Skip to main content
sharethis

  


 


โดยองอาจ เดชา


 


เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2548 นายไพฑูรย์ อุ้ยมาก ผู้พิพากษาศาลจังหวัดลำพูน ออกนั่งบัลลังค์พิพากษาคดีนายนายสุแก้ว ฟุงฟู และชาวบ้านบ้านแพะใต้  จำนวน 7 คน ที่ถูกกลุ่มนายทุนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในพื้นที่บ้านแพะใต้ หมู่ที่ 7 .หนองล่อง กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน  ฟ้องว่าบุคคลทั้ง 7 ร่วมกันบุกรุกที่ดินทั้งหมด 18 แปลง โดยศาลมีคำพิพากษาว่าการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมที่เคยมีการฟ้องร้องมาก่อนนั้นแล้วและได้พิพากษายกฟ้องในคดีเดิมไปแล้ว


"สืบสกุล กิจนุกร" กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้เข้าไปทำงาน ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อต่อสู้เรียกร้องในเรื่องการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดิน และการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยมิชอบ 


 


เขาเป็นหนึ่งที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดีบุกรุกที่ดินทั้งหมดประมาณ 40 คดี และเขาถือว่า กรณีศาลยกฟ้องคดีชาวบ้านบ้านแพะใต้  เป็นอีกหนึ่งชัยชนะของ "ขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" ที่กำลังเรียกร้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ เช่น มาตรา 46 ชุมชนมีสิทธิในการอนุรักษ์รักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งมาตรา 84 กำหนดให้รัฐจะต้องจัดระบบการจัดการที่ดินให้เหมาะสม โดยชุมชน


ชาวบ้านต่อสู้กันมานานหรือยัง


กรณีชาวบ้าน บ้านแพะใต้ ต่อสู้กันมานาน ถูกจับครั้งแรกเมื่อปี 2541 และมาถูกจับอีกครั้งในปี 2545


 


มีความคิดเห็นอย่างไร กับการที่ศาลพิจารณายกฟ้องคดีชาวบ้านบ้านแพะใต้ ครั้งล่าสุด


การฟ้องคดีชาวบ้านลำพูนในปี 2545 นั้นเกิดจากความพยายามทำลายขบวนการปฏิรูปที่ดิน


โดยมีจุดเริ่มต้นจากมติ ครม.30 เมษายน 2545 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ระบุว่า มีการบุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชนในภาคเหนือ ดังนั้นจึงให้ตำรวจ และผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด


 


ต่อมาทางจังหวัดจึงสั่งการให้เข้าไปดำเนินการจับกุมชาวบ้าน  ชาวบ้านบ้านแพะใต้ ก็เป็นหนึ่งในนั้นชาวบ้าน 7 คนถูกจับกุมเข้าไปอยู่ในเรือนจำ  พอยื่นเรื่องประกันตัว ตำรวจก็อายัดไว้  โดยมีการอายัดทีละคดี  แยกเป็น  18 คดี  ทั้งที่สามารถทำการฟ้องรวมกันได้  แต่เขาทำการแยกฟ้องเป็นรายแปลง เพื่อกดดันชาวบ้านให้ออกจากที่ดิน เพราะต้องสู้กันหลายคดี และมีการนับโทษต่อ18 คดี ก็เท่ากับ 18 ปีกับการติดคุก ถ้าหากชาวบ้านแพ้


 


แต่ความจริงที่ศาลตัดสินในวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็คือ การฟ้อง 18 คดีนี้ ไม่สามารถฟ้องได้อีก เพราะเคยมีการฟ้องไปก่อนหน้านั้นแล้ว  เนื่องจากเป็นเหตุการณ์เดียวกัน ที่ดินแปลงเดียวกัน และโจทก์จำเลยคนเดียวกัน และในคดีเดิมนั้นศาลได้ยกฟ้องเนื่องจากพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ


 


ทำไมถึงต้องปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน โดยชาวบ้าน?
การปฏิรูปที่ดินโดยรัฐ เป็นผลจากการเคลื่อนไหวของชาวนาเมื่อสามสิบปีก่อน ปรากฏว่ารัฐไม่สามารถปฏิรูปที่ดินได้สำเร็จ เพราะสามารถเอาที่ดินของเอกชนมาได้เพียง 400,000 ไร่เท่านั้น ส่วนใหญ่กลับไปจัดการในเขตป่าซึ่งมีคนอยู่แล้ว ทำให้เขามีสิทธิอยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ทำการพัฒนาการปฏิรูปที่ดินอย่างแท้จริง หมายถึง ต้องดูแลการผลิต การตลาด การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นบ้าน การลงทุนของเกษตรกร ซึ่ง สปก.(สำนักงานปฏิรูปที่ดิน) ไม่ได้ทำเลย

ในสมัยรัฐบาลชวน ยุคนั้น มีการแจก สปก.4-01 มีการคอรัปชั่น คือแจกที่ดินให้คนรวยด้วย ทุกวันนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ในภาคเหนือ เช่น กรณีบ้านโป่งรู ตำบลนครเจดีย์ (อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน) ปรากฏว่า เจ้าของโรงงานไอศกรีม มีที่ดินในเขต สปก. ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการได้ที่ดิน หรือบางกรณีเอาที่เอกชนมาปฏิรูป ทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ไปเช่าซื้อที่ดินของ สปก. ติดหนี้สิน เพราะว่า สปก.ให้เกษตรกรเช่าซื้อโดยให้ทำทำการเกษตรแบบพันธะสัญญา ชาวบ้านโป่งรูติดหนี้หลายหมื่นบาทจนไม่สามารถปลดหนี้ได้เลย สรุปแล้วการปฏิรูปที่ดินแบบนี้ไม่มีความหมายสำหรับคนจนเลย

การพัฒนาใด ๆ ก็ตาม ถ้าไม่มีชาวบ้านมีส่วนร่วม การพัฒนานั้นจะล้มเหลว การปฏิรูปที่ดินที่ผ่านมามันล้มเหลว เพราะชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม ในการเสนอความคิดเห็น การตัดสินใจ ในการวางแผน ในการใช้งบประมาณ หรือทรัพยากรอะไรต่างๆ

เพราะฉะนั้น เราต้องการให้สังคมไทยได้ทบทวนการใช้อำนาจตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรที่ดินกันใหม่ โดยที่ชาวบ้านและเกษตรกรรายย่อยต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน และตรงนี้รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว เช่น มาตรา 46 ชุมชนมีสิทธิในการอนุรักษ์รักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน อันนี้ก็ต้องบวกกับมาตรา 84 กำหนดให้รัฐจะต้องจัดระบบการจัดการที่ดินให้เหมาะสม จัดหาแหล่งน้ำ ดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร ส่งเสริมการลงทุนของเกษตรกร ซึ่งทั้งสองมาตราเทียบกัน ก็คือการปฏิรูปที่ดินนั่นแหละ ซึ่งตรงนี้เราต้องการผลักดันให้การพัฒนาเปลี่ยนกระบวนการผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ

การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้จริงหรือ?

การปฏิรูปที่ดิน ถ้าทำกันจริง ๆ มันคือการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่แล้ว จะเปลี่ยนโดยชาวบ้านหรือรัฐก็แล้วแต่ ผลประโยชน์มันจะตกอยู่กับคนในสังคมทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะชาวนา เกษตรกร หรือชุมชนเองเท่านั้น

เหตุที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาเรียกร้องหรือมีปฏิบัติการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนเอง ก็เพราะเห็นแล้วว่า ไม่สามารถที่จะรอฝ่ายรัฐเป็นคนดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว ข้อเรียกร้องที่ผ่านมาก็คือตรวจสอบว่ามันออกผิดกฎหมาย ให้มีการเพิกถอน จัดสรรใหม่ ที่ดินนี้ไม่มีใครใช้ประโยชน์ แล้วกฎหมายมาตรา 6 ก็ไม่มีการใช้จริงจัง ชาวบ้านจึงต้องออกมาเรียกร้องเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปที่ดิน

ถ้าหากมีการปฏิรูปที่ดินใหม่ในสังคมไทย น่าจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลมากกว่า ในแง่ที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตเยอะขึ้น รัฐบาลก็บริหารประเทศได้ง่าย ในแง่ของสังคมโดยรวมถ้าเกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองก็เท่ากับเป็นหลักประกัน เป็นฐานของอธิปไตยทางอาหารสำหรับสังคมไทย อันนี้สำคัญ เพราะเดี๋ยวนี้การต่อสู้ระดับโลก คือ เรื่องอาหาร เรื่องการเกษตร เช่น เรื่องการทำการค้าเสรี เรื่องการเกษตร ซึ่งยังหมายความถึงองค์ความรู้ในการทำการเกษตร องค์ความรู้ในเรื่องเมล็ดพันธุ์

องค์ความรู้ในเรื่องเกษตร เป็นเรื่องที่ต่อสู้กันหนัก บริษัทข้ามชาติพยายามเข้ามาครอบงำเมล็ดพันธุ์ ครอบงำปัจจัยการผลิต หรือบางทีก็เข้าไปจัดการเรื่องการเกษตรเอง ถ้าปล่อยให้การเกษตรตกอยู่ในมือของทุนขนาดใหญ่ ความมั่นคงในอาหารของสังคมจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ถ้าเราปฏิรูปที่ดินใหม่ให้แก่เกษตรรายย่อยและชุมชน ซึ่งมันกระจายทั่วประเทศและองค์ความรู้ในการผลิตของเกษตรกร มีอยู่หลากหลายและซับซ้อน จะเป็นหลักประกันในการผลิตอาหารของคนทั้งสังคม


 


ชาวยังยืนยันจะเข้าไปปฏิรูปที่ดินต่อไปหรือไม่ หลังจากที่ศาลยกฟ้อง?


ใช่ ชาวบ้านยังยืนยัน นอกจากชาวบ้านจะต้องต่อสู้คดีกันในศาล แต่จะต้องผลักดันให้รัฐเร่งดำเนินการจัดการปฏิรูปที่ดินอย่างเป็นธรรมไปพร้อมๆ กัน โดยต้องสอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ เพราะทุกวันนี้ จะเห็นว่านโยบายของรัฐที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าการจดทะเบียนคนจน หรือนโยบายที่บอกว่า จะแก้ไขปัญหาความยากจน แต่สุดท้ายก็ช่วยอะไรชาวบ้านไม่ได้เพราะรัฐบาลล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ดินตามนโยบายแก้ปัญหาคนจน


 


คิดอย่างไรกับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังเดินสายจัดเรียลิตี้โชว์ที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด


สิ่งที่นายกรัฐมนตรีกำลังทำ  ทำได้คือการโชว์เท่านั้น  ความจริงแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาคนจนที่แท้จริงได้


 


แต่สิ่งที่ต้องแก้ไขคือนโยบายมากกว่า ถึงแม้นายกฯ จะลงพื้นที่ทุกหมู่บ้านก็ตาม แต่หากนโยบายข้างบนไม่เอื้อคนจนก็ไม่มีทางรอด  เช่น ที่ภาคเหนือ  หากไม่แก้นโยบายราคาผลผลิตทางการเกษตรชาวบ้านทำการผลิตอะไรก็เจ๊ง  อย่างกรณีเรื่องลำไย รัฐต้องเอาคนโกงระดับบนมาตัดสินให้ได้ เป็นต้น


 


ทางออกของการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่ดินกับความยากจนที่แท้จริงคือไรละ?


ต้องเอาที่ดินเอกชนที่ทิ้งร้างมาปฏิรูปให้กับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกิน คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม หยุดการค้าเสรี โดยเฉพาะขอย้ำว่า หากไม่เอาที่ดินเอกชนมาปฏิรูปก็แก้ปัญหาที่ดินคนจนไม่ได้ เพราะรัฐไม่มีที่ดินรัฐมาจัดให้ชาวบ้านอีกแล้ว 


 


หมายความว่า ชาวบ้านยังพร้อมเดินหน้าทำการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนต่อไป?


ใช่  เป็นทางเดียวของคนจนที่จะเข้าถึงที่ดิน เราต้องการให้รัฐปรับทิศทางการปฏิรูปที่ดินเสียใหม่ ทางหนึ่งที่ชาวบ้านจะแสดงให้รัฐได้รู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไรก็คือการปฏิบัติการที่เป็นจริง


 


ลองยกตัวอย่าง ขบวนการประชาชนในต่างประเทศ ที่เคลื่อนไหวจนได้รับชัยชนะ?


ขบวนการคนจนไร้ที่ดินประเทศบราซิล MST เริ่มในปี 1984  ทำไมเขาต้องออกมาเรียกร้อง ก็เพราะว่าที่ดินมีการกระจุกตัว การพัฒนาประเทศเป็นอุตสาหกรรมได้กวาดต้อนผู้คนออกจากชนบทไปกระจุกอยู่ในเมือง ในขณะที่ในเมืองไม่มีงานให้ทำ  จนเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน  และมีอัตราคนไม่รู้หนังสือสูงมาก  คนส่วนใหญ่ไม่มีงาน ไม่มีที่ดิน  ในที่สุด คนไร้ที่ดินจึงรวมกลุ่มกันเข้ายึดที่ดินที่ทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ แล้วให้รัฐบาลทำการเวนคืนที่ดิน เพื่อกระจายที่ดินให้คนไร้ที่ดินใหม่


 


รัฐบาลเขายอมหรือ?


ก็ต้องอาศัยการประท้วง กดดันรัฐบาล


 


ที่สุดประชาชนได้รับชัยชนะ?


ใช่แล้ว


 


ขบวนการประชาชนบราซิล ใช้เวลานานไหม และกับขบวนการประชาชนของไทย จะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่


ก็นานนะ  ในส่วนของเราขบวนการประชาชนเพิ่งเริ่มต้น  คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ  แต่ก็เริ่มเห็นการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนขึ้น เช่น ขบวนการปฏิรูปที่ดิน หรือ ขบวนการต้านเอฟทีเอ  จะเห็นว่าขบวนการประชาชนตอนนี้มีจุดร่วมกันมากขึ้น นั่นคือการต่อต้านการค้าเสรี ซึ่งเป็นประเด็นร่วมทั่วโลก


 


ประเด็นเรื่องเอฟทีเอ  ประชาชนได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินกับการเกษตรอย่างไรบ้าง?


แน่นอน  หากเปิดการค้าเสรีทางการเกษตร จะทำให้เกษตรกรล้มละลายทันที  โดยเฉพาะเกษตรรายย่อย เพราะสู้ราคาสินค้าต่างประเทศไม่ได้  ในที่สุด ที่ดินจะต้องหลุดมือไป เพราะติดหนี้สิน  เมื่อถึงตอนนั้น ก็ไม่รู้จะทำการเกษตรไปทำไม


 


ยกตัวอย่างผลกระทบจากเอฟทีเอ ล่าสุดในขณะนี้  มีรายงานมาว่า กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ดหอมในพื้นที่ จ.เชียงราย  กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก  เนื่องจากว่า มีเห็ดหอมจากจีนทะลักเข้ามาเยอะมาก ชาวบ้านบอกว่าเห็ดหอมของจีนมีราคาถูกและเข้ามาเยอะมากตอนนี้  เกษตรกรบ้านเราก็สู้ไม่ได้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ  นอกจากคนเพาะเห็ดแล้ว  ยังมีคนงาน คนเกี่ยวหญ้าคาสำหรับใช้มุงโรงเรือน คนขายขี้เลื่อยก็จะแย่ตามไปด้วย


 


มองแนวโน้มรัฐบาลชุดนี้จะทำให้สังคมไทยก้าวไปทางไหน?


นำไปสู่ความล่มจม  หมายความว่า ตอนนี้รัฐบาลทักษิณกำลังทำให้ประชาชนทุกคนเห็นว่าการมีเงินเยอะ ๆ เป็นสิ่งที่ดี ขณะที่พยายามกวาดต้อนให้คนลงไปวิ่งในลู่วิ่งเดียวกัน แต่เราต้องเข้าใจว่า ความสามารถในการแข่งขันของคนนั้นไม่เท่ากัน คนที่อ่อนแอจะถูกทิ้งรั้งท้ายและไม่มีคนสนใจ  โดยจะถูกตราหน้าว่าไม่ออกกำลังกายให้ดีเอง นอกจากนี้แล้วนายกทักษิณยังได้สร้างลู่วิ่งพิเศษของตัวเองในการเอาชนะคนอื่นโดยการโกง


 


เหมือนกับว่า สังคมไทยเริ่มไม่มีความเชื่อมั่นแล้วกับรัฐบาลชุดนี้


นั่นหมายถึงในระดับชนชั้นกลาง ครู สื่อ นักวิชาการ แต่ในระดับชาวบ้านยังไม่มีการแสดงพลังที่ชัดเจนออกมา อาจจะยังไม่ถึงเวลาหรือรอให้มันสุกงอม  ซึ่งก็มองเห็นได้จากการที่ประชาชนติดตามสนใจข่าวคราวของการวิพากษ์รัฐบาลของนายสนธิ (ลิ้มทองกุล) ในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์อยู่พอสมควร


 


ตอนนี้ ทั้งคุณและชาวบ้านลำพูนที่ถูกนายทุนที่ดินฟ้องร้อง ยังเหลืออีกกี่คดีที่ยังต่อสู้ในชั้นศาลอยู่


ในส่วนของตน  เหลืออีก 3 คดี คือคดีบ้านไร่ดง บ้านนครเจดีย์ บ้านไร่กอค่า ทั้งหมดอยู่ในเขต อ.ป่าซาง ในส่วนของชาวบ้านยังเหลือคดีทั้งหมดอีกเกือบ 20 คดี


 


เมื่อถึงเวลานี้  ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการของศาลบ้างหรือไม่?


ชาวบ้านมีเป้าหมายในการนำเอาปัญหาที่ดินขึ้นพิจารณาในชั้นศาล เพราะเชื่อมั่นว่าในการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินนั้นมีการทุจริต ชาวบ้านมีเจตนาเข้าทำกินในที่ดินไม่ใช่บุกรุกตามที่มีการกล่าวหา และเมื่อปรึกษากับคุณสุมิตรชัย หัตถสาร  ทนายเพื่อประชาชน  เขาบอกว่า โดยธรรมชาติของศาลในตอนนี้  ศาลยังมองและเกาะติดอยู่กับกฎหมายลูก  แต่ยังไปไม่ถึงสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีสิทธิจะเรียกร้อง และศาลมีความเชื่อว่า ชาวบ้านบุกรุกจริง  แต่โดยกระบวนการของศาลนั้น  จะต้องดูพยานบุคคล พยานหลักฐาน ว่าจะสามารถสืบสำนวนต่อไปได้หรือไม่  เพราะฉะนั้น  ทางทนายก็จะต้องทำอย่างไรถึงจะช่วยชาวบ้านให้ได้มากที่สุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net