Skip to main content
sharethis

คงกล่าวได้ว่าในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ หากเอ่ยถึง "ทุ่งสามหมอน" นอกไปจากคน อ.เชียงของ จ.เชียงราย รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว น้อยคนนักที่จะรู้จัก เพราะลำพังแค่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดของ อ.เชียงของ ก็มิได้มีความพิเศษด้านอื่นๆ  ที่จะโดดเด่นเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ โดยเฉพาะบรรดานักลงทุน นายหน้าค้าที่ดินอาจเบือนหน้าหนีเพราะความเป็นทุ่งสามหมอนคงไม่สามารถสร้างมูลค่าด้านการลงทุนใดๆ ได้


 


ทว่า หลังจากที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)กำหนดให้พื้นที่ทุ่งสามหมอนเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) กลับกลายเป็นว่าพื้นที่การเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของ อ.เชียงของ แห่งนี้กลายเป็นที่จับตามองของสาธารณะ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุน นายหน้าค้าที่ดินจ้องมองพื้นที่แห่งนี้ตาเป็นมัน...


 


ที่มาที่ไปนิคมเชียงของ


 


แนวคิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า(ICD) จ.เชียงราย เกิดในปี 2546 เป็นโครงการนำร่องที่จัดทำขึ้นในลักษณะเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อเปิดประตูการค้าการลงทุนระหว่างจีนตอนใต้กับอินโดจีน เอเชียใต้ และอาเซียน ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2546 เห็นชอบการดำเนินการพร้อมทั้งอนุมัติงบกลางปี 2546 จำนวน 3,002 ล้านบาท ให้กนอ.ศึกษาความเหมาะสมรวมทั้งการจัดหาพื้นที่


 


ต่อมา กนอ. สภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และจังหวัดเชียงราย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมตามที่บริษัทไทย-จีนร่วมพัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่เกิดขึ้นภายใต้การร่วมทุนของบริษัทปภามาศ จำกัด (ฝ่ายไทย) และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเกาซิง ซึ่งเป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในจีนยูนนานที่จะเข้ามาเป็นกลุ่มนักลงทุนหลัก ได้นำเสนอพื้นที่ 3,162 ไร่ เขตบ้านศรีบุญยืน ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน


 


ในเบื้องต้นมีการคาดการณ์กันว่าโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาท สามารถรองรับโรงงานอุตสาหกรรมได้ประมาณ 100 โรง มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่วนกิจกรรมที่จะเข้ามาดำเนินการนั้นส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอขั้นปลาย เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องจักรกลทางการเกษตร ฯลฯ


 


อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่สถานที่ก่อสร้างโครงการนี้ลงเอยที่ ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน กลับได้รับการต่อต้านจากชุมชนท้องถิ่นอย่างหนัก เพราะนอกจากนิคมอุตสาหกรรมจะเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตของชาว อ.เชียงแสนแล้ว ยังจะส่งผลต่อความเป็นเมืองเก่าของ อ.เชียงแสนที่มีโบราณสถานกระจายอยู่ทั่วอำเภอด้วย การคัดค้านของชุมชนท้องถิ่นในที่สุดทำให้ช่วงเดือน ธ.ค.2547 นายพินิจ จารุสมบัติ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ในฐานะคณะทำงานที่ครม.มอบหมายให้เข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้สรุปว่าควรย้ายสถานที่ดำเนินการจาก อ.เชียงแสนไปยังพื้นที่อื่น


 


ทุ่งสามหมอนจึงถูกจับตามองมาแต่บัดนั้น !


 


จนในที่สุดวันที่ 11 ม.ค.2548 กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานให้ครม.รับทราบถึงความคืบหน้าในโครงการ โดยระบุว่าพื้นที่แห่งใหม่ที่เตรียมดำเนินการนั้นคือพื้นที่บริเวณทุ่งสามหมอน อยู่ระหว่างรอยต่อ ต.ศรีดอนชัย กับ ต.สถาน อ.เชียงของ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวพบว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ได้คัดค้าน อีกทั้งจากผลการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) และหอการค้าไทย พบว่าพื้นที่นี้มีความเหมาะสม ต่อมาวันที่ 7 ก.พ. 2549 ครม.อนุมัติตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวบนเนื้อที่ 16,000 ไร่


 


ที่ดินเกษตรกรรมกำลังเปลี่ยนมือ


 


ทุ่งสามหมอน เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีเนื้อที่นับหมื่นไร่คาบเกี่ยวระหว่าง 2 ตำบลคือ ต.ศรีดอนชัย กับ ต.สถาน มีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย เช่น ลำน้ำอิง ห้วยร่องปึง ห้วยป่าแงะ ห้วยร่องเขียว ดังนั้นจากสภาพพื้นที่ที่เป็นที่ราบขนาดใหญ่และน้ำท่าอุดมสมบูรณ์นี้เองทำให้ทุ่งสามหมอนเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่ใหญ่ที่สุดใน อ.เชียงของ


 


ทว่า ในระยะ 10 ปีมานี้หลังจาก อ.เชียงของได้รับการพัฒนาในหลายๆด้าน โดยเฉพาะการกำหนดให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการค้าขายกับประเทศต่างๆในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มีโครงการก่อสร้างต่างๆตามมามากมาย ทั้งการสร้างท่าเรือ คลังสินค้า รวมไปถึงโครงการขยายเครือข่ายถนนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง กรณีเหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ที่ดินทุ่งสามหมอนรวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ใน อ.เชียงของ ส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนถ่ายกรรมสิทธิ์จากชาวบ้านดั้งเดิมไปอยู่ในมือกลุ่มทุนทั้งในและนอกพื้นที่ที่ซื้อไว้เพื่อการเก็งกำไร


 


คำแสน ชัยวงศ์ กำนัน ต.ศรีดอนชัย กล่าวว่า จริงๆ  แล้วพื้นที่บริเวณดังกล่าวนอกจากทุ่งสามหมอนแล้วยังมีทุ่งตับเต่า ทุ่งป่ายาง ทุ่งป่าแงะซึ่งทั้งหมดอยู่ติดกันมีเนื้อที่รวมกันทั้งหมดเป็นหมื่นไร่ ชาวบ้านประมาณ 90% ใช้พื้นที่เหล่านี้ในการทำนา ส่วนที่เหลือเป็นไร่ข้าวโพดและสวนผลไม้ แต่ที่ผ่านมาไม่กี่ปีมานี้พื้นที่บางส่วนถูกกลุ่มทุนกว้านซื้อเพื่อเก็งกำไร


 


โดยเฉพาะในระยะ 2-3 ปีมานี้ภายหลังที่มีข่าวว่านิคมอุตสาหกรรมจะมาสร้างที่ทุ่งสามหมอน ราคาที่ดินบริเวณทุ่งสามหมอนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ซื้อขายกันไร่ละ 7-9 หมื่นบาทปัจจุบันพุ่งขึ้นเป็น 2-3 แสนบาทเลยทีเดียว แต่กระนั้นก็ยังมีการซื้อขายกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ชาวบ้านบางส่วนกลายเป็นเศรษฐีที่ดินกันถ้วนหน้า


 


"ผมเตือนชาวบ้านตลอดว่าอย่าไปขายเลย เก็บไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานดีกว่า แม้ขายไปได้เงินมา 4-5 ล้านแต่ไม่กี่ปีเงินนั้นก็หมด แล้วอีกอย่างทุ่งสามหมอนนี้เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของอำเภอ เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญคนเชียงของมีข้าวกินจากที่นี่ ดังนั้น หากขายที่ดินไปต่อไปเราต้องซื้อข้าวกินกันแน่" คำแสน กล่าวและว่าเรื่องการขายที่ดินนี้ในส่วนของตนในฐานะเป็นกำนันคงต้องชี้แจงอธิบายให้ชาวบ้านรับรู้ถึงปัญหาที่จะตามมารวมทั้งปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการมีนิคมอุตสาหกรรมด้วย


 


อินสม วงศ์ชัย ประธานสภาวัฒนธรรม ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ กล่าวว่า เท่าที่ตนทราบพบว่าโครงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมนี้เดิมทีจะมาสร้างที่ทุ่งสามหมอนในเนื้อที่แค่ 3,000 ไร่เท่านั้น แต่มาระยะหลังพบว่าพื้นที่ดำเนินการจริงมากถึง 16,000 ไร่ และภายหลังที่ ครม.อนุมัติให้โครงการนี้ดำเนินการได้ในพื้นที่ทุ่งสามหมอนแล้วพบว่ามีการซื้อขายที่ดินกันอย่างกว้างขวางโดยมีนายหน้าค้าที่ดินรายใหญ่อยู่ที่  ต.สถาน


 


อินสม กล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะปัญหาที่จะเกิดนั้นด้วยกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมทั้งวัฒนธรรมของคน อ.เชียงของ อย่างพื้นที่ทุ่งสามหมอนนั้นกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งการทำการเกษตรที่ใหญ่และมีความอุดมสมบูรณ์มาก ดังนั้น ในอนาคตหากเปลี่ยนสภาพทุ่งสามหมอนจากทุ่งนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแล้วต่อไปชาว อ.เชียงของ ต้องเดือดร้อนแน่


 


ความเงียบในความเคลื่อนไหว


 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระยะนี้โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและสถานีขนถ่ายสินค้า (ICD) อ.เชียงของ   จ.เชียงราย จะไม่มีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ แต่กระนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน อ.เชียงของ พบว่าชาวบ้านจำนวนมากต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในโครงการนี้ บ้างก็เห็นด้วยบ้างก็คัดค้าน ขณะที่ข้อมูลรายละเอียดโครงการทั้งหมดแทบไม่มีการเปิดเผยหรือชี้แจงให้ท้องถิ่นได้รับรู้


 


นิวัตร ร้อยแก้ว ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การสร้างนิคมอุตสาหกรรมใน อ.เชียงของแม้ในระดับพื้นที่ตอนนี้เรื่องยังเงียบแต่ตนเชื่อว่าทางเบื้องบนยังมีการเคลื่อนไหวกันอยู่เพียงแต่ว่าการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีการเปิดเผยออกสู่สาธารณะเท่านั้นเอง ซึ่งที่ผ่านๆมาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมักเป็นแบบนี้มาโดยตลอด


 


อย่างไรก็ตาม  นิวัตร กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญสุดตอนนี้ต้องเร่งทำความเข้าใจถึงผลได้ผลเสียจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมให้ชาว อ.เชียงของได้รับรู้ ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มรักษ์เชียงของเองนั้นกำลังรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจากทั่วประเทศเตรียมทำเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในเร็วๆนี้


 


"ตอนนี้คนเชียงของต้องคิดให้หนัก จะมองผลประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น เรื่องการจ้างงาน การค้าขายไม่ได้แล้ว บ้านเราเป็นเมืองเก่าจะเหมาะหรือไม่หากมีนิคมอุตสาหกรรมเข้ามา ตอนนี้เราก็มีจุดขายที่เพียงพอและยั่งยืนอยู่แล้ว ไม่มีนิคมอุตสาหกรรมเราก็อยู่ได้ไม่เดือดร้อน แต่หากมีนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาเราอาจมีรายได้มวลรวมเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องพิจารณาถึงความสุขมวลรวมของท้องถิ่นด้วยว่าจะเป็นอย่างไร" ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว


 


กล่าวได้ว่า ถึงตอนนี้คนเชียงของคงต้องพิจารณาทบทวนข้อดีข้อเสียจากการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมอย่างจริงๆ จังๆ แล้วว่าแท้จริงแล้วโครงการดังกล่าวจะสร้างคุณหรือโทษแก่ชาวเชียงของกันแน่ ก่อนที่ทุกอย่างจะเดินหน้าไปโดยที่ท้องถิ่นไม่มีโอกาสทบทวน.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net