Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

Uncensored


 


  



 


แผนที่เลบานอน : จุดที่โดนอิสราเอลโจมตี


 


 


 



 


 ใครไม่เอาสันติภาพ...ยกมือขึ้น


 


 


 



 


Angry Arab


 


 


 


โดย อุทัยวรรณ เจริญวัย


 


 


สำหรับมนุษย์ทุกคนที่หัวใจยังอยู่ในสภาพ "ใช้การได้"  (สามารถรู้สึกรู้สากับความเจ็บปวดของผู้อื่นได้) การเปิดรับเรื่องราวของสงครามในตะวันออกกลางทางอินเทอร์เน็ตระยะนี้ อาจจะทำให้หัวใจของคุณทำงานหนัก...จนถึงจุด "เกินกว่าจะแบกรับ" ได้ง่ายๆ


 


จนถึงวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม 2006 หลัง "กองทัพหมาบ้าของอิสราเอล" กระหน่ำบอมบ์ ยิง ฆ่า ทำร้าย - ผู้หญิง ผู้ชาย คนชรา เด็กเล็ก เด็กทารก - ชาวอาหรับ แบบตามอำเภอใจไม่เลือกหน้า มาอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 19


 


เช้าวันอาทิตย์ อัลจาซีรารายงานว่า อิสราเอลได้ถล่มอาคารหลบภัยของสหประชาชาติ ที่ เมืองคานา (Qana) จนเสียหายยับเยิน สังหารหมู่ชาวเลบานอนตอนใต้ไปไม่น้อยกว่า 50 ศพ และจำนวนมากในนั้นคือ "เด็ก"


 


หน่วยกู้ภัยต้องทำงานหนัก เพราะไม่เพียงแต่จะต้องนำตัวผู้บาดเจ็บเสียชีวิตออกมาจากใต้ซาก แต่ถนนทุกสายรอบเมืองคานา-เส้นทางที่จะพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล-ล้วนถูกอิสราเอลทำลายจนหมดสภาพ


 


ก่อนหน้านี้ คนของยูเอ็นก็เพิ่งจะถูกอิสราเอลโจมตีเสียชีวิตไป 4 คน และล่าสุดบาดเจ็บตามมาอีก 2 คน อิสราเอลได้โจมตีทางอากาศแบบไม่มีข้อจำกัดใดๆ และไม่เว้นแม้กระทั่งรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่กาชาด


 


หลังเกิดเหตุการณ์ที่คานา ภาพข่าวที่ออกมาได้สร้างความโกรธแค้นให้ชาวเลบานอนและชาวอาหรับทั่วโลก ไม่น่าเชื่อว่า "ประวัติศาสตร์การสังหารหมู่" จะกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง ที่เดิมๆ เหตุการณ์เดิมๆ 10 ปีที่แล้ว อิสราเอลได้ทิ้งบอมบ์ใส่อาคารหลบภัยของยูเอ็นที่คานา และสังหารพลเรือนไปถึง 106 คน ชาวเลบานอนหลายพันได้บุกประท้วงที่อาคารสหประชาชาติ ในเบรุต เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พร้อมตะโกนว่า  


 


"Death to Israel, Death to America".


 


ตามกำหนดการเดิม คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศของอเมริกาจะต้องเดินทางมาเจรจาต่อรองเรื่องระหว่างอิสราเอล-เลบานอนที่เบรุต แต่หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่คานา นายกรัฐมนตรีเลบานอน ฟูอัด ซินญอรา ได้บอกยกเลิกการนัดหมาย เลบานอนประกาศจะไม่เจรจาใดๆ จนกว่าอิสราเอลจะ "หยุดยิงทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข"


 


วันที่ 31 หลังเอฮุด โอลเมิร์ตพบกับคอนโดลีซซา ไรซ์  อิสราเอลประกาศหยุดโจมตีทางอากาศตามมาเป็นเวลา 48 ชั่วโมง (แต่ไม่หยุดยิงทางภาคพื้นดิน) จากนั้น ไรซ์ได้แถลงต่อมาว่า จะหาข้อยุติให้ได้ภายในสัปดาห์นี้


 


สี่วันที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของเลบานอนให้ข่าวว่า ถ้านับรวมผู้ที่ถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังโดยประมาณ 200 คน จำนวนชาวเลบานอนที่เสียชีวิตไปแล้วน่าจะมีสัก 600 คน แต่ตัวเลขประเมินจากแอคทิวิสต์และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกลับเห็นใกล้เคียงกันว่า ผู้เสียชีวิตไม่น่าจะต่ำกว่า 750-800 คน ขณะที่ตัวเลขผู้บาดเจ็บพุ่งขึ้นมากกว่า 3,000 คนแล้ว


 


ในส่วนของอิสราเอล มีรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิต 51 ราย และส่วนใหญ่เป็นทหาร (พลเรือน 18 ราย)


 


อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการสังหารหมู่ที่คานาครั้งนี้ จะนำไปสู่อะไรบ้าง? จะสร้างความกดดันให้กับคู่หู "ศัตรูของสันติภาพ" ได้มากน้อยแค่ไหน? ยังไม่มีใครตอบได้


 


ไม่มีใครรู้ว่า สงครามในเลบานอนจะสิ้นสุดเมื่อไหร่? "อาชญากรรมสงคราม" ของอิสราเอล จะจบลงปลายอาทิตย์นี้จริงๆ หรือไม่? และที่สำคัญก็คือ....จะจบอย่างไร???


 


อิสราเอลจะยินดีคืน "ชีบา ฟาร์มส์" ให้เลบานอนหรือไม่? จะมีการปลดอาวุธเฮซบอลเลาะห์ตามมาจริงหรือไม่? จะมีการขับไล่เฮซบอลเลาะห์ออกจากพื้นที่ชายแดนตอนใต้จริงหรือไม่? การดึง "กองกำลังนานาชาติ" เข้ามา จะเป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหารอบใหม่ต่อไปกันแน่?


 


ยังมีคำถามหรือแง่มุมให้ต้องติดตามอีกมากมาย ในประเด็นที่เกี่ยวกับสงครามร้อนๆ รอบใหม่นี้ (ไม่เพียงเลบานอน ยังรวมถึงปาเลสไตน์ด้วย)


 


แต่ระหว่างนี้ มีบางประเด็นที่น่าสนใจและไม่สามารถมองข้ามได้ นั่นคือเรื่องเกมการเมืองของผู้นำอาหรับกลุ่มต่างๆ ในตะวันออกกลาง เป็นประเด็นที่อาจจะมองเห็นไม่ชัด อยู่เบื้องหลังกระแสร้อนๆ แต่แน่นอนว่า...ย่อมมีความหมายต่อความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะตามมาในภูมิภาค


 


เราจะเริ่มต้นกับงานชิ้นที่ค่อนข้างอ่านง่าย และให้ภาพกว้างๆ เป็นเหมือน "อินโทร" ชิ้นหนึ่ง


 


และนี่คือบทสัมภาษณ์โพรเฟสเซอร์รัฐศาสตร์เชื้อสายเลบานอน บล็อกเกอร์-นักวิพากษ์การเมืองตะวันออกกลางที่ "ร้อนแรงที่สุดคนหนึ่ง" ในโลกไซเบอร์ ชั่วโมงนี้ ภายใต้ยี่ห้อ  Angry Arab


 


ชื่อจริงของเขาคือ อาสัด อาบูคาลิล (As'ad AbuKhalil) เขาให้สัมภาษณ์นักข่าวอัลจาซีรา ฟีราส อัล-อัตรักจี (Firas Al-Atraqchi) ไว้เมื่อ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภายใต้พาดหัวว่า  'Lebanon crisis : an international conspiracy'  แต่เนื่องจากช่วงเวลาค่อนข้างจะล้าหลังสถานการณ์พอสมควร ดิฉันจึงได้วงเล็บอัพเดทข้อมูลและอธิบายเพิ่มเติมไว้ให้เท่าที่จำเป็นแล้ว


 


และสำหรับใครที่อยากจะทำความเข้าใจเรื่องราวที่มาที่ไปและผลสะเทือนของสงครามครั้งนี้ ในหลายๆ แง่มุม นี่คือ "อีกหนึ่งแง่มุม" ที่คุณจะได้เปลี่ยนบรรยากาศจากนักวิเคราะห์ตะวันตกดูบ้างค่ะ o


 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -


 


ใครคือคุณอาหรับขี้โกรธ?  อาสัด อาบูคาลิล (1960) เกิดและโตที่เลบานอน จบปริญญาเอกที่อเมริกา สอนหนังสือมาหลายมหาวิทยาลัย ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ประจำที่ California State University อาจารย์พิเศษที่ University of California, Berkeley นอกจาผลงานหนังสือหลายเล่ม เขายังเป็นเจ้าของเว็บบล็อกร้อนๆ Angry Arab News Service โดดเด่นด้วยสไตล์คอมเมนต์แบบแรงๆ แสบๆ คันๆ อินไซด์ตะวันออกกลาง (แถมไล่บี้มายาคติของสื่อตะวันตกอย่างเมามันและทันเกมมาก) เขาติดป้ายตัวเองชัดเจนว่าฆราวาส+ซ้าย ก่อนหน้าที่จะให้สัมภาษณ์อัลจาซีรา เขาเพิ่งจะกลับจากเลบานอนทริปล่าสุด และมีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยกับ ฮัสซัน นัสราลลาห์ (Hasan Nasrallah)  ผู้นำเฮซบอลเลาะห์เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ค่อนข้างจะซีเรียส เป็นทางการ คนละบุคลิกร่างทรงกับตอนบล็อกอย่างแรง ใครอยากอ่านอะไรมันส์ๆ คงต้องคลิกไปอ่านเอาเองที่  http://angryarab.blogspot.com


 


- - - - - - - - - - - - - - - - - - -


 


 



 


อาสัด อาบูคาลิล


 


 


บอมบ์เลบานอน แผ่นดินไหวตะวันออกกลาง


18 กรกฎาคม 2006


 


 


อัลจาซีรา :  อิสราเอลบอกว่าที่โจมตีเลบานอนครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากการโจมตีด้วย จรวดคัทยูชา (Katyusha Rocket) ของเฮซบอลเลาะห์ และการจับตัวทหารสองคนไป


ขณะที่เฮซบอลเลาะห์บอกว่า ตอนใต้ของเลบานอนเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมาตลอดเพราะอิสราเอลยึดครองดินแดนของเลบานอน และทางกลุ่มต้องการที่ให้มีการเจรจาต่อรองเพื่อปล่อยตัวนักโทษในคุกอิสราเอล ทำไมอยู่ๆ สถานการณ์ถึงเลวร้ายและรุนแรงขึ้นอย่างทันทีทันใด?


 


อาบูคาลิล : ความขัดแย้งครั้งนี้ การกระทำที่ก้าวร้าวของอิสราเอลต่อเลบานอนครั้งนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นในสูญญากาศสิ่งที่อิสราเอลทำไม่ใช่การโต้ตอบแบบฉับพลัน ปราศจากการวางแผนล่วงหน้า


 


การที่เฮซบอลเลาะห์จับทหารอิสราเอลไปไม่ใช่เรื่องที่อิสราเอลจะต้องเซอร์ไพรส์ ฮัสซัน นัสราลลาห์ ผู้นำเฮซบอลเลาะห์ออกมาเตือนซ้ำๆ หลายครั้งแล้วว่า ถ้าอิสราเอลยังไม่ปล่อยนักโทษเลบานอน เขาก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะต้องจับตัวทหารอิสราเอลไปเป็นเครื่องต่อรอง


 


ตั้งแต่อิสราเอลถอนทหารบางส่วนออกจากเลบานอนตอนใต้ในปี 2000 อิสราเอลไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ อิสราเอลไม่เพียงแต่ยึดครองพื้นที่ส่วนหนึ่งของเลบานอนใต้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังละเมิดอธิปไตยของเลบานอน ทั้งทางอากาศ ทางทะเล และทางบก


 


อิสราเอลยังลักพาตัวชาวบ้านหรือพลเรือนเลบานอนไปด้วย ทั้งชาวประมงและพวกที่เลี้ยงแกะ มีชาวประมงคนหนึ่งที่เมืองทายร์ บ้านเกิดของผม หายตัวไป และมีคนเลี้ยงแกะอย่างน้อยคนหนึ่งถูกฆ่าตายปีที่แล้ว


 


ยิ่งกว่านั้น อิสราเอลยังยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมให้ "แผนที่ทุ่นระเบิด" กับเลบานอน ซึ่งเป็นแผนที่ที่จะชี้ให้เห็นทุ่นระเบิดกว่า 400,000 ชิ้นที่อิสราเอลทิ้งไว้บนแผ่นดินของเลบานอนตอนใต้ ทุกวันนี้ ระเบิดที่ฝังไว้พวกนั้น ยังคงทำลายชีวิตเด็กเลบานอนอยู่


 


วิกฤติครั้งล่าสุด ก็อย่างที่บทความของ ร็อบบิน ไรท์ (Robin Wright)  ในวอชิงตันโพสต์ ว่าไว้เมื่อวานนี้น่ะแหละ มันเป็การสมคบคิดกันในระดับภูมิภาค/ระดับโลก ที่จะบังคับใช้ มติคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ 1559 (ซึ่งระบุถึงการปลดอาวุธกลุ่มติดอาวุธทุกกลุ่มในเลบานอน)


 


ก้าวแรกที่เป็นพื้นฐานนำมาสู่เหตุการณ์ครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากฝีมือของ ราฟิก อัล-ฮาริรี (Rafiq al-Hariri  อดีตนายกฯ เลบานอนที่ถูกลอบสังหารด้วยคาร์บอมบ์ปีที่แล้ว) ในปี 2004 เมื่อฮาริรีร่วมมือกับอเมริกาและฝรั่งเศสช่วยกันผลักดันมตินี้ผ่านทางคณะมนตรีความมั่นคง


 


แผนนี้ (ปลดอาวุธเฮซบอลเลาะห์) ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากอิสราเอล และระบอบปกครองอาหรับที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น คูเวต ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน และอียิปต์ แต่มันไม่มีทางได้ผล เพราะเฮซบอลเลาะห์จะไม่ยอมวางอาวุธแน่


 


ถ้ารัฐบาลเลบานอนที่ตอนนี้นำโดย "ค่ายฮาริรี" คิดว่า ตัวเองจะสามารถกล่อมให้เฮซบอลเลาะห์วางอาวุธและยกอำนาจให้กับกองทัพเลบานอน-ที่เอาแต่นั่งลอยตัวตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา-เข้ามารับผิดชอบป้องกันประเทศเลบานอนต่อไป บอกได้เลยว่า...งานนี้รัฐบาลเข้าใจผิดถนัด


 


อัลจาซีรา :  งั้นเป้าหมายของอิสราเอลคืออะไร? เป้าหมายของเฮซบอลเลาะห์คืออะไร?


 


อาบูคาลิล : ผมคิดว่าอิสราเอลต้องการแก้แค้น ขบวนการไซออนิสต์คือขบวนการแห่งความแค้น มันก็เป็นอย่างนั้นมาตลอด


 


มันไม่ได้ต้องการแค่การบังคับใช้มติยูเอ็นที่ 1559 กับเฮซบอลเลาะห์เท่านั้น แต่ก็เหมือนในปี 1982 น่ะแหละ มันยังต้องการแผ้วถางทางไปสู่การจัดตั้ง "รัฐบาลหุ่นของอเมริกา" ในเลบานอนด้วย แต่แผนพวกนี้จะไม่มีวันสำเร็จอย่างที่คิด ทุกแผนที่สวยหรูอลังการเกี่ยวกับเลบานอนล้วนต้องเจอเข้ากับขวากหนามสำคัญ นั่นก็คือ ความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายต่างๆ (ทั้งทางศาสนา ชาติพันธุ์ และแนวคิดทางการเมือง) ที่ฝังรากลึกซึ้งอยู่ในสังคมเลบานอนเอง


 


ผมคิดว่า ตอนแรกเลย เฮซบอลเลาะห์ทำเรื่องนี้ก็เพื่อต้องการบรรลุจุดหมายในเรื่องการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ และส่วนหนึ่ง...ก็อาจจะเพื่อช่วยลดความกดดันที่มีต่อชาวปาเลสไตน์ด้วย (ซึ่งถูกอิสราเอลเปิดฉากโจมตีมาก่อนหน้าเลบานอน)


 


แต่ตอนนี้ ความต้องการแรกและความต้องการหลักเลยของพวกเขาน่าจะอยู่ที่ การรักษาสถานะเดิมที่สามารถครอบครองอาวุธได้ และสิ่งที่พวกเขามีอยู่แน่ๆ ก็คือ ความสนับสนุนอันท่วมท้นของชาวชีอะต์ในเลบานอน ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศ (ประมาณ 40% ที่เหลือเป็นมุสลิมซุนนี ดรูซ คริสเตียน และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ)


 


อัลจาซีรา :  มีคนจำนวนมากที่ถูกฆ่าไปแล้วทั้งสองฝ่าย แต่ดูเหมือนจะมีความเคลื่อนไหวในประชาคมโลกน้อยมาก หรือพวกเขาจะเชื่อกันว่า การไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อตกลงหยุดยิงเป็นเรื่องที่คว้าน้ำเหลวเปล่าๆ?


 


อาบูคาลิล : ความเงียบงันของสิ่งที่เราเรียกกันว่า "ประชาคมโลก" ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของอเมริกามาตั้งแต่ยุคสิ้นสุดสงครามเย็น ได้กลายเป็นความเจ็บปวดมากที่สุดของคนเลบานอนไปแล้ว สองปีที่ผ่านมา ชาวเลบานอนถูกบอกว่าประชาคมโลกแคร์พวกเรานะ แต่เดี๋ยวนี้ประชาชนรู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร


 


ผมเชื่อว่า เบื้องหลังท่าทีเช่นนี้ อารมณ์ความรู้สึกแบบ racist  ที่ว่า "ชีวิตคนอิสราเอลมีค่ามากกว่าคนอาหรับ" ยังคงมีอิทธิพลอยู่มาก ผมไม่สงสัยสักนิดว่า ชีวิตของคนอาหรับ...มันไม่เคยมีความหมายต่อพวกที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าอาณานิคมเก่าๆ ในภูมิภาคเราอยู่แล้ว


 


และมันสำคัญมากที่เราจะต้องไม่รับลูก propaganda ของอิสราเอล ด้วยการนำเสนอว่า ทั้งสองฝ่ายที่กำลังสู้รบกันนั้นมีความเท่าเทียมกัน มันไม่เคยมีอะไร "สมน้ำสมเนื้อกัน" ในความขัดแย้งครั้งนี้


 


ไม่เพียงแต่อิสราเอลจะมีความเหนือกว่าหรือได้เปรียบกว่าทางการทหาร แต่อิสราเอลยังฆ่าพลเรือนไปเป็นจำนวนมากด้วย


 


อัลจาซีรา :  ชาวเลบานอนกล่าวโทษเฮซบอลเลาะห์หรืออิสราเอลสำหรับวิกฤตินี้บ้างหรือเปล่า?


 


อาบูคาลิล : ผมคิดว่าชาวเลบานอนทั่วไปกล่าวโทษอิสราเอลที่ใช้กำลังเข่นฆ่าทำลายล้าง แต่พวกที่ซาอุดีอุปถัมภ์ไว้ในเลบานอน ได้พยายามที่จะฉวยโอกาสนำเหตุการณ์นี้ไปสร้างกระแสความโกรธต่อเฮซบอลเลาะห์


 


ในเลบานอน มันไม่เคยมีความคิดเห็นเป็นเอกภาพอยู่แล้ว ไม่ว่าเรื่องใดก็แล้วแต่ และแน่นอนว่า ด้วยความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายนี้ เบื้องหลังเฮซบอลเลาะห์ เราจึงไม่ได้เห็นการรวมพลังเพื่อยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกัน


 


มีชาวเลบานอนจำนวนมาก ซึ่งอาจจะไม่ได้สนับสนุนอุดมการณ์ของเฮซบอลเลาะห์ แต่มีความเชื่อว่า พรรคการเมืองพรรคนี้เท่านั้น ที่กำลังต่อสู้ปกป้องเลบานอนจากความก้าวร้าวป่าเถื่อนของอิสราเอล


 


(มีโพลเพิ่งออกมาหลังสัมภาษณ์ชิ้นนี้ จาก Beirut Center for Research and Information ระบุว่า 87 % ของชาวเลบานอน สนับสนุนการต่อสู้ของเฮซบอลเลาะห์ที่มีต่ออิสราเอล โดยคะแนนที่เอาด้วยนี้มาจากประชาชนหลากหลายทุกกลุ่ม)


 


อัลจาซีรา :  จอห์น บอลตัน (John Bolton) ทูตอเมริกาประจำยูเอ็น ระบุว่า "อิหร่านและซีเรีย" สมควรจะได้รับการตำหนิด้วยเช่นกัน ในการให้ความสนับสนุนเฮซบอลเลาะห์.....


 


อาบูคาลิล :  มันเป็นเรื่อง ironic จริงๆ ที่จะพูดถึงจอห์น บอลตัน - คนที่ไม่กี่เดือนมานี้ รัฐบาลผสมค่ายฮาริรี (รัฐบาลปัจจุบันที่เสียงข้างมากมาจากกลุ่ม "ลูกของฮาริรี") เพิ่งจะแสดงความชื่นชมยินดีให้เกียรติให้รางวัลกันอยู่เลย (รางวัล "Shield of the Cedar"  ในฐานะส่งเสริมอิสรภาพและอธิปไตยเลบานอนยอดเยี่ยม !!!)


 


ใช่ เฮซบอลเลาะห์ได้รับความช่วยเหลือจากอิหร่านและซีเรีย ก็เหมือนกับที่รัฐบาลผสมค่ายฮาริรี ได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกา ฝรั่งเศส ซาอุดิอาระเบีย จอร์แดน น่ะแหละ และเป็นไปได้ว่า...อาจจะมีความช่วยเหลืออ้อมๆ จากอิสราเอลรวมอยู่ด้วยซ้ำ


 


อัลจาซีรา :  อิสราเอลจะโจมตีซีเรียและอิหร่านเป็นรายต่อไปหรือเปล่า? วิกฤติครั้งนี้จะพัฒนาไปเป็นสงครามเต็มรูปแบบของภูมิภาคนี้หรือไม่? แล้วมันจะดึงเอาอเมริกาเข้ามาร่วมด้วยมั้ย?


 


อาบูคาลิล : ดูเหมือนว่า ในขั้นนี้ อิสราเอลจะยังหลีกเลี่ยงการโจมตีซีเรียและอิหร่านออกไป อันเนื่องมาจากสงครามที่อิสราเอลติดพันอยู่กับปาเลสไตน์ยังคงเดินหน้าไปอย่างเข้มข้น อิสราเอลอาจมองไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเปิดศึกอีกตอนนี้


 


ทั้งอเมริกา อียู ยูเอ็น - ตัวแทนของอิสราเอล - จะใช้วิธีดีลกับซีเรียและอิหร่าน ผ่านมาตรการการกดดันและการลงโทษต่างๆ ต่อไป


 


แต่ถ้าซีเรียและอิหร่านจะถูกโจมตีขึ้นมาล่ะก็ งานนี้...โต๊ะพนันคงเลิกรับแทง ไม่มีทางทำนายได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับภูมิภาคนี้  ที่แน่ๆ ก็คือ แผนการของอเมริกาในอิรัก จะเจอเข้ากับอุปสรรคขวากหนาม และการต่อต้านล้มล้างมากขึ้น


 


เวลานี้ อิหร่านคือผู้ที่อำนวยความสะดวกหรือให้ความร่วมมืออ้อมๆ สำหรับอเมริกาในการยึดครองอัฟกานิสถานและอิรัก และ ไม่นานมานี้ ซีเรียก็มีส่วนให้ความร่วมมือกับอเมริกาในการยึดครองอิรักเช่นกัน


 


ถ้าถูกโจมตี มันง่ายมากเลยที่สองประเทศนี้จะทำให้สิ่งต่างๆ มันยิ่งแย่ขึ้นไปอีกสำหรับอเมริกา  และนี่คือคำอธิบายที่ว่า ทำไมอเมริกาถึงยังลังเลอยู่ในการโจมตีทั้งซีเรียและอิหร่าน


 


อัลจาซีรา :  ท่ามกลางสถานการณ์ที่อิรักเองก็กำลังพุ่งเข้าสู่สภาพสงครามกลางเมือง วิกฤติเลบานอนจะมีผลกระทบต่อภูมิภาคนี้อย่างไร?


 


อาบูคาลิล : ขึ้นอยู่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ถ้าอิสราเอลยังได้รับอนุญาตให้ใช้กำลังถล่มเลบานอนต่อไป ซีเรียและอิหร่านอาจจะรู้สึกว่าถูกข่มขู่คุกคาม และหันมาใช้วิธีปล่อยให้กองกำลังต่างๆ ในอิรักออกมาตอบโต้อเมริกาแทน


 


และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ความยากลำบากที่อเมริกาประสบอยู่ในภูมิภาคนี้ก็จะมีแต่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เหตุการณ์สังหารโหดในเลบานอนครั้งนี้จะส่งผลสะเทือนไปทั่วตะวันออกกลาง


 


ลองนึกถึงตอนที่อิสราเอลบุกยึดเลบานอน ปี 1982 เหตุการณ์นั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงราวกับเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาคตามมา รวมทั้งการเกิดขึ้นของขบวนการอย่างฮามาสกับเฮซบอลเลาะห์อีกด้วย


 


ใครก็ตามที่คิดว่า ตอนฝุ่นสงบแล้ว ทุกอย่างจะกลับไปเหมือนปกติ คนๆ นั้น ยังไม่เคยอ่านประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของตะวันออกกลาง


 


ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างอาหรับและอิสราเอล ความก้าวร้าวทางทหารของอิสราเอลจะนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์เสมอ ไม่เพียงผลกระทบโดยตรงที่ต้นตอของเรื่องแล้ว มันยังส่งผลถึงเสถียรภาพของทุกระบอบหรือทุกรัฐบาลอาหรับ...ที่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำยันจากอเมริกาทั้งทางด้านเงินทองและอาวุธ


 


อัลจาซีรา :  ในฐานะผู้เจรจาที่มีอำนาจมากที่สุดในตะวันออกกลาง อเมริกาสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อยุติความขัดแย้งครั้งนี้?


 


อาบูคาลิล : มีแต่คนที่ ignorant หรือไม่ก็โง่มากๆ หรือไม่ก็ทั้ง 2 อย่างเท่านั้นแหละ ที่จะคิดได้ว่าอเมริกาสนใจที่จะยุติความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะมันเป็นเรื่องชัดตำตาอยู่แล้วว่า อเมริกาเห็นดีเห็นงาม-อนุมัติรับรองการใช้ความรุนแรงแบบไม่มีเงื่อนไขของอิสราเอล ทั้งในกรณีของปาเลสไตน์และเลบานอน อเมริกาจะปล่อยให้อิสราเอลเป็นผู้ตัดสินใจเอาเอง ไม่เพียงแต่เรื่องที่ว่า...จะฆ่าชาวอาหรับด้วยท่าทีหรือวิธีการแบบไหน แต่ยังรวมถึง...จะฆ่าเท่าไหร่


 


อัลจาซีรา :  ผู้นำอาหรับบางประเทศได้ออกมาวิจารณ์หรือตำหนิเฮซบอลเลาะห์และผู้ที่อยู่เบื้องหลังสำหรับวิกฤติครั้งนี้ ขณะที่อิหร่านและนักรบบางส่วนในอิรักได้แสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างเฮซบอลเลาะห์อย่างชัดเจน (ล่าสุด ทั้งรัฐสภาและนายกฯ อิรัก ต่างก็ออกมาประณามอิสราเอลอย่างคับคั่ง) เราจะได้เห็นความขัดแย้งระหว่างชีอะต์กับซุนนีที่เข้มข้นขึ้นหรือไม่ นอกเหนือไปจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อาหรับ?


 


อาบูคาลิล :  แน่นอน ซาอุดีได้ตกลงเห็นชอบอย่างเป็นทางการกับการเดินหน้าความขัดแย้งระหว่างซุนนี-ชีอะต์ในตะวันออกกลางแล้ว และแผนนี้ก็ได้รับการสนับสนุนทั้งจากอเมริกาและอิสราเอล สิ่งนี้จะกระทบกับเสถียรภาพของอาหรับหลายประเทศได้ง่ายมาก ไม่เว้นแม้แต่ซาอุดิอาระเบียเอง การเอาความแตกแยกระหว่างซุนนี-ชีอะต์มาเล่น ก็เหมือนกับการเล่นกับไฟ เราก็เห็นผลลัพธ์ของมันแล้ว...จากการที่อเมริกาเข้าไปชักใยให้เกิดความแตกแยกทางนิกายในอิรัก


 


(อย่างไรก็ตาม หลังกระแสมหาชนในโลกอาหรับทั้งซุนนี-ชีอะต์ พร้อมใจกันตอบรับความเป็นฮีโร่ของเฮซบอลเลาะห์ในสัปดาห์ต่อมา ผู้นำซาอุดิอาระเบีย ก็เกิดอาการพลิกตัวยูเทิร์นหันมาเล่นบทใหม่แทบไม่ทัน)


 


อัลจาซีรา :  แล้วรัฐบาลเลบานอนที่รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ จะมีสภาพอย่างไร?


 


อาบูคาลิล : กลุ่มก้อนของฮาริรีที่อยู่ในรัฐบาลผสมชุดนี้จะอ่อนอำนาจลง อันนี้ค่อนข้างชัดเจน ถ้าพวกนี้ไม่ถูกมองว่าไร้น้ำยา ไร้สมรรถภาพ ก็จะถูกมองว่าเป็นหุ้นส่วนลับๆ ของแผนการที่อเมริกา/อิสราเอล/ซาอุดีวางไว้เกี่ยวกับเลบานอน


 


แต่ถึงกระนั้น ถ้าจะดูกันแค่เรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รัฐบาลเลบานอนก็ล้มเหลวอยู่ดี เพราะไม่สามารถตอบสนองแม้แต่ความต้องการพื้นฐานของผู้อพยพลี้ภัยได้เลย


 


อัลจาซีรา :  ในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากต่างก็รู้สึกร่วมกันว่า เลบานอนกำลังจะฟื้นตัว ด้วยการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ ชาวเลบานอนจะมองเห็นโอกาสในระยะยาวของตัวเองได้ยังไง ในเมื่อสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว?


 


อาบูคาลิล : ชาวเลบานอนได้ผ่านความทุกข์ยากมามากมาย - - ประชาชนทางใต้ของเลบานอนได้ผ่านช่วงเวลาของการบุกยึดและใช้กำลังอย่างป่าเถื่อนโหดร้ายของอิสราเอลมาหลายครั้ง ไม่พียงแต่ผู้คนที่นี่จะรู้วิธีฟื้นตัวจากความหายนะและสูญเสียอย่างรวดเร็ว แต่ความสามารถที่จะสร้างขึ้นใหม่และดำเนินชีวิตต่อไป ให้เป็นปกติมากเท่าที่จะทำได้ ถือเป็นคุณสมบัติพิเศษของชาวเลบานอนที่ใครๆ ต่างก็รู้ดี


 


เพียงแต่ว่า เงินงบประมาณที่จะนำมาใช้บูรณะซ่อมแซมสร้างเลบานอนขึ้นมาใหม่นั้น...มันจะได้มาด้วยต้นทุนที่แพงมาก เพราะมันจะเหมือนกับหนี้ต่างประเทศในยุคฮาริรีที่เติบโตทบต้นทบดอกเพิ่มขึ้นทุกวัน พร้อมกับกัดเซาะทำลายอิสรภาพและอธิปไตยของเลบานอนมากขึ้นไปด้วย


 


0 0 0


 


หมายเหตุท้าย


(เมื่อสถานการณ์ไม่ค่อยเป็นใจ อิสราเอลคิดเลขผิดไปหลายข้อ)


 


ตั้งแต่แรกเริ่มสงคราม ไม่เพียงอาสัด อาบูคาลิลเท่านั้น ยังมีนักวิเคราะห์ซ้ายอีกหลายคนที่เชื่อว่า เป้าหมายของอิสราเอลครั้งนี้ นอกจากการปลดอาวุธเฮซบอลเลาะห์แล้ว ก็คือการตั้ง "รัฐบาลหุ่น" ขึ้นในเลบานอน อย่างไรก็ตาม


จนถึงตอนนี้ ดูจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า อิสราเอลคำนวณสถานการณ์ผิดไปหลายข้อ


 


24 กรกฎาคม อาบูคาลิล ได้ร่ายยาวในบล็อกของเขา ถึงรายการที่อิสราเอลประเมินพลาดไป (17 ข้อ) ซึ่งต่อไปนี้จะเป็นการนำรายการที่ว่าของเขามาสรุปตัดต่อใหม่คร่าวๆ ให้ได้เห็นมุมมองของเขามากขึ้น ดังนี้ :


 


จนถึงขั้นนี้ แม้จะยังไม่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่พอเป็นไปได้ที่จะกล่าวว่า อิสราเอลจะไม่ประสบผลตามเป้าหมายทางการเมืองที่วางไว้ ไม่ว่าความก้าวร้าวครั้งนี้จะยาวนานอีกแค่ไหน ต่อให้อิสราเอลสามารถฆ่านัสราลลาห์หรือผู้นำคนอื่นๆ ของเฮซบอลเลาะห์ได้ก็ตาม แต่ความสามารถที่จะพาตัวเองไปถึงเป้าหมายของอิสราเอล...กำลังลดลง สถานการณ์ตอนนี้ได้พุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว คนละทิศทางกับที่อิสราเอลและหุ้นส่วนของเขาเคยตั้งใจเอาไว้ วันนี้ผมนั่งดู มุสตาฟา อัล-ฟาคี (Mustafa Al-Faqi) ในทีวี (ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศในสภาอียิปต์) เขาพูดจาอย่างกับเป็นโฆษกเฮซบอลเลาะห์แน่ะ อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปได้ และนี่ก็คือรายการที่อิสราเอลประเมินพลาดไป


 


1 - รัฐบาลอาหรับไม่กล้าเคลื่อนไหว "รับลูก" ไปไกลเท่าที่อิสราเอลต้องการ (อย่างเคย) ทั้งราชวงศ์ซาอุด ราชวงศ์จอร์แดนและคูเวต ตลอดจน มูบารักของอียิปต์ ต่างก็เล่นบท "แอบจิต" เพื่ออิสราเอลอยู่ในสันนิบาตอาหรับ แต่ตอนนี้ ทั้งสื่อและสำนวนโวหารที่เป็นทางการของอาหรับพวกนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว และไม่ใช่ว่าเป็นเพราะพวกเขาเกิดห่วงใยเหยื่อที่ถูกอิสราเอลบอมบ์ขึ้นมาซะเมื่อไหร่ แต่เป็นเพราะกลัวกระแสความรู้สึกของสังคมน่ะแหละ


 


2 - อิสราเอลคิดว่าชาวมุสลิมชีอะต์ที่ต้องเดือดร้อนอพยพลี้ภัยจะแตกหักกับเฮซบอลเลาะห์ แต่เรื่องกลับกลายเป็นตรงกันข้าม นอกจากประชาชนจะเอาด้วยกับเฮซบอลเลาะห์แล้ว คนของ พรรคอามาล (Amal Party - พรรคการเมืองของชีอะต์ที่ใหญ่ที่สุด) ยังมาร่วมผนึกกำลังกับเฮซบอลเลาะห์อีกด้วย ไม่มีนักการเมืองชีอะต์ "แม้แต่คนเดียว" ที่ออกมาพูดอะไรสวนกระแสเฮซบอลเลาะห์ด้วยซ้ำ


 


3 - อิสราเอลคิดว่า กลุ่มซุนนีและดรูซที่ต้านเฮซบอลเลาะห์-กลุ่มที่ได้รับเงินอุดหนุนจากค่ายฮาริรี-จะหาพวกได้มากขึ้น หรือเสียงดังขึ้น ปรากฎว่าตรงข้ามอีกแล้วงานนี้ ความโกรธต่อพฤติกรรมโหดเหี้ยมของอิสราเอล ทำให้เสียงวิจารณ์ต่อว่าเฮซบอลเลาะห์ต้องเงียบหายไปซะดื้อๆ


 


4 - อิสราเอลคิดว่า (เหมือนในปี 1982) ใบปลิวโง่ๆ ที่โปรยลงมาเหนือเลบานอนตอนใต้จะเป็นสิ่งที่เก๋ไก๋ ฉลาดหลักแหลมสุดยอด แต่เอาเข้าจริง ประชาชนกลับเห็นว่ามันไร้สติ ซื่อบื้อ และเขียนได้ห่วยแตกมาก


 


5 - อิสราเอลคิดว่านักรบเฮซบอลเลาะห์จะหนีเตลิดไปง่ายๆ อิสราเอลคิดว่าการโจมตีกลับของเฮซบอลเลาะห์จะถูกสะกัดอย่างรวดเร็ว อิสราเอลคิดว่านัสราลลาห์หรือบรรดาผู้นำของเฮซบอลเลาะห์ จะต้องหมดฤทธิ์เดชภายใต้ความกดดัน แต่ยังไม่มีร่องรอยอย่างนั้นให้เห็นสักกะนิด


 


6 - อิสราเอลคิดว่า ชาวอาหรับทั่วไปจะมองว่า จุดยืนของเฮซบอลเลาะห์เป็นอะไรที่เสี่ยงภัย ไม่คิดน่าคิดหลัง หรือหาเหาใส่หัว อิสราเอลก็คงจะประเมินถูกหรอกนะ ถ้าเพียงแต่คำพูดของราชวงศ์ซาอุดจะหมายถึงคำพูดของคนอาหรับตามท้องถนนทั่วไป  และถ้าเพียงแต่นักรบเฮซบอลเลาะห์จะไม่ได้ต่อสู้อย่างห้าวหาญขนาดนี้ ยิ่งสงครามยืดเวลาออกไปนานเท่าไหร่ ยิ่งอิสราเอลฆ่าประชาชนมากเท่าไหร่ สาธารณชนทั้งในเลบานอนและอาหรับจะมองเห็นเฮซบอลเลาะห์เป็นฮีโร่มากเท่านั้น o


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net