Skip to main content
sharethis


ประชาไท—18 ม.ค. 2549 เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 มกราคม 2549 ที่สำนักงานกองทุนสวนยาง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ เพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทที่ดินบ้านในไร่ ระหว่างนายสมเกียรติ ลีธีระ เจ้าของเอกสารสิทธิ์ กับชาวบ้านบ้านในไร่ โดยมีนายพีระพล ไตรทศาวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธานการประชุม

 


ทางคณะกรรมการฯ ได้เปิดเจรจากับนายสมเกียรติก่อน โดยนายสมเกียรติได้ส่งทนายความมาเป็นตัวแทนเจรจา ผลการเจรจาทางฝ่ายเจ้าของเอกสารสิทธิ์ยินยอมให้ชุมชนใช้ประโยชน์ขุมเหมืองด้านในสุด ซึ่งเป็นหนึ่งในสามขุมเหมืองที่ชาวบ้านใช้ทำประมงอยู่ในปัจจุบัน พร้อมกับขอให้โยกย้ายชาวบ้านที่อยู่กระจัดกระจายให้มาสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน


 


จากนั้น คณะกรรมการฯ ได้เชิญตัวแทนชาวบ้านเข้ามารับฟังข้อเสนอของฝ่ายเจ้าของเอกสารสิทธิ์ หลังจากการเจรจาดำเนินไปกว่า 1 ชั่วโมง การประชุมก็ยุติลง โดยไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากทางชาวบ้านขอให้ทางราชการ นำขุมเหมืองทั้งหมดมาเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยยืนยันว่าขุมเหมืองเป็นที่ทำกินของชาวบ้าน ถ้าชาวบ้านไม่สามารถทำกินในขุมเหมืองได้ จะประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก เพราะพื้นที่เฉพาะขุมเหมืองด้านในสุด ไม่สามารรองรับการทำมาหากินของชาวบ้านได้ทั้งหมด


 


โดยเฉพาะขุมเหมืองที่ 2 ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเล ทำให้น้ำไหลเวียน และเป็นช่องทางนำเรือออกทะเล จะต้องเป็นขุมเหมืองที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ด้วย เพราะถ้าหากอยู่ในมือนายทุน ชาวบ้านไม่สามารถนำเรือเข้าออกทะเลได้ รวมทั้งไม่แน่ใจว่า นายทุนจะมีการใช้ประโยชน์ขุมเหมือง หรือทางน้ำเข้าออกอย่างไร จะส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาวบ้านหรือไม่


 


นายส้าหาด สีระยา ตัวแทนชาวบ้านในไร่ ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ กล่าวภายหลังการประชุมว่า การเจรจาอาจจะยืดเยื้อออกไปอีก 2 - 3 เดือน เพราะไม่สามารถตกลงกันได้ ชาวบ้านจะพยายามหาช่องทางเจรจาโดยตรงกับนายสมเกียรติ แทนที่จะเจรจากับตัวแทน เพราะอาจจะตกลงกันได้ง่ายกว่า การที่ชาวบ้านต้องการขุมเหมืองที่ 2 เพราะเป็นขุมเหมืองสำคัญ เป็นทางเข้าออกทะเล ทำให้ขุมเหมืองมีกระแสน้ำขึ้นน้ำลงเหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาในกระชัง


 


"เมื่อตกลงกันเรื่องขุมเหมืองไม่ได้ เรื่องที่อยู่อาศัยที่ทางนายทุนต้องการอพยพชาวบ้านที่อยู่กระจัดกระจายให้มาอยู่รวมกัน ก็พลอยถูกยกยอดไปเจรจาในคราวต่อไปด้วย" นายส้าหาด กล่าว


 


ทั้งนี้ ชาวบ้านในไร่ได้เตรียมข้อเสนอสำหรับการเจรจาไว้ว่า สำหรับที่ดินอยู่อาศัย จะใช้พื้นที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ทั้งบ้านในไร่ตะวันตกและบ้านในไร่ตะวันออก รวมทั้งจะขอใช้ประโยชน์ในขุมเหมืองทั้งสองขุม เพราะระบบนิเวศเชื่อมโยงส่งผลถึงกัน ในการประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง หาหอย หาปู วางเบ็ด วางอวน เป็นต้น


ปัจจุบัน มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่หากินอยู่ในขุมเหมือง ดังต่อไปนี้ 1. กลุ่มกระชังเลี้ยงปลา มีทั้งหมด 58 ราย มีทั้งเลี้ยงปลา หอย ปลาสวยงาม 2. กลุ่มเรือ มีเรือทั้งหมด 93 ลำ แยกเป็น เรือหัวโทง 19 ลำ เรือพีท 57 ลำ เรือไฟเบอร์ 17 ลำ 3. กลุ่มหาปลาสวยงาม 30 คน หากินในเวลากลางคืน 4. กลุ่มเด็ก - เยาวชน 50 คน หากินในเวลากลางวัน 5. กลุ่มหาหอย 12 คน 6. กลุ่มตกปลาทั้งกลางวันและกลางคืน 30 คน 7. กลุ่มวางอวน, ไซ 15 คน


 


พร้อมกันนี้ ทางชาวบ้านยังขอให้คืนพื้นที่ว่างตรงกลาง ระหว่างบ้านในไร่ตะวันตกกับบ้านในไร่ตะวันออก สำหรับบ้านที่อยู่นอกพื้นที่พิพาท ถ้าอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ทางกระทรวงฯ กันแนวที่ดินให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินต่อไป รวมทั้งขอให้ถนนที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกเส้น เป็นถนนสาธารณะ เพราะจะทำให้มีเส้นทางวิ่งหนีคลื่นได้หลายเส้นทาง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net