Skip to main content
sharethis

เผยแพร่เป็นภาษาไทย


วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2549


แปลจาก AS-152-2006


 


ประเทศไทย : การไม่ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเรื่องการต่อต้านการทรมานทำลายทั้งชื่อเสียงของไทยในเวทีสากลและชีวิตของเหยื่อแห่งการทรมาน


ตำรวจสภอ.เมือง จังหวัดอยุธยาจับเอกวัฒน์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ปีพ.ศ. 2547 ในข้อหาปล้นทรัพย์ ตอนที่ตำรวจที่อยุธยาขังเอกวัฒน์ไว้ที่สถานีตำรวจ เอกวัฒน์ระบุว่าตำรวจเอาถูกมาครอบหัวและตีตามร่างกายและบังคับให้สารภาพเรื่องการปล้นทรัพย์ แล้วก็ถูกย้ายไปขังที่สถานีตำรวจที่อำเภออุทัย และที่นั่นเขาถูกช็อตไข่ด้วยไฟฟ้า โชคดีที่เขาสามารถได้รับการช่วยเหลือนำไปยังโรงพยาบาลได้ทัน


 


สื่อมวลชนรายงานภาพและข่าวของเอกวัฒน์ เรื่องการถูกช๊อตไข่และตามร่างกาย เขาได้รับบาดเจ็บจากการถูกตีทั่วร่างกายโดยเฉพาะรอยถูกกระทืบด้วยรองเท้าบูธ นอกจากนี้ใบหน้าและแก้มบวมช้ำ และมีเลือดออกที่ตา เจ้าหน้าที่รัฐบาลและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปเยี่ยมเยียนหลายคน มีการจัดตำรวจรักษาความปลอดภัยให้กับเอกวัตรเป็นเวลา 30 วัน


 


ตำรวจ 23 นายถูกย้ายเข้ากรุงเทพในระหว่างที่มีการสอบสวนการซ้อมทรมานเอกวัฒน์ นายตำรวจระดับผู้บังคับการภาคได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนว่าจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญากับตำรวจ และคดีนี้ถูกโอนไปเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน แต่แล้วก็ไม่มีการดำเนินคดีกับตำรวจสักคนทั้ง ๆที่มีหลักฐานปรากฎชัดเจน และต่อมาตำรวจทุกนายก็ได้กลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิม


 


เอกวัฒน์เคยไปพูดถึงประสบการณ์การถูกทรมานที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและมีทนายความจากสภาทนายความช่วยคดี องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายก็ให้ความสำคัญกับกรณีนี้มากเป็นพิเศษ


 


แม้ว่ากรณีของเอกวัฒน์จะเป็นกรณีพิเศษ เขากลับไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยในฐานะพยาน จนสุดท้ายได้ถอนคำร้องที่จะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนวันที่ศาลจะเปิดพิจารณาการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 โดยที่เขาก็ไม่ได้บอกทนายความจากสภาทนายความล่วงหน้า ขณะที่สื่อมวลชนหันไปให้ความสนใจกับเรื่องอื่น เอกวัฒน์ก็ตัดสินใจหยุดเรื่องราวตามกระบวนการยุติธรรม โดยไม่มีใครสามารถตอบคำถามถึงการตัดสินใจของเขาในครั้งนี้ แต่การที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ก็อาจเป็นเหตุให้เขาต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นโดยลำพัง


 


ประเทศไทยไม่เคยปกป้องคุ้มครองเหยื่อที่ถูกทรมานอย่างเอกวัฒน์และหลาย ๆคนที่ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน ยังไม่มีกฎหมายใด ๆ ที่จะฟ้องร้องเอาผิดต่อผู้ที่ทรมานผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ ความเป็นจริงแล้ว มาตรา 31 ของรัฐธรรมนูญไทยก็ได้ให้หลักประกันเรื่องการห้ามการทรมานไว้แล้ว ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทรมานผู้ต้องหาคนใดถูกฟ้องและได้รับโทษทางอาญาเลย


 


อีกทั้ง ประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องการต่อต้านการทรมาน แม้ว่าจะมีแรงกดดันทั้งจากในและต่างประเทศรณรงค์ให้ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาหลักฉบับนี้โดยเร็ว หากยิ่งล่าช้าไปจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียภาพพจน์ด้านสิทธิมนุษยชนในประชาคมโลก


 


ไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือใดในการที่ไทยไม่เข้าเป็นภาคี แม้ว่าหน่วยงานรัฐหลายหน่วยสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่เป็นที่ทราบกันว่า บุคคลหรือหน่วยงานที่มีอิทธิพลบางส่วนยังแสดงอาการต่อต้าน และนี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสนธิสัญญาอะไรก็ตามแต่ที่ว่าด้วยเรื่องการทรมาน และการปฏิบัติอันโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อหน่วยงานที่ทำหน้าที่รักษากฎหมาย ที่ได้ชื่อว่าใช้มาตรการความรุนแรงในการให้ได้มาซึ่งคำรับสารภาพและเพื่อเป็นการลงโทษ "คนเลว" และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงของรัฐจึงไม่มีอำนาจตัดสินใจต่อการลงนามในกฎหมายสากลฉบับนี้ อำนาจนี้เป็นของรัฐบาล โดยคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงต่างประเทศ ความรับชอบในการลงนามและการรับผิดในการไม่ลงนามอยู่ที่หน่วยงานดังกล่าวเหล่านี้


 


เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการที่ประเทศไทยไม่ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของสภาสิทธิมนุษยชนของสหประชาติที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้นก็เพราะว่าประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาหลักฉบับนี้ แต่ประเทศไทยก็ยังยืนยันว่าจะลงสมัครเป็นสมาชิกของสภาสิทธิมนุษยชนอีกครั้งในปีพ.ศ. 2550 กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียได้กล่าวไว้แล้วว่าประเทศไทยต้องเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องการต่อต้านการทรมาน ในวันสากลต่อต้านการทรมาน หรือวันสากลแห่งการสนับสนุนเหยื่อผู้ถูกทรมาน กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียเรียกร้องให้ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาว่าจะตัดสินใจเป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญานี้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่เพียงแต่พูดว่า "กำลังพิจารณาการเข้าเป็นรัฐภาคี"


 


เราไม่ควรปล่อยให้อำนาจการตัดสินใจนี้อยู่ที่ตำรวจหรือทหาร หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐ การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของผู้มีอำนาจบริหารประเทศที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ การปรึกษาหารือหรือการถกเถียงเพื่อให้ได้ความคิดเห็นในเรื่องการลงนามหรือไม่ลงนามเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ไม่ควรใช้เวลาให้มากเกินไปในขบวนการตัดสินใจครั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไทยตัดสินใจลงนามในอนุสัญญาการต่อต้านการทรมานจะทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์ในการแสดงออกถึงคำมั่นสัญญาในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่อไปข้อเรียกร้องของเอกวัฒน์ก็จะมีคำตอบและเป็นความหวังของเหยื่อผู้ทรมานในประเทศไทย


………………………………………………………………..


กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย หรือ AHRC เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในระดับภูมิภาค ที่ทำงานด้านการตรวจสอบและรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย AHRC ก่อตั้งปี 2527 และมีสำนักงานอยู่ที่ประเทศฮ่องกง


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net