมือของซีไอเอเข้ามาเปรอะเปื้อนจนปิดไม่มิด และเพราะเหตุการณ์ 9/11 เป็น pretext ที่ดีในการเปิดฉากถล่มตะวันออกกลาง ทุกวันนี้ซ้ายจำนวนหนึ่งจึงมีอาการขี้สงสัยสูงเป็นพิเศษ (ย้อนไปในยุค 80 ช่วงที่มูจาฮดีนในอัฟกานิสถานทำสงครามต้านรัสเซีย บิน ลาเดนได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากซีไอเอ ผ่านทาง ISI - ข่าวกรองปากีสถาน) คำถามยอดฮิตที่ยังเถียงกันไม่เสร็จมีอยู่ว่า ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11 กันแน่? คณะผู้บริหารบุชปิดบังอะไรไว้? ซีไอเอ ไอเอสไอ และอัล-ไคดามีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งแค่ไหน อย่างไร? (บางกลุ่มเชื่อว่า ในช่วงสงครามบอลคานที่มูจาฮีดีนเข้าไปร่วมด้วย บิน ลาเดน และซาวาฮิรี ยังมีความสัมพันธ์กับซีไอเออยู่) ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ซ้ายขาใหญ่ทั้งหลายยังคงปฏิเสธแนวคิดแบบ conspiracy ที่มีจินตนาการฟุ้งเกินไปในเรื่องนี้


 


บนเงื่อนไขปัจจุบัน ข้อสงสัยบางข้อ อาจเสียเวลาเกินกว่าจะไปสำรวจ ขณะที่ข้อสงสัยบางข้อ การสำรวจข้อมูลจากหลายๆ ด้าน อาจช่วยลดความคลุมเครือและมายาคติบางอย่าง ทำให้เรารู้ทัน-เข้าใจ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ของบุชได้ดีขึ้น


 


รายงานชิ้นต่อไปนี้ เป็นชิ้นแรกสำหรับการสำรวจหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัล-ไคดา (และอาจเลยไปถึงกลุ่มที่ถูกติดป้าย "ผู้ก่อการร้าย" กลุ่มอื่นๆ) ซึ่งจะมีมานำเสนอเป็นระยะๆ จากหลายๆ มุม หลายๆ ฝ่าย เท่าที่จะมีข้อมูลน่าสนใจ โดยเราจะเริ่มกันที่ซีไอเอระดับหัวแถวที่ใกล้ชิดกับงานด้านต่อต้านการก่อการร้ายจำนวนหนึ่ง ซีไอเอคิดอะไร? และซีไอเอเห็นด้วยกับวอชิงตันมากน้อยแค่ไหน? อ่านเพื่อเก็บข้อมูล และ "ดูใจซีไอเอ" ในฐานะ "ตัวละครสำคัญ" ที่ไม่สามารถมองข้ามได้ ส่วน "ดีงามจริงลวง" จะอยู่ตรงไหน วันนี้ยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูปวางขาย แต่เราจะมีงานท้าทายวอชิงตันมาให้อ่านกันไปเรื่อยๆ


 


รายงานนี้ชื่อ The Phony War ตีพิมพ์ในนิตยสาร Rolling Stone ฉบับ 21 กันยายน 2006 (โพสต์ให้อ่านบนเว็บก่อน) เขียนโดย รอเบิร์ต ดรายฟัส (Robert Dreyfuss) นักวิเคราะห์/นักข่าวเชิง investigative ที่ปัญญาชนอเมริกันรู้จักกันดี - คนที่เราเคยแปลงานและเคยแนะนำไปแล้ว - ล่าสุด ดรายฟัสเขียนเกี่ยวกับมายาคติใน "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ออกมา 2 ชิ้นติดๆ กัน เพื่อให้ได้รสชาติและสารอาหารครบถ้วน เราจำเป็นจะต้องมีงาน (คันๆ) ของเขามาให้อ่านทั้ง 2 ชิ้นค่ะ o


 


0 0 0


 




 


สงคราม@@แหล และบทเรียนทั้งห้า


 


ประธานาธิบดีบุช ไม่เพียงแต่จะปั้นแต่งสงครามเฟคๆ - "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" - เพื่อมาเขย่าขวัญประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้สนับสนุนนโยบายของเขาเท่านั้น เขายังล้มเหลวที่จะรับมือกับภัยคุกคามที่แท้จริงของอเมริกาอีกด้วย


รอเบิร์ต ดรายฟัส


21 กันยายน 2006


 


 


ในเดือนสิงหาคม ก่อนหน้าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงการจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อการร้ายจำนวนสองโหลในลอนดอนด้วยซ้ำ ประธานาธิบดีบุช และบรรดาที่ปรึกษาของเขาต่างก็ออกมาฉวยโอกาสแสดงบทบาทในเรื่องนี้กันใหญ่ เป้าหมายของพวกเขาไม่เกี่ยวกับการหยุดยั้งผู้ก่อการร้าย ซึ่งล้วนแต่สิ้นฤทธิ์หมดลายอยู่ในกรงขังไปตั้งนานแล้ว แต่มันเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากภัยคุกคามดังกล่าว เพื่อที่จะทำให้ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" อันไร้จุดจบของพวกเขา ฟังดูสมเหตุสมผลและมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากขึ้น


 


รองประธานาธิบดีดิก เชนีย์ ผู้ซึ่งรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับการจับกุมครั้งนี้ ได้พูดเป็นนัยไปถึงภัยคุกคามจาก "พวกผู้ก่อการร้ายแบบอัล-ไคดา" วันรุ่งขึ้น ประธานาธิบดี ซึ่งกำลังยืนอยู่ที่สนามบินในวิสคอนซินได้กล่าวเตือนประชาชนว่า การจับกุมครั้งนี้เป็น "สัญญาณเตือนอันชัดเจนว่า ชาติของเรากำลังทำสงครามอยู่กับพวก แฟชิสต์อิสลาม (Islamic Fascists)" บ่ายวันเดียวกัน ปีเตอร์ เวห์เนอร์ (Peter Wehner) ผู้อำนวยการ Office of Strategic Initiatives หน่วยงานของทำเนียบขาว ได้ออกมาประกาศว่า อเมริกากำลังเผชิญหน้ากับอะไรสักอย่างที่ไม่น้อยไปกว่า "การต่อสู้ทางอารยธรรม" (a civilizational struggle) และศัตรูของอเมริกาก็คือ ผู้ซึ่งแสวงหาหนทาง "ก่อตั้งอาณาจักรอิสลามเคร่งลัทธิสุดขั้วที่แผ่ขยายตั้งแต่สเปนไปจนถึงอินโดนีเซีย"


 


แต่โชคดี เวห์เนอร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผู้นำของประเทศนี้รู้วิธีต่อสู้และรับมือกับการก่อการร้าย "จอร์จ ดับเบิลยู บุช มีความเข้าใจ - ที่แจ่มแจ้งลึกซึ้งกว่าคนทั่วไป - ถึงการต่อสู้อันยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัยของเรา"


 


ตรงกันข้าม ปัญหามีอยู่ว่า แทบทุกอย่างที่ประธานาธิบดีบุชเข้าใจเกี่ยวกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของเขา...มันคือความเข้าใจ "ผิด" 


 


ตามข้อมูลที่ได้จากอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนเกือบหนึ่งโหล ซึ่งล้วนเป็นแนวหน้าในหน่วยงานด้านต่อต้านการก่อการร้ายในสมัยของบุชทั้งสิ้น ประธานาธิบดีบุชไม่เพียงต่อสู้ผิดสงคราม แต่ยังต่อสู้ในแนวทางที่ทำให้ภัยคุกคามเลวร้ายมากขึ้นด้วย พวกเขาบอกว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายได้รับการจัดการที่ผิดพลาดมาตั้งแต่เริ่มต้น และไม่ใช่ผิดในส่วนเล็กน้อยอีกต่างหาก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากประธานาธิบดีบุช ไม่มีความเข้าใจธรรมชาติของศัตรูที่เขากำลังต่อสู้ด้วย


 


"ผมล่ะเกลียดจริงๆ คำว่า...สงครามต่อต้านการก่อการร้ายโลก (global war on terrorism)" จอห์น โอ เบรนแนน (John O. Brennan) กล่าว เขาเป็นอดีตซีไอเอผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงนี้มานาน เคยรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของ National Counterterrorism Center หน่วยงานแรกที่บุชตั้งขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์ข่าวกรองทั้งหมด และประสานงานแผนปฏิบัติการต่างๆ เพื่อต่อต้านการก่อการร้าย "คุณรู้มั้ย ผมล่ะเซ็งมากเลยกับคำพูดแบบนักเลงโต ประเภท 'we're gonna kill these guys'...อะไรพวกเนี้ย"


 


เบรนแนนไม่ใช่คนเดียว ในการสำรวจความคิดเห็นเมื่อฤดูร้อนนี้ ซึ่งทำกับผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศกว่า 100 คน รวมอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้อำนวยการซีไอเอ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเพนตากอน เมื่อถูกถามว่า ประธานาธิบดีบุชกำลัง "ชนะสงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ใช่หรือไม่  84 เปอร์เซนต์ตอบว่าไม่


 


5 ปีหลังเหตุการณ์โจมตี 11 กันยายน คณะผู้บริหารของบุชล้มเหลวที่จะทำความเข้าใจกับสถานการณ์จริงของการก่อการร้ายที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ถ้าต้องการให้อเมริกามีความสามารถป้องกันตัวเองจากการโจมตีในอนาคตได้ ประธานาธิบดีบุชจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ 5 บทเรียนต่อไปนี้


 


1. อัล-ไคดา ในฐานะภัยคุกคาม ถูกกำจัดทิ้งไปแล้ว


แม้ว่าคณะผู้บริหารจะยังคงใช้มุขอัล-ไคดามาเขย่าขวัญคนอเมริกันไม่หยุดหย่อน แต่ในความเป็นจริง อาจกล่าวได้ว่า องค์กรที่โจมตีอเมริกาเมื่อ 9/11 นี้ ได้ถูกลบทิ้งไปแล้ว แม้ว่า โอซามา บิน ลาเดน และชาวคณะอัล-ไคดาผู้มีประวัติโชกโชนกลุ่มหนึ่ง จะยังคงลอยนวลอยู่ก็ตาม แต่ขุมกำลังที่โจมตีนิวยอร์คและวอชิงตันก็ได้ถูกกวาดล้าง ถอนรากถอนโคนอย่างได้ผลไปแล้ว "โดยส่วนตัว ผมไม่เชื่อว่าอัล-ไคดา จะยังเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งอะไรอีกแล้ว" เวน ไวท์ (Wayne White) อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงในกระทรวงต่างประเทศกล่าว เขาเพิ่งลาออกจากการทำงานให้คณะผู้บริหารบุชเมื่อปีที่แล้ว


 


การกวาดล้างอัล-ไคดาอย่างเป็นระบบเริ่มต้นขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์หลังเหตุการณ์ 9/11 ตอนที่เข้าไปในอัฟกานิสถานตุลาคม 2001 ซีไอเอมีความเข้าใจเกี่ยวกับองค์กร ที่ตั้ง และความแข็งแกร่งของอัล-ไคดาอยู่พอประมาณ "เรามีความรู้พอสมควรว่ามีใครบ้างอยู่ที่นั่น" อดีตซีไอเอรายหนึ่งที่ไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อกล่าว "เราไม่ได้หลับอยู่นะ เรามีลิสต์รายชื่อคนของอัล-ไคดาว่าใครเข้าไปที่นั่นบ้าง รวมทั้งรายชื่อของคนที่ผ่านค่ายฝึกของอัล-ไคดาตลอดหลายปีที่ผ่านมาด้วย"


 


ข่าวกรองของซีไอเอตอนนั้น บ่งชี้ว่า มีอัล-ไคดาอยู่ประมาณ 5,000 ในอัฟกานิสถาน ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง สมาชิกอัล-ไคดาจำนวนมาก - บางทีอาจจะเป็นส่วนใหญ่เลยก็ได้ - ถูกฆ่าตายด้วยการโจมตีด้วยระเบิดไปแล้ว "เราประสบความสำเร็จอย่างมากจากการโจมตีทางอากาศ" อดีตเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของซีไอเอรายหนึ่งกล่าว "เราเข้าไปพร้อมกับ B-52 และ F-16 ที่ โทราโบรา (Tora Bora) เราทิ้งระเบิดขนาด 15,000 ปอนด์ใส่พวกมัน เราระเบิดมันซะกระจุยเป็นชิ้นๆ เลย งานนั้น ถ้าใครอยากจะนับศพ คงต้องใช้ Q-Tips (คอตตอนบัด) อย่างเดียว เอาไว้เขี่ยชิ้นส่วนเล็กๆ พวกนั้นมานับ"


 


ตามคำบอกเล่าของ แกรี เบิร์นท์เซน (Gary Berntsen) อดีตหัวหน้าสถานีซีไอเอ และเคยเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของซีไอเอมายาวนาน มีสมาชิกอัล-ไคดาเพียงไม่กี่ร้อยเท่านั้น ที่หลุดรอดออกมาจากอัฟกานิสถานปี 2001 ได้ "ก่อนปฏิบัติการโทราโบรา มีบางส่วนสามารถหลบออกมาได้ แบบ...ตรงนี้โหลหนึ่ง ตรงนั้นอีกโหลหนึ่ง" เบิร์นท์เซนกล่าว เขาเป็นคนนำทีมซีไอเอชุดที่ได้รับมอบหมายให้ตามล่าอัล-ไคดา "ที่โทราโบรา เราประเมินว่ามีประมาณหนึ่งพันที่ล่าถอยไป และจำนวนมากในนี้ถูกฆ่าตาย สุดท้าย พวกนี้แตกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกประมาณ 130 คนถูกจับในอัฟกานิสถาน อีกกลุ่มประมาณ 180 คนหนีไปได้"


 


สมาชิกอัล-ไคดาจำนวนน้อยที่หลบหนีไปได้ ซึ่งรวมทั้งบิน ลาเดน และผู้ช่วยของเขา อัยมาน อัล-ซาวาฮิรี (Ayman al-Zawahiri) ต่างก็ดิ้นรนหัวซุกหัวซุนเพื่อความปลอดภัยจนแทบจะเอาตัวไม่รอด "มันเป็นองค์กรที่แตกพ่ายไม่เป็นขบวนไปแล้ว" ไวท์ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองกล่าว


 


ในอัฟกานิสถาน ซีไอเอเหมือนได้รับรางวัลสมนาคุณครั้งใหญ่ด้านงานข่าวกรอง จากการยึดคอมพิวเตอร์ ไฟล์ และบันทึกต่างๆ ขององค์กร "จากจุดนั้น หลังจากที่เรายึดฮาร์ดไดร์ฟของอัล-ไคดาได้แล้ว เราได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล ความเข้าใจของเราเรื่องนี้ขยายออกไปไม่รู้กี่เท่า" หัวหน้าสถานีที่เกษียณแล้วกล่าว ข่าวกรองเหล่านั้นช่วยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่อต้านการก่อการร้ายเข้าถึงเป้าหมายและจัดการกับสมาชิกผู้ปฏิบัติการของอัล-ไคดาได้ทั่วโลก จะมียกเว้นอยู่บ้างก็ตรงที่ยังไม่สามารถถอนรากถอนโคนอัล-ไคดาส่วนที่กบดานในต่างประเทศได้ทั้งหมด


 


"เราฆ่าหรือจับกุมผู้ก่อการร้ายอย่างน้อยวันละ 1-2 คนทั่วโลก ตลอด 5 ปีมานี้" ซีไอเอซึ่งคลุกคลีอยู่กับเรื่องนี้และมีประสบการณ์ยาวนานรายหนึ่งกล่าว "นับรวมกันได้มากกว่า 4,000 คน" การปราบหนักอย่างต่อเนื่องในปี 2003 ของเจ้าหน้าที่ซาอุดิอาระเบีย อาจกล่าวได้ว่าสามารถกำจัดอัล-ไคดาที่นั่นไปแล้ว ขณะที่ผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งในอัลจีเรียที่ถูกกล่าวหาว่ามีโยงใยกับบิน ลาเดน ก็ถูกบดขยี้จนเละไปแล้วเช่นกัน


 


วันนี้ ถึงแม้จะมีรายงานคร่าวๆ ว่า สมาชิกอัล-ไคดาอาจเกี่ยวข้องกับแผนวางระเบิดสายการบินอเมริกาในลอนดอน (1) ก็ตาม เจ้าหน้าที่ด้านต่อต้านการก่อการร้ายไม่เชื่อว่าบิน ลาเดนจะมีความสามารถในการควบคุมบงการเซลผู้ก่อการร้าย (cell - หน่วยย่อยที่สุดที่สามารถปฏิบัติการก่อการร้ายได้อย่างอิสระ) ที่เปรียบเสมือนสาวกของเขาอีกต่อไปแล้ว ส่วนความสามารถในการวางแผน จัดตั้ง และจัดการเกี่ยวกับปฏิบัติการก่อการร้ายขนาดใหญ่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นไปไม่ได้แน่ๆ ตามคำบอกเล่าของ ไบรอัน เจงกินส์  (Brian Jenkins) ผู้เชี่ยวชาญซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้ายมากกว่า 30 ปีที่ RAND Corporation  (think tank เก่าแก่ที่นำเสนองานวิจัยด้านความมั่นคงเป็นหลัก มีความใกล้ชิดกับกองทัพและพ่อค้าสงครามเป็นพิเศษ) ปัจจุบันนี้ อัล-ไคดามีสมาชิกน้อยกว่า 500 คน ตั้งแต่ผู้นำระดับสูงยันนักรบระดับล่าง ที่ส่วนหัว "ได้แก่ - บิน ลาเดน และลูกน้องคนสนิทของเขา" ขณะที่ตัวองค์กรมีขนาดเล็กลงกว่าเดิมมาก "มีกลุ่มที่เป็นแกนจริงๆ อยู่ไม่กี่สิบ หรืออาจจะเพียงกลุ่มหนึ่ง ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการจัดการองค์กรจริงๆ" เจงกินส์กล่าว


 


2. สิ่งที่เราไม่รู้เกี่ยวกับอัล-ไคดา อาจทำร้ายเราได้อยู่


ถ้าประธานาธิบดีมีเป้าหมายการกวาดล้างอยู่ที่บิน ลาเดนเท่านั้น บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงกล่าว เขาคงสามารถประกาศชัยชนะได้โดยไม่ยากเย็นไปแล้ว แต่ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประธานาธิบดีบุชกลับเปลี่ยนเป้าหมายจากการตามล่าอัล-ไคดาในอัฟกานิสถาน มาเป็นการจองเวรกับซัดดัม ฮุสเซนแทน - ซึ่งนับเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบมหาศาลตามมาต่อความมั่นคงของอเมริกา "อิรัก ทำให้เรา...หลังหัก...ไปเลย ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ไมเคิล ชูเออร์ (Michael Scheuer ) ผู้นำซีไอเอหน่วยที่ดูแลเรื่องอัล-ไคดาโดยเฉพาะกล่าว เขาเป็นหัวหน้ายูนิตนั้นอยู่ถึงปี 2004


 


บิน ลาเดน ซึ่งเชื่อกันว่ายังคงหลบซ่อนอยู่ในปากีสถาน อาจจะไม่เหลือความสามารถในการควบคุมแจกจ่ายงานการก่อการร้ายอีกต่อไปแล้ว แต่การมีตัวตนอยู่ของเขา ทำให้เขากลายเป็นสิ่งที่สามารถปลุกเร้ารวบรวมพลังสนับสนุนให้กับขบวนการก่อการร้ายได้ "เขาไม่ได้เป็นอะไรที่เกินกว่า...สัญญลักษณ์หรือแบบฉบับขององค์กร...มากนัก" ไวท์กล่าว "เขาเหมือนคนที่ถือธงนำทัพ ชูธงขึ้นไป และพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากที่สุด" ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตลอด 5 ปี บิน ลาเดน และซาวาฮิรีได้ส่งเทปไปเผยแพร่สู่สาธารณะ - โดยปกติจะผ่านสถานีโทรทัศน์อัล-จาซีรา - ประมาณ 40 ครั้งแล้ว ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าข้อความที่พวกเขาสื่อสารจะสัมพันธ์โดยตรงกับปฏิบัติการก่อการร้ายครั้งไหนเป็นการเฉพาะ แต่ความกล้าท้าทายกึ่งเย้ยเยาะลูบคมของพวกเขาสามารถกระตุ้นให้คนที่อยากเป็นผู้ก่อการร้ายรู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาได้


 


"พวกมันได้รับแรงบันดาลใจจากไอ้ตัวหัวหน้าใหญ่ (the great fucking leader) ของมัน" อดีตหัวหน้าสถานีซีไอเอรายหนึ่งซึ่งมีประสบการณ์โชกโชนในตะวันออกกลางกล่าว "เราจำเป็นจะต้องได้หัว - พ่อมัน - มาสังเวยคมหอก"


 


โชคไม่ดี ที่ตอนนี้บิน ลาเดน และซาวาฮิรีอยู่ในปากีสถาน การจะไปไล่ล่าค้นหาตัวพวกเขานับเป็นภารกิจที่โหดหินอย่างมาก "ด้วยลักษณะที่กระจัดกระจายไม่มีศูนย์กลางขององค์กรอัล-ไคดา มันยากมากที่จะควานหาสะเปะสะปะไปทั่ว" จอห์น แมคแลฟลิน (John McLaughlin) อดีตรักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการซีไอเอซึ่งออกจากเอเจนซีตั้งแต่ปี 2004 พูด


 


ในส่วนของแกนนำที่เหลืออยู่ของอัล-ไคดา ไม่ว่าจะมีหน้าตายังไงก็ตาม มันไปพ้นโครงข่ายหรือระบบติดตามตัวของซีไอเอแล้ว พวกเขาสามารถหลบเลี่ยงระบบสื่อสารอิเลคโทรนิกส์ทุกชนิด ซีไอเอสันนิษฐานว่า พวกเขาน่าจะติดต่อกันโดยใช้คนเดินสารเท่านั้น "พวกเขาระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยสูงมาก และสภาพภูมิประเทศก็ดูจะเป็นใจให้พวกนั้นอีกด้วย" พอล พิลลาร์ (Paul Pillar) อธิบาย เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของซีไอเอที่เกษียณแล้ว เคยรับตำแหน่งหัวหน้านักวิเคราะห์ตะวันออกกลางในยุคของบุช "พื้นที่ที่เราเชื่อกันว่าเขาอยู่ที่นั่น มันเป็นดินแดนที่หลุดโลกพอใช้ได้ทีเดียว"


 


ด้วยเหตุนี้ ซีไอเอจึงแทบไม่รู้อะไรเลย เกี่ยวกับว่าบิน ลาเดนและกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ที่เลียนแบบหรือยึดเขาเป็นแม่แบบมีการติดต่อกันอย่างไร "เราไม่รู้อะไรเลยเรื่องผู้นำ วิธีการนำ วิธีที่พวกนั้นสื่อสารกัน" เจ้าหน้าที่ซีไอเอมากประสบการณ์และเพิ่งเกษียณได้ไม่นานรายหนึ่งกล่าว "เราไม่รู้ว่าพวกมันอยู่ที่ไหน เราก็เลยไม่รู้ว่าพวกมันเป็นใคร เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ไอ้วิดีโอเทปเฮงซวยพวกนั้น มันไปถึงอัล-จาซีราได้ยังไง"


 


3. ภัยคุกคามกลายเป็นเชื้อไวรัส


ด้วยความล้มเหลวที่จะ "รมควันบิน ลาเดนให้วิ่งแจ้นออกมาจากถ้ำ" ตามที่สัญญาไว้ เท่ากับประธานาธิบดีบุชได้สร้างความหวังให้เซลผู้ก่อการร้ายเจนเนอเรชันใหม่เติบโตขึ้นมาแทนที่ "เราปล่อยให้พวกเขารอดไปได้" หัวหน้าสถานีซีไอเอที่เกษียณแล้วกล่าว "เราเข้าไปจัดการกับองค์กรที่ค่อนข้างเป็นกลุ่มก้อนหรือรวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง แล้วเราก็เปลี่ยนมันให้กลายเป็นเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดกระจัดกระจายไปทั่ว ก่อนอัฟกานิสถาน เราเผชิญหน้ากับอะไรสักอย่างที่คล้ายๆ ภัยคุกคามที่มีความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่เรากำลังต่อสู้ด้วยกลายเป็นปีศาจที่มีหลายร่างไปแล้ว"


 


ด้วยลักษณะเหมือนปีศาจนี่แหละ รูปแบบของการก่อการร้ายยุค "หลังอัล-ไคดา" (Post-Al Qaeda) จึงสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ ตลอดจนอดีตเจ้าหน้าที่ของคณะผู้บริหารบุช "สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือการพัฒนาเติบโตขององค์กรก่อการร้ายท้องถิ่น" ไวท์กล่าว เปรียบเทียบกับอัล-ไคดาในปี 2001 ผู้ก่อการร้ายเจนเนอเรชันใหม่หรือรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกมือสมัครเล่น มีความสามารถน้อยลงและมีความน่าจะเป็นน้อยลงที่จะปฏิบัติการรุนแรงในระดับที่น่าตื่นตาตื่นใจได้ แม้ว่าพวกเขาจะสามารถสร้างความบาดเจ็บเสียหายแบบมีนัยสำคัญได้ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตาม เจ้าหน้าที่ด้านต่อต้านการก่อการร้ายกล่าวว่า พวกเขาเหมือนเชื้อไวรัสเกรดต่ำมากกว่า การติดเชื้อพวกนี้จะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิตก็ต่อเมื่อเราปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจ


 


สิ่งที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่นี้ ไม่ว่าจะเป็นเซลที่ปฏิบัติการในแมดริดหรือลอนดอนหลัง 9/11 ก็ตาม อาจจะมีลักษณะไม่เป็นระบบเท่ารุ่นเก่าอัล-ไคดา แต่พวกเขากลับเป็นสิ่งที่ยากกว่าในการจะหาทางป้องกัน เมื่ออิสลามมิสต์สุดขั้วผู้มีความโกรธแค้นในจิตใจจำนวนเพียงแค่หยิบมือหนึ่ง มาพบปะกันลับๆ ตัดสินใจใช้ความรุนแรงเพื่อแก้แค้นต่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าผิด แล้วก็มีการวางแผนร่วมกันตามมา ทั้งตำรวจและฝ่ายข่าวกรองต่างก็ไม่มีบันทึกประวัติองค์กรเหล่านี้มาก่อนให้สามารถติดตามได้ "มันหมายถึงว่าคนที่ก่อการอาจเป็นใครก็ได้ ไม่ใช่คนที่เรารู้จัก" วินซ์ แคนนิสตราโร (Vince Cannistraro) กล่าว เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและวิเคราะห์ที่ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายของซีไอเอ "พวกเขาไม่มีรายชื่ออยู่ในลิสต์ไหนทั้งสิ้น และคุณจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพวกเขาด้วย ต่อให้คุณจับตัวซาวาฮิรีมาได้ก็ตาม"


 


เซลเลียนแบบ (Copycat cell) เหล่านี้ คือพวกอิสลามมิสต์สุดขั้วที่พกเอาความขมขื่นและโกรธแค้นเก็บไว้ ผู้ซึ่งได้ยินบุชพูดเกี่ยวกับสงคราม "ครูเสด" ได้เห็นกองทัพอเมริกาเข้ายึดครองอิรัก และพวกเขาต้องการแก้แค้น แต่ด้วยเหตุที่พวกเขาเหล่านี้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมต่างๆ จากความรู้สึกข้างใน จากการโต้ตอบตามธรรมชาติ ปราศจากการเชื่อมโยงเป็นทางการกับอัล-ไคดา ซีไอเอจึงได้แต่คาดเดาเอาเองว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนได้บ้าง "เราไม่ค่อยมีแผนที่ที่ดีมากนัก ที่จะบอกได้ว่าเซลเหล่านี้ยู่ที่ไหน" เจงกินส์กล่าว "เรารู้เฉพาะจุดที่มีการโจมตีเกิดขึ้นแล้ว" เมื่อนำข้อมูลที่ได้จากการโจมตี มาพิจารณาร่วมกับข่าวกรองที่มี นักวิเคราะห์เชื่อว่า เซลต่างๆ กระจุกตัวอยู่ในเมืองไม่กี่เมืองในยุโรป จากลอนดอนและแมดริดถึงมัสยิดของพวกสุดโต่งในเยอรมันและสวิสเซอร์แลนด์ ดูเหมือนว่าจะมีเซลก่อการร้ายจำนวนหนึ่งที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในปากีสถาน รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องในแคชเมียร์ ดินแดนที่เป็นปัญหาระหว่างปากีสถานและอินเดีย


 


4. ต่อสู้กับการก่อการร้ายเป็นงานของตำรวจกับสายลับ ไม่ใช่กองทัพ


สำหรับประธานาธิบดีบุช วิธีที่จะหยุดการก่อการร้ายก็คือการก่อสงคราม แต่เซลผู้ก่อการร้ายที่แยกตัวโดดๆ ลอบวางแผนกันที่ชานเมืองลอนดอน ประสานงานกันทางเว็บไซต์จิฮัดดิสต์ เหล่านี้ - เป็นผู้ก่อการร้ายที่ไม่สามารถปราบให้ชนะได้ด้วยกองทัพ เพียงแต่เราอาจจะสามารถหยุดยั้งพวกเขาได้ ก็ด้วยองค์ประกอบไม่กี่อย่าง ได้แก่ ข่าวกรองดี งานตำรวจธรรมดาๆ อย่างที่เคยทำกันมา และความอดทน ก็เท่านั้น จริงๆ แล้ว ความสำเร็จของตำรวจอังกฤษและสก็อตแลนด์ ยาร์ด ในการหยุดยั้งภัยคุกคามเที่ยวล่าสุดในลอนดอนนั่นแหละ คือตัวอย่างที่ถูกต้องตามตำรา


 


แต่ประธานาธิบดีดูจะไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่า เขาได้เรียนรู้บทเรียนจากลอนดอน "บางคนบอกว่านี่เป็นเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายธรรมดา" บุชพูดหลังจากเรื่องราวพล็อตลอนดอนถูกเปิดเผย "เปล่าเลย คนพวกนี้มีแรงจูงใจทางการเมือง...พวกเขามีโลกทัศน์ที่ล้าหลังและย้อนยุคต่างหาก" เพื่อที่จะต่อสู้กับโลกทัศน์เหล่านั้น บุชจึงพึ่งพาอำนาจทางการทหารแทบทั้งหมด ตั้งแต่ปี 2001 คณะผู้บริหารบุชได้ใช้จ่ายไปแล้ว 430,000 ล้านดอลลาร์ กับสิ่งที่เขาเรียกว่า "สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในระดับโลก" และในทุกๆ หนึ่งดอลลาร์ของงบที่ว่า เกือบจะ 90 เซนต์ไหลไปสู่กระทรวงกลาโหม


 


จอห์น เบรนแนน อดีตผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการก่อการร้าย กล่าวว่า กองทัพไม่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะต่อสู้กับโมเดลขององค์กรใหม่ซึ่งโผล่ขึ้นมาแทนที่อัล-ไคดา "มันไม่ใช่ องค์กรก่อการร้ายสากล (Terrorist International) ที่เรากำลังต่อสู้ด้วย" เขากล่าว "แต่กระทรวงกลาโหมกับฝ่ายอื่นๆ ต่างก็ยืนยันแข็งขันที่จะเรียกมันว่าสงคราม เพราะมันเปิดช่องให้เพนตากอนเอามิติของการใช้กำลังทหารเข้าไปยัดใส่ในความขัดแย้งได้ มันสวมกันพอดีกับยุทธศาสตร์โลกของพวกเขา"


 


เช่นเดียวกัน ลอว์เรนซ์  วิลเกอร์ซัน (Lawrence Wilkerson) พันเอกนาวิกโยธินที่เกษียณแล้ว และเคยเป็นผู้ช่วยของคอลิน พาวล์ ที่กระทรวงต่างประเทศ ก็มองเห็นความงี่เง่าไร้สาระของเรื่องนี้เช่นกัน สำหรับความคิดของบุชที่ว่า ศัตรูของเราเป็นกองกำลังสากล มาจากการรวมตัวของพวก "แฟชิสต์อิสลาม"  ซึ่งเราสามารถเอาชนะได้ด้วยกำลังทางทหารเหมือนที่นาซีถูกปราบมาแล้ว เขาให้ความเห็นว่า "ผมไม่คิดว่าจะมีใครสักคนในคณะผู้บริหารหรอก นอกจากรองประธานาธิบดีดิก เชนีย์ ที่เชื่อในเรื่องเลอะเทอะเหลวไหลอย่าง Islamofascism" 


 


ยิ่งกว่านั้น วิลเกอร์ซันยังกล่าวเสริมว่า เพื่อที่จะทำให้เรื่องทั้งหมดดูแย่ขึ้นไปอีก เพนตากอนมักจะซุ่มทำอะไรเด็ดๆ ฝ่ายเดียวในกิจกรรมต่อต้านการก่อการร้าย โดยไม่ยอมแจ้งให้หน่วยงานอื่นทราบ บ่อยครั้งที่หน่วยรบพิเศษของเพนตากอนมักจะไปโผล่ที่โน่นที่นี่ทั่วโลก โดยไม่ได้รับเชิญ แม้แต่กระทรวงต่างประเทศเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนพวกนั้นถูกส่งไปที่นั่น "พวกนักการทูตจะโทรมาหาเราและพูดว่า...ทำไมอเมริกันหกฟุตหกนิ้วพวกนี้ถึงมาเดินอยู่ที่นี่ได้?" วิลเกอร์ซันย้อนอดีตให้ฟัง "แล้วคอลิน พาวล์ก็จะโทรไปหาดอน รัมสเฟลด์ และพูดว่า...เฮ้ย ดอน คุณส่ง Delta Force ไปที่นั่น-หรือ-ที่นั่น ทำบ้าอะไร?"


 


การมุ่งเน้นไปที่กองทัพ ยังส่งผลถึงประสิทธิภาพที่ย่อหย่อนด้านการข่าวตามมาอีก จริงๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงจัดระบบหน่วยงานข่าวกรองทั้งหลายใหม่ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ภายใต้ผู้บริหารชุดนี้ ได้ทำให้การทำงานของซีไอเออ่อนแอลง โครงข่ายและระเบียบขั้นตอนการบริหารใหม่ที่มีรายละเอียดขัดแย้งและเหลื่อมทับกัน ทำให้การหาข่าวและการวิเคราะห์เกิดความยุ่งยากซับซ้อนตามมา "ตอนนี้เรามีองค์กรที่ชวนให้สับสนมากกว่าเดิม" พิลลาร์กล่าว "มันเป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะตอบคำถามว่า...ใครรับผิดชอบเรื่องนี้?"


 


กว่าสองปีที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ที่ซีไอเอถูกบังคับให้ทำงานภายใต้คำบัญชาของเพนตากอน (หมายถึงรัมสเฟลด์และพรรคพวก ไม่ใช่ทหารอาชีพ - ผู้แปล) (2) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานจำนวนไม่น้อยได้ถูกไล่ออกหรือไม่ก็ลาออกไปด้วยความสะอิดสะเอียน ยิ่งกว่านั้น โรลลิงสโตนยังได้รู้มาว่า กระทรวงกลาโหมได้ปิดกั้นความพยายามของสำนักงานซีไอเอที่จะทำรายงานการวิเคราะห์ชนิดที่เรียกกันว่า  National Intelligence Estimate (NIE) ซึ่งจะเป็นบทวิเคราะห์ชนิด "ลับสุดยอด" ฉบับทางการ ที่วิเคราะห์ภัยคุกคามจากอัล-ไคดา และอิสลามมิสต์ที่นิยมความรุนแรงกลุ่มอื่นๆ - 5 ปีหลังการโจมตี 11 กันยายน คณะผู้บริหารบุชยังไม่มีรายงานวิเคราะห์ที่มีเอกภาพและทันเหตุการณ์ เพื่อบอกให้พวกเขารู้ว่าศัตรูคือใคร และวิธีการต่อสู้ที่ดีที่สุดคือวิธีไหน


 


"ตอนที่ผมออกมาจากซีไอเอในเดือนพฤศจิกายน 2004 พวกนั้นยังไม่ได้ทำ NIE สักฉบับเกี่ยวกับอัล-ไคดา" ชูเออร์พูด เขาเป็นผู้นำหน่วยอัล-ไคดาในซีไอเออยู่เกือบหนึ่งทศวรรษ "จริงๆ แล้ว มันไม่เคยมี NIE ในเรื่องนี้เลยต่างหาก ตั้งแต่ยุค 90 มาแล้ว" ปัจจุบันขั้นตอนที่จะทำ NIE ยังติดหล่ม ไม่คืบหน้า อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานข่าวกรองด้วยกัน แรงต้านหลักๆ และหนักๆ เลยมาจากเพนตากอน ซึ่งกลัวว่ารายงานนี้จะนำไปสู่ข้อสรุปที่ "ลดทอน" อำนาจและบทบาทนำของมันในการต่อต้านการก่อการร้าย ด้วยเหตุนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นว่า คณะผู้บริหารบุชจึงยังไม่รู้อะไรจริงสักอย่าง เกี่ยวกับธรรมชาติของศัตรูที่เขากำลังเผชิญหน้าอยู่ และในเมื่อไม่รู้ ก็เป็นอันว่ายากที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์อะไรมารับมือกับศัตรูของเขาอย่างมีประสิทธิภาพได้


 


5. การก่อการร้ายไม่ใช่สิ่งที่สามารถเอาชนะได้ - ไม่ว่าวันนี้หรือวันไหน


การก่อการร้ายไม่ใช่ศัตรู แต่เป็น "วิธีการ" เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเอาชนะได้ - ทำได้แค่คอยจำกัดควบคุมเอาไว้ หรือลดจำนวนลงเท่านั้น และต่อให้วันนี้ อเมริกาสามารถกวาดล้างเซลก่อการร้ายทุกเซลให้สิ้นซากไปจากโลกนี้ได้ด้วยซ้ำ พรุ่งนี้การก่อการร้ายก็จะกลับมาใหม่ เพราะความทุกข์ใจ-คับข้องใจใหม่ๆ เสียงเรียกร้องให้แก้แค้นใหม่ๆ จะยังคงผลิตผู้ก่อการร้ายหน้าใหม่ ขึ้นมาเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้น ยังคงมีกลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่ใช้วิธีการก่อการร้ายในความขัดแย้งทั่วโลกเกิดขึ้นเสมอ จากฮามาสในปาเลสไตน์ เฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน ไปจนถึงกลุ่มกบฏหรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ในแคชเมียร์ เชชเนีย ศรีลังกา สเปน โคลัมเบีย ฟิลิปปินส์ และคองโก


 


ในระยะสั้น ตำรวจและสายลับจะยังคงทำหน้าที่ให้ดีที่สุดได้ด้วยการเฝ้าระวัง จับตา ภัยคุกคามการก่อการร้ายขณะที่มันก่อตัวขึ้นมา และพวกเขาก็อาจประสบความสำเร็จในการยับยั้งมันได้บ้างในบางครั้ง อย่างไรก็ตาม พวกเขาต่างก็ยอมรับว่า การขัดขวางพล็อตก่อการร้ายก่อนที่มันจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยโชคช่วยอย่างแรง เอาเข้าจริงแล้ว ลงท้าย คนที่คิดจะก่อการร้ายย่อมเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบเสมอ "การจับได้ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น เป็นเรื่องยาก" พิลลาร์ อดีตหัวหน้านักวิเคราะห์ตะวันออกกลางกล่าว "มันเป็นเรื่องน่ายินดีแน่ๆ น่ายินดีเป็นที่สุด แต่ว่าเกิดขึ้นยาก  แล้วอย่าได้คิดเชียวนะว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาการข่าวให้ดีขึ้น แล้วจะต้องนำไปสู่การป้องกันแบบนั้นได้มากขึ้น"


 


แทนที่จะทำสงคราม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งที่อเมริกาควรจะต้องทำ คือการทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานข่าวกรองของประเทศอื่นๆ ต่างหาก เพราะหน่วยข่าวกรองของประเทศเหล่านั้น ย่อมรู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ดีและอเมริกาก็จะสามารถจัดการกับผู้ก่อการร้ายเป็นรายๆ ไป "ความก้าวหน้าในที่นี้ วัดเอาจากการกำจัดผู้ก่อการร้ายลงทีละคน ทีละเซล" พิลลาร์กล่าวว่า "เรายังจะถูกโจมตี แต่มันจะมีโอกาสที่ว่า ความถี่ในการโจมตีจะลดลง และขนาดของความเสียหายจะน้อยลง" ผลลัพธ์เหล่านี้...ฟังดูแล้วอาจจะยังไม่น่าพอใจเท่าไหร่ นั่นก็เพราะวิธีการนี้ ให้นิยามคำว่า "ชัยชนะ" ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายไว้ว่า : สิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ก็คือ การทำให้ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายลดลงเป็นแค่...การสร้างความรำคาญในขั้นน่าเกลียดนิดหน่อย


 


ในระยะยาวกว่านั้น สำหรับแต่ละวันที่ผ่านไป นโยบายที่เน้นการใช้กำลังแก้ปัญหาของอเมริกาในการเกี่ยวข้องกับอิรัก อัฟกานิสถาน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กำลังผลิตผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยนโยบายนี้เอง ประธานาธิบดีบุชกำลังแพร่เชื้อไวรัส ไม่ใช่จำกัดหรือกักกันมันเอาไว้ สงครามในอิรักได้ radicalize มุสลิมทั่วโลก หรือผลักดันให้มุสลิมทั่วโลกไปในแนวทางสุดขั้วมากขึ้น ไม่ต้องการประนีประนอมมากขึ้น และมันทำให้พวกเขาตีความการบุกรุกอิรักว่าเป็นการโจมตีอิสลามไปแล้ว


 


"ประธานาธิบดีบอกว่า อิรักคือแนวรบที่เป็นหัวใจสำคัญในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ที่อิรักกลายเป็นอย่างนั้น เพราะเราทำให้มันเป็นต่างหาก" วิลเกอร์ซันพูด "โอซามา บิน ลาเดน อาจจะกำลังหัวเราะชอบใจอยู่ในถ้ำก็ได้ เราอุตส่าห์เอาสิ่งเหล่านี้ใส่จานเปลเสิร์ฟให้เขาอย่างดี พร้อมมีดและส้อม"


 


และสุดท้าย ก็มาถึงบทเรียนสำคัญที่สุดกว่าทุกๆ บทเรียน ที่เราจำเป็นจะต้องเรียนรู้จากแคมเปญต่อต้านการก่อการร้ายที่กล่าวมาทั้งหมด นั่นก็คือ ความโกรธแค้นเกลียดชังอย่างที่ประธานาธิบดีบุชได้สุมไฟและโหมกระพือมาตลอด ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการทำงานของตำรวจ สายลับ หรือกองทัพ วิธีเดียวที่จะแก้ได้ก็คือ การมีจุดยืนที่ประสานสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก จุดยืนที่มุ่งสร้างมิตรสหาย มิตรภาพ ไม่ใช่ส่งเสริมความเกลียดชัง


 


"เราต้องการนโยบายต่างประเทศที่มันดูดีมีสติกว่านี้" เบรนแนน อดีตหัวหน้าศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายกล่าว "และนั่นหมายถึงว่า มันจะต้องใช้ช่องทางทางการทูตเข้ามาแก้ปัญหา - จะด้วยวิธีการอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่คิดแต่จะฆ่าคน" o


 


 


…………………………………………………………………….


อธิบายท้าย


(1) เหตุการณ์พล็อตบอมบ์สายการบินอังกฤษ-อเมริกา เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (แค่พล็อต ยังไม่มีการวางบอมบ์ใดๆ) จากคำชี้แจงอย่างเป็นทางการของเจ้าหน้าที่อังกฤษ นับเป็นเรื่องที่มีเงื่อนงำน่าสงสัยหลายอย่าง อาทิ ผู้ถูกกล่าวหาและถูกจับกุมทั้งหลาย ยังไม่มีใครทำระเบิด ไม่มีใครซื้อตั๋วเครื่องบิน และส่วนใหญ่ยังไม่มีพาสปอร์ตด้วยซ้ำ รวมทั้งข่าวกรองที่ได้จากทางปากีสถานก็น่าเชื่อว่าจะมาจากการทรมาน (เงื่อนงำเยอะเกินบรรยายในที่นี้) โดยสรุป จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงใดๆ กับอัล-ไคดา และสำหรับเหตุการณ์นี้ ในซีกปัญญาชนซ้าย ส่วนใหญ่สรุปตรงกันว่าเป็น "ของเก๊" ไม่ได้มีอะไรร้ายแรงตามคำคุย หรือพูดได้ว่า เป็นโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างกระแสมากกว่า


 


ต่อไปนี้เป็นข้อมูลแถมจาก Craig Murray (อดีตนักการทูตอังกฤษที่กลายเป็นแอคทิวิสต์ด้านสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน) : ในส่วนของอังกฤษ ตั้งแต่ 9/11 เป็นต้นมา ภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย ชาวมุสลิมในอังกฤษกว่าพันคนถูกจับกุมไปแล้ว ในจำนวนนี้ มีไม่ถึง 12% ที่ถูกตั้งข้อหา และประมาณ 2% เท่านั้นที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด และในกรณีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด ส่วนใหญ่ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย แต่เป็นความผิดเล็กๆ น้อยๆ - เพราะงั้นเวลาดูขาว ตำรวจอังกฤษแห่จับชาวมุสลิม กรุณาอย่าตื่นตูมตามสื่อหรือตื่นเต้นเกินราคาจริง จะเสียฟอร์มทีหลังได้ง่ายๆ


 


(2) ถ้ามีโอกาสเหมาะๆ ข้างหน้า เราอาจจะนำประเด็น "การเมืองเรื่องข่าวกรองอเมริกา" มาพูดคุยในพื้นที่นี้ค่ะ โดยเฉพาะในส่วนของเชนีย์/รัมสเฟลด์/เพนตากอน โดยจะว่ากันตั้งแต่ยุคบุช 1 และสงครามอิรักเป็นต้นมา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net