Skip to main content
sharethis

บทความ (ชื่อเดิม) : เสรีภาพแห่งการวิจารณ์ของ "สมัคร"


โดย สมชาย ปรีชาศิลปกุล


 


ผมไม่ใช่แฟนของคุณสมัครทั้งในด้านงานเขียน รายการวิจารณ์ข่าว และคิดว่าโดยรสนิยมส่วนตัวหรือความคิดเห็นทางการเมืองนั้น คงไม่มีโอกาสที่จะเป็นผู้ติดตามคุณสมัครอย่างใกล้ชิดแน่นอน


 


แต่กับความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้น ภายหลังที่คุณสมัครได้แสดงความคิดเห็นต่อการปาฐกถาของ พล.. เปรม ติณสูลานนท์ และได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงโดยสาธารณชน รวมทั้งมีข้อเรียกร้องประการหนึ่งก็คือ ให้ถอดรายการของคุณสมัครออกจากสถานีโทรทัศน์นั้น ผมชักเริ่มรู้สึกตะหงิดๆ กับท่าทีเช่นนี้ไม่น้อย


 


ในสังคมประชาธิปไตย การแสดงความคิดเห็นของผู้คนที่ดำรงอยู่ร่วมกันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอันหนึ่ง เสรีภาพอันนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะจะทำให้สามารถเข้าใจถึงจุดยืน เหตุผล และความต้องการของกลุ่มต่างๆ ในสังคมว่ามีทรรศนะอย่างไร


 


ถึงแม้จะมีความเห็นที่ต่างไปจากเสียงข้างมากของคนในสังคม ฝ่ายที่เป็นเสียงข้างน้อยก็ต้องได้รับการเคารพให้สามารถมีช่องทางในการสื่อสารได้ ไม่ใช่เอะอะก็ว่าคิดไม่เหมือนตนแล้วก็เอามือยัดปากพวกที่เห็นต่าง หรือที่เรียกกันในภาษาวิชาการว่าการเคารพความคิดเห็นของเสียงข้างน้อย


 


กล่าวเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเพราะฉะนั้นเราจะลุกขึ้นมาด่าใครต่อใครให้เปรอะไปตามใจชอบ


 


ถ้าคำพูดดังกล่าวอยู่บนฐานของการใช้เหตุผล การเสนอแนะความคิดเห็นเข้ามาโต้แย้ง ก็ควรเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องและเคารพ เวลากล่าวถึงการด่าในที่นี้ผมกำลังหมายความถึงการวิจารณ์ ไม่ใช่การไปยืนชี้หน้าอีกฝ่ายแล้วกล่าวว่า "ไอ้พวกโจรห้าร้อย ไอ้โจรชั่วช้าสารเลว ต่ำช้าสามานย์" นะครับ


 


สิ่งที่เป็นคำถามของผมสำหรับความขัดแย้งในครั้งนี้ก็คือ คุณสมัครได้ทำอะไรที่เกินเส้นแห่งการแสดงความคิดเห็นไปหรือไม่


 


(แต่คงไม่อาจรวมครั้งอื่นๆ เข้าไป เพราะผมเองก็มีความเห็นว่าหลายครั้งคุณสมัครได้ว่ากราดคนให้เปรอะไปทั่วเหมือนกัน แต่นั่นก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันไป)


 


การตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นว่า พล.. เปรม เลือกข้างใช้หรือไม่, ทำไมองคมนตรีต้องมากระทำการในลักษณะของการเคลื่อนไหว, การกล่าวปาฐกถาที่เสมือนหนึ่งอบรมนายกรัฐมนตรีเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม, ควรจะต้องรู้ว่าจะพูดอย่างไรในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ฯลฯ หรืออีกหลายประเด็น


 


ทั้งหมดนี้คุณสมัครได้กระทำอะไรที่เกินเลยไปกว่ากรอบแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมประชาธิปไตย?


 


เป็นที่แน่นอนว่าหากบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพรักของเราถูกกล่าวตำหนิติเตียนอย่างรุนแรงจากผู้อื่น เราก็อาจรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำอันนั้น จะมากหรือน้อยก็คงอยู่กับท่าที เนื้อหา และเหตุผลที่ผู้วิจารณ์ได้แสดงออกมา ผมค่อนข้างเห็นใจต่อบรรดาบุคคลที่นับถือ พล.. เปรม ว่าอาจต้องรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับท่าทีของคุณสมัครในครั้งนี้


 


ยิ่งประกอบกับในฐานะของการเป็นองคมนตรีและสถานะของการเป็นรัฐบุรุษคนที่สองของประเทศ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีผู้ชื่นชมกับ พล.. เปรม อย่างกว้างขวาง อีกทั้งในครั้งการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จุดแข็งประการหนึ่งก็คือ ความซื่อสัตย์ที่เอามาขายได้ตลอดเวลาเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่ความซื่อสัตย์กำลังเป็นประเด็นโจมตีนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร


 


อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้เป็นเหตุผลอันใดซึ่งจะบอกเลยว่า เพราะฉะนั้น พล.. เปรม จึงเป็นบุคคลที่ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้


 


ถ้ายึดเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2540 เป็นกรอบของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ (ตามมาตรา 8)


 


นอกจากนี้ในฐานะของบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งในทางสาธารณะเช่นนายกรัฐมนตรี พล.. เปรม ก็ได้มีบทบาทหลายประการที่สามารถถูกวิจารณ์ได้ เช่น การเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองโดยไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง, การแทรกแซงการเมืองโดยอำนาจและบารมีทั้งจากกองทัพและสถาบัน เป็นต้น


 


ถ้อยคำของคุณสมัครที่มีต่อ พล.. เปรม จึงเป็นความชอบธรรมที่สามารถกระทำได้ การถามว่า พล.. เปรม เลือกข้างหรือเปล่า ก็เป็นคำถามที่แสนจะธรรมดาๆ คำถามหนึ่งเท่านั้น ถ้าหาก พล.. เปรม อยากตอบก็ตอบออกมาหรือจะตอบว่าไม่เลือกข้างก็ได้ รวมถึงจะไม่ตอบเลยก็ได้ การตั้งคำถามนี้จะทำให้เกิดความหายนะขึ้นอย่างไร ผมได้พยายามขบคิดจนปวดหัวแล้วก็ยังนึกไม่ออกอยู่ดี


 


ถึงแม้ว่าท่าทีของคุณสมัครในการตั้งคำถามอาจดูไม่เรียบร้อยไปบ้าง แต่ก็นั่นแหละไม่มีกฎหมายที่ไหนเขียนเอาไว้ว่าเวลาแสดงความคิดเห็นต้องนั่งพับเพียบให้เรียบร้อย หรือต้องกราบก่อนและหลังตั้งคำถามจึงมีสิทธิที่จะถาม


 


ขอยืนยันอีกครั้งนะครับว่าทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้คุณสมัคร เพียงแต่ผมรู้สึกว่าหากเราปล่อยให้การตั้งข้อสงสัย การตั้งคำถาม ที่แสนจะธรรมดาเช่นนี้ถูกคุกคาม จะรู้ได้อย่างไรว่าอนาคตคำถามบางอย่างของเราก็อาจถูกริบไปด้วยเช่นกัน การปิดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ของคุณสนธิและคุณสโรชา ก็มาจากเหตุผลตื้นๆ ในทำนองเดียวกันมิใช่หรือ


 


สิ่งที่สังคมควรต้องร่วมกันปกป้องคือสิทธิในการแสดงความคิดเห็นที่เสรีและไม่ถูกคุกคามจากอำนาจใดๆ อย่างง่ายดาย เพื่อเป็นหลักประกันให้กับการวิพากษ์วิจารณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อสถาบันและบุคคลต่างๆ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net