Skip to main content
sharethis


รายงานโดย ศูนย์ข่าวประชาสังคม อุบลฯ

 


 


ทีมวิจัยมหิดล ร่วมหารือ ปราชญ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เมืองดอกบัวหารือทิศทางการทำวิจัยแผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดชายแดนไทย - กัมพูชา


 


วันที่ 7 กันยายน 2549 เวลา 09.00 น. นายธานี ปลูกเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในการประชุมหารือโครงการ แผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดชายแดนไทย - กัมพูชา : เครื่องมือในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม ณ ห้องบัวทิพย์ชั้น 4 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี พร้อมด้วยปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการวัฒนธรรมเข้าร่วมการประชุมจำนวนมาก


 


ทั้งนี้เพื่อร่วมหารือในขอบเขตงานวิจัยของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชมบท มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.เสาวภา พรศิริพงษ์ และคณะ เพื่อดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง แผนที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดชายแดนไทย - กัมพูชา : เครื่องมือในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมโดยชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็น 1 ใน 7 จังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชา ทั้งนี้เพื่อใช้แผนที่วัฒนธรรมเป็นเครื่องที่ในการพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจในชุมชน และด้านสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์


 


โดย รศ.เสาวภา พรศิริพงษ์ หัวหน้าโครงการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า สำหรับการวิจัยครั้งนี้นับเป็นการรวบรวมทุกอย่างที่น่าสนใจในพื้นที่เพื่อจดบันทึกไว้ให้ลูกหลานในอนาคตได้ศึกษาเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์และภาษา สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา อาหาร ยารักษาโรค สินค้าโอทอป บุคคลสำคัญ ตำนานและนิทานพื้นบ้าน แหล่งเรียนรู้และประเด็นเกี่ยวกับชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งมี 7 จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี ตราด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี


 


โดยทางทีมงานได้มีข้อมูลคร่าวเบื้องต้นแล้ว แต่ยังขาดข้อมูลอีกหลายส่วน จึงต้องมาขอคำชี้แนะจากปราชญ์และผู้รู้ในจังหวัดดังกล่าวรวมถึงจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีและชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นทีมวิจัยยังต้องลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาจริง และในวันที่ 6 กันยายน 2549 ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ลงสำรวจพื้นที่ อ. น้ำยืน และบริเวณสามเหลี่ยมมรกต ทำให้ได้ข้อมูลหลายอย่าง ทั้งด้าน ภาษา วัฒนธรรมในท้องถิ่น


 


สำหรับโครงการวิจัยครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยปีแรกจะมุ่งเน้นข้อมูลภาพรวม ส่วนปีที่ 2 จะคัดเลือกพื้นที่เพื่อลงสำรวจข้อมูลและปีที่ 3 ประเด็นชายแดน ซึ่งประเด็นชายแดนนั้นจะศึกษาถึงปัญหาที่พบในบริเวณชายแดนในบริเวณพื้นที่ 7 จังหวัดที่ทำวิจัย แต่จะไม่มุ่งไปที่ประเด็นขัดแย้งแต่อย่างใดทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ


 


อย่างไรก็ตาม รศ.เสาวภา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่จะได้รับประโยชน์ในงานครั้งนี้มากที่สุดก็คือคนในท้องถิ่น รวมถึงผู้คนทั่วไปที่สนใจ นอกจากนั้นยังเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ผู้คนทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจต่อไป


 


ด้านนายบำเพ็ญ ณ อุบล ซึ่งนับว่าเป็นปราชญ์คนหนึ่งของเมืองอุบลฯ กล่าวว่า การที่จะศึกษาข้อมูลของท้องถิ่นให้ได้อย่างชัดเจนนั้น ทีมวิจัยจะต้องลงไปศึกษาอย่างจริงจัง และเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง เช่นการเข้าไปคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งจะให้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมในท้องถิ่นอย่างแท้จริง นอกจากนั้นให้เกียรติคนในท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่แล้วคนเมืองกรุงมักจะยกตัวเองว่าเป็นคนที่ทันสมัยจึงมักดูภาษา และวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตาม อย่างเช่นในภาคใต้ เพราะคนเมืองกรุงไปหลบหลู่ศาสนา ความเชื่อของพวกเขา ดังนั้นการที่มีทีมวิจัยอย่างนี้ตนเอง ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net