Skip to main content
sharethis



 


                               


อดีตผู้ว่าฯ - นายวิสุทธิ์ สิงห์ขจรวรกุล อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร.ต.วิจิตร สุระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นำทีมอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคใต้ ออกมาแถลงเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณลาออก ขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เพื่อปฏิรูปการเมือง โดยมีนายวิเชียร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ร.ต.หิรัญ ศิษฎิโกวิท อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายกิตติ กิตติโชควัฒนา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายสถิตย์ แสงศรี อดีตผู้ว่าราการจังหวัดปัตตานี จังหวัดกระบี่ จังหวัดระนอง นายประสิทธิ์ บัวดวง อดีตรองผู้ว่าราการจังหวัดสตูล นายชัยรัฐ เสถียร อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายยงยุทธ แสงจันทร์ อดีตรองผู้ว่าราการจังหวัดสงขลา นายอภิชาติ จุลเสวก อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จังหวัดสงขลา เข้าร่วมแถลง


 



ประชาไท—14 มี.ค. 2549 เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 มีนาคม 2549 ที่โรงแรมนีโอ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีกลุ่มข้าราชการบำนาญระดับสูง ออกมาแถลงข่าวเรียกร้องให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีพระราชทาน เพื่อปฏิรูปการเมือง ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาจากความต้องการของประชาชนชาวไทย โดยย้ำว่าการลาออกของนายกรัฐมนตรี จะต้องเกิดขึ้นก่อนถึงวันเลือกตั้ง ในวันที่ 2 เมษายน 2549

 


ทั้งนี้ รายละเอียดแนวคิดประกอบข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ปรากฏในบทความ "พบกันครึ่งทาง" ของร.ต.วิจิตร สุระกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่ง "ประชาไท" ได้คัดลอกนำมาเสนอดังต่อไปนี้


 


 


พบกันครึ่งทาง


 ร.ต.วิจิตร สุระกุล


อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี


 


รักษาการนายกรัฐมนตรีกล่าวหาพรรคการเมืองฝ่ายค้านว่า ที่รัฐบาลกับฝ่ายค้านขัดแย้งกันนั้น รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาให้แล้ว เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกว่า  จะให้ใครเป็นผู้บริหารประเทศ  การที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่ส่งสมาชิกลงเลือกตั้ง ถือว่าไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย น่าจะกลัวแพ้มากกว่า  ฝ่ายค้านแก้ว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นธรรม ต้องหาคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วแก้ไขกติกาเลือกตั้งให้เป็นธรรมเสียก่อน จึงค่อยว่ากัน ฝ่ายรัฐบาลก็โต้กลับว่า กติกาเหล่านี้ฝ่ายค้านเป็นคนทำมาเองทั้งสิ้น ใช้เลือกตั้งมาสองครั้งแล้วไม่มีปัญหา มาถึงวันนี้กลับบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่เป็นธรรม ดูแล้วไม่มีเหตุผล ทั้งสองฝ่ายหาข้อยุติไม่ได้ และจะหาไม่ได้ตลอดไป ถ้าไม่หันหน้าเข้าหากันแล้ว เอาความจริงมาพูดกัน


 


ความจริงมีอยู่ว่า เมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน ได้รับเลือกตั้งให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีความหลากหลายทั้งในเรื่องความรู้ อาชีพและประสบการณ์ พวกที่เคยไปศึกษาในต่างประเทศ เห็นว่าเขาทำกันอย่างไร ก็ลอกมาใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญที่ไปเห็นว่าอเมริกาเขามีองค์กรอิสระ (Indipendent Agency) ก็ลอกเอามา ที่ไปเห็นว่าสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ระบบประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) ประชาชน 50,000 คน มีสิทธิทางการเมืองในเรื่องอะไรบ้างก็ลอกเอามา ที่ไปเห็นว่าเยอรมันมีการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน(Proportional representation) ก็ลอกเอามา ที่ไปเห็นว่าเบลเยี่ยมและออสเตรเลีย มีกฎหมายบังคับให้ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถ้าฝ่าฝืนมีความผิด ก็ลอกเอามา ที่ไปเห็นว่าในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียเขามีผู้ตรวจการรัฐสภา (Ombudsman) ก็ลอกเอามา ที่ไปเห็นฝรั่งเศสว่า เขามีศาลปกครองและรัฐธรรมนูญฉบับเดอร์โกล์ลก็ลอกเอามา ต่างคนต่างลอก เอามาใส่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 แล้วชวนกันเรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ยกย่องกัน ทั้งๆที่ผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเขาบอกว่า "รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นจากแนวความคิดที่เป็นอุดมการณ์ (ideal concept) หรือคัดลอก (copy) เอามาจากประเทศอื่นนั้น ผิดธรรมชาติของรัฐธรรมนูญ (Nature of Constitution) เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดปัญหา" คนที่ไม่มีความรู้จริงๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พลอยเห็นชอบตามกันไป


 


เรื่องที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เกิดจากการไปลอกรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสมาใช้ แต่เดิมมาฝรั่งเศสกับไทยใช้วิธีการเลือกตั้งระบบเดียวกัน ต่อมารัฐธรรมนูญมหาชนรัฐที่ 4 (Fourth Republic)ไปลอกเอาการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อไปใช้ สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจมาก เป็นปัญหากับฝ่ายบริหาร รัฐบาลเองก็ไม่มีเสถียรภาพ เพราะเป็นรัฐบาลผสม เมื่อขบวนการกู้ชาติของแอลยีเรีย ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ก่อความไม่สงบขึ้นที่กรุงแอลเจียร์ซึ่งเป็นเมืองหลวง ไม่มีใครแก้ปัญหาได้ สภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) จึงพร้อมใจกันมอบให้นายพลชาร์ล เดอโกล์ล ใช้ลัทธิ "โบนาปาร์ติสม์" (Bonapartism) ตามชื่อของนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonapart) แก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ปลดปล่อยให้แอลยีเรียได้รับเอกราช และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญมหาชนรัฐที่ 5 (Fifth Republic) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ยกเลิกการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ และนำเอาเรื่องการแยกอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารออกจากกันตามแบบของสหรัฐอเมริกาไปใช้ เป็นระบบผสม (Hybrid System) เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนไหน ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนั้นก็ขาดจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วใช้คนอื่นเข้าแทน (Alternate)  มีการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารมากขึ้น การให้อำนาจเช่นนั้นก็เกรงกันว่า ถ้าผิดจากเดอ โกล์ล จะมีปัญหา  แต่ไม่มี เพราะผู้นำประเทศมีวุฒิภาวะและจริยธรรมทางการเมืองสูง อย่างไรก็ตามรับธรรมนูญได้กำหนดมาตรการให้การตรวจสอบฝ่ายบริหาร เกิดความสะดวกด้วยวิธีการง่ายๆ โดยได้กำหนดว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพียง 10 คน สามารถเข้าชื่อกันเสนอญัตติตรวจสอบ (Motion of Censure)  หรือล้มรัฐบาลได้ แต่ฝ่ายเสนอญัตติแพ้โหวต 10 เสียงนั้นหมดสิทธิที่จะเสนอเช่นนั้นอีกต่อ ตลอดสมัยประชุมนั้น


 


สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไปลอกรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสมาใช้ นำเอาการเลือกตั้งระบบบัญชีร่ายชื่อที่เขาเลิกใช้แล้วมาใช้ด้วย ดูเหมือนว่าได้มีการวางแผนกันตั้งแต่ต้นว่า ทำอย่างไรจะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ เพื่อจะได้ประโยชน์ด้วย ได้ใช้วิธีที่ทำให้การตรวจสอบฝ่ายบริหาร เป็นไปด้วยความยุ่งยากและสลับซับซ้อน ต่างจากวิธีของฝรั่งเศส โดยได้เสนอว่า การเสนอญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องมี 200 เสียง และต้องระบุด้วยว่าจะให้ใครมาดำรงตำแหน่งแทน การเสนอญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีต้องมี 100 เสียง ถ้ากล่าวหาว่าทุจริต ต้องเสนอให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตรวจสอบ มีขั้นตอนต้องผ่านอัยการสูงสุด จนถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายค้านใช้สิทธิดังกล่าว จึงได้มีการรวมพรรคการเมือง อย่าให้ฝ่ายค้านมีเสียงมากพอ ที่จะตรวจสอบรับบาลได้ ถ้าบังเอิญว่ามี 200 เสียง หรือ 100 เสียง เมื่อมีการลงมติ ถ้าผู้เสนอญัตติแพ้โหวต ผู้ลงชื่อเหล่านั้นหมดสิทธิเสนอญัตติตลอดสมัยประชุมนั้น สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาล จะฝ่าฝืนมติของพรรคไม่ได้ เพราะเกรงว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคจะไม่ส่งสมัคร ยิ่งถ้าถูกขู่ว่าจะมีการยุบสภา ทุกคนจะกลัวกันไปหมด จะไปเข้าพรรคใหม่ก็ไม่ได้ เพราะไม่ทันเวลา 90 วันตามกฎหมายกำหนด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องอยู่ในโอวาทของพรรคอย่างเคร่งครัด สภาพการณ์อย่างนี้ทำให้นักการเมืองที่ศาสตราจารย์ R.M.Mac Iver นักรัฐศาสตร์สหรัฐฯ เรียกว่า "นักฉวยโอกาสแกมโกง" (cunning cpportunist) และ "เผด็จการแกมโกง" (cunning dictatorship) เกิดขึ้น  โดยอาศัยช่องว่างที่รัฐธรรมนูญเปิดไว้ แสวงหาผลประโยชน์กันอย่างกว้างขวาง เพราะได้ควบคุมระบบการตรวจสอบไว้หมดแล้ว


 


Trasymachus นักปราชญ์ชาวกรีกก็เคยกล่าวว่า "ถ้าเมื่อใดคนกล้า (bold) กับคนฉลาดแกมโกง (cunning) รวมหัวกันปกครองคนอื่น เมื่อนั้นความยุติธรรม คือ ผลประโยชน์ของผู้ที่แข็งแรงกว่า"


 


Mac Iver ยังได้กล่าวด้วยว่า "ถ้าปราศจากความสามัคคีของคนในชาติและความเป็นชาตินิยม ยากที่จะเป็นประชาธิปไตย" และว่า "กระบวนการของการมีวุฒิภาวะ (maturation) เป็นสิ่งที่จำเป็นในระบอบประชาธิปไตย"


 


คำว่าวุฒิภาวะ บางคนแปลว่า "สุก" บางคนแปลว่า "พัฒนาแล้ว" ถ้าจะแปลว่า "การรู้ประสา" ก็ดูจะทำให้การอธิบายความหมายชัดเจนขึ้น คือ รู้ว่าอะไรควรทำและไม่ควรทำ ไม่นำเอาวิธีการของศรีธนญชัยมาใช้โดยเด็ดขาด


 


ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เกิดจากฝ่ายค้านเห็นว่า รัฐบาลขาดจริยธรรมทางการเมือง ยังไม่ทันได้ตรวจสอบกันตามกติกาประชาธิปไตย ก็หาเรื่องยุบสภาเพื่อหนีปัญหา เมื่อไม่สามารถใช้รัฐสภาเป็นที่ตรวจสอบรัฐบาลได้ ก็ต้องออกมาเล่นการเมืองกันนอกสภา ไปร่วมกับขบวนการของประชาชน ซึ่งไม่ไว้วางใจอยู่ด้วยแล้ว จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่  สอดคล้องกับคำพูดของนักรัฐศาสตร์ที่กล่าวว่า อำนาจทางการเมืองเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ แต่อำนาจที่ใหญ่ที่สุด คือ อำนาจของสังคม (Social Power) ถ้าไม่รีบยุติปัญหา จะเกิดความวิบัติ


 


กรณีที่เกิดขึ้นไมไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศประชาธิปไตยใหม่ๆ เคยประสบปัญหานี้มาก่อนแล้ว G.A. Jacobsen และ M.H. Lipman นักรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯ จึงกล่าวว่าอำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจที่พระมหากษัตริย์ พระราชทานให้ (Royal Grant) จะปฎิเสธ (negate) หรือเรียกคืน (recall) ก็ย่อมทรงทำได้


 


มีผู้ให้ความเห็นว่า ปีนี้เป็นปีมหามงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี เมื่อได้รับธรรมนูญฉบับแรกมา ก็บังคับเอามาจากพระมหากษัตริย์ ถ้าร่วมถวายคืนพระราชอำนาจ จะเป็นการเทิดพระเกียรติให้เป็นที่อัศจรรย์กันทั่วโลก จะทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นกับคนในชาติ ไม่มีโอกาสอื่นที่ดีกว่านี้อีกแล้ว แต่ความคิดนี้ต้องหยุดชะงัก เพราะนายกรัฐมนตรีมีเงื่อนไขว่า ต้องให้พระเจ้าอยู่หัวกระซิบเสียก่อน คล้ายกับจะบอกว่า ถ้าไม่ทรงกระซิบก็จะไม่ให้ ดูแล้วขัดแย้งกับที่นักรัฐศาสตร์ทั้งสองกล่าว อำนาจนี้เป็นของพระมหากษัตริย์


 


ส่วนการที่พรรคการเมืองฝ่ายค้าน ไม่ส่งสมาชิกลงสมัคร ก็ตรงกับที่นักรับศาสตร์ทั้งสองได้กล่าวว่า  การเลือกตั้งจะมีประโยชน์อะไร ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีอำนาจตรวจสอบรัฐบาล เกี่ยวกับการออกกำหมายบังคับให้ไปเลือกตั้ง ก็ได้กล่าวว่า "จะมีประโยชน์อะไร กับการออกกฎหมายบังคับให้ไปเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถบังคับให้เขาลงคะแนนให้ผู้ใด" ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้ จึงไปเลือกตั้งไม่ออกเสียง สิทธิเช่นนี้เรียกว่า "สิทธิในการคัดค้าน" (Right of Protest) มีการนำไปใช้กันอย่างทั่วไป


 


การแก้ปัญหาในระบอบประชาธิปไตย ศาสตราจารย์ William Bennett Munro สถาบันเทคโนโลยีแห่งลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้แนะไว้เกือบร้อยปีมีแล้วว่า ให้ใช้วิธีประนีประนอม (compromise) และต้องยึดหลักพบกันครึ่งทาง (Meet half way) นักการเมืองที่ดีต้องมีคุณสมบัติเช่นนี้ หลักการนี้แตกต่างจากระบบเผด็จการที่ไม่ฟังใคร


 


มีผู้เกรงกันว่าหลังเลือกตั้งแล้ว จะมีพรรคการเมืองเดียวกุมอำนาจบริหาร อาจเกิดเผด็จการที่แกมโกงขึ้น ความเชื่อเกิดจากพฤติกรรมในอดีต เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศ ในรอบแรกได้มีการแก้ไขกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินให้มี 20 กระทรวง มีผู้กล่าวกันว่าตั้งขึ้นให้สอดคล้องกับธุรกิจของนักการเมือง การหาประโยชน์จะได้มีกฎหมายรองรับ เรียกว่าทุจริตเชิงนโยบาย ก่อนประกาศยุบสภาก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายนี้ใหม่ทั้งฉบับ คนส่วนมากยังไม่เห็น  แต่ผู้ที่มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินในระดับสูงๆเห็นแล้ว มีความเห็นว่า ถ้าประกาศใช้กฎหมายนี้เมื่อใด ระบบเผด็จการจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน  รัฐบาลพรรคเดียวจะมีอำนาจอย่างเด็ดขาด จะผลักดันกฎหมายนี้ออกมาใช้หรือไม่  เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป วันหน้าจะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่วันนี้ต้องหันหน้าเข้าหากัน ต้องประนีประนอมกันและพบกันครึ่งทางให้ได้ ขอให้ช่วยกันดูว่า การเลือกตั้งจะได้อะไร ถ้าเลือกไปแล้ว ก็เข้าไปสู่ระบบเดิม ถ้าให้เลือกไปก่อนแล้วไปแก้กันทีหลัง รัฐบาลมีแต่ได้กับได้ แก้เสียก่อนไม่ดีกว่าหรือ จะได้หมดปัญหากันเสียที


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net