Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 21 มี.ค.49      เมื่อเวลาประมาณ 21.40 น. แกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 คน ได้ขึ้นเวทีแถลงข่าวท่าทีและการจัดการเคลื่อนไหวใหญ่ โดยนายสนธิ ระบุว่า แกนนำพันธมิตรฯ มีมติร่วมกันให้พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อนำไปสู่กระบวนการปฏิรูปการเมืองรอบ 2 หากพ้นกำหนดในคืนวันที่พฤหัสบดีที่ 23 มี.ค.นี้ ทางพันธมิตรฯ ได้เตรียมาตรการขั้นแตกหักไว้แล้ว และจะแจ้งให้ทราบในคืนวันนั้น


 


ทั้งนี้ ทางกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการยื่นฎีกาขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ที่นายจำลอง ศรีเมือง ได้พูดถึงระหว่างรณรงค์ย่านถนนสีลมเมื่อเช้านี้ และมีการระบุว่าพันธมิตรทั้งหมดจะชี้แจงจุดยืนเรื่องนี้เวลา 21.00 น.


 


ส่วนความคืบหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอเรื่องด่วนขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ใน 3 ประเด็นนั้น ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมมีมติไม่รับคำร้องของ กกต.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ดังนี้


 


1.กรณีที่ขอให้พิจารณาว่า เมื่อครบกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่าเขตเลือกตั้งที่ 3 จ.สมุทรสาคร มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว คือนายอุดม ไกรวัตนุสสรณ์ ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำสั่งว่า นายอุดมเป็นผู้เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งทำให้เขตเลือกตั้งดังกล่าวไม่มีผู้สมัครเหลืออยู่ กกต.จะสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาโดยเปิดรับสมัครใหม่ได้หรือไม่ คณะตุลาการเสียงข้างมาก 9 ต่อ 1 เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 144 บัญญัติให้ กกต.เป็นผู้ควบคุมดำเนินการ หรือ จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งปัญหาใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการรับสมัครดังกล่าวจึงยังอยู่ในอำนาจการพิจารณาดำเนินการของ กกต.


 


กกต.ยังไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาการไม่มีผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร เขต 3 ดังนั้น ประเด็นที่ขอให้พิจารณาจึงไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของ กกต. จึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณา


 


2.กรณีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า กรณีเขตเลือกตั้งใดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น เมื่อ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น ตาม พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ส.ว. 2541 มาตรา 74 วรรค 2 จนครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งตามมาตรา 7/1 ของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมเลือกตั้งส.ส.ส.ว.2543 แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ยังไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดได้รับคะแนนเสียงเกินกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิ ซึ่งอาจทำให้ได้ ส.ส.ไม่ครบ 500 คน ตามมาตรา 98 และทำให้ไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาได้ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญได้ จะถือว่า กกต.ได้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จหรือยัง


          


และ 3. ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า รายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ที่ส่งผู้สมัครแล้วเป็นที่คาดหมายได้ว่า เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จจะได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบจำนวน 100 คนแน่นอน กกต.จะสามารถเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่ที่ยังขาดอยู่ได้หรือไม่


 


เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คณะตุลาการลงมติด้วยคะแนนเอกฉันท์ เห็นว่า ทั้ง 2 ประเด็นนั้น กกต.เพียงแต่คาดการณ์ว่าหลังการเลือกตั้ง 2 เม.ย.จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ซึ่งขณะที่เสนอคำร้องยังไม่ได้มีการเลือกตั้งและยังไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต.เกิดขึ้น คำร้องดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการหารือโดยไม่เป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัย


         


ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตร กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) เวลา 9.00 น. ทางพันธมิตรฯ จะเดินทางไปกดดันหน้าสำนักงาน กกต. ในประเด็นสำคัญคือ 1.เรียกร้องให้ กกต. พิสูจน์ความเป็นกลางและอิสรภาพในการเลือกตั้งครั้งนี้ และเรียกร้องให้ตรวจสอบเพื่อตัดสิทธิ์ไม่ พ.ต.ท. ทักษิณ เล่นการเมือง 1 ปี เนื่องจากเข้าข่ายการใช้อำนาจรัฐเพื่อช่วยเหลือพรรคไทยรักไทยในการหาเสียงเลือกตั้ง


         


2.ทางพันธมิตรจะลองถามความชัดเจนต่อ กกต. ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องของ กกต.ในประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ใน 3 ประเด็นนั้น ทาง กกต.เตรียมทางออกไว้อย่างไร การจะให้ประชาชนเดินทางไปใช้สิทธิเสียเปล่า กกต.ต้องให้ความชัดเจนก่อน วันที่ 2 เม.ย.


 


3.แกนนำพันธมิตรต้องการประณามการทำงานของ กกต.ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่ได้แสดงออกถึงความเป็นองค์กรอิสระ แต่กลับถูกทำให้เป็นกลไกสร้างความชอบธรรมในการเลือกตั้ง


 


รัฐบาลแจงทูตทั่วโลกไม่ต้องห่วง   


ส่วน น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีการหยิบยกประเด็นเรื่องผลกระทบจากการชุมนุมขึ้นมาหารือแต่อย่างใด รวมทั้งการที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้การแยกย้ายไปประท้วงตามจุดต่าง ๆ เนื่องจากตำรวจได้ดำเนินการด้านความปลอดภัยอยู่แล้ว


 


ต่อข้อถามว่าการที่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมเข้าทำเนียบขณะที่เครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้แยกย้ายไปรณรงค์ขับไล่นายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ว่าเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลได้ยอมรับความเห็นที่แตกต่างของฝ่ายพันธมิตรฯ ฝ่ายพันธมิตรฯ ก็ต้องยอมรับความเห็นของประชาชนกลุ่มอื่นด้วย รัฐบาลมีหน้าที่ให้ทุกฝ่ายที่ต้องการแสดงความเห็นทำได้ภายใต้กรอบกติการัฐธรรมนูญ ที่ชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ถ้าอยู่ในกติกานี้รัฐบาลไม่มีข้อจำกัดในการดำเนินการใด ๆ เพื่อปิดกั้น


         


ส่วนการประชุมเอกอัครราชทูตที่กระทรวงการต่างประเทศในวันพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) นั้น น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า  รัฐบาลจะชี้แจงหลักในเรื่องภาวะการยุบสภาขณะนี้ การมีกำหนดเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 2 เมษายน การชุมนุมแสดงความเห็นประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกับรัฐบาล และมีการแสดงความเห็นของประชาชนอีกหลายกลุ่มที่คล้อยตามรัฐบาล โดยเชื่อว่าเอกอัครราชทูตของประเทศต่าง ๆ มีความคุ้นเคยกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะมีความเข้าใจว่าสถานการณ์ไม่น่าห่วงใย ถ้าทุกฝ่ายยืนยันว่าเราไม่ประสงค์เห็นความไม่สงบเรียบร้อย หรือความรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net