Skip to main content
sharethis

รายงานข่าวจากจังหวัดกระบี่แจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ เพื่อเตรียมการประชุมคณะทำงานเพื่อบูรณาการพัฒนาพื้นที่บริเวณเกาะพีพี ในเวลา 9.00 น. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ที่เกาะพีพี


 


ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ เพื่อเตรียมการประชุมคณะทำงานเพื่อบูรณาการพัฒนาพื้นที่บริเวณเกาะพีพี ในเวลา 9.00 น. วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2549 ที่เกาะพีพี


 


นายสนธิ เปิดเผยหลังการประชุมว่า ในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งนี้ ตนยืนยันว่าจะไม่มีการประกาศให้เกาะพีพีเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวแน่นอน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นแค่ช่องทางเพื่อของบประมาณนำมาพัฒนาและฟื้นฟูเกาะพีพีเท่านั้น ส่วนการพัฒนาเกาะพีพีจะดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ท่าเรือ เป็นเรื่องของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะไม่มีการลงนามสัญญากันในเรื่องไม่ประกาศเกาะพีพีเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว เพราะผู้ที่มาร่วมทำงานในครั้งนี้เป็นผู้ใหญ่กันทุกคน


 


ก่อนหน้านี้ คณะทำงานเพื่อบูรณาการพัฒนาพื้นที่เกาะพีพีภาคประชาชน ได้ปฏิเสธไม่ให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการพัฒนาเกาะพีพี เนื่องจากเกรงว่า จะมีการประกาศให้เกาะพีพีเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว ภายใต้การบริหารจัดการและกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวของเกาะพีพี โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งมียุทธศาสตร์ยกระดับให้เกาะพีพีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลก รองรับเฉพาะนักท่องเที่ยวระดับสูง ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวเกาะพีพี ผู้ประกอบการ และเจ้าของที่ดินในปัจจุบัน


 


นางสุนีย์ ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ชาวเกาะพีพีคัดค้านกลไกการทำงานขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพราะองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่รับฟังความเห็นชองชาวบ้านมาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้การฟื้นฟูเกาะพีพีล่าช้า ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน และผู้ประกอบการบนเกาะพีพีเป็นอย่างมาก


 


ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 14 - 15 กุมภาพันธ์ 2549 นางสุนีย์ และคณะ ได้เดินทางมายังจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงาตามลำดับ เพื่อประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ดินใน 2 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งมีอยู่กว่า 10 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่หมู่เกาะลันตา เกาะพีพี อ่าวนาง คลองท่อม เป็นต้น


 


นางสุนีย์ เปิดเผยว่า ปัญหาเกิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้พิสูจน์ว่า พื้นที่ใดมีผู้ทำกินอยู่ก่อนประกาศเขตป่าและเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ เมื่อเข้าไปประกอบอาชีพในพื้นที่เดิมก็ถูกจับกุม ถ้าหากมีการขัดขืนการจับกุมชาวบ้านก็ไม่สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่เดิมต่อได้ การแก้ปัญหาของภาครัฐ ต้องแก้ปัญหาให้ถูกกลุ่ม พื้นที่ที่มีปัญหาก่อนให้รีบแก้ไขก่อน ไม่ใช่ให้คนที่ไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินในพื้นที่เดิมที่ถูกประกาศทับซ้อน ไปขึ้นทะเบียนคนจน รัฐควรแยกปัญหาให้ออก ไม่ใช่รวมกันจนวุ่นวายไปหมด


 


"คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นเพียงตัวกระตุ้นให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน รวมกลุ่มผลักดันให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ และกระตุ้นให้ทางหน่วยงานราชการเร่งรัดตั้งคณะทำงานร่วมโดยเร็วที่สุด และหาช่องทางให้ส่วนราชการนำเสนอโยงไปสู่นโยบายเพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น" นางสุนีย์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net