Skip to main content
sharethis



ชาวบ้านในเครือข่ายของสมัชชาคนจนราว 2,000 คน เดินทางมาปักหลักชุมนุมที่หน้ารัฐสภา โดยเริ่มทยอยกันมาตั้งแต่เวลา 4.00 น. และทำพิธีเปิด "หมู่บ้านคนจน" ระบุแม้วจัดฉากสร้างภาพแก้จน เป็นเพียงละครน้ำเน่า ที่ปรึกษาฯ ระบุใจดี ยังไม่ไล่ ท้าทำเรียลีตี้กลางที่ชุมนุม หากสอบผ่านจะให้อยู่ถึงชาติหน้าก็ได้


      


วันนี้ (20 ก.พ.) เวลา 14.00 น. นายภักดี จันทะเจียด ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี พร้อมตัวแทนจาก 7 เครือข่าย อ่านแถลงการณ์ระหว่างพิธีเปิด "หมู่บ้านคนจน" ที่หน้ารัฐสภา โดยระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี สมัชชาคนจนได้ชุมนุมเรียกร้อง ผลักดันให้รัฐทบทวนนโยบายการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในระดับรากหญ้า ดังกรณีการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์อย่างพอเพียงโดยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ การเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย และระเบียบปฏิบัติของราชการ ซึ่งเป็นเครื่องมือรองรับนโยบายการพัฒนาที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม


      


โดยเสนอแนวทางและวิธีแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเสนอร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักสิ่งแวดล้อม ช่วยกันกลั่นกรองขึ้นมา เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการ และ พ.ร.บ.ชุมชนแออัด เป็นต้น


      


เดือน ก.พ. 2544 เมื่อรัฐบาลทักษิณได้เข้าบริหารประเทศ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมาพบกับสมัชชาคนจนที่ชุมนุมยืดเยื้อยาวนานกว่า 9 เดือน ต่อเนื่องจากสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยนายกฯ ทักษิณประกาศว่าจะพัฒนาประเทศโดยฟังเสียงของคนยากจน และจะแก้ไขปัญหาต่างๆ กว่า 205 กรณีปัญหาที่สมัชชาคนจนเสนอ


      


แต่นับจากวันนั้นเป็นต้นมา นอกจากจะไม่ปฏิบัติตามคำพูดที่ได้ลั่นวาจาไว้แล้ว รัฐบาลทักษิณยังใช้กำลังตำรวจสลายการชุมนุมของชาวบ้านสมัชชาคนจนด้วยความรุนแรง เมื่อวันที่ 26 ม.ค.2546 รวมทั้งยกเลิกมติข้อตกลง มติคณะรัฐมนตรีทุกฉบับที่รองรับการแก้ปัญหาของสมัชชาคนจน ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้เดินหน้าดำเนินนโยบายประชานิยมต่างๆ หลายด้าน เพื่อสร้างภาพว่าได้แก้ปัญหาความยากจนที่รัฐบาลรับปากไว้แล้ว


      


รัฐบาลทักษิณซึ่งมีกลุ่มทุนขนาดใหญ่หนุนหลัง รู้ดีว่าถ้าแก้ปัญหาตามข้อเสนอของสมัชชาคนจนที่เรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในทิศทางการพัฒนาประเทศและการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์มหาศาลต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้นโยบายการพัฒนาประเทศ


      


ดังนั้น การชุมนุมของสมัชชาคนจนในวันที่ 20 ก.พ.2549 เป็นต้นไป จะเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนของสมัชชาคนจน เพื่อเปิดเผยถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาคนจนของรัฐบาลทักษิณ และชี้ให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาล ถือ การสร้างละครน้ำเน่าขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น


      


เราจะไม่ยอมรับการแก้ปัญหาแบบสร้างภาพ หลอกลวง จอมปลอมอีกต่อไป เราไม่ต้องการมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่รัฐบาลไม่เคยมีความจริงใจในการปฏิบัติต่อคนจน เราต้องการการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง ที่คนจนอย่างเราสมารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง


      


นายชัยพันธ์ ประภาสวัต ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า การเข้ามาชุมนุมในครั้งนี้ มีเป้าประสงค์ที่จะเปิดโปงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาคนจน โดยจะเป็นการชุมนุมยืดเยื้อ ขณะนี้ทางสมัชชาคนจนยังไม่มีมติจะไล่นายกรัฐมนตรี ยังคงใจดีอยู่ แต่จะนำรายละเอียดความคืบหน้าในการแก้ปัญหาที่รัฐบาลเคยสัญญาว่าจะแก้มาเปิดเผย


      


"นี่คือคนจนตัวจริง ถ้านายกฯ แน่จริง ไม่ต้องไปถึงอาจสามารถ ตรงนี้มีคนจนที่มีปัญหามากมาย มาทำเรียลิตี้ที่นี่ เอากล้องมาตั้งแล้วถ่ายทอดการแก้ไขปัญหาไปทีละกรณีเลยก็ได้ กล้าหรือไม่ ถ้ากล้ามาเลย ถ้าแก้ได้จะอยู่ถึงชาติหน้าก็อยู่ไปเลย"


      


เขากล่าวต่อว่า สำหรับการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 26 ก.พ. ขณะนี้ทางสมัชชาคนจนยังไม่มีมติว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวทั้งตนและผู้ที่อยู่ในเครือข่ายของสมัชชาคนจนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะไปร่วมชุมนุมในวันดังกล่าว ทั้งนี้ เขาเห็นว่านายกรัฐมนตรีหมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่ไหวก็ต้องให้ออก ส่วนการสนับสนุนของชาวบ้านตามที่อ้างกัน ถือว่าไม่เกี่ยวกัน เพราะอยู่ที่สำนึกของคน


      


นางผา กองคำ วัย 55 ปี ชาวบ้านจาก ต.ดอนสำราญ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งได้รับผลกระทบจากเขื่อนราศีไศล เปิดเผยว่า การมาชุมนุมที่กรุงเทพฯในครั้งนี้ เพื่อจะบอกว่าปัญหาของคนจนยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ปีที่แล้วตนก็มาชุมนุมกับสมัชชาคนจน 2 ครั้ง จัดตั้งคณะกรรมาธิการภาคประชาชนเพื่อตรวจสอบการแก้ไขปัญหาของรัฐ ซึ่งในกรณีเขื่อนราศีไศล เจรจาได้ความว่าจะแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. 1 เม.ย. 2543 กล่าวคือจะต้องเปิดประตูน้ำ ลงพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยการรังวัด และสุดท้ายคือศึกษาผลกระทบด้านสังคม


      


"แต่ที่ผ่านมาเราได้รับบทเรียนว่า ข้อตกลงที่ทำกัน ทางกรมชลประทานก็ไม่ได้ทำตาม เขาก็ยังใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงอยู่ดี ส่วนการศึกษาผลกระทบทางสังคมก็ไปไม่ถึงไหน ทักษิณ 1 ไม่แก้ ทักษิณ 2 ก็ยังไม่ได้แก้" ชาวบ้านจากร้อยเอ็ดกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างภาพการแก้ปัญหาความยากจนโดยภาพรวม แต่ปัญหาที่หมักหมมมาเนิ่นนานกลับไม่มีความจริงจังที่จะแก้


      


ส่วนนายคลี่ ชุมแก้ว วัย 63 ปี ชาวบ้านจากเครือข่ายเกษตรทางเลือกใน อ.ควนกาหลง จ.สตูล ระบุว่า กลุ่มของเขาเคลื่อนไหวร่วมกับสมัชชาคนจนมาตั้งแต่ปี 2540 โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการทำเกษตรทางเลือก ลดการใช้สารเคมี ซึ่งที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลไทยรักไทยจะมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แต่ยังเป็นนโยบายที่ยึดอยู่กับการส่งออก ไม่ใช่เหลือกินแล้วขาย ซึ่งตนเห็นว่าเป็นแนวทางการส่งเสริมที่ผิดทาง และแก้ปัญหาไม่ได้ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ยังสนับสนุนการใช้สารเคมี


      


"สมัชชาคนจนยังไม่ได้ประชุมกันว่าจะไปร่วมชุมนุมไล่นายกฯ หรือไม่ แต่โดยส่วนตัว ผมจะไปชุมนุมด้วยเหมือนกัน เพราะการทำงานของทักษิณ เห็นได้ชัดว่า 5 ปีมานี้ หลายปัญหายังไม่แก้ แถมยังเห็นแก่พวกพ้องของตัวเองอีก"


 


..................................................................................


ที่มา :  ผู้จัดการออนไลน์ 20 กุมภาพันธ์ 2549


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net