Skip to main content
sharethis

ภาคใต้ - เปิด "ศาลปัตตานี" ไกล่เกลี่ยคดีญาติผู้เสียชีวิตม็อบตากใบ ฟ้อง 6 หน่วยงานราชการเรียกค่าเสียร้อยกว่าล้าน นัดแรกส่อแววดี ทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมประนีประนอม นัดถกรอบใหม่ 23 กรกฎาฯ "ผู้ว่าฯ ปัตตานี" เปิดคลื่นวิทยุรับแจ้งเบาะแสเหตุร้าย จับตาความเคลื่อนไหวชายแดนไทย - มาเลย์ 24 ช่วโมง


 


เปิดศาลไกล่เกลี่ยคดีม็อบตากใบ


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 มิถุนายน 2549 ศาลจังหวัดปัตตานีได้นัดไกล่เกลี่ยคดีที่ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจำนวน 103,140,462.46 บาท โดยฝ่ายโจทย์ ประกอบด้วย ตัวแทนญาติผู้เสียชีวิต 21 คน พร้อมทนายความ ได้หารือกับฝ่ายจำเลย ประกอบด้วย ตัวแทนกระทรวงกลาโหม ตัวแทนกองทัพบก ตัวแทนกองบัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตัวแทนกระทรวงมหาดไทย ตัวแทนกรมการปกครอง ตัวแทนจังหวัดนราธิวาส พร้อมพนักงานอัยการ


 


นายกิติ พงษ์ศกร ผู้รับผิดชอบโครงการไกล่เกลี่ยศาลแขวงปัตตานี เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากฝ่ายจำเลยเป็นเพียงตัวแทนหน่วยงาน ยังไม่ชัดเจนในบทบาทและอำนาจการตัดสินใจ ศาลจึงนัดไกล่เกลี่ยใหม่ ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2549 โดยตัวแทนฝ่ายจำเลย จะต้องมีหนังสือรับมอบอำนาจจากผู้บังคับบัญชามาแสดงด้วย คาดว่าการไกล่เกลี่ยนัดต่อไป จะมีความชัดเจนมากขึ้น


 


นายรัษฏา มนูรัษฏา รองประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในฐานะทนายความฝ่ายโจทก์ เปิดเผยว่า การนัดไกล่เกลี่ยครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และส่งผลดีต่อการประนีประนอม ที่จะนำไปสู่การยุติคดีความ เพราะทั้งจำเลยและโจทก์มีความประสงค์ให้มีการประนีประนอมตรงกัน สาเหตุที่การไกล่เกลี่ยยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากติดขัดข้อระเบียบราชการ ในเรื่องการจ่ายค่าเสียหายของฝ่ายจำเลย จึงต้องนัดเจรจากันอีกครั้ง ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2549 ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้ามากกว่านี้ และถ้าหากหาข้อยุติได้ จะเป็นการดีกับทุกฝ่าย


 


ขณะที่ตัวแทนกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การไกล่เกลี่ยเป็นเรื่องดี เพราะฝ่ายจำเลยก็ต้องการประนีประนอมเช่นกัน ส่วนรายละเอียดการเจรจาระหว่างการไกล่เกลี่ย ยังเปิดเผยไม่ได้


 


สำหรับคดีฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 คน และผู้เสียชีวิตระหว่างการขนย้ายผู้ชุมนุมมาที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีอีก 75 คน


 


ต่อมา ญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นฟ้องแพ่งต่อศาลจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2548 เรียกค่าเสียหาย 103,140,462.46 บาท จากจำเลยที่ 1 - 6 ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กองทัพบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง และจังหวัดนราธิวาส ในความผิดฐานละเมิด


 


เปิดคลื่นวิทยุแจ้งข่าวเตือนภัยป่วนใต้


วันเดียวกัน นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี แถลงว่า การลอบวางระเบิด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 ใน 12 อำเภอ ของจังหวัดปัตตานีมีทั้งสิ้น 21 จุด เกิดเหตุระเบิด 12 จุด จับกุมคนร้ายได้ 9 ราย หนึ่งใน 9 ราย เป็นคนร้ายที่มีหมายจับ คือ นายอับดุล ปูเต๊ะ พบหลักฐาน เช่น อาวุธปืน 2 กระบอก กระสุนปืน เอกสาร อุปกรณ์สำหรับทำระเบิด โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพยานหลักฐานจากกล้องวงจรปิด พยานหลักฐานจากการให้ปากคำ เบาะแสจากประชาชนตั้งแต่ก่อนและหลังเกิดเหตุ ทำให้มั่นใจว่า ไม่มีการจับกุมผิดตัว


 


นายภาณุ แถลงต่อไปว่า นอกจากเปิดโทรศัพท์สายด่วน 1881 เพื่อรับแจ้งข่าวจากประชาชนแล้ว จังหวัดปัตตานียังได้เปิดสถานีวิทยุคลื่น FM 108 MHz ชื่อสถานีคลื่นสันติสุข เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร เรื่องราวร้องทุกข์ ชี้แจงความสงสัยให้กับคนในพื้นที่ โดยทดลองออกอากาศมาแล้ว 5 วัน เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารข้อมูลระหว่างภาครัฐกับประชาชน


 


"สถานีสันติสุข จะรับเรื่องแจ้งเหตุจากพี่น้องประชาชนนำไปแจ้งต่อกับผู้ฟัง รวมทั้งสร้างความเข้าใจ แจ้งเตือนภัย ชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง" นายภาณุ กล่าว


 


จับความเคลื่อนไหวชายแดนไทย-มาเลย์


วันเดียวกัน ที่บริเวณด่านพรมแดนไทย - มาเลเซีย อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พ.ต.ต.อโนทัย แสงเฟื่อง สารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง ได้ประสานกับตำรวจตระเวนชายแดนที่ 445 เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคลเดินทางผ่านเข้า - ออก รวมถึงตรวจสอบพาหนะและสัมภาระต่างๆ อย่างละเอียด โดยเน้นหาบุคคลต้องสงสัยที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบ


 


ขณะที่ตามแนวตะเข็บชายแดนช่วงอำเภอเบตงเชื่อมต่อกับตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และประเทศมาเลเซีย ทั้งตำรวจ - ทหาร ได้เพิ่มมาตรการดูแลความเรียบร้อยตลอด 24 ชั่วโมง และตลอดแนวตะเข็บชายแดน ตั้งแต่อำเภอเบตงถึงจังหวัดนราธิวาส กองกำลังของไทยและมาเลเซีย ได้ออกลาดตระเวนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


 


ยิงหัวหน้าอส.ยะหริ่งดับ


เวลา 06.30 น. วันเดียวกัน นายอุทัยวุฒิ รักษานาค อายุ 35 ปี หัวหน้าชุดอาสาสมัครรักษาดินแดน อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ขับรถจักรยานยนต์ฮอนด้า สีเหลือง หมายเลขทะเบียน กพบ - 484 ปัตตานี ออกจากบ้านพักเลขที่ 7 หมู่ 4 ตำบลตาแกะ อำเภอยะหริ่ง เพื่อไปส่งนางประยูร เชื้อนรา ไปทำงาน มาตามถนนสาย 412 ปัตตานี - นราธิวาส


 


เมื่อมาถึงหมู่ 1 บ้านบือเจาะ ตำบลบางปู อำเภอยะหริ่ง มีคนร้าย 2 คนนุ่งโสร่ง ขับรถจักรยานยนต์ ไม่ทราบสีและป้ายทะเบียนตามประกบยิงด้วยอาวุธปืนพกสั้น 2 นัด เข้าที่บริเวณศีรษะเสียชีวิตคาที่ แล้วขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไปอย่างรวดเร็ว


 


ตากใบเจอบึ้มวัด


เวลา 19.25 น. วันเดียวกัน มีเหตุระเบิดบริเวณม้านั่งหินขัด ด้านประตูทางเข้า - ออกวัดเกาะสวาท บ้านเกาะสวาท หมู่ 5 ตำบลไพรวัณ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส แรงระเบิดทำให้ม้านั่งหินขัดหัก 2 ท่อน กำแพงวัดเป็นรูโหว่เสียหายบางส่วน ภายในรัศมี 15 เมตร พบชิ้นประกอบวัตถุระเบิด เศษแผงโทรศัพท์มือถือ เศษเหล็ก ปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรท เศษเหล็กหุนยาว 1 นิ้ว ตกเกลื่อนพื้นถนน


 


จากการตรวจสอบพบคนร้ายซุกซ่อนระเบิดแสวงเครื่องบรรจุในกล่องเหล็ก 4 เหลี่ยม น้ำหนัก 4 กิโลกรัม ใส่ถุงพลาสติกสีดำ นำมาวางไว้ใต้ม้านั่งหินขัด แล้วจุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่มีคนอยู่ที่จุดเกิดเหตุ จึงไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต


 


"อธิบดีกรมการปกครอง" เยี่ยมปลัดเหยื่อระเบิด


เวลา 11.00 น. วันเดียวกัน ที่ห้องพิเศษหอผู้ป่วยไฟไหม้ - น้ำร้อนลวก โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อำเภอเมืองยะลา นายชาญชัย สุนทรมัฏฐ์ อธิบดีกรมการปกครอง พร้อมคณะ ได้เดินทางมาเยี่ยมนายมุสตอฟา มะสะอะ ปลัดอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ที่ถูกคนร้ายลอบวางระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัสพร้อมภรรยา เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2549


 


นายชาญชัย กล่าวภายหลังการเข้าเยี่ยมว่า ยังแปลกใจอยู่ว่า ทำไมสถานที่ราชการ ซึ่งเปิดไว้บริการประชาชน เป็นสถานที่สาธารณะ จึงตกเป็นเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม ทุกพื้นที่คนร้ายสามารถทำอะไรได้หมด ทำตรงจุดไหนก็ได้


 


จากนั้น นายชาญชัยได้เดินทางไปร่วมสัมมนาโครงการพัฒนาผู้นำหมู่บ้าน ที่โรงแรมปารค์วิว อำเภอเมืองยะลา ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอหัวหน้าประจำตำบล เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน เกษตรตำบล และสาธารณสุขตำบล ประมาณ 250 คน


 


"ภริยาอ๋อย" เยี่ยมเหยื่อบึ้มยะลา


เวลา 14.00 น. วันเดียวกัน นางจิราภรณ์ ฉายแสง ภริยานายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ และนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน พร้อมคณะ เข้าเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา โดยมีนายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ให้การต้อนรับ


 


สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บ ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ประกอบด้วย นายมุสตอฟา มะสะอะ ปลัดอำเภอกาบัง นางปาวีนา มะสะอะ ภรรยานายมุสตอฟา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำสถานีอนามัยบ้านมะนังดามา ตำบลกาบัง ด.ต.ทิพย์ ศรีบัว ผู้บังคับหมู่งานจราจร สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองยะลา นางพรรณี สุกุมารพันธ์ ด.ต.ทิพรส แซ่อึ่ง จากสถานีตำรวจภูธรอำเภอรือเสาะ


 


ผู้ต้องหาทุบครูมอบตัว


เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 18 มิถุนายน 2549 นายมะดารี มาเยาะกาเซะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกูจิงลือปะ อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 57/1 บ้านกูจิงลือปะ หมู่ที่ 4 ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้นำตัว 8 ผู้ต้องหาคดีกักขังหน่วงเหนี่ยว 2 ครูสาวโรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ก่อนถูกชายฉกรรจ์ 5 - 8 คน รุมทำร้ายได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 สำหรับผู้ต้องหาทั้ง 8 คน เป็นสตรีในหมู่บ้านกูจิงลือปะ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net