Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก 14.00 น. ศาลโดยนายอำนวย ธันธรา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา และองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องขอหมายจับ ที่ พล.ต.ต.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร รอง ผบช.น. ได้ยื่นคำร้องขออนุมัติออกหมายจับผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว จำนวน 7 คน ซึ่งร่วมกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล


 


ประกอบด้วย น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ ส.ว.กทม. , นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรเพื่อประชาชนประชาธิปไตย , นายสุวิทย์ วัดหนู สมาชิกองค์กรสลัมเพื่อประชาธิปไตย, นายอวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูภาคอีสาน , นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง (สร.กฟน.) และรองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย, นายศิริชัย ไม้งาม เลขาธิการสมาพันธ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ(สรส.) และ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน


         


ก่อนเริ่มการไต่สวน น.ส.รสนา กับพวกรวม 7 คนยื่นคำร้องต่อศาล ขออนุญาตซักค้านพยานในการไต่สวนขอออกหมายจับ ตามคำร้องระบุว่า ผู้ร้องทั้ง 7 เป็นผู้ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาคดีนี้จริง แต่ผู้ร้องได้ยื่นหนังสือลงวันที่ 5 ก.ค.และ 12 ก.ค.49 ต่อ พล.ต.ต.ชัชวาลย์ พนักงานสอบสวน ขอปฏิเสธข้อกล่าวหา และการปฏิบัติตามหมายเรียก โดยขอให้พนักงานสอบสวนชี้แจงเหตุผลข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายในการออกหมายเรียก แต่ปรากฎว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการโต้แย้งและตอบหนังสือของผู้ร้อง แต่กลับมายื่นขอออกหมายจับ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการกระทำทั้งหมดไม่เป็นการยุติธรรมต่อผู้ร้องทั้ง 7


         


ดังนั้น ผู้ร้องจึงขอแต่งตั้งทนายความเพื่อทำหน้าที่ซักค้านพยานของพนักงานสอบสวน ผู้กล่าวหาในการขอออกหมายจับเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าข้อกล่าวหานั้นไม่มีมูล และไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะขอศาลออกหมายจับ ซึ่งศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ น.ส.รสนา กับพวก 7 คน แต่งตั้งทนายเพื่อร่วมการซักค้านพยาน พนักงานสอบสวนได้ โดยศาลเรียกบุคคลทั้ง 7 ร่วมไต่สวนพร้อมกับ พล.ต.ต.ชัชวาลย์ ในฐานะหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนคดีนี้ด้วย


 


เมื่อเริ่มการไต่สวน พล.ต.ต.ชัชวาลย์ ซึ่งเดินทางมาพร้อมกับคณะพนักงานสอบสวนอีก 6 คนได้แถลงต่อศาลว่า การจัดชุมนุมของพันธมิตรฯ เริ่มตั้งแต่ 9 ก.พ.49 เวลา 15.00 น. ถึง 30 มี.ค.49 เวลา 22.05 น.โดยการชุมนุมแบ่งออกเป็นช่วงๆ หลายช่วงๆ ละ 2-3 วัน และมีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 10,000 คนขึ้นไปมีแกนนำพันธมิตรฯ ประกอบด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายพิภพ ธงไชย และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งการกระทำนั้นก่อความวุ่นวายและไม่สงบในบ้านเมือง


 


ครั้งแรกที่ยังไม่มีกลุ่มพันธมิตรฯ นายสนธิ จัดชุมนุมที่สวนลุมพินี และนำประชาชนมาที่ทำเนียบฯแล้วบุกเข้าทำเนียบฯ ทำลายทรัพย์สิน จากนั้นครั้งที่สอง นายสนธิ จัดชุมนุมอีกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และหลังจากนั้นประมาณ 20 วันเมื่อมีกลุ่มพันธมิตรฯ เข้าร่วมกับนายสนธิ ก็ได้จัดชุมนุมเรื่อยมา สำหรับ น.ส.รสนา ได้ขึ้นเวทีปราศรัย 4 ครั้งเริ่มวันที่ 5 มี.ค.โดยเรียกร้องให้ประชาชนเลี่ยงการจ่ายภาษี และมีการโจมตีเรื่องการเลี่ยงภาษีของชินคอร์ป


 


เมื่อศาลถามว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่หน้าตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ พล.ต.ต.ชัชวาลย์ ตอบว่า ตลาดหลักทรัพย์ยังสามารถทำงานได้ แต่การชุมนุมส่งผลต่อทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน


         


ทั้งนี้ พล.ต.ต.ชัชวาลย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เหตุผลที่ต้องขอออกหมายจับเนื่องจากคณะพนักงานสอบสวน สอบสวนแล้วพบว่าทั้งหมดกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215 และ 216, พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 108 และ 114, พ.ร.บ.การควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียง พ.ศ.2493 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 19 และ 39


 


โดยพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนความเห็นสมควรสั่งฟ้อง 5 แกนนำพันธมิตรฯต่ออัยการแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาถึง 2 ครั้ง แต่มีผู้ต้องหามาพบเพียง 3 คน คือ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการ ส.ว.กทม., นายสำราญ รอดเพชร และนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ส่วนผู้ต้องหา 7 คนนี้ไม่มาตามหมายเรียก ขณะที่นายการุณ ใสงาม รักษาการ ส.ว.บุรีรัมย์ ผู้ต้องหาอีกคนหนึ่งได้รับสิทธิคุ้มครองติดวาระประชุมของ ส.ว.


 


จากนั้น ศาลเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน แถลงชี้แจงนายสุริยะใส แถลงว่า วันที่เกิดเหตุประชาชนบุกไปที่ทำเนียบฯ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.49 นั้นไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรฯ และนายสนธิ ซึ่งพนักงานสอบสวนพยายามจะนำเรื่องมาเชื่อมโยงกัน และสิ่งสำคัญที่แกนนำพันธมิตรฯ ยึดมั่นมาตลอด คือ การชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากอาวุธ


 


นอกจากนี้ ในการเคลื่อนย้ายขบวนทุกครั้งจะประสานกับตำรวจให้ทราบล่วงหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกและดูแลความสงบเรียบร้อย โดยตนได้พบกับ พล.ต.ต.กฤษฎา พันธ์คงชื่น รอง ผบช.น.และ พล.ต.ต.ปราโมช ปทุมวงศ์ ผบก.น.1 ที่สะพานผ่านฟ้า เมื่อครั้งเคลื่อนขบวนโดยทั้งสองให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และแม้แต่การขอใช้พื้นที่และเครื่องกระจายเสียง ตนก็เป็นผู้ยื่นคำร้องด้วยตนเอง


 


น.ส.รสนา แถลงว่า พันธมิตรฯไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยการชุมนุมเป็นไปตามกรอบกฎหมาย ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เพื่อต้องการตรวจสอบและแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ พยายามประกาศยุบสภาฯในวันที่ 24 ก.พ.49 โดยไม่ยอมให้มีการตรวจสอบในระบอบรัฐสภา กรณีการขายหุ้นชินคอร์ป 7.3 หมื่นล้านโดยเลี่ยงภาษี รวมทั้งเรื่องความไม่สุจริต จึงเป็นเหตุให้มีการชุมนุมขึ้นมา สิ่งที่ตนปราศรัยเรียกร้อง หรือให้ผู้ชุมนุมเลี่ยงจ่ายภาษีนั้น ถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน และเป็นการแสดงออกโดยสันติวิธี


 


นอกจากนี้ การชุมนุมโดยสงบหากจะเทียบกับการบริหารงานของรัฐภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประชาชนเคลือบแคลงว่าอาจไม่สุจริตนั้นน่าจะก่อปัญหาต่อเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า ส่วนที่ตนปราศรัยให้ "ทักษิณออกไป" ถือเป็นการเรียกร้องให้ลาออก ถือว่าอยู่ในวิถีทางรัฐธรรมนูญ ส่วนการไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกนั้นเห็นว่าหมายเรียกไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ตั้งข้อกล่าวหาร้ายแรง ตนคิดว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม


         


"แต่การกระทำของพนักงานสอบสวน ทำให้ดิฉันเคลือบแคลงว่าเป็นไปโดยการรับใช้ฝ่ายการเมือง และเพื่อหยุดยั้งไม่ให้ประชาชานตรวจสอบการบริหารงานของรัฐ ดิฉันมีความหวังในความยุติธรรมจากศาล จึงไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก"


 


ขณะที่นายอวยชัย, นายเพียร, นายสุวิทย์, นายไชยวัฒน์ และนายศิริชัย แถลงในทำนองเดียวกันว่า ตามที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาพวกตนนั้นเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งโดยขาดหลักนิติธรรม ส่วนการชุมนุมถือเป็นการสุจริตใจในการทำหน้าที่ฐานะพลเมืองดี ตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ม.60 โดยอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนญ ม.44 ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และ ม.45 เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และ ม.65 ประชาชนสามารถต่อต้านโดยสันติวิธี


 


ส่วนการเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯนั้น มิใช่เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย และตลอดการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุทำร้ายกันระหว่างชุมนุม


 


ภายหลังไต่สวนศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะออกหมายจับพันธมิตรฯ ทั้ง 7 ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนหรือไม่ในวันที่ 1 ก.ย.49 เวลา 13.30 น.


 


 


 


ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net