Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Middle East Uncensored


 


 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 



 




 


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


การสังหารหมู่ที่ คานา (Qana) เกิดขึ้นในช่วงหลังเที่ยงคืนวันเสาร์ หรือก่อนเช้าวันอาทิตย์ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่น้อยกว่า 60 คน และในจำนวนนั้นเป็นเด็ก 34 คน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในสงครามรอบนี้ ตั้งแต่อิสราเอลบุกโจมตีเลบานอน 12 กรกฎาคม 2006 เป็นต้นมา


 


และต่อไปนี้ เป็นการรายงานเหตุการณ์โดยทีมนักข่าวของ หนังสือพิมพ์การ์เดียน (The Guardian) หนังสือพิมพ์ค่ายใหญ่ในลอนดอนที่มีประวัติการทำข่าวตะวันออกกลาง บนมาตรฐานที่ "แตกต่าง" จากหนังสือพิมพ์ตะวันตกทั่วไป รายละเอียดของรายงานชิ้นนี้มีดังนี้ :


 


'They found them huddled together'  by Ghaith Abdul-Ahad, Jonathan Steele and Clancy Chassay in Qana; Rory McCarthy at the Israel-Lebanon border; Wendell Steavenson in Beirut and Julian Borger in Washington, The Guardian, Monday July 31, 2006 o


 


- - - - - - - - - - - - - - - - - -


 


'They found them huddled together'


 


ทีมข่าวการ์เดียน


31 กรกฎาคม 2006


 


มันเป็นอาคารสามชั้นย่านรอบนอกของเมืองที่ไม่มีอะไรโดดเด่นสะดุดตา แต่สำหรับครอบครัวขยายที่มีสมาชิกมากมายในตระกูล ชาลฮูบ (Shalhoub) กับ ฮาเชม (Hashem) แล้ว มันคือที่พึ่งสุดท้ายของพวกเขา เพราะไม่มีเงินจะจ่ายค่าแท็กซี่ในราคาขูดรีดเพื่อลี้ภัยไปเมืองทายร์ ทั้งสองตระกูลจึงได้แต่หวังว่า ถ้าพวกเขาอาศัยอยู่ด้วยกัน พอซุกตัวแบ่งๆ กันหลบภัยบริเวณชั้นล่าง พวกเขาก็คงจะเอาตัวรอด


 


แต่พวกเขาเข้าใจผิด ประมาณตีหนึ่งย่างเข้าสู่วันใหม่ ขณะที่พวกผู้ชายบางคนกำลังชงชาอยู่ ระเบิดของอิสราเอลก็พุ่งเข้ามาปะทะบ้านหลังนี้เข้าพอดี ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ภายในไม่กี่นาที มีการโจมตีด้วยระเบิดถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก ผู้ที่รอดชีวิตได้ย้ายหนีจากฝั่งหนึ่งของบ้านมายังอีกฝั่งหนึ่ง ก่อนที่จะถูกถล่มตามมาด้วยระเบิดครั้งที่สอง จนล่วงถึงคืนวันที่ 30 เจ้าหน้าที่ของเลบานอนบอกว่า มีศพที่ได้รับการกู้ขึ้นมาจากซากทับถมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 60 ศพ เป็นเด็ก 34 ศพ มีผู้รอดชีวิตเท่าที่พบแล้ว 8 คน


 


ในเช้าวันเกิดเหตุ ศพแล้วศพเล่าถูกดึงตัวออกมาจากใต้ซากทับถมของบ้าน นาอิม ราคา (Naim Raqa) หัวหน้าหน่วยกู้ภัยครั้งนี้เล่าว่า "ตอนที่พวกนั้นพบศพ ศพทั้งหมดซุกตัวกอดกัน เบียดกัน อยู่ที่ด้านหลังของกำแพงห้อง เห็นแล้วน่าอนาถใจมาก พวกเขาคงจะคิดว่า กำแพงมันจะช่วยป้องกันภัยได้"


 


การระเบิดครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์นองเลือดที่สุดสำหรับแคมเปญโจมตีเฮซบอลเลาะล์ของอิสราเอลตลอด 18 วันที่ผ่านมา เรียกเสียงประณามดังขึ้นจากทั่วโลก เมือคืนนี้ อิสราเอลได้ประกาศหยุดพักการโจมตีทางอากาศต่อเลบานอนตอนใต้เป็นเวลา 48  ชั่วโมง และกล่าวว่าจะยินยอมเปิดช่องทางให้ยูเอ็นขนย้ายชาวเมืองที่ต้องการอพยพลี้ภัยได้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง


 


เหตุการณ์ครั้งนี้ยังนำไปสู่การประท้วงอย่างเกรี้ยวกราดที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในเบรุตอีกด้วย ฟูอัด ซินญอรา นายกรัฐมนตรีของเลบานอนกล่าวหาอิสราเอลว่าก่อ "อาชญากรรมสงคราม" และยกเลิกการนัดหมายกับ คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอเมริกาตามมา อิสราเอลกล่าวขอโทษ แต่บอกว่ามันคือการกระทำเพื่อโต้ตอบจรวดที่ยิงมาจากหมู่บ้านนั้น


 


โมฮัมเหม็ด คาซิม ชาลฮูบ (Muhammad Qassim Shalhoub) คนงานก่อสร้างวัย 38 ปีร่างผอม รอดพ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยสภาพกระดูกที่มือแตก และมีอาการบาดเจ็บอีกเล็กน้อย แต่เขากลับต้องเสียภรรยา และลูก 5 คน รวมทั้งสมาชิกที่เป็นเครือญาติในตระกูลเดียวกันอีก 45 คน เขาเล่าว่า "ประมาณตีหนึ่ง ผมได้ยินเสียงระเบิดดังลั่น"


 


"และหลังจากนั้น ผมก็จำอะไรไม่ได้อีก จนกระทั่งผมลืมตามา พบตัวเองนอนอยู่บนพื้น หัวกระแทกกำแพงอยู่ ผมลืมตามาท่ามกลางความเงียบ ไม่ได้ยินเสียงอะไร หลังจากนั้นสักพัก ถึงได้มีเสียงกรีดร้องดังขึ้น"


 


"แล้วผมก็พูดว่า…Allahu Akbar (God is great) ไม่ต้องกลัวนะ กำลังจะไปหา...มีเลือดไหลอยู่ที่หน้าผม ผมเลยเอื้อมมือไปเช็ดออก พยายามมองหาลูกชาย แต่หาไม่เจอ แล้วผมพาเด็กสามคนออกไป หลานผมอายุ 4 ขวบ เด็กผู้หญิงอีกคนหนึ่งกับน้องสาวของเธอ พอผมออกไปข้างนอก ผมก็ตะโกนเรียกคนมาช่วย มีผู้ชายสามคนมาสมทบ แล้วเราก็เข้าไปข้างในกัน มีเสียงปืนใหญ่ เสียงระเบิด ดังขึ้นเต็มไปหมด ที่โน่น ที่นี่ เราได้ยินเสียงเครื่องบินด้วย ผมเหนื่อยมาก สุดท้ายผมก็เข้าไปช่วยคนข้างในอีกไม่ไหว"


 


อิบราฮิม ชาลฮูบ (Ibrahim Shalhoub) เล่าถึงตอนที่เขาและญาติของเขาพยายามจะขอความช่วยเหลือให้ฟัง "มันมืดมาก แล้วก็มีควันเต็มไปหมด ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้ จนกว่าจะรุ่งเช้า" เขาพูด นัยน์ตายังส่ายไปมาเหมือนคนกระวนกระวายใจอยู่


 


"ผมได้แต่ร้องไห้ เราช่วยพวกเขาไม่ได้"


 


ซาอิด ราบับ ยูซีฟ (Said Rabab Yousif) เล่าถึงวินาทีที่ถูกบอมบ์ว่า "ฉันมองไม่เห็นอะไรเลย 10 นาที จากนั้นถึงมองเห็นลูกชายนั่งอยู่ที่ตัก มีเศษปูนเศษอิฐที่ทลายลงมาคลุมตัวอยู่ ฉันหยิบเศษๆ พวกนั้นทิ้ง ดึงตัวลูกออกมา ส่งต่อให้คนที่เข้ามาช่วยพวกเราข้างใน"


 


"แล้วฉันก็เอาเศษซากต่างๆ บนตัวฉันออก แล้วฉันกับผู้ชายอีกสองคนก็ไปตามหาสามีฉัน เราดึงเขาออกมาจากซาก ฉันพยายามจะหาลูกสาวเล็กๆ ของฉัน ซายนับ (Zainab)  แต่มันมืดมากและเธอก็ถูกฝังลึกอยู่ข้างใต้ ฉันไม่รู้จะทำยังไง ฉันกลัวมาก กลัวว่าพวกเขาจะทิ้งระเบิดใส่เราอีก ฉันก็เลยต้องทิ้งเธอไว้แล้วก็วิ่งออกมาข้างนอก"


 


ซาอิดยังอยู่ที่โรงพยาบาลกับลูกชายและสามี สามีเธอขยับตัวไม่ได้และอยู่ในขั้นโคม่า ขณะที่ข่าวคราวลูกสาวเธอยังเงียบหาย ไม่รู้ชะตากรรม


 


หน่วยกู้ภัยได้พยายามช่วยกันนำศพออกมาจากซากอาคารตลอดเช้า พวกเขาบังเอิญมาเจอศพเด็กเล็กๆ เข้าทีหลัง ร่างกายส่วนใหญ่ของเด็กอยู่ในสภาพดี แต่ปอดถูกกระแทกจากความแรงของระเบิด


 


"God is great" ตำรวจคนหนึ่งอุทาน ขณะที่เด็กผู้ชายตัวเล็กๆ ไม่ถึง 10 ขวบ ถูกหามมาบนเปล เด็กผู้ชายคนนั้นเหมือนเด็กที่กำลังนอนหลับ ยกเว้นแต่ว่า ที่ร่างกายของเขามีผงปูนหุ้มไว้ทั้งตัว และที่หูกับจมูกก็มีรอยเลือด


 


บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา ชายขอบของเมืองคานา เศษซากปรักหักพังจากตัวบ้านไหลทะลักออกมากองอยู่ตามทางที่ลาดลงมา ศพถูกวางเรียงๆ กันไว้บนพื้น มีเด็กทารกคนหนึ่ง เด็กผู้หญิงสอง และผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่แล้วอีกสอง มีศพชายหนุ่มคนหนึ่งตัวแข็งทื่อ นอนอยู่ถัดไป มีผ้าคลุมไว้ แขนข้างหนึ่งของเขาชูขึ้นไปข้างบน และนิ้วชี้ของเขาชี้ไปที่ท้องฟ้า


 


"เปลอยู่ไหน? เปลอยู่ไหน?" เจ้าหน้าที่กู้ภัยรายหนึ่งตะโกนเสียงดัง...แข่งกับเสียงเครื่องบินรบของอิสราเอลที่คำรามกึกก้องอยู่เหนือหัว ซามี ยัสบุก (Sami Yazbuk) หัวหน้าเจ้าหน้าที่กาชาดที่เมืองทายร์ บอกว่าเขาได้รับแจ้งเรื่องตอน 7 โมงเช้า แต่ต้องขับรถอ้อมไปอ้อมมากว่าจะถึงเมืองคานา เพราะมีการยิงปืนใหญ่ลงมาตามถนนเส้นนั้น


 


ในรถพยาบาลที่จอดไว้ใกล้ๆ เหยื่อที่ตัวเล็กที่สุดจะถูกวางซ้อนไว้ข้างบน เพื่อให้เหลือที่ว่างสำหรับเหยื่อที่จะตามมาอีกมาก มีเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายสองคนที่อายุยังไม่เกิน 4 ขวบวางอยู่ด้วย มองเห็นได้ชัดตั้งแต่หัวจรดเท้า พวกเขายังใส่ชุดนอนอยู่เลย


 


มีรูปถ่ายครอบครัวแทรกปะปนกระจัดกระจายอยู่ในกองซากเหล่านั้น มีเด็กสองคนอยู่ในภาพๆ หนึ่ง โมเซน ฮาเชม (Mohsen Hachem) มองที่ภาพๆ นั้น แล้วพูดว่า "คนพวกนั้น ต้องรู้แน่ๆ ว่ามีเด็กอยู่ในบ้านหลังนี้"


 


"มีเครื่องบินสอดแนม (Drone) บินไปมาเหนือหัวเราตลอด แล้วเด็กๆ พวกนั้น - 30 กว่าคน - ก็ชอบออกมาเล่นข้างนอกทั้งวัน"


 


ชาวเลบานอนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ในเบรุต หลังทีวีเลบานอนถ่ายทอดภาพศพและเหตุการณ์กู้ภัยที่บ้านหลังนั้นกันอย่างครึกโครม ประชาชนหลายพันได้ออกมาชุมนุมที่จตุรัสกลางเมืองเพื่อระบายความโกรธแค้น ผู้ประท้วงได้ทุบกระจกอาคารสหประชาชาติและบุกเข้าไปในล็อบบี้ด้วย ในทำนองเดียวกัน ที่กาซา ก็มีการปะทะระหว่างตำรวจและประชาชนตามมา หลังจากผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์พยายามบุกเข้าทำลายอาคารของยูเนสโก


 


ขณะเดียวกัน ผู้นำของอิสราเอลได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อความตายของพลเรือนครั้งนี้ แต่โฆษกกองทัพคนหนึ่งกล่าวว่า ที่คานาต้องตกเป็นเป้าโจมตีก็เพราะกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ใช้มันเป็นฐานยิงจรวด "มีการยิงมาจากที่นั่น ก่อนที่เราจะโจมตีทางอากาศ เราไม่รู้ว่ามีพลเรือนอยู่ตรงชั้นล่างของอาคาร" เขายังขยายความต่อด้วยว่า มีการยิงจรวดออกจากคานา "แค่ไม่กี่ชั่วโมง" ก่อนการโจมตีครั้งนี้


 


อาวุธที่ใช้ทำลายบ้านหลังนี้ เป็นระเบิดที่มีระบบนำวิถีและถูกปล่อยลงมาจากทางอากาศ เป็นชนิดเดียวกับที่ทำลายสถานีของยูเอ็นใน คียัม (Khiyam) สัปดาห์ก่อน สังหารเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ของยูเอ็นไป 4 คน ตัวหนังสือที่เขียนไว้บนชิ้นส่วนแตกๆ ของอาวุธสีเขียวโอลีฟ ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุของการระเบิดครั้งนี้ ก็คือ  GUIDED BOMB BSU 37/B.


 


"เราไม่รู้ว่าคนพวกนั้นมาทำอะไรอยู่ข้างในอาคาร เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะถูกเฮซบอลเลาะห์ใช้เป็นโล่ห์มนุษย์ก็ได้ หรือไม่ก็อาจถูกใช้เพื่อส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อของเฮซบอลเลาะห์" โฆษกกองทัพอิสราเอลกล่าวต่อ "เราขออภัย และขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตของพลเรือนครั้งนี้"


 


ตั้งแต่อิสราเอลเริ่มโจมตีเลบานอนเพื่อตอบโต้การลักพาตัวทหารสองคน ชาวเลบานอนมากกว่า 750 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ได้ถูกสังหารไปแล้ว ขณะที่ชาวอิสราเอล 51 คน เป็นพลเรือน 18 คน ก็ถูกฆ่าตายเช่นกัน


 


แต่ในกรณีของคานา มันยังเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกด้วย สิบปีที่แล้ว พลเรือนกว่า 100 ชีวิตที่หลบภัยอยู่ในอาคารสถานที่ของยูเอ็น ก็ถูกอิสราเอลสังหารด้วยกระสุนปืนใหญ่


 


ในโศกนาฎกรรมครั้งล่าสุดที่คานา กลับมาที่เกิดเหตุอีกครั้ง ความสูญเสียดูจะยังไม่จบสิ้น ผู้ชายคนหนึ่งถึงกับปล่อยโฮออกมา เมื่อร่างเล็กๆ ร่างหนึ่งถูกอุ้มออกมาจากบ้าน จากนั้น ก็ตามมาติดๆ อีกหนึ่ง เจ้าหน้าที่ค่อยๆ วางศพนั้นลงบนเปลสีส้ม


 


"นั่นไง ลูกชายของ อาบู ฮาเชม (Abu Hachem)" ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ยืนอยู่ท่ามกลางชาวบ้านกลุ่มใหญ่พูดขึ้น "เด็กสองคนคืออาลีกับโมฮัมเหม็ด เป็นพี่น้องกัน" ชาวบ้านอีกคนหนึ่งตะโกน


 


ที่โรงพยาบาลเมืองทายร์ นายแพทย์ ซัลมาน เซย์นาดีน (Salman Zaynadeen) บอกว่านี่คือกรณีบาดเจ็บล้มตายที่เลวร้ายที่สุดที่เขาและเพื่อนร่วมงานเคยเจอ มี 22 ศพที่ถูกเก็บไว้ในรถห้องเย็นซึ่งทำหน้าที่แทนตู้เก็บศพของโรงพยาบาล ในจำนวนนั้น 12 ศพเป็นเด็ก เขาให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า "กำลังจะมาอีกอย่างน้อย 20 ศพ มีคนแก่อายุ 75 ด้วย พวกเขาถูกซากพวกนั้นบดทับไว้"  


 


มีศพเด็กผู้ชาย 5 คนวางเรียงไว้กลางสนาม เจ้าหน้าที่ของกองทัพกำลังถ่ายรูปไว้ประกอบหลักฐานการยืนยันตัวบุคคล


 


อับบาส มาห์มูด ฮาเชม (Abbas Mahmoud Hashem) คือเด็กอายุน้อยที่สุดที่เสียชีวิต เขานอนหงายแต่หัวพลิกกลับไปอีกด้านและขาขวาก็งอพับ ที่รอบคอของเขามีจุกนมยางคล้องเอาไว้ด้วยสายพลาสติกสีฟ้า ที่หน้าตาและผมถูกเคลือบเอาไว้ด้วยผงคอนกรีต จากลักษณะภายนอก...เขาน่าจะอายุประมาณ 18 เดือน


 


ที่เตียงคนไข้รายหนึ่ง มีเด็กอายุ 13 คนหนึ่งซึ่งรอดชีวิตมาได้ ชื่อ นูร์ ฮาเชม (Nour Hashem) กำลังนอนเอานิ้วเขี่ยผ้าปูที่นอนไปมา น้ำตาเปียกตา เธออยู่ในบ้านที่ญาติพี่น้องจำนวนมากมายถูกฆ่า แต่กลับรอดชีวิตมาได้อย่างปาฏิหาริย์ ด้วยอาการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย


 


"เราทุกคนนอนหลับด้วยกันอยู่ในห้องๆ หนึ่ง เพื่อนหนู พี่หนู และญาติของหนู" เธอพูด เสียงยังคงสั่นด้วยความกลัว


 


"หนูเอาเศษปูนพวกนั้นออกจากตัวแม่ แล้วแม่ก็พาหนูไปอีกบ้านหนึ่ง แม่หายไป เพื่อไปตามหาพี่ๆ กับน้องๆ ของหนู - - แต่พี่น้องของหนูไม่ได้มา แล้วแม่ก็ไม่ได้กลับมาด้วย"


 


ย้อนอดีตคานา


หมู่บ้านเล็กๆ ในคานา ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองทายร์ เป็นเหมือนสัญญลักษณ์ของโศกนาฎกรรมในเลบานอนมานาน ก่อนหน้าการโจมตีทางอากาศเมื่อวานนี้ สิบปีที่แล้ว ปี 1996 ในเหตุการณ์ที่คล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ อิสราเอลได้ยิงปืนใหญ่เข้าใส่พื้นที่หลบภัยของยูเอ็น สังหารพลเรือนไปกว่า 100 ชีวิต การโจมตีครั้งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลที่ชื่อ  Grapes of Wrath มีจุดมุ่งหมายตอนนั้น (เหมือนตอนนี้) ก็คือ เพื่อลงโทษเฮซบอลเลาะห์ที่โจมตีอิสราเอล และเพื่อขับไล่เฮซบอลเลาะห์ออกจากพื้นที่ชายแดน


 


ในอดีตครั้งนั้น อิสราเอลได้ออกมาขอโทษ และให้เหตุผลว่า มันเป็นอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการใช้แผนที่เก่า และการคำนวณผิดพลาด ภายใต้การหนุนหลังของอเมริกา อิสราเอลโยนกล่าวโทษเฮซบอลเลาะห์ว่า ใช้พลเรือนเป็นโล่ห์มนุษย์ แต่รายงานของยูเอ็นกลับระบุถึง ข้อพิรุธและความคลาดเคลื่อนหลายแห่งในคำให้การของอิสราเอล พร้อมสรุปว่า "ไม่น่าจะเป็นไปได้" ที่ว่าความตายเหล่านั้น...จะเป็นผลมาจากความผิดพลาดในเชิงเทคนิค o


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net