Skip to main content
sharethis


 


 



ผศ.วรวิทย์ บารู


 


วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2005 14:02น. 


สมเกียรติ จันทรสีมา, ปกรณ์ พึ่งเนตร : ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ผศ.วรวิทย์ บารู นักวิชาการจาก มอ.ปัตตานี และกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) มองว่า "ปฏิญญามักกะห์" ที่ประกาศภายหลังการประชุมผู้นำชาติมุสลิมในเวทีองค์การที่ประชุมอิสลาม หรือโอไอซี ที่ประเทศซาอุดิอารเบีย เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคมที่ผ่านมานั้น เป็นการส่งสัญญาณถึงปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยด้วย


 


ทั้งนี้ ปฏิญญาดังกล่าวได้เน้นแนวทางสันติของอิสลาม ด้วยการเรียกร้องให้ชาติมุสลิม "ต่อสู้อย่างแข็งขันกับคำสอนที่บิดเบือนหลักการสันติของอิสลาม" และสร้าง "สามัคคีมหาประชาชาติ" เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาวิธีคิดแบบสุดขั้วของกลุ่มก่อการร้าย อีกทั้งพยายามตอบคำถามกรณีที่มีผู้พยายามนำคำสอนไปเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย


 


นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเน้นเป็นพิเศษถึงเรื่องการ "ฟัตวา" หรือการชี้ขาดปัญหาที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ว่าต้องดำเนินการโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับเท่านั้น และเสนอให้จัดตั้ง "สถาบันนิติศาสตร์อิสลาม" ของโอไอซี  เพื่อให้เป็นองค์กรอ้างอิงสูงสุด เพื่อกำหนดวิธีการที่จะระงับการตีความและการชี้ขาดที่แตกต่างกัน จนขยายกลายเป็นความขัดแย้ง


 


"ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นเรื่องการฟัตวา เกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ของไทย ไม่ใช่แค่เฉียดๆ แต่มันตกลงตรงกลางเลย" ผศ.วรวิทย์ วิเคราะห์


 


เขาอธิบายว่า ปัญหาปัตตานีเป็นปัญหาใหญ่ที่โลกมุสลิมกำลังให้ความสนใจ และต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องจับตามอง ต้องสอบสวนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งปัญหานี้ต่างกับปัญหา บิน ลาเดน  (แกนนำกลุ่มก่อการร้ายอัล กออิดะห์) เพราะเป็นปัญหาในลักษณะชนกลุ่มน้อย


 


ผศ.วรวิทย์ กล่าวต่อว่า ปฏิญญามักกะห์ ซึ่งเป็นแถลงการณ์ที่ประกาศออกมาหลังการประชุมโอไอซีครั้งล่าสุด แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะกระชับประชาชาติมุสลิม เพื่อความเป็นเอกภาพ และต้องกลับไปสู่อิสลามสายกลาง อย่าไปตีความด้วยตัวเอง มิฉะนั้นจะกลายเป็น "สุดโต่ง" หรือไม่ก็ "หย่อนยาน" เกินไป


 


"สิ่งที่โอไอซียึดถือมาตลอด ก็คือความสามัคคี ไม่แตกแยกกัน โดยสามารถแตกแยกทางความคิดเห็นได้ แต่สุดท้ายต้องกลับไปสู่อัลกุรอาน และแนวทางของศาสดา" ผศ.วรวิทย์ ระบุ


 


เขาย้ำด้วยว่า แถลงการณ์ของโอไอซี เป็นการแสดงท่าทีซึ่งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง  และเป็นธรรมดาของการประชุมโอไอซีทุกครั้ง


 


"จุดยืนดังกล่าวนี้แตกต่างกับนายกฯทักษิณ" ผศ.วรวิทย์ วิจารณ์ถึงท่าทีของผู้นำไทย "นายกฯพูดไม่ระวัง ไปต่อว่าโอไอซี ทั้งๆ ที่ตัวแทนที่เดินทางมาประเทศไทยแต่ละครั้ง ล้วนเป็นอดีตทูต เป็นนักวิชาการชื่อดังทั้งสิ้น ฉะนั้นไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างไร คนเหล่านี้ก็รู้เท่าทันทั้งหมด"


 


กรรมการ กอส.ผู้นี้ ยังเห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ควรมองว่าโอไอซีเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศ เพราะปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่เรื่องที่จะมาอ้างว่าเป็นปัญหาภายในของประเทศไทยที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศ เพราะมุสลิมไม่ได้คิดเช่นนั้น ความรู้สึกของมุสลิมเป็นพี่น้องกันโดยไม่มีเขตแดน ดังนั้นเมื่อรัฐบาลคิดอย่างนี้ ก็ผิดตั้งแต่ต้นแล้ว


 


"ในเมื่อประชาชนของคุณเป็นแบบนี้ แทนที่จะไปหาทางออกด้วยการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหา กลับไปไล่โอไอซี ห้ามไม่ให้เขามายุ่ง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง"


 


ผศ.วรวิทย์ ยังมองว่า ไทยไม่ควรทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในประเทศมุสลิมเองบางประเทศก็เกิดปัญหาลักษณะคล้ายๆ กัน อย่างเช่น อินโดนีเซีย ฉะนั้นปัญหามันไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศ non muslim เท่านั้น 


 


"ส่วนตัวผมมองว่าเราสามารถใช้ความเป็นไทยแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะนิสัยคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตร แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ" เขาสรุป และว่า จะนำแถลงการณ์โอไอซี รายงานต่อที่ประชุม กอส. เพื่อขอความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ เพราะท่าทีของ โอไอซี ครั้งนี้นับว่าน่าจับตามองอย่างมาก


 


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net