Skip to main content
sharethis

ประชาไท - ใต้ช้ำอีกคลื่นซัดธรรมสถานพังหลังน้ำท่วม เผย 300 หมู่บ้านยังอยู่ในน้ำ ยังเข้าไม่ถึง เอ็นจีโอใต้เคลื่อนขบวนลุยกู้ภัย ด้านน้ำใจไทยยังหลั่งไหลลงช่วยไม่ขาดสาย


 


คลื่นซัดหดเหลือ3ไร่


ที่จังหวัดสงขลา คลื่นลมแรงซัดชายหาดบริเวณธรรมสถานหาดทรายแก้ว หมู่ที่ 1 ตบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ทำให้ชายหาดรอบๆ บริเวณหายไปทั้งหมด กุฏิพระสงฆ์เสียหาย 3 หลัง รวมทั้งสิ่งก่อสร้างอื่นๆ พังเสียหาย ขณะที่อาคารปฏิบัติธรรมที่อยู่ติดชายทะเลถูกคลื่นซัดเข้ามาถึงตัวอาคารและได้พัดพาทรายมากองในตัวอาคารด้วย


 


สำหรับธรรมสถานแห่งนี้ตั้งมา 30 ปี มีลักษณะเป็นเกาะ สภาพแวดล้อมที่ร่มรื่น ปัจจุบันเหลือเนื้อที่ประมาณ 2 - 3 ไร่ จากเดิมที่มีอยู่ 70 ไร่ เนื่องจากถูกคลื่นกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา


 


นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้สรุปจากสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดว่า มีน้ำท่วมใน 105 ตำบล 921 หมู่บ้าน มูลค่าความเสียหายประมาณ 121 ล้านบาทเศษ แต่คาดว่ามูลค่าจริงอาจสูงกว่าโดยจะลงสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้งหลังน้ำลด ขณะที่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีระดับน้ำยังสูงกว่า 1 เมตร


 


3 จังหวัดใต้พังเกือบ400โรง


ที่จังหวัดยะลา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตรวจความเสียหายสถานศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายประเสริฐ แก้วเพ็ชร ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า ในจังหวัดยะลา มีโรงเรียนของรัฐเสียหาย 135 โรง โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา 19 โรง จังหวัดปัตตานี มีโรงเรียนรัฐเสียหาย 178 โรง โรงเรียนเอกชนเสียหาย 17 โรง และจังหวัดนราธิวาส  มีโรงเรียนรัฐเสียหาย 45 โรง ส่วนโรงเรียนเอกชนไม่ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายเบื้องต้น 98,988,209 บาท


 


300 หมู่บ้านอยู่ในน้ำ 2 สัปดาห์แล้ว


นายอัมพร แก้วหนู ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถานบันพัฒนาองค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) ภาคใต้ เปิดเผยว่า จากการหารือของเครือข่ายผู้นำชุมน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และตรัง จำนวน 35 คน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2548 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภาคใต้ จังหวัดพัทลุง พบว่า ขณะนี้มีน้ำท่วมขังยาวนานในพื้นที่ 300 หมู่บ้าน จาก 70 ตำบลส่วนใหญ่อยู่รอบทะลสาบสงขลา พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและลุ่มแม่น้ำตรัง เป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้ว ยังไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ และชาวบ้านยังไม่มีที่อยู่ จึงได้ประกาศเป็นพื้นที่วิกฤตที่จะต้องเร่งให้การช่วยเหลือ


 


"คนทั่วไปมักเข้าใจว่า น้ำเข้ามาท่วมพื้นที่แล้วไหลออกไป แต่ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่น้ำท่วมเป็นเวลานาน ซึ่งชาวบ้านจะอยู่อย่างไรในสภาพเช่นนี้ ไม่ว่าตัวชาวบ้านเอง อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม รวมทั้งสัตว์เลี้ยง ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีสัตว์เลี้ยงอยู่เป็นจำนมาก ซึ่งชุมชนจะจัดการอย่างไร" นายอัมพรกล่าว


 


ภาคประชาชนใต้เคลื่อนดับทุกข์


นายอัมพรกล่าวอีกว่า แนวทางการช่วยเหลือต้องให้ชาวบ้านสามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้เองก่อน โดยขณะนี้ตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนได้ลงไปสำรวจข้อมูลในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และจะมาสรุปกัน เพื่อหาทางช่วยเหลือในวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ที่สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง นอกจากนี้ในวันที่ 27 ธันวาคม 2548 ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทางเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในภาคใต้จะรวบรวมข้อมูลและหาทางช่วยเหลือชมุชนที่ยังเข้าไม่ถึงด้วย


 


นางพิกุล บุรีภักดี เครือข่ายฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เปิดเผยว่า เวลา 10.00 น. วันที่ 25 ธันวาคม 2548 ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จะมีการประชุมเครือข่ายฯ ในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย อำเอระโนด อำเภอ สทิงพระ อำเภอ สิงหนคร และ อำเภอกระแสสินธุ์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะในส่วนที่การช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง เนื่องจากยังมีน้ำท่วมอยู่เป็นเวลา 2 สัปดาห์แล้วโดยจะให้ตัวแทนชุมชนที่ประสบภัยมาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น และหาทางช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ทางเครือข่ายได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยโดยนำสิ่งของช่วยเหลือไปมอบให้แล้วในเบื้องต้น แต่ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่ยังเข้าไปไม่ถึงเนื่องจากยังมีระดับน้ำสูง


 


น้ำใจไทยไหลนองทั่วใต้


ในขณะที่การช่วยเหลือยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อวง โดยนาวาเอกสุรภักดิ์ ธาราจันทร์ ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 2 เปิดเผยว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงพระกรุณาให้กองทัพเรือลำเลียงสิ่งของพระราชทานจำนวน 500 ถุง ไปมอบให้ผู้ประสบภัยที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช


 


ที่จังหวัดพัทลุงคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อนพึ่ง(ภา)ยามยาก พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาดจังหวัดพัทลุง นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อพยพไปตั้งเตนท์อยู่บนถนนบริเวณหน้าวัดเขียนบางแก้ว หมู่ที่ 6 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน และที่ศูนย์อพยพบ้านแหลมไก่ผู้ ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน สร้างความปลาบปลื้มแก่ราษฎรที่มารับความช่วยเหลือเป็นอย่างยิ่ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net