Skip to main content
sharethis


ประชาไทเก็บความจากการอภิปรายเรื่อง "บทวิเคราะห์เชิงวิชาการต่อภาวะวิกฤตผู้นำ : ปัญหาและทางออก" จัดโดยเครือข่ายนักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ที่คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


วิทยากรได้แก่ ดร.วีระ สมบูรณ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์, ดร.ศุภมิตร เตชะมนตรีกุล อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี , ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์, ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์, ผศ.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย อาจารย์คณะนิติศาตร์


ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยในคดีซุกหุ้นภาค ๑ และ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์เศรษฐศาสตร์ (ไม่มาเนื่องจากป่วย)


ดำเนินรายการโดย  ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์


 


 


 


บทบาทของเทมาเส็ก และผลกระทบต่อการเมืองการต่างประเทศ


 


ผศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


 


วันนี้มี ๔ ประเด็นที่จะพูด ๑. เรื่องวิเคราะห์ต่างๆ ในการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก ๒.ผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการนั้น ๓.บทบาทของบริษัทเทมาเส็ก และพาดพิงไปถึงรัฐบาลสิงคโปร์ด้วย ๔. ทางตันทางการเมืองและทางออก


 


ถ้าเราฟังวิทยุวันเสาร์ก็จะรับรู้ว่าการขายหุ้นนี้เพื่อตัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนทางการเมือง ซึ่งผมคิดว่าฟังไม่ค่อยขึ้น ผมคิดว่าที่มีน้ำหนักคือ สิ่งที่มีการวิเคราะห์กันว่านี่คือกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพราะหุ้นชินคอร์ปจะไม่มีทางได้ราคาไปมากกว่านี้แล้ว ใครๆ ก็รู้ว่าหุ้นชินคอร์ปเป็นหุ้นการเมือง ขึ้นลงตามกระแสทางการเมืองของนายกฯ


 


อีกทั้งภาคโทรคมนาคมมีแนวโน้มที่จะเปิดเสรีขึ้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ตลาดค่อนข้างอิ่มตัว การแข่งขันจะสูงขึ้น อีกไม่นานสัมปทานจะหมดอายุ เทคโนโลยีรุ่นต่อไปของมือถือก็ต้องลงทุนมหาศาล ทั้งหมดนี้จึงนำไปสู่ความไม่อยากเสี่ยงหลังจากเป็นเสือนอนกินมานาน


 


นอกจากนี้ยังมีคนมองว่าต้องการขายหุ้นเพื่อเตรียมหน้าตัก เตรียมเม็ดเงินเอาไว้ในรัฐวิสาหกิจที่จะเข้าสู่ตลาดหุ้น ไม่ว่า กฟผ. องคก์การโทรศัพท์ การสื่อสาร ที่ต้องการทำบริษัทเทมาเส็กในเมืองไทยก็เพราะต้องการรวบรวมรัฐวิสาหกิจเมืองไทยเข้ามาสู่บริษัทเดียวกันแล้วค่อยๆ เข็นเข้าตลาดหุ้น


 


การเข็นเข้าตลาดหุ้นก็จะประเมินค่าไว้ต่ำๆ แล้วพยายามจับจอง ไอพีโอ อย่างที่เราเห็นตอนที่ ปตท.เข้าตลาด และการเตรียมเงินนี้มีคนคิดว่าจะซื้อทีพีไอด้วยซ้ำ ซึ่งผมก็คิดว่ามีมูล แต่อย่าลืมว่าตอนนี้กระแสต่อต้านการแปรรูปรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมาแรงมาก ศาลปกครองก็ยังไม่ได้ตัดสินว่าแปรรูปของ กฟผ.จะเข้าตลาดได้หรือเปล่า ฉะนั้น มันก็คาราคาซัง มุมมองนี้จึงยังไม่ชัดเจนเท่าไรนัก


 


มุมที่ผมให้น้ำหนัก คือ นายกฯ ทักษิณรู้ว่าตัวเองไม่รอด แต่ทำตัวเหมือนไม่รู้ เหมือนจะไปรอดแน่ ลึกๆ แล้วมีความเสี่ยงสูงมากสำหรับหุ้นชิน เพราะเป็นการเกาะตัว กระจุกตัว ถ้าไม่แปลงทรัพย์สินตัวนี้ให้เป็นทุน จะมีความเสี่ยงสูงมาก การขายนี้จึงเป็นการหาทางหนีทีไล่ เป็นการทำประกันล่วงหน้าหากไปไม่รอดจริงๆ ทรัพย์สินก็จะมีสภาพคล่องและเคลื่อนย้ายได้


 


ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขายชินคอร์ป ประการแรก ตอนนี้สังคมมีข้อกังขากับเรื่องนี้มาก ไม่ว่ากฎหมายเชิงเทคนิคจะว่ายังไงก็แล้วแต่ แต่มันรู้สึกได้ว่า "ผิด" ภาพพจน์นี้จะติดไปตลอด โดยเฉพาะเมื่อนายกฯ ไม่ได้เคลียร์เรื่องนี้เลย


 


มันเป็นเรื่องที่น่าแปลก สมัยก่อน ๔ ปีที่แล้ว มีคนวิเคราะห์กันว่า หลักนิติศาสตร์นั้นผิด แต่ว่าหลักรัฐศาสตร์นั้นถูก นี่คือสิ่งที่เอามาอ้างเพื่อให้โอกาสนากยฯ จำได้ไหมครับ นายกฯ ร้องไห้ด้วยที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าเขาบกพร่องโดยสุจริต ตอนนี้มันตรงกันข้าม ตอนนี้นิติศาสตร์เขาถูก ถึงแม้ว่ารัฐศาสตร์เขาผิด ซึ่งผมว่ามันผิดทั้งคู่ เพียงแต่ว่าจะพิสูจน์ได้หรือเปล่า


 


ประการที่สอง เรื่องนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ ทุกท่านคงทราบดีว่าเดี๋ยวนี้เราต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เพราะปีงบประมาณปีนี้ตั้งเม็ดเงินจากภาษีไว้ ๑.๕ ล้านล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเลย กรมสรรพากร สรรพสามิต ศุลกากรก็ต้องเก็บภาษีเข้มมาก แต่พอมาถึงกรณีนายกฯ ๗๓,๓๐๐ ล้านรายได้นี้ไม่ต้องเสียภาษีเลย แถมเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีออกมายืนยันด้วยว่าไม่ต้องเสียภาษี


 


ประการที่สาม เรามองว่างานนี้ไม่ชอบมาพากล ในส่วนหนึ่งเพราะนายกฯ มีกริยามารยาทที่จะว่า กะล่อน ก็ได้ บอกว่าถูกตามกฎหมาย เป็นไปตามมาตรฐานสากล มียิ้มหน่อยๆ เป็นลักษณะก้าวร้าว ทำให้คนรู้สึกเข้าไปใหญ่


 


อย่างไรก็ตาม การขายหุ้นชินคอร์ปมันกลับตาลปัตรที่เขาต้องการให้เกิด คือ หาทางหนีทีไล่ในธุรกรรมนี้ แล้วเดินต่อไปได้เต็มสูบ แต่ผลที่ตามมาเป็นตรงกันข้าม ชินคอร์ปได้กลายมาเป็นฟางเส้นสุดท้าย คนที่คัดค้านเรื่องชินคอร์ปทั้งหลาย ไม่ได้ท้วงติงเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่มันมีความโมโหหลายๆ เรื่องที่เก็บกดไว้ นี่เป็นชนวนให้ความอึดอัดเก็บกดทั้งหลายได้ปะทุออกมา


 


ฉะนั้น บรรยากาศการเมืองของเราตอนนี้ตึงเครียด เสถียรภาพรัฐบาลสั่นคลอน อนาคตทางการเมืองของนายกฯ ไม่แน่นอน สังคมไทยก็ถูกแบ่งขั้วออกอย่างชัดเจน แล้วก็เป็นขั้วที่มีช่องว่างถ่างขึ้นเรื่อยๆ และลงลึกขึ้นเรื่อยๆ ด้วย


 


ขอเข้าสู่เรื่องของเทมาเส็ก รัฐบาลของสิงคโปร์มักไม่ชอบให้พูดว่า เทมาเส็กเป็นบริษัทการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ แต่จริงๆ แล้วก็เป็นบริษัทของรัฐบาลสิงคโปร์นั่นเอง


 


เทมาเส็กมีสินทรัพย์เพื่อการลงทุนประมาณ ๒.๕ ล้านล้านบาท ( หนึ่งแสนกว่าล้านเหรียญสิงคโปร์) ประมาณ ๔๐% ของจีดีพีไทย ซึ่งมหาศาล ถ้าแบ่งสัดส่วนการลงทุนของเขาออกมา เขาลงทุนส่วนใหญ่ในประเทศสิงคโปร์เกือบครึ่งหนึ่ง รองลงมาเป็น ออสเตรเลีย อาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ สหรัฐ ยุโรป และเอเชียใต้


 


ในอาเซียนนั้นมีการขยายการลงทุนอย่างเต็มที่ในช่วง ๓-๕ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ธุรกิจที่เขาเน้นลงทุนคือพวกบริการต่างๆ  โดยเฉพาะภาคการเงิน โทรคมนาคม และสื่อ 


 


สมัยหนึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศที่เคยเน้นความร่วมมือในภูมิภาค คือให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนสูง เป็นผู้ร่วมกับไทยก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน สมัย ๑๓-๑๕ ปีที่แล้ว สิงคโปร์เคยด่า ประณามประเทศตะวันตกด้วยซ้ำที่มากดดันเรื่องสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย แต่มี ๒ เหตุการณ์ที่ทำให้บทบาทของสิงคโปร์ในภูมิภาคเปลี่ยนไป คือ วิกฤตเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ และเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔


 


วิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้สิงคโปร์ต้องมองออกนอกภูมิภาค พยายามหาทางอยู่รอดโดยไม่ต้องพึ่งจมูกอาเซียนหายใจต่อไป เลยเน้นไปทำเอฟทีเอ เป็นผู้บุกเบิกในภูมิภาค


 


หลัง ๑๑ กันยา สิงคโปร์มองว่าอนาคตความอยู่รอดของเขาจะให้มันเกิดเหตุการณ์อย่าง ๑๑ กันยาในสิงคโปร์ไม่ได้ ตอนนี้เลยเป็นลูกน้องสหรัฐเต็มที่ แต่ว่าอย่างเงียบๆ


 


ทรัพย์สินของชินคอร์ปที่เทมาเส็กมาซื้อนี้ ผมถือว่ามีมลทินเป็นสีเทา แล้วเทมาเส็กก็มาซื้อโดยทราบล่วงหน้าด้วยว่าเป็นทรัพย์สินสีเทา โดยการประเมินมูลค่าบริษัทชินคอร์ปนั้น เทมาเส็กประเมินผลกระทบทางการเมือง และภาระผูกพันทางธุรกิจไว้ต่ำเกินไป เนื่องจากสิงคโปร์ก็ไปซื้อทรัพย์สินไว้ทั่วโลก มีแอฟริกาที่เดียวที่ไม่ได้ไปเท่าไร โดยทุกๆ ที่ที่ไปก็จะโดนวิจารณ์ว่าเข้ามาครอบงำ เอาเปรียบ ฉะนั้น รัฐบาลสิงคโปร์ชินกับการมีกระแสต่อต้านจากภายใน และโดยมากก็ใช้กลยุทธนิ่ง เงียบ แล้วเดี๋ยวมรสุมก็จะผ่านไปเอง สิ่งที่เขากำลังทำในเมืองไทยก็เป็นแบบนี้


 


สิ่งที่เขาประเมินผลกระทบที่มองไม่เห็นไว้ต่ำเกินไป เช่น เอไอเอส ทั้งหมดเป็นเรื่องสัมปทานที่ได้ประโยชน์มากเมื่อสัก  ๓-๔ ปี ก่อนที่แปลงค่าธรรมเนียมเป็นภาษีสรรพาสามิต ซึ่งถูกกว่ากันเป็นหมื่นล้าน กรณีดาวเทียม เทมาเส็กต่อไปอาจจะมีปัญหา เพราะเส้นวงโคจรดาวเทียมในอวกาศ ซึ่งองค์กรที่ชื่อว่า อินเตอร์แนชั่นนัล เทเลคอมมิวนิเคชั่น ยูเนี่ยน (ไอทียู) เป็นผู้จัดสรรเส้นวงโคจรให้แต่ละประเทศ ตอนนี้ไทยได้เส้นวงโคจรมาในฐานะประเทศไทย แล้วมาทำสัมปทานให้บริษัทชินแซท


 


ฉะนั้น ตอนนี้ชินแซทไม่ได้เป็นของคนไทยแล้ว ก็มีคำถามว่าเส้นวงโคจรนี้เป็นของใคร ถ้าพรุ่งนี้มีใครลุกขึ้นมาทำดาวเทียมของไทย เราก็มีสิทธิลุกขึ้นมาทวงวงโคจรนี้คืน เพราะเขาให้ประเทศไทย ไม่ได้ให้ชินคอร์ป


 


มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากว่า ตอนนี้ต่างชาติเป็นเจ้าของธุรกิจในประเทศไทยโดยถือหุ้นข้างมากได้แล้ว ธุรกรรมเหล่านี้ได้เกิดตัวอย่างรูปธรรมแล้ว ทำง่ายมากแค่ตั้งบริษัทเป็นนอมินี ฉะนั้นตรงนี้น่าเป็นห่วงมากในเชิงกฎหมายว่า ไร้น้ำยาไปแล้ว โดนละเมิดอย่างเจตนา


 


เทมาเส็กก็ดูเหมือนได้สมรู้ร่วมคิดกับตระกูลชินวัตร ดามาพงศ์ ช่วยแปลงทรัพย์สินของเขาให้เป็นทุน เพื่อให้เคลื่อนย้ายได้ เทมาเส็กในฐานะผู้ซื้อ ก็มีคำถามเรื่องจริยธรรมเหมือนกัน และในเทมาเส็ก เขาจะมีปรัชญาองค์กรเอาไว้สองข้อสำคัญ คือ เคารพคนอื่น และความซื่อสัตย์ความชอบธรรม ซึ่งผมคิดว่าเขาสอบตกในค่านิยมของตัวเอง และเรื่องนี้อาจจะเป็นประเด็นความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ ในเวลาต่อไป


 


ตอนนี้เราก็มีขบวนการขับไล่นายกฯ ทักษิณ อย่างเข้มแข็ง แล้วก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ผมมองว่ามันมี ๓ ส่วนประกอบหลักที่จะทำให้ขบวนการขับไล่ได้ผล คือ ๑. ขนาด  ๒. พลังขับเคลื่อนในตัวเอง  ๓. ความหลากหลาย 


 


ทางออก ดูเหมือนว่ามีอยู่ ๔ แนวใหญ่ๆ ที่จะออกมา ๑.สิ่งที่นายกฯ ทำอยู่ก็คือลุยต่อ ฝ่ามรสุม แล้วก็ไม่ใช่ฝ่ามาสุมอย่างเดียว ใช้กลยุทธ เทคนิคต่างๆ เพื่อคุมสถานการณ์ให้ได้ ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้เขาก็ทำได้ดีด้วย เพราะว่าคนที่ช่วยเขาก็คือคนที่เป็นม็อบมาก่อน ฉะนั้น จึงมียุทธศาสตร์ มีประสบการณ์ม็อบมาอย่างลุ่มลึก


 


ถ้าเกิดนายกฯ อยากไปในทางนี้ อย่างไงก็ตาม เขาจะต้องเคลียร์ปมการขายชินคอร์ป เรื่องนี้จะหมกเม็ดเหมือนซีทีเอ็กซ์ ให้คนลืมไปเองลำบาก เขาอาจจะตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้ก็ได้ ถ้าจะใจกว้างหน่อย ก็อาจจะเลือกประธานมากจาก ๑ ใน ๘ ของ ปปช. ที่ตัดสินว่านายกฯ ผิดกรณีซุกหุ้นรอบแรก หรือว่า ๑ ใน ๗ ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นอาจารย์สุจิต (บุญบงการ) ก็ได้ แล้วให้ประธานเลือกกรรมการ สอบสวนขึ้นมา


 


แต่เขาคงไม่ทำอย่างนี้เพราะรู้ว่าถ้าให้เป็นอิสระแล้วสอบสวนขึ้นมาจริง มันอาจจะพบอะไรผิดจริง ฉะนั้น การที่จะเป็นนายกฯ ต่อหรืออะไรก็ตาม มันติดที่กรณีชินคอร์ปว่าอาจผิดกฎหมายจริง


 


ทางออกที่สอง คือ ลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งอันนี้เลิกหวังไปได้เลย


 


ทางออกที่สาม คือ ลาออกโดยการถูกบังคับ ผมคิดว่าขบวนการต่อสู้นี้จะยาว ในที่สุดแล้วจะถูกกดดันจนกระทั่งไม่ไหวจริงๆ ต้องลาออก โดยเฉพาะถ้ามีอุบัติเหตุหรือเหตุที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นแล้วนายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ ดีไม่ดีอาจต้องไปอยู่ที่อื่น


 


ทางออกที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุด คือ การยุบสภา ซึ่งขบวนการขับไล่ก็คงไม่พอใจว่าน่าจะไม่เพียงพอ เพราะต้องการขับไล่ทักษิณออกไปอย่างเดียว แต่ผมคิดว่ามันก็ไม่แฟร์เหมือนกัน เมื่อปีทีแล้วนี้เอง รัฐบาลนี้ คนนี้ พรรคนี้ จะไม่ชอบอย่างไรก็แล้วแต่ ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างท่วมท้น ๓๗๗ ใน ๕๐๐ และในกรุงเทพฯ เองก็ปรากฏว่าได้ ๓๒ ที่นั่งใน ๓๗ เสียงที่นั่ง ฉะนั้น เขาก็คิดว่ามีคนหนุนมากมายอยู่แล้วก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย ยุบสภา ไปเลือกตั้งใหม่ เดี๋ยวก็ได้กลับมาอยู่ดี


 


ผมเป็นห่วงว่าทางออกที่เราให้ออกอย่างรวบรัดนี้ มันจะเจอทางตัน แล้วก็ทำลายระบบของตัวเอง น่าจะต้องทนให้เขาเข้ามาอีก ถ้าเข้ามาแล้วเจอกระแสกดดันอย่างนี้ ก็อาจทำงานยากขึ้น ถูกตรวจสอบถี่ถ้วนขึ้น มันก็แฟร์สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งด้วย คือฝ่ายขับไล่ที่หลายกลุ่มชื่นชมทักษิณมานาน เคยไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญให้ปล่อยคุณทักษิณให้ได้ ตอนนี้มาต้องการทางลัด พวกที่ขับไล่ก็ต้องทำการบ้านเหมือนกัน


 


ถ้าจะพูดให้แฟร์ๆ ก็ต้องพยายามโน้มน้าวให้คนมองทักษิณ อย่างที่พวกเขามอง ให้คนทั่วประเทศไทยที่อื่นๆ ได้รับทราบด้วย ไม่ใช่จะโค่นล้มกันตรงนี้ชั่วค่ำชั่วคืน ผมเลยคิดว่า แนวทางนี้มันเป็นการปรองดองและแฟร์กับทั้งสองฝ่าย


 


สุดท้าย เรื่องการปฏิรูปการเมืองซึ่งมีการเรียกร้องมาก คิดดูแล้วมันคลุมเครือ อยากปฏิรูปการเมืองให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เราเคยทำมาแล้ว ขอให้ย้อนกลับสู่พฤษภาทมิฬ ที่มีการนองเลือด ตอนนั้นความต้องการให้ปฏิรูปการเมืองมีสูงมากแล้วทุกฝ่ายก็ทำกันเต็มที่ กระบวนการนั้นใช้เวลา ๕ ปีกว่าจะตั้งรูปแบบการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาได้ ก็เหนื่อยมาก


 


เราต้องพึงระวังว่าการแก้ หรือการหาทางลัด ปฏิรูปมันออกจะแย่กว่าเดิม เพราะกระบวนการครั้งแรกนั้นเหนื่อยมาก และการจะทำให้ดีขนาดนั้นอีกไม่ใช่เรื่องง่ายๆ


 


สิ่งที่ควรจะทำ คือ เราควรจะทวงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญคืน อันนี้ต้องพูดพาดพิงไปถึงคนที่ต้องการขับไล่ทักษิณตอนนี้ ก็คือ คนที่มีส่วนในการทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเอง


 


สมัยสี่ปีทีแล้ว ซุกหุ้นรอบด้านก็ผิดแล้ว อย่างน้อยก็ ๗ ตุลาการที่บอกไม่ชอบ แต่ก็มีกระแสจะเอาให้ถูกให้ได้ มันทำให้รัฐธรรมนูญเสียความขลัง แต่ตัวบริบทกฎเกณฑ์ต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ายังใช้ได้ ที่เป็นปัญหาก็คือ การใช้การแปรในภาคปฏิบัติ ฉะนั้น จึงต้องรักษารัฐธรรมนูญ ทวงเจตนารมณ์ แล้วก็ต้องทำการบ้าน


 


 


ความชอบธรรมของผู้นำ


 


ดร.วีระ สมบูรณ์


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


 


 


ในการวิเคราะห์ในทางวิชาการเกี่ยวกับวิกฤตภาวะผู้นำ ถ้าตั้งคำถามเป็นคำถามสำคัญก็คือ เวลานี้ผู้นำทางการเมืองของไทยยังมีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปหรือไม่


 


ปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองของผู้นำ ต้องมองให้ครบทุกด้าน  ซึ่งสำหรับผมคิดว่ามี ๓ ส่วน คือ 


 


๑)      องค์ประกอบในแง่ระบบ เพราะสิ่งที่เรากำลังพูดถึงไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลคนเดียว  แต่เกี่ยวพันกับกลุ่มผู้มีอำนาจ การใช้อำนาจ และกลไกในการใช้อำนาจทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับหลายส่วนของสังคม


๒)     ตัวผู้นำ วิธีคิด วิธีพูด วิธีแสดงออก ปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมและประชาชน รวมทั้งวิธีกำหนดนโยบายและปฏิบัติของตัวผู้นำเอง


๓)     การยอมรับ การมอบความไว้วางให้ของผู้ที่อยู่ใต้อำนาจ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ


 


คำถามคือ พลเมืองอย่างเราจะมองเรื่องความชอบธรรมในขณะนี้อย่างไร แล้วจะสามารถแสดงออกในเรื่องความชอบธรรมนี้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควรในตอนนี้ มีการยกขึ้นมาว่าหลายฝ่ายกำลังเล่นนอกกติกา ไม่เป็นไปตามกฎหมาย พวกเราคงได้ยินและต้องพิจารณาในเรื่องนี้


 


ถ้าจะกล่าวโดยสรุปเป็นข้อความสั้นๆ ผมคิดว่ากรณีการขายหุ้นชินคอร์ป เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุด และเป็นสิ่งที่เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งประมาณ ๑ ใน ๕  ที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาจนเราเห็นได้ชัด ว่า ขณะนี้ทั้งระบบและตัวผู้นำ กำลังมีปัญหาความชอบธรรมอย่างรุนแรง และประชาชนหรือพลเมืองมีสิทธิที่จะตั้งคำถามกับความชอบธรรมนั้น และมีสิทธิที่จะแสดงจุดยืนของตนเองอย่างชัดเจนได้ ส่วนคำตอบนั้นมันต้องเริ่มจากตัวเราเอง เพราะเสียงของประชาชนไม่ได้เริ่มที่ใคร เริ่มที่เราทุกคน


 


เรื่องระบบนี้หากเราดูระบอบการเมืองของไทยขณะนี้ คงต้องยอมรับว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย บนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ประชาธิปไตยทุนนิยม"


 


ระบอบนี้ทำงานได้บนพื้นฐานที่แตกต่างกัน ๒ อย่าง บางครั้งมันขัดกันเอง บางครั้งมันไปด้วยกันได้ ผมจะยก ๔  ประเด็นหลักๆ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ทุนนิยม กับ ประชาธิปไตย โดยพื้นฐานจะมีตรรกะที่ขัดกันอยู่อย่างไร แล้วจะต้องประสาน ๒ ส่วนที่ออกมาอย่างไร


 


๑. ทุนนิยมเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์ส่วนตัวของทุน และเป็นธรรมดาของทุนที่จะต้องการขยายตัวไปเรื่อย โดยจะให้ดีที่สุดต้องสามารถผูกขาดได้ นี่คือ ธรรมชาติของทุน โดยเฉพาะการผูกขาดทรัพยากร การแสวงประโยชน์จากทรัพยากร 


 


ขณะที่ประชาธิปไตยนั้นเป็นด้านของส่วนร่วม หรือผลประโยชน์สาธารณะ ประชาธิปไตยต้องตั้งอยู่บนการกระจาย ไม่ว่าจะเป็นการกระจายโอกาส การใช้ การเป็นเจ้าของ การเข้าถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากรด้านต่างๆ ของสังคม  


 


๒. ระบบทุนนิยมจะเน้นกำไรสูงสุดระยะสั้น โดยเฉพาะทุนปัจจุบันที่ขึ้นอยู่กับการเงิน จะทำอย่างไรให้มูลค่าที่สร้างขึ้นมาเมื่อนำไปขายแล้วได้มูลค่าสูงสุดในเวลารวดเร็วที่สุด  ขณะที่ประชาธิปไตยนั้นเราต้องการสวัสดิภาพระยะยาว  หรือต้องการความยั่งยืน ความต่อเนื่อง


 


๓. เป็นธรรมดาของการประกอบการทั้งหลายที่จะต้องลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด  ซึ่งไม่ได้ว่าเป็นเรื่องเสียหายโดยตัวของมันเอง ในทางธุรกิจก็มี Good Governance อะไรทั้งหลาย


 


อย่างไรก็ตาม วิธีลดต้นทุนอยู่ ๒ อย่าง คือ Free Ride หรือนั่งฟรี ประมาณว่าไปไหนไปด้วยช่วยเลยสองบาท ถ้าร่ำถ้ารวยช่วยเลยสามบาท แต่ถ้าจะให้ดีกว่านั้นไปไหนไปด้วยไม่ช่วยเลยซักบาท ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกความรับผิดชอบหรือภาระต่างๆ หมายความว่า ถ้าต้องการลดต้นทุนบางครั้งก็ต้องผลักภาระไปให้คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลักภาระไปให้สังคม สังคมจึงอยู่ด้วยการต้องแบกภาระกันหลายอย่าง เวลามีห้างใหญ่โตมาอยู่ที่สี่แยกกลางกรุง ผลก็คือรถติดมหาศาล ซึ่งสังคมจะต้องเป็นผู้แบก โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ว่าได้โอกาสได้ทำเล ได้สิ่งที่ดีที่สุดไป


 


ในทางตรงกันข้ามประชาธิปไตยต้องขึ้นอยู่กับประโยชน์สาธารณะ ต้องร่วมมือกัน ต้องเสียสละ ยอมเสียผลประโยชน์ของตัวเอง ยอมเสียภาษีเพราะรู้ว่าภาษีนั้นจะนำไปสู่ประโยชน์สาธารณะต่างๆ


 


๔. ความขัดแย้งกันโดยพื้นฐานของทุนกับระบอบประชาธิปไตยนั้นอยู่ที่ว่า ทุนในปัจจุบันเป็นทุนไร้สัญชาติ หรือ ทุนโลกาภิวัตน์ ขยายไปที่ไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงรัฐ หรือชาติ แต่ประชาธิปไตยตั้งอยู่บนพื้นฐานของรัฐชาติ คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐชาตินั้นๆ


 


แล้วทุกวันนี้เรากำลังอยู่กับระบบอะไร


 


ผู้นำที่ดี หรือ ระบบที่ดี อย่างน้อยที่สุดต้องทำให้เกิดสมดุลระหว่างสองด้านนี้ เราคงไม่เรียกร้องให้ทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง ส่วนตัวของทุน กับส่วนรวมของประชาธิปไตย จะสมดุลอย่างไร กำไรสูงสุดกับสวัสดิภาพระยะยาวจะทำยังไง


 


ถามว่าระบบทุกวันนี้เป็นระบบที่สมดุลหรือไม่ และเพราะอะไรถึงไม่สมดุล


 


เราต้องการผู้นำ หรือรัฐบาลที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทุนนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านลบทั้งสี่ด้าน แล้วถ้ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่สามารถที่จะสร้างสมดุลนี้ได้ เมื่อได้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีในตอนต้น คนที่สนับสนุนคงคิดว่าท่านจะทำได้ รวยแล้วคงพอ แต่ที่ผ่านมาก็คงเห็นชัดเจน


 


ผมคิดว่าเราไม่ต้องมีหลักฐานอะไร มันเห็นได้ชัดว่ากฎหมายมีไว้เพื่อเอื้อประโยชน์ในการซื้อขายครั้งนั้น เป็นการเพิ่มมูลค่าหุ้น ทำให้มีโอกาสขยายตัวต่อไปได้ และต่างชาติก็ไม่ถูกจำกัดโดยผลประโยชน์สาธารณะในระบอบประชาธิปไตย


 


จะเห็นได้ว่าระบบขณะนี้ไม่มีความชอบธรรม ไม่สามารถสร้างความสมดุล และมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ชัดเจนอย่างยิ่ง


 


ประเด็นของวิธีคิด วิธีปฎิบัติของผู้นำ  เคยมีผลการสำรวจว่า ผู้นำในปัจจุบันมีความสามารถเก่งกาจในทางเศรษฐกิจ หากจะมีปัญหาอะไรบ้างก็ปล่อยมันเถอะ เรื่องนี้ต้องได้รับการตั้งคำถามอย่างยิ่ง ความสามารถทางเศรษฐกิจสำคัญ แต่มีความสามารถอย่างอื่นที่ผู้นำในระบอบประชาธิปไตยต้องทำพร้อมๆ กันไป คือ


 


๑. เรื่องสิทธิเสรีภาพ ถามว่ากรณีของการขายหุ้นครั้งนี้ เราเห็นไหมว่าสิทธิเสรีภาพเป็นอย่างไร โดยเฉพาะของสื่อมวลชน ทำไมฝ่ายหนึ่งสามารถชี้แจงสิ่งต่างๆได้อย่างกว้างขวางโดยที่คำถามไม่มีสิทธิย้อนกลับ


๒.ประสิทธิภาพในทางการบริหาร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจ หรือการเจริญเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากการสร้างสมดุลของทุนนิยมกับประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น


 


๓. ธรรมภิบาล พูดง่ายๆ คือ ไม่โกง ไม่กิน เป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน


 


ฉะนั้นในเรื่องความชอบธรรมของผู้นำนั้น เราต้องตั้งคำถามทั้งหมด ไม่ใช่มองแค่ความสามารถทางเศรษฐกิจ


 


แต่ก็มีคำถามที่เรามักจะได้ยินว่า ถ้าไม่เอาคนนี้แล้วจะเอาใคร คำถามนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ ๖-๗ ปีก่อนสมัยคุณชวน หลีกภัย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำถามที่เราต้องถาม อะไรที่ไม่ดี อะไรไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม เราต้องถามว่าถ้าปล่อยไว้ต่อไปจะเป็นยังไง ยิ่งปล่อยไปโอกาสที่จะได้คนใหม่ขึ้นมายิ่งไม่ยากเข้าไปใหญ่หรือ ฉะนั้นผมคิดว่าคำถามนี้ทิ้งไปได้เลย


 


ท้ายที่สุด ความชอบธรรมของประชาชน อันนี้อ้างกันมากเรื่อง ๑๙ ล้านเสียง ผมจะไม่ตั้งคำถามหรอกว่า ๑๙ ล้านเสียงนั้นมายังไง แต่ ๑๙ ล้านเสียงนั้นมีความชอบธรรมตรงไหนให้กับผู้นำและรัฐบาล ต้องแยกแยะว่า ๑๙ ล้านเสียงนั้นให้ความชอบธรรมในการขึ้นมาดำรงตำแหน่ง และจัดตั้งรัฐบาลเพื่อใช้อำนาจในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น จบ


 


หลังจากนั้น การดำเนินงานของรัฐบาลไม่ขึ้นต่อเสียงเหล่านั้น ไม่สามารถอ้างต่อได้ เพราะไม่ได้มอบอำนาจให้แล้วให้เลย ไม่ใช่ให้ขึ้นมาแล้วทำอะไรก็ได้แล้วอ้าง ๑๙ ล้านเสียงนั้นตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ต้องมีระบอบการปกครอง ไม่ต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการก็ได้


 


 


การถอดถอนผู้นำตามกฎหมาย


 


ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ


อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างน้อยกรณีซุกหุ้นภาค ๑ และอดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์


 


 


ในทางรัฐศาสตร์ การอยู่การไปของรัฐบาลเป็นเรื่องความชอบธรรม หากรัฐบาลขาดความชอบธรรมแล้ว ยังไงๆ เสียก็อยู่ไม่ได้ แม้ว่าตอนเลือกตั้งเข้ามาได้คะแนนเสียงค่อนข้างจะมาก แต่ประเด็นที่อยากแยกแยะให้เห็นตรงนี้คือ ความชอบธรรมมีทั้งความชอบธรรมที่เป็นเรื่องของความถูกต้องตามกฎหมาย กับความชอบธรรมที่เป็นเรื่องถูกต้องตามศีลธรรม จริยธรรม


 


ความชอบธรรมทางรัฐศาสตร์ เรารวมความว่า ต้องชอบธรรมทั้งทางกฎหมายและชอบธรรมทั้งคุณธรรม จริยธรรม เป็นของคู่กัน


 


ส่วนตัวรัฐธรรมนูญ จะเป็นตัวกำหนดกติกาตามกฎหมาย ว่าการบริหารประเทศนั้นความชอบธรรมตามกฎหมายมีอะไรบ้าง และสมมติว่าขาดความชอบธรรมตามกฎหมายแล้วมีมาตรการอย่างไรในการดำเนินการลงโทษ


 


ในกรณีของการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป อยากจะเน้นเฉพาะประเด็นนี้ ในแง่ของการตรวจสอบ รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้หลายมาตราในการตรวจสอบความถูกต้องตามกฎหมายของผู้บริหารประเทศ


 


มีการระบุว่า ในมาตรา ๓๐๔ ระบุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของจำนวนทั้งหมดหรือประชาชน ๕๐,๐๐๐ คนเข้าชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะนี้มีความพยายามที่จะล่ารายชื่อเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี


 


แต่การถอดถอนโดยการเข้าชื่อของส.ส. ๑ ใน ๔ ก็ดี หรือการเข้าชื่อของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง ๕๐,๐๐๐ ชื่อ จะต้องเป็นกรณีที่เห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคือนายกรัฐมนตรี มีความร่ำรวยผิดปกติ หรือพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตในหน้าที่ หรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เป็นต้น


 


ดังนั้นจะเห็นว่า มาตราม ๓๐๔ ล็อคไว้ว่าจะต้อง ส่อว่าทุจริต หรือ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่ได้พูดถึงการกระทำที่ขัดต่อจริยธรรม คุณธรรม หรือศีลธรรม แล้วเวลาเข้าชื่อก็ควรใช้คำว่า ส่อว่า ทุจริต จากนั้นก็ส่งให้ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ ปปช.สอบว่ามีมูลหรือไม่ ถ้ามีก็จะส่งต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่ง หรืออีกทางหนึ่งหากพบว่ามีการทุจริตชัดเจนก็จะส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เพื่อลงโทษทางอาญา


 


ส่วนการตรวจสอบทางการเมือง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามมาตรา ๑๘๕ ที่ให้สมาชิกสภาผู้แทนจำนวนไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๕ เข้าชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบทางการเมือง เปิดกว้างว่าอาจเป็นเรื่องการบริหารงานผิดพลาด ใช้ไม่ได้ อาจไม่เกี่ยวกับผิดถูกตามกฎหมาย แต่ถ้าหากเปิดอภิปรายว่าผู้นำทางการเมืองทุจริต ก็จะต้องเปิดอภิปรายโดยการส่งข้อหาว่าทุจริตไปให้ ปปช. ก่อน จึงจะสามารถอภิปรายได้ โดยไม่ต้องรอให้ ปปช.วินิจฉัยว่ามีมูลหรือไม่


 


แต่จะเห็นได้ว่า ๒ ใน ๕ นั้นทำลำบาก เพราะรัฐบาลมีเสียงที่ควบคุมเกินกว่าที่พรรคฝ่ายค้านจะขอได้ และพรรคฝ่ายค้านขณะนี้มีเพียง ๑๒๕ ไม่ถึสง ๒๐๐ 


 


ประเด็นต่อมา ส.ว.สามารถส่งตีความคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีได้ ไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องของส.ว.๒๘ คนหรือไม่ (นักข่าวตะโกนบอกว่าศาลไม่รับเรื่อง) อ้าว ไม่รับหรือครับ ก็คงจะยุ่งนะ ที่วุฒิสมาชิกเข้าชื่อตามมาตรา ๒๐๙ นี้เป็นการวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีได้กระทำการผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เพราะตามมาตรา ๒๐๙ บอกไว้ว่า ห้ามเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเกินจำนวนที่คณะกรรมการ ปปช. กำหนดไว้ในกฎหมาย ถ้ามีอยู่จะต้องโอนหรือขายให้คนอื่นไปเลย หรือไม่ก็โอนไปให้บริษัทที่ดูแลทรัพย์สินนิติบุคคลเป็นคนดูแล และห้ามมิให้รัฐมนตรีผู้นั้นกระทำการใด อันมีลักษณะเป็นการเข้าไปบริหารหรือจัดการใดๆ เกี่ยวกับหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว


 


ในกรณีแอมเปิลริช บอกว่าให้ลูกไปแล้ว คำถามที่ตามมาคือ ตัวเองยังเข้าไปมีส่วนจัดการอยู่หรือเปล่า ไม่ให้โอนไปเป็นนอมินี คือ ถือหุ้นแทน


 


ตามกลไกนี้ ผมก็ประหลาดใจที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเรื่องที่กลุ่มส.ว. (นำโดยนายแก้วสรร อติโพธิ ฯลฯ) ได้ยื่นตามมาตรา ๒๐๙ นี้ เพราะจริงๆ แล้วการรับจะเป็นข้อดีที่จะได้มีการชี้แจงว่า ตกลงนายกฯ ได้เข้าไปจัดการในการซื้อขายหุ้นนั้นหรือไม่ ได้โอนหุ้นไปให้คนอื่นจริงหรือเปล่า แต่ถ้าไม่รับ คำถามนี้ก็ยังคาใจประชาชนอยู่เรื่อยไป


 


วันนี้ทำให้เห็นเลยว่า มาตรการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญบางครั้งอาจจะหย่อน ก็คือ เข้าชื่อ ๕๐,๐๐๐ คน กว่าเรื่องจะออกหลายขั้นตอนเหลือเกิน ต้องตรวจสอบว่ามีสิทธิเลือกตั้งหรือเปล่า แล้วจึงส่งไปยัง ปปช. แล้วส่งต่อไปยังวุฒิสภา ซึ่งทั้งหมดใช้เวลานาน และยังเป็นเรื่องสื่อว่ากระทำผิด ทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งต้องมีการวินิจฉัยว่าจงใจกระทำเช่นนั้นหรือเปล่า


 


เรื่องมาตรา ๒๐๙ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับแล้ว แสดงว่าใช้ตรงนี้ไม่ได้แล้ว อภิปรายก็ไม่ถึง ๒๐๐ คำถามที่ตามมาคือ เมื่อมาตราการตามกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้มันใช้ไม่ได้ มันเหลือมาตรการไหนบ้าง


 


คำตอบก็คือ การตรวจสอบของประชาชนในแง่ของความถูกต้องตามจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งตรงนี้ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะตรวจสอบตามกฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้มากน้อยเพียงใดก็ตาม ถือว่ายังไม่ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน ตามมาตรา ๓๙ และ ๔๔ ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรม สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งอาจรวมความไปถึงว่าผู้นำไม่ควรจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป แม้มันไม่มีผลกำหนดตามกฎหมาย แต่ถ้ามีคนแสดงออกเป็นจำนวนมากและต่อเนื่องผู้นำคงต้องมีสำนึกสักนิดว่าควรจะทำตัวอย่างไร


 


 


จริยธรรมทางธุรกิจ


 


ดร.ศุภมิตร เตชะมนตรีกุล


อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี


 


สิ่งที่ผู้นำทำนั้นถูกต้องชอบธรรมในทางธุรกิจหรือไม่ ฟังดูแล้วเหมือนทุกอย่างจะถูกกฎหมายทุกอย่าง และน่าจะเป็นตัวอย่างของนักธุรกิจในรุ่นต่อๆ ไปได้ มันจึงเป็นคำถามใหญ่มากที่ผมต้องมาคิดว่าจะเปลี่ยนวิธีการสอนเด็กในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โดยเอานายกฯ เป็นตัวอย่างได้ไหม


 


ต้องขอท้าวความถึงเรื่อง การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการพูดถึงเรื่องนี้กันมาก และพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นทุกสังคม สาเหตุก็เพราะได้เห็นความล้มเหลวในสหรัฐอเมริกา ที่มีการสร้างตัวเลข สร้างกำไรขึ้นมาเอง ทำให้ในช่วงปี ๒๐๐๑ จะเห็นว่าบริษัทหลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกามีกาตบแต่งตัวเลขเยอะมาก ประเทศนั้นจึงต้องออกกฎหมายเกณฑ์มากมายเพื่อจะกำกับดูแลอย่างเข้มงวด


 


ดังนั้น ทุนนิยมต้องการกำไรระยะสั้น และเพิ่มมูลค่าอยู่เรื่อยๆ นั้นมันก็ก่อให้เกิดแรงผลักดันให้เกิดการฉ้อฉล ไม่ได้โดยปกติก็ต้องได้ด้วยเล่ห์ ด้วยการตบแต่งตัวเลข


 


แล้วการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีองค์ประกอบอะไรบ้าง ตามหนังสือจริยธรรมทางธุรกิจ ของรศ.จินตนา บุญบงการ ระบุองค์ประกอบ ๖ หลักการ คือ ความโปร่งใส , ความซื่อสัตย์สุจริต , ความรับผิดชอบ , ความสามารถที่จะอธิบายได้ - มีวัตถุประสงค์ชัดเจน ทำตรงตามนั้นและตอบคำถามได้, หลักนิติธรรม - ปฏิบัติตามกฎหมาย , หลักคุณธรรม


 


ความแตกต่างระหว่างคำว่า จริยธรรม กับ กฎหมาย   ปกติเวลาเราปฏิบัติธุรกิจหรือไม่ใช่ธุรกิจก็ตาม ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยทุกคนตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าต้องรู้กฎหมาย ซึ่งกฎหมายออกมาบังคับคนกลุ่มใหญ่ เป็นการควบคุมพฤติกรรมในระดับขั้นต่ำเท่านั้น  อีกทั้งกระบวนการออกกฎหมายก็สลับซับซ้อนยาวนาน


 


ขณะที่จริยธรรมเป็นเรื่องการควบคุมพฤติกรรมจากภายใน เกิดจากจิตสำนึก เป็นการควบคุมพฤติกรรมในระดับสูง


 


ขอเชื่อมโยงไปสู่ทางบัญชี ซึ่งมีหลักการเรื่อง เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ โดยปกตินักบัญชีไม่ได้ดูแค่เอกสารหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่จะมองลึกไปถึงการกระทำรายการนั้นๆ มีจุดประสงค์ลึกๆ อย่างไร ขณะที่ในทางภาษีอาจขึ้นอยู่กับฟอร์ม หรือวิธีการเป็นสำคัญ


 


ยกตัวอย่าง การควบคุมหรือมีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญ ทางบัญชีมีมาตรฐานฉบับที่ ๔๔ เรื่องการทำงบการเงินรวม บอกว่า กิจการจะถือว่าเป็นบริษัทย่อยของบริษัทแม่ ไม่ได้ดูกันที่การถือครองหุ้นว่าเท่าไร เกิน ๕๐% หรือไม่ แต่ดูที่หลักเกณฑ์อื่น เช่น มีอำนาจออกเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง อันเนื่องมาจากการมีข้อตกลงกัน, สามารถแต่งตั้ง ถอดถอนตำแหน่งสำคัญในบริษัท, มีการถือหุ้นโดยอำพราง ให้คนอื่นถือแทน ถือหุ้นไขว้กัน, ตั้งขึ้นเป็นกิจการเฉพาะกิจ  เหล่านี้ทางบัญชี หากมีองค์ประกอบเหล่านี้แม้คุณถือหุ้นไม่ถึง ๕๐% หรือไม่ถือหุ้นเลยก็ตาม นับเป็นกิจการบริษัทย่อยของคุณ 


 


กรณีของนายกฯ แม้จะอ้างว่าไม่ได้ถือหุ้นอยู่เลย แต่คำถามคือ ท่านมีอำนาจควบคุมใช่ไหม ถ้ามองทางบัญชี ใช่ครับ


 


พิจารณาดูในหน่วยงานราชาการเอง หลักการพิจารณาในเรื่องพวกนี้ ต้องฝากว่าหน่วยงานรัฐด้วยว่าท่านมองเรื่องนี้แบบนักบัญชี หรือนักกฎหมาย หรือว่าท่านมองบางเรื่องแบบนักกฎหมาย บางเรื่องเหมือนนักบัญชี


 


สุดท้ายขอวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรณีของการขายหุ้น เริ่มต้นจากความโปร่งใส ในการเปิดเผยพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในทางกฎหมายเองก็ถือเป็นอย่างนั้น แต่ในแง่พฤติกรรมมีปัญหา แล้วอย่างนี้บรรทัดฐานที่ทำอยู่  ผมจะยึดอะไรเพื่อสอนนิสิตของเราในรุ่นต่อๆ ไป


 


อันที่สอง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในอนาคต เป็นเรื่องต้องคิดกันหนักๆ ไม่รู้ว่าสาธารณชนยังจะได้รับโอกาสเท่าเทียมกันหรือไม่  เรื่องภาษีอากร คงมีท่านอื่นพูดถึง แต่เรื่องนี้ต้องถกเถียงกันว่า การขายหุ้นโดยไม่ได้ใช้มูลค่าตลาดปัจจุบัน สามารถจะไม่เสียภาษีได้หรือไม่


 


สุดท้าย เรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การที่ธุรกิจมีกำไร เจริญเติบโต ก็เพราะมีการผูกขาด ดังนั้นในฐานะที่เป็นนักปกครอง ที่ประชาชนเลือกเข้าไปเพื่อให้ดูแลกฎหมาย นายกฯ ควรดูและอุดช่องว่างกฎหมาย ส่วนนักธุรกิจต้องหาช่องว่างให้มากที่สุด แต่ท่านเลือกเป็นนักธุรกิจมากกว่า แล้วตอนนี้กลับมาบอกว่าจะมาทำในฐานะนายกฯ จะแก้กฎหมายที่เป็นช่องโหว่ สรุปแล้วเลยได้ประโยชน์สองต่อ


 


 


สื่อยุคธุรกิจการเมือง


 


รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์


อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์


 


จะนำเสนอ ๔ ประเด็น ผลประโยชน์ทับซ้อนในการบูรณาการสื่อ, การขายสัมปทานของโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชน, การครอบงำสื่อมวลชนและประชาชน, กรณีไอทีวี ทีวีของไอ


 


โครงสร้างของระบบพื้นฐาน เศรษกิจการเมืองของสื่อสารมวลชนขณะนี้อยู่ภายใต้ผลประโยชน์ทับซ้อนของทักษิโณมิกส์ไปแล้ว อำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนนี้มาจากเทคโนโลยีที่เราเรียกว่า ไอซีที หมายรวม โทรศัพ์มือถือ ดาวเทียม สื่อสารมวลชน อินเตอร์เน็ต เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าสูง เน้นการหากำไรจากการผูกขาด โดยผลประโยชน์ทับซ้อนตรงนี้มีอำนาจทางการเมืองมาช่วยสนับสนุน


 


นอกจากนี้ยังมีวางนโยบายทางการเงินเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของกลุ่มตนด้วย ถัดมา ธุรกิจหลักของเครือชินคอร์ป ทางด้านโทรคมนาคม และสื่อสารมวลชนนั้น เป็นต้นแบบในการถกเถียงว่า ซีกที่เป็นสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสารมวลชนควรอยู่ในเจ้าของเดียวกันหรือไม่ สังคมต้องถกเถียงกันต่อไป


 


กิจการประเภทนี้มีลักษณะสำคัญ คือ เป็นการใช้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๐ ระบุไว้ให้ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลเป็นพิเศษ มีองค์กรอิสระ ๒ องค์กร คือ กทช. และ กสช. ยังไม่ได้รับการก่อตั้งเลยตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา


 


ถัดมาเป็นเรื่องของการผูกขาด หรือ กึ่งผูกขาดระยะยาว ๓๐ ปี บริษัทเอไอเอสดำเนินธุรกิจมือถือ ชินแซทเทิลไลท์ดำเนินธุรกิจดาวเทียมสื่อสาร ดวงใหญ่ที่สุดของโลกคือไอพีสตาร์ มูลค่าที่ยิงขึ้นไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีทีแล้ว ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท ขายไปให้เทมาเส็กโดยติดเอาวงโคจรของประเทศไทยไปด้วย


 


สุดท้ายบริษัทไอทีวี เป็นธุรกิจโทรทัศน์ เป็นการบูรณาการเข้าไปรวมกันทั้งหมด ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน เป็นเครือขนาดใหญ่


 


หัวข้อที่สอง การขยายสัมปทานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และสื่อสารมวลชน ย้ำว่าเรื่องสัมปทาน เป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะเรื่องการหลบเลี่ยงภาษีที่กำลังพูดถึง ข้อเสนอก็คือว่า เมื่อขายให้เทมาเส็ก บริษัทลูกทั้ง ๓ บริษัทจะกลายเป็นบริษัทต่างด้าวไปทันที แม้จะมีการฟอกบริษัทให้เป็นบริษัทสัญชาติไทยก็ตาม


 


มันไม่ใช่การตกลงซื้อขายของบริษัทธุรกิจ ๒ บริษัทดังที่กล่าวอ้าง แต่เป็นการขายทอดตลาดของดโครงสร้างการสื่อสารโทรคมนาคมทั้งหมดของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีอำนาจของนายกรัฐมนตรีค้ำประกัน ไปอยู่ในมือของเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งเครือญาติของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ดูแลอยู่ ดีลแบบนี้มันคือดีลแบบไหนกันแน่ เป็นดีลของทุนอยู่เหนือรัฐทั้งสองข้าง


 


คำถามต่อไป ความชอบธรรมในการขายคลื่นความถี่อันเป็นทรัพยากรของชาติ และการละเมิดรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๙ ชัดเจนว่าห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทยดำเนินการสื่อสารมวลชน ทำผิดพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับแก้ไข ที่ให้ต่างด้าวถือหุ้นได้ ๔๙% ผิดพ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวด้วย ทั้งยังละเมิดสัญญาร่วมงานกับหน่วยงานของรัฐที่ให้สัมปทาน กรณีไอทีวีสัญญาสัมปทานกำหนดให้ผู้ถือหุ้นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า ๗๕% ข้อนี้เคยมีความพยายามแก้แต่ไม่สำเร็จ รวมไปถึงปัญหาความมั่นคง อธิปไตยที่ยกไปให้สิงคโปร์


 


จริยธรรมของสื่อก็หายไป ระดับของสิทธิเสรีภาพตกต่ำ ดัชนีต่ำกว่าติมอร์ตะวันออกซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่ ต่ำกว่าละตินอเมริกาและแอฟริกา


 


ที่เราหนักใจตอนนี้คือ สื่อถูกใช้ไปในการสร้างเสียงข้างมากและผลประโยชน์ส่วนรวม ลักษณะเสมือนจริง วิธีการตรงนี้สร้างมาเพื่อปิดกั้นและปฏิเสธเสียงข้างน้อย เสียงวิพากษ์ต่างๆ โดยอ้างเสียงข้างมาก ยังเป็นโจทก์ว่าจะเปิดโปงความเสมือนจริงตรงนี้ได้อย่างไร


 


กลวิธีในการจัดการกับสื่อมวลชนของรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา คือ การซื้อนักข่าว พิธีกรเป็นรายบุคคล หากซื้อแบบรวมก็คือ การให้เงินโฆษณา มีการใช้วิธียึดและย้ายกรรมสิทธิของคลื่นวิทยุโทรทัศน์ให้เป็นของธุรกิจเอกชน ซื้อไอทีวี จัดการแปรรูปอสมท. หาทางให้ช่อง ๑๑ เป็นช่องทางหาเงินเข้ารัฐ และให้เครือข่ายยึดทำเป็นดิจิตอล ช่อง๕ ลูกชายท่านนายกฯ ก็ขอเข้าไปจัดผังรายการใหม่


 


สื่อถูกควบคุมจนไร้อิสรภาพ ไม่สามารถทำตามจรรยาบรรณได้ เช่น การข่มขู่ ขอร้อง ต่อรองผลประโยชน์ ตรวจสอบบัญชี เปลี่ยนรายการ ผู้ดำเนินรายการ ปลดบรรณาธิการ ตลอดจนฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งเราลองรวบรวมสถิติเฉพาะที่เครือญาตินายกฯ ฟ้อง พรรคไทยรักไทยฟ้อง และชินคอร์ปฟ้อง รวมแล้วปีเศษ ก็ ๔,๕๐๐ ล้านบาทเท่านั้นเอง สุดท้ายคือ การซื้อหนังสือพิมพ์ที่หัวดื้อรั้น


 


ที่สำคัญคือ การสร้างวาทกรรมเพื่อสร้างความชอบธรรมของนายกฯ โดยกำหนดวาระทิศทางข่าวสารตลอดเวลา, การสร้างข่าวใหญ่กลบข่าวลบ, การเบี่ยงเบนวาระข่าวสาร ด้วยการสร้างปรากฏการณ์ข่าว เช่น อาจสามารถโมเดล, การใช้ภาษาและลีลากระทบใจ, การสร้างข่าวใหม่


 


การใช้วิถีทุน การตลาดในการครอบงำสื่อของระบอบทักษิณ จะส่งผลต่อวิธีคิดด้วยการเบี่ยงเบนตรรกะความเข้าใจความจริงของประชาชนด้วย การโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นทุกรูปแบบทุกเวลา ซึ่งได้กลายมาเป็นสิ่งแวดล้อมทางสื่อที่บิดเบือนสามัญสำนึกผู้คน


 


 


 


กฎหมายและภาษี


 


ผศ.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย


อาจารย์คณะนิติศาตร์


 


 


เรื่องการเก็บภาษีการขายหุ้นของนายกฯ ไม่ได้เลยกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สำคัญ ในขณะที่กรมสรรพากรไล่เก็บภาษีเป็นคดีมากมายในจำนวนเงินไม่กี่ร้อยบาท หรือเป็นคดีขึ้นถึงศาลก็เยอะ 


 


 


 


เรื่องภาระภาษีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มทุนเทมาเส็กว่า กรมสรรพากรเห็นว่า การขายหุ้นชินคอร์ป ไม่ต้องเสียภาษีทั้งตอนซื้อมาหรือตอนที่ขายหุ้นไป โดยเฉพาะตอนซื้อมาไม่ต้องเสียทั้งส่วนลดที่ได้จากการซื้อทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าราคาตลาดไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน เนื่องจากไม่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (1) (2)(4) และ (5) ของประมวลรัษฎากรจึงไม่ต้องเสียภาษี แม้หากส่วนลดเป็นประโยชน์ผู้ซื้อก็ยังไม่ได้รับในวันที่ซื้อหุ้น ประโยชน์ดังกล่าวถือว่าได้รับก็ต่อเมื่อมีการขายหุ้นนั้นออกไป ส่วนตอนขายหุ้นไปไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากการขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในจุดนี้ถือว่ายอมรับได้


 


ผมยืนยันได้ว่า ในประมวลรัษฎากรตรงนี้ไม่มีการระบุไว้เลย แต่เชื่อว่า การที่กรมสรรพากร ออกมาชี้แจง รวมทั้งผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังหลายคนออกมาให้แถลงข่าว น่าจะเป็นการตีความที่เถรตรง


 


อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าขณะนี้ความสมัครใจหรือความเต็มใจของคนไทยที่จะเสียภาษีอย่างถูกต้องลดลงไปมาก ได้เคยพูดคุยกับหน่วยตรวจเก็บภาษีที่รับความเห็นของประชาชน ส่วนใหญ่จะได้รับความเห็นว่า ให้คุณไปเก็บข้อมูลที่ถูกต้องของทักษิณในเรื่องภาษีให้ได้ก่อนดีกว่า แล้วค่อยมาเก็บภาษีชาวบ้าน


 


นอกจากนี้กรมสรรพากรยังชอบอ้างคำวินิจฉัยที่ 28/2538 ที่วินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ ส่วนต่างที่ได้รับจากการซื้อหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดเป็นเงินได้ถึงประเมิน การกำหนดวิธีการคำนวณหาส่วนต่างเพื่อการเสียภาษี และการกำหนดเวลาที่ต้องเสียภาษี ซึ่งความเห็นที่ต่างคือ ความเป็นเงินได้พึงประเมินขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งที่ได้รับ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้รับ


         


จากความแตกต่างของแนวทางของกรมสรรพากร ซึ่งจะรวมเอาความรับผิดในการเสียภาษีจากเงินได้พึงประเมินทั้งสองธุรกรรม คือ การซื้อขายหุ้นราคาต่ำกว่าราคาตลาด และการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ กลืนเข้าเป็นหนึ่งความรับผิดในการเสียภาษี โดยถือว่าธุรกรรมที่สอง เท่ากับหนึ่งบาทและเมื่อขาย ในตลาดหลักทรัพย์ ก็ได้รับการยกเว้นทั้งหมด ดังนั้นทั้งสองธุรกรรมจึงมีความผิด และความผิดในการเสียภาษีบน ส่วนต่างจากการซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าการตลาดจะเกิดขึ้นเมื่อมีการขายหุ้นออกไป ความรับผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่ความรับผิดในธุรกรรมที่สองที่เกิดขึ้น เนื่องจากในขณะขายผู้ขายยังไม่ได้รับเงินค่าหุ้น จะได้รับเงินค่าหุ้นก็ต่อเมื่อล่วงไปอีก 3 วัน ส่วนธุรกรรมที่สอง กรณีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ย่อมได้รับการยกเว้นภาษี แต่นักวิชาการหลายคนเห็นว่า การได้รับการยกเว้นจะต้องเป็นการซื้อขายกันบนกระดานปกติ


         


ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้นคิดว่า  พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ริเริ่มที่จะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาในการประเมินภาษี โดยนายกฯ ที่เป็นผู้นำสูงสุดของการบริหารจะต้องมีความกล้าบัญชาไปยังกรมสรรพากรประเมินหุ้นของลูกทั้ง 2 ของตัวเอง คือนางสาวพิณทองทา และนายพานทองแท้ ชินวัตร เพื่อเคลียร์ปัญหาที่ไม่ต้องเสียภาษี โดยทำให้ฐานะนายกฯไม่ใช้ฐานะของบิดา ซึ่งจะเป็นการลดกระแสความร้อนแรงและเป็นความยุติธรรม


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net