Skip to main content
sharethis


รายงานโดย ศูนย์ข่าวประชาสังคม อุบลฯ

 


 


สืบเนื่องจากโครงการพัฒนาศักยภาพและบทบาทองค์กรชุมชน เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนป่าดงนาทามอย่างยั่งยืน เป็นโครงการหนึ่งในมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เพิ่มศักยภาพในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าชุมชน มีการจัดเก็บข้อมูลในส่วนของป่าและภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ได้จากชุมชน ทั้งเรื่องของสิ่งประดิษฐ์จากป่าในชุมชน วัฒธนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อรวบรวมข้อมูลเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนนำร่อง โดยมีพื้นที่เป้าหมายจำนวน 12 หมู่บ้าน 3 ตำบล ใน 3 อำเภอ นำร่องในพื้นที่เป้าหมายเพื่อขยายผลสู่โรงเรียนอื่นต่อไป


 


นางมัสยา คำแหง ผู้ประสานงานมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต กล่าวถึงโครงการพัฒนาศักยภาพและบทบาทองค์กรชุมชน เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนป่าดงนาทามอย่างยั่งยืน ว่า โครงการดังกล่าวเป็นกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีการทำงานเชื่อมกับโรงเรียนจำนวน 6 โรงเรียน ใน 3 อำเภอ เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนซึ่งมีการจัดสาระการเรียนรู้ที่แตกต่างกันในแต่ละชุมชน ซึ่งขณะนี้หลักสูตรได้เข้าสู่ระบบของโรงเรียนเป็นที่เรียนร้อยแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมในแต่ละชุมชนซึ่งมีครูภูมิปัญญาเป็นผู้สอน และมีครูในโรงเรียนคอยช่วยในเรื่องของเอกสาร จากการประเมินโครงการในเบื้องต้นทำให้เห็นว่า บรรยากาศการเรียนในห้องเรียนเด็กมีความตื่นตัวในเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น เนื่องจากเป็นรายวิชาที่เด็กได้ลงพื้นที่สัมผัสกับวิถีชีวิตในธรรมชาติโดยตรง


 


อย่างไรก็ตามต่อเรื่องนี้หลังจากที่หลักสูตรได้เข้าสู่ระบบการเรียนการสอน ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เข้ามาติดตามการทำงานและนำรูปแบบไปขยายผลสู่โรงเรียนอื่นต่อไป เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่กับท้องถิ่นต่อไปสู่รุ่นอื่น ๆ


 


ด้านนางสาวรัตนพร รองเมือง เจ้าหน้าที่โครงการ พัฒนาศักยภาพและบทบาทองค์กรชุมชน เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนป่าดงนาทามอย่างยั่งยืน กล่าวถึงแนวคิดในการลงพื้นที่ทำโครงการ ว่า จากการได้ลงพื้นที่ทำให้พบปัญหาว่า ชุมชนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลในเรื่องของภูมิปัญญาทำให้ภูมิปัญญาบางอย่างเลือนหายไปจากชุมชน ซึ่งหลังจากที่ได้ลงพื้นที่โดยมีชาวบ้านเป็นผู้เก็บข้อมูลทำให้ขณะนี้สามารถผลักดันเป็นหลักสูตรในโรงเรียนได้ โดยนำร่องไปแล้วใน 6 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเหล่างามพิทยาคม , โรงเรียนบ้านผาชัน , โรงเรียนหนามแท่งราชมังคลา , โรงเรียนบัววัด , โรงเรียนนาโพทธิ์กลาง และโรงเรียนทุ่งนาเมือง ซึ่งผลจากการนำหลักสูตรเข้าไปเรียนรู้ในสถานศึกษาดังกล่าวทำให้ผลออกมาเป็นที่นาพอใจ เนื่องจากเด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิตตนเองโดยมีปูชนียบุคคลในชุมชนเป็นผู้แนะนำให้ความรู้


 


ทั้งนี้ในอนาคตคาดหวังที่จะให้มีการขยายผลการดำเนินงานในเรื่องของหลักสูตรไปสู่ชุมชนและสถานบันการศึกษาอื่น เพื่อให้ความเป็นชุมชนท้องถิ่นที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ได้มีการใช้ประโยชน์จากป่าโดยที่ไม่เป็นการทำลายป่าและมีการอนุรักษ์ในเรื่องของภูมิปัญญาของคนในชุมชนด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net