Skip to main content
sharethis


วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2005 20:48น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


พิธีรับรายงานตัวกลุ่มผู้ร่วมเสริมสร้างสันติสุข  ที่ห้องประชุมศรียะลา ชั้น 3 อาคารศาลากลางจังหวัดยะลา ซึ่งมี พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน และเปิดแถลงข่าวอย่างใหญ่โตนั้น กลายเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนทุกแขนงต่างให้ความสำคัญ เพราะตัวเลขของผู้ที่สมัครใจเข้ารายงานตัวในครั้งนี้ ตามข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากทางจังหวัดมีถึง 163 คน


 


อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มพิธี ปรากฏว่าจำนวนชาวบ้านที่เข้าร่วมรายงานตัวลดลงเล็กน้อย เหลือ 137 คน แยกเป็น จ.ยะลา 62 คน และ จ.ปัตตานี 75 คน


 


ที่สำคัญ ทั้งหมดไม่ได้เป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ ไม่ได้มีคดีหรือหมายจับติดตัว แต่เป็นเพียงบุคคลที่ทางการมองว่าเป็น "กลุ่มเสี่ยง" ที่จะถูกชักจูงหรือชักชวนจากกลุ่มผู้ไม่หวังดี เพื่อให้เข้าใจผิดต่อแนวนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น


 


ด้วยเหตุนี้ ทางจังหวัดจึงปิ๊งไอเดียจัดงานรับรายงานตัวกลุ่มผู้ร่วมเสริมสร้างสันติสุขขึ้นมา เพื่อชิงดึงคนเหล่านี้ไปเข้าร่วมฝึกอบรมในโรงเรียนเสริมสร้างสันติสุข โดยใช้เวลาประมาณ 20 วัน ถึง 1 เดือน ก่อนที่จะถูกกลุ่มผู้หวังดีชักจูงไปเป็นแนวร่วม ซึ่งหากฟังโดยเหตุและผลแล้ว ก็ถือว่าเป็นโครงการที่ดี น่าสนับสนุน


 


ทว่า ความวุ่นวายเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างพิธีการรับรายงานตัว ได้สะท้อนให้เห็นถึงเบื้องหลังการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในแบบ "Behind the scene"  อย่างหมดเปลือก


 


ที่สำคัญยังสามารถตอบข้อกังขาของสังคมที่มีต่อคาราวานผู้เข้ารายงานตัวต่อทางราชการอย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาว่า เป็น "ของจริง" หรือแค่ "ภาพลวงตา"


 


รวมทั้งข้ออ้างที่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นเป็นลำดับแล้วนั้น ที่แท้เป็นเช่นไร...


 


โดยภายหลัง พล.อ.อ.คงศักดิ์ กล่าวให้โอวาทแก่ผู้เข้ารายงานตัวพอหอมปากหอมคอแล้ว ก็ได้เดินทักทายชาวบ้านที่เข้าร่วมพิธี


 


เมื่อเดินผ่านไปถึงกลุ่มชาวบ้านที่มาจาก อ.รามัน จ.ยะลา ปรากฏว่า นายมะซอบือลี เจ๊ะแย อายุ 37 ปี ได้ตะโกนร้องเรียนด้วยเสียงอันดังกับ พล.อ.อ.คงศักดิ์ ว่า เขาเพิ่งได้รับหนังสือเรียกตัวให้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง และทางอำเภอก็พยายามบังคับให้มา ทั้งๆ ที่ทางบ้านกำลังอพยพข้าวของหนีน้ำท่วม


 


"ที่บ้านผมน้ำท่วมหนัก ผมทำฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อกว่า 5,000 ตัว ต้องช่วยกันอพยพไก่หนีน้ำ เมื่อคืนนี้ทั้งคืนยังไม่ได้นอน แต่ทางอำเภอกลับบังคับให้มารายงานตัว ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยทำความผิดอะไร ผมเสียใจมากที่มีชื่ออยู่ในบัญชีของทางราชการ และเป็นห่วงทางบ้านที่ยังต้องขนของหนีน้ำกันอยู่" นายมะซอบือลี กล่าวอย่างเคร่งเครียด น้ำตาคลอเบ้า


 


เมื่อ พล.อ.อ.คงศักดิ์ ได้ฟัง ก็พยายามพูดปลอบโยน และบอกให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการไปยังอำเภอ เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือครอบครัวของนายมะซอบือลีทันที


 


จากนั้น รมว.มหาดไทย ก็เดินทางกลับ และขณะที่กลุ่มผู้สมัครใจร่วมสร้างสันติสุขกำลังเช็คชื่อและนั่งรอขึ้นรถเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรมนั้น ปรากฏว่าได้มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง เข้าไปขอสัมภาษณ์นายมะซอบือลีอีกรอบ


 


คราวนี้ นายมะซอบือลี เล่าให้ฟังอย่างละเอียดว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2548 ทางอำเภอรามันได้เรียกเขาไปแสดงตนยังที่ว่าการอำเภอ และให้เซ็นชื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งเขาก็ยินยอมโดยดี


 


ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. คือเมื่อวานนี้ กำนันได้นำหนังสือจากทางอำเภอมาให้ และแจ้งให้ทราบว่าจะต้องมารายงานตัวต่อ รมว.มหาดไทย ในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 10 ธ.ค.) ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา


 


"ผมไม่อยากมาเลย เพราะที่บ้านกำลังน้ำท่วม ผมทำฟาร์มไก่เนื้อ มีไก่อยู่ 5,000 ตัว ลงทุนไป 2 แสนกว่าบาท แต่ทางอำเภอก็ย้ำว่าต้องมา ไม่มาไม่ได้ ผมก็เลยจำใจมา ตอนนี้ผมเป็นห่วงที่บ้านมาก เพราะต้องไปเข้าอบรมอีก 20 วัน ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร" นายมะซอบือลี กล่าวอย่างเคร่งเครียด


 


 


อย่างไรก็ดี ระหว่างที่นายมะซอบือลี กำลังให้สัมภาษณ์อยู่นั้น เจ้าหน้าที่ของทางจังหวัดได้เดินเข้ามาซักถาม และพยายามขอร้องให้หยุดพูดคุยกับผู้สื่อข่าว ก่อนจะซักถามเรื่องราว และสุดท้ายก็รับปากว่า จะอนุญาตให้นายมะซอบือลีกลับบ้านไปก่อน แล้วค่อยตามมาอบรมใหม่ในภายหลัง


 


อาการทะลุกลางปล้องต่อหน้า รมว.มหาดไทย ของนายมะซอบือลี ทำให้ชาวบ้านอีกหลายคนที่อยู่ในอาการจำใจเดินทางมาร่วมรายงานตัว ยอมเปิดปากให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว


 


นายรอซาดี ชาวบ้าน อ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า เขาเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งจากทางอำเภอเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.นี้เอง ให้มาร่วมกิจกรรมที่ศาลากลางจังหวัด ทั้งๆ ที่เขาเองก็มีภาระทางบ้าน และต้องทำงานขนส่งสินค้า


 


"เมื่อต้องมาร่วมกิจกรรมแบบนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าใครจะทำงานแทนผม ทางอำเภอก็บอกแต่ว่า จะได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 100 บาท แต่ก็ต้องอยู่เกือบเดือน ผมเป็นห่วงทางบ้าน ไม่รู้ว่าผมทำผิดอะไรถึงต้องเรียกให้ผมมารายงานตัวและฝึกอบรม"


 


นายรอซาดี บอกด้วยว่า ก่อนได้รับหนังสือแจ้งจากทางอำเภอเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. เขาและคนในหมู่บ้านเคยถูกนายอำเภอเรียกไปประชุมยังที่ว่าการอำเภอมาแล้ว เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ และทางอำเภอก็แจ้งว่าจะต้องไปรายงานตัวที่ศาลากลางอีกครั้งหนึ่ง โดยทางการจะพาไปเที่ยว


 


"ผมไม่อยากไป ก็เลยยกมือขึ้นถามนายอำเภอว่า ไม่ไปได้มั้ย นายอำเภอก็บอกว่าไม่ได้ ไม่อย่างนั้นอาจจะถูกออกหมายจับ" นายรอซาดี กล่าว


 


จากนั้น นายรอซาดี ยังได้โชว์หนังสือของทางอำเภอที่เรียกพวกเขาให้มารายงานตัวในวันนี้ต่อผู้สื่อข่าว


 


โดยหนังสือดังกล่าว ตีตราประทับ "ด่วนมาก" มีเนื้อหาระบุว่า "กอ.สสส.อ.รามัน รับแจ้งจาก กอ.สสส.จ.ยะลา ถึงกำหนดการฝึกอบรมของโรงเรียนเสริมสร้างสันติสุข ในเดือนธันวาคม 2548-มกราคม 2549


 


เพื่อให้การฝึกอบรมดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อ.รามัน จึงขอเชิญท่านเข้ารับการอบรม โดยเตรียมสัมภาระของใช้ส่วนตัว และไปพร้อมกันในเวลา 10.00 น. ลงชื่อ...."


 


นายอัสลัน อายุ 22 ปี ชาวบ้าน ต.เนินงาม อ.รามัน กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะมีการอบรมโครงการเสริมสร้างสันติสุข 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ก็ได้รับหนังสือจากทางราชการ ซึ่งมีชื่อของเขาปรากฏอยู่ในเอกสาร โดยแจ้งว่าให้ไปรายงานตัวที่ศาลากลางจังหวัดยะลา จึงรู้สึกตกใจและยอมเดินทางมารายงานตัว


 


"ช่วงเดือนที่ผ่านมาผมเคยถูกเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นบ้าน ทั้งที่ผมไม่เคยมีส่วนร่วมในการก่อเหตุรุนแรง  ผมไม่เคยทำความผิดอะไรเลย แต่พอมีหนังสือจากทางราชการส่งไปที่บ้าน ก็เลยต้องยอมมา เพราะกลัวว่าถ้าไม่ยอมมารายงานตัว เดี๋ยวจะมีความผิดและถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วม อีกอย่างคือถ้าไม่มาก็กลัวว่าจะถูกหมายจับ"


 


ด้าน นายมะ ชาวบ้านจาก อ.เบตง จ.ยะลา กล่าวว่า เมื่อราวๆ 2 เดือนก่อน นายอำเภอได้เรียกตัวเขาไปประชุมพร้อมกับเพื่อนบ้านในตำบลเดียวกัน เพื่อให้ความรู้เรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากนั้นก็ให้ลงชื่อไว้


 


กระทั่งเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. กำนันนำหนังสือมาแจ้งว่า ต้องมารายงานตัวที่ศาลากลางจังหวัดยะลา เพราะที่เคยเรียกประชุมและลงชื่อไว้นั้น ยังไม่เรียบร้อย ถ้ามาวันนี้และเข้าฝึกอบรมครบ 20 วัน จึงจะลบชื่อออกจากบัญชีให้


 


"ผมก็งงเหมือนกันว่าทำไมต้องมา เพราะผมไม่เคยทำความผิด ไม่เคยถูกค้นบ้าน และไม่เคยถูกเรียกตัวไปสอบสวน แต่ปลัดอำเภอย้ำว่า ไม่มาไม่ได้ ผมก็เลยมา" นายมะ กล่าว


 


ส่วนผู้เข้ารายงานตัวซึ่งเป็นชายไทยมุสลิมอีกรายหนึ่ง จาก อ.เบตง กล่าวว่า สาเหตุที่ตัดสินใจมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ เนื่องจากปลัดอำเภอมาติดต่อขอความร่วมมือให้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างสันติสุข โดยแจ้งว่าจะมีการอบรมวิชาชีพและส่งเสริมความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่


 


"บ้านผมอยู่ใกล้ๆ กับที่ว่าการอำเภอ และเคยรู้จักกับปลัดอำเภอ เขาก็เลยชวนมา ผมไม่ได้เป็นแนวร่วม และคนส่วนใหญ่ที่มาด้วยกันก็ไม่ใช่แนวร่วมหรือผู้ก่อการร้าย เพราะมีทั้งโต๊ะอิหม่าม  และผู้นำชุมชน ซึ่งทางการเขาบอกว่าให้มาฝึกอบรมเสริมสร้างสันติสุข ก็เลยอยากมา เผื่อจะได้ความรู้ใหม่ๆ บ้าง"


 


และทั้งหมดนี้คือมุมที่ไม่เคยแถลงข่าว ของการรายงานตัวเพื่อร่วมสร้างสันติสุข!


กลับหน้าแรกประชาไท

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net