Skip to main content
sharethis












โภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา


 




ประชาไท—3 ธ.ค. 2548 โภคิน ปฏิเสธส่งคำร้อง ของ 39 ส.ว. กรณีกระบวนการสรรหาและการเลือกกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ


 


จากกรณีปัญหาเรื่องการเลือก ป.ป.ช.ซึ่ง ส.ว.บางส่วนเห็นว่ากระบวนการที่วุฒิสภาเลือก ป.ป.ช. นั้นไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีผู้ได้รับการเสนอชื่อของถอนตัว 1 คน คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผบ.ทบ. ทำให้จำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่ครบจำนวน 17 คนตามที่รัฐธรรมนูญระบุ และกรณีคุณสมบัติผู้ได้รับเลือกบางคน ไม่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่า แต่นำระดับ 10 (ซี) มาเทียบ แต่ที่สุด ส.ว. ส่วนใหญ่ก็ยืนกรานดำเนินการเลือก ป.ป.ช. ต่อไป จนกระทั่ง ส.ว. เสียงส่วนน้อย อาทิเช่น นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว. กรุงเทพฯ นายทองใบ ทองเปาด์ ส.ว. มหาสารคาม ฯลฯ ได้ร่วมกันลงชื่อได้ 39 คน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่ากระบวนการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่โดยได้ยื่นคำร้องผ่านนายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา


 


นายโภคิน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าววานนี้ (2 ธ.ค.) ว่าตัดสินใจไม่ส่งคำร้องของ 39 ส.ว.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการสรรหาและการเลือก ปปช. เพราะเห็นว่าไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ


 


โดยนายโภคิน ให้เหตุผลว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำร้องของ ส.ว. เสียงข้างน้อย และไม่ใช่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญ


 


ภายหลังการเปิดเผยของนายโภคิน ผู้จัดการออนไลน์รายงานคำกล่าวของ ส.ว. เสียงส่วนน้อย โดยระบุว่านายทองใบ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของนายโภคิน และยืนกรานว่าการเลือก ป.ป.ช. ที่ผ่านมาเป็นปัญหากฎหมายใน 2 ประเด็นดังกล่าว และต้องให้องค์กรสูงสุดซึ่งมีอำนาจชี้ขาดเป็นผู้ตัดสินเพื่อให้เกิดข้อยุติ


 


โดยนายทองใบได้ย้อนคำอธิบายของประธานรัฐสภาที่ระบุว่า เป็นเรื่องของ ส.ว. เสียงข้างน้อยนั้น นายทองใบระบุว่าสามารถนำกรณีที่มี ส.ว. จำนวน 7 คน เสนอเรื่องให้ประธานรัฐสภาขณะนั้นส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีผู้ว่า สตง. มาเปรียบเทียบได้


 


ทั้งนี้ นายทองใบกล่าวว่าแม้จะเป็นเสียงข้างน้อย ประธานรัฐสภาควรเปิดประตูให้คณะ ส.ว.มีสิทธิมีเสียงบ้าง เพราะไม่ได้ยื่นเรื่องให้ประธานรัฐสภาวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องนี้ และกฎหมายก็ไม่ได้บอกให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ชี้ขาด เพียงแต่ให้ประธานฯเป็นผู้ช่วยนำส่งปัญหาที่สมาชิกข้องใจไปให้องค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยเพื่อให้เรื่องยุติ


 


ส่วน นายการุณ ใสงาม ส.ว.บุรีรัมย์ หนึ่งใน 39 ส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นเรื่องให้นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการเลือก ป.ป.ช.ชอบด้วยหรือไม่ กล่าวถึงกรณีที่ประธานรัฐสภาไม่ส่งศาล รธน.ตีความเพราะไม่เข้ามาตรา 266 เรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กรว่า การวินิจฉัยของนายโภคิน จะเป็นปัญหาต่อการเลือกกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นายโภคินไม่ควรปิดช่องทางนี้ เพราะผู้ที่จะชี้ขาดได้คือศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น และการที่ 39 ส.ว.ยื่นเรื่องผ่านประธานรัฐสภาไม่ได้ให้วินิจฉัยความขัดแย้งระหว่างองค์กร แต่ให้พิจารณาว่าญัตติเลือกกรรมการในองค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ป.ป.ช.มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่ครบ 18 คนตามรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งเหมือนกับการพิจารณาร่างกฎหมาย หากเสียงข้างน้อยเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยื่นผ่านประธานรัฐสภาได้ และก่อนหน้าหน้านี้นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภาก็เคยยื่นเรื่องผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้ศาล รธน.วินิจฉัยแล้ว


 


เมื่อถามว่า นายโภคิน อ้างว่าการตัดสินใจของนายอุทัยครั้งนั้นเป็นการทำผิดกฎหมาย เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หากกลับไปถามนายอุทัย ก็จะได้คำตอบว่า การกระทำของนายโภคิน ขัดรัฐธรรมนูญและผิดกฎหมาย และปิดช่องทางการยื่นศาล รธน.วินิจฉัย เป็นการตะแบงเพื่อเข้าข้างตัวเอง


 


"ผมถือว่าคุณโภคินคิดไม่เป็น และไม่มีความคิด เพราะเรื่อง ป.ป.ช.จะต้องได้รับการแก้ไขและหาข้อยุติ หรือยังไม่สิ้นกระแสความ เมื่อมาปิดช่องทางกันอย่างนี้ จะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทได้ เพราะนำเรื่องที่ยังมีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ ถือเป็นความผิดซ้ำซาก ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วนควรจะร่วมกันหาทางออกให้ยุติก่อนนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ" นายการุณ กล่าว


 


ด้าน นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว. กทม. กล่าวว่า ตนเองรู้สึกสลดใจ เพราะสิ่งที่ตนทำคือการพยายามที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เพราะเราเองมาจากการปฎิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นการสรรหาจึงอยากให้เป็นไปตามกฏหมาย เพราะคนที่จะมาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มีวาระการดำรงตำแหน่งถึง 9 ปีจึงจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่ครบถ้วน โดยเฉพาะกระบวนการที่คัดเลือกที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมี 18 คนคือจาก 2 เท่า แต่เราเองเลือกจาก 17 คน รวมทั้งในกรณีที่จะต้องเป็นบุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือเทียบเท่าเท่านั้นที่จะมีสิทธิที่ได้รับคัดเลือก ไม่ใช่จะมาการเอาขั้นเงินเดือนไปเทียบ


 


"ผมเองรู้สึกตั้งแต่วันที่ไปยื่นให้กับประธานรัฐสภาแล้ว เพราะวันนั้นขนาดท่านเองยังไม่เห็นในสิ่งที่ยื่นแต่ท่านเองก็บอกว่า จะส่งได้หรือไม่ ทั้งๆ ที่ท่านเองยังไม่รู้เลยว่า เนื้อหาในสิ่งที่ตนยื่นไปคืออะไร นอกจากนี้ท่านเองยังบอกว่า แล้วผมจะทำหนังสือชี้แจงกับตนให้ละเอียดอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนั้นทำให้ผมใจหาย จึงทำให้ตนรู้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่า จะต้องเป็นแบบนี้เลยไม่แปลกใจ เพราะขนาดท่านเองยังไม่ได้ทันอ่านท่านเองก็บอกว่าจะทำหนังสือชี้แจง ซึ่งในทางตรงข้ามถ้าท่านจะส่งท่านก็คงไม่พูดแบบนี้ น่าจะเป็นการส่งสำเนาหนังสือที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญมามากกว่า" นายเจิมศักดิ์กล่าว


 


ส.ว.กทม. กล่าวต่อว่า ในประเด็นที่ท่านบอกว่าไม่ส่งเพราะว่าวุฒิสภาไม่มีความขัดแย้งนั้น ในความเป็นจริงได้เกิดความขัดแย้งระหว่างกรรมการสรรหากับคณะกรรมาธิการที่วุฒิสภาตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบในเรื่องนี้ ซึ่งที่ผ่านตนเองเคยใช้เหตุความของความขัดแย้งนี้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วในกรณีของการได้มาซึ่งตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้งของ พล.อ.ศิรินทร์ ธูปกล่ำ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกัน จนทำให้ พล.อ.ศิรินทร์ ต้องพ้นจากตำแหน่งไป เท่ากับว่าครั้งนี้เป็นการที่ประธานรัฐสภาไม่ได้มองว่ากรรมาธิการไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และที่ท่านบอกว่าเป็นอำนาจของวุฒิสภาที่จะเลือก ป.ป.ช.จากบัญชีที่เหลือหรือส่งกรรมการสรรหาเพื่อให้มีการเลือกเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน ทำให้ตนรู้สึกคลางแคลงใจมาก เพราะในรัฐธรรมนูญบอกเองว่า จะต้องเลือกจาก 2 เท่า คือ 18 คน


 


"เมื่อครั้งที่เลือกคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) วุฒิสภาเองก็มีความเห็นกรณีที่ คตง.ส่งมาให้ 3 คนแล้วให้วุฒิสภาเลือกนั้นก็ถูกต้อง แล้วทำไมประธานรัฐสภาในสมัยนั้น(นายอุทัย พิมพ์ใจชน) ถึงได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อมี พ.ต.อ.สุรพงษ์ ไผ่นวล ส.ว.บุรีรัมย์ และคณะอีก 7 คนได้ทำการส่งเรื่องผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งการที่ตนเองได้ทำการยื่นเรื่องก็ได้เทียบเคียงกับกรณีนี้ และเป็นการยื่นเรื่องจากฝ่ายเสียงข้างน้อยเช่นกัน แต่ทำไมกรณีนี้ท่านถึงไม่ได้ส่ง ซึ่งตนเองก็จนใจ เพราะฉะนั้นการที่ประธานรัฐสภามองว่า วุฒิสภาไม่ได้มีปัญหาเพราะได้มีการลงมติเลือก แสดงว่า ณ วันนี้ คุณหญิงจารุวรรณ ยังคงเป็นผู้ว่า สตง.อยู่ เพราะวุฒิสภาเองก็ได้มีมติเลือกไปเช่นกัน ในทางตรงข้ามถ้ามองว่าการส่งในครั้งนั้นของนายอุทัยชอบด้วยในกฎหมาย ดังนั้นครั้งนี้ก็ต้องส่งเช่นกัน" นายเจิมศักดิ์ กล่าว


 


"ในเรื่องนี้จึงอาจจะมองได้ว่า เป็นคนละคนกัน แต่ถ้ามองในตัวองค์กรแล้ว เป็นการชี้ให้เห็นว่าการทำงานของสภาฯเริ่มมีสองมาตรฐาน และยังไม่รู้อีกเหมือนกันว่าจะเกิดสามมาตรฐานหรือไม่ถ้าเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก และตอนนี้ตนเองได้ทำอย่างทุกทางแล้ว และก็หวังคงจะไม่ช้ำใจจากทางผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาอีกครั้ง" ส.ว.กทม.กล่าว


............................................................................


 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


"39 ส.ว." อัด "โภคิน" ปัดส่งตีความ ป.ป.ช.ชี้เลือกปฏิบัติ


http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9480000166517


 


         


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net