Skip to main content
sharethis


 



 


 


ประชาไท-  การริเริ่มเรื่องโครงการถุงยางอนามัย 100% ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2544 และมักจะได้รับการอ้างอิงว่า เป็นการทำงานเพื่อป้องกันเอดส์ที่ได้ผล จนทำให้หลายๆประเทศนำรูปแบบการทำงานแบบเดียวกันไปใช้ ทว่า กลุ่มพนักงานบริการทางเพศกลับเห็นว่าโครงการนี้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง


 


มีการอภิปรายตามมาอย่างกว้างขวางภายหลังจากที่การนำเสนอของ อิการินี วูลันดานี จากสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งยอกยาการ์ต้า อินโดนีเซียที่ว่า ทางองค์กรได้ริเริ่มโครงการถุงยางอนามัย 100% หญิงบริการขึ้นหลังจากที่มีตัวเลขแสดงว่า การติดเชื้อเอชไอวีในยอกยาการ์ต้าเพิ่มขึ้น


 


อิการินี เสนองานชิ้นดังกล่าวในการประชุมเอเชีย -แปซิฟิค เรื่องสุขภาพทางเพศและการอนามัยเจริญพันธุ์ และสิทธิ ครั้งที่ 3 ณ.กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่เพิ่งจะสิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมานี้  โดยเห็นว่า แนวคิดของการทำงานนั้นพยายามส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มที่เชื่อว่าจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุดคือ ผู้ค้าบริการทางเพศ  ดังนั้นทางโครงการจึงได้พยายามทำงานกับคนกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ใช้ถุงยางอนามัยกับลูกค้า ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าไม่สามารถทำงานรณรงค์กับกลุ่มลูกค้าเพราะไม่มีใครต้องการเปิดตัวว่าเป็นลูกค้าของหญิงบริการ


 


ผู้เข้าร่วมจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า การนำรูปแบบโครงการถุงยางอนามัย 100% ตามอย่างที่ประเทศไทยเคยใช้อาจจะไม่ใช่รูปแบบที่ดีนัก เพราะโครงการนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการเลือกกลุ่มเป้าหมายที่จัดให้เป็นกลุ่มเสี่ยงแทนที่จะมองไปยังพฤติกรรมเสี่ยง


 


คาร์ทินี สลามาห์  ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ค้าบริการเอเชีย-แปซิฟิค ในฐานะของประธานดำเนินรายการร่วมได้ออกมากล่าวแสดงความคิดเห็นว่า นี่เป็นเรื่องที่ผิดพลาดมาจากประเทศไทย และประเทศอื่นๆ อย่างกัมพูชา และขณะนี้ก็กำลังนำรูปแบบการทำงานแบบนี้ต่ออีก เพราะจริงๆ แล้วโครงการถุงยางอนามัย 100% ของประเทศไทยนั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด เพราะมีการไปทำอยู่ในกลุ่มผู้ค้าบริการเพียงกลุ่มเดียวและไม่แน่นักว่าทุกคนใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง


 


 "คำว่าถุงยางอนามัย 100% นั้นหมายความว่า ทุกคนต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้น และทุกประเทศก็เริ่มต้นกับผู้ค้าบริการทางเพศทั้งๆ ที่ถ้าจะ 100% จริงต้องกับทุกกลุ่ม เพราะต้องเน้นเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง"


 


ปอม ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งแนะนำตัวเองว่า เป็นพนักงานบริการทางเพศจากประเทศไทย บอกว่า โครงการถุงยางอนามัย 100% โดยรัฐบาลนั้น ได้เน้นเฉพาะกลุ่มพนักงานบริการ หรือมองว่าพนักงานบริการเป็นกลุ่มเสี่ยงก็เท่ากับว่าเป็นการตอกย้ำกับสังคมว่ากลุ่มพนักงานบริการบริการเป็นตัวแพร่เชื้อ แทนที่จะไปเน้นในพฤติกรรมเสี่ยง เพราะผู้ค้าบริการนั้นรู้วิธีการป้องกันตัวเป็นอย่างดี แต่ปัญหาการติดเชื้อทุกวันนี้นั้น อยู่กับกลุ่มแม้บ้านหรือคนทั่วๆ ไปมากกว่า ดังนั้นจึงไมอยากเห็นประเทศอื่นเดินตามรอยประเทศไทยที่เข้าซ้ำเติมผู้ค้าบริการ


 


"สิ่งที่พวกเราได้จากโครงการถุงอนามัย 100% ก็คือ การได้ถุงยางอนามัยมาใช้ แต่ว่า ในเรื่องของการยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสิทธิความเท่าเทียมในเรื่องต่างๆ เราไม่ได้รับอะไรเลย" ปอมกล่าว


 


-----------------------------------


สุทธิดา มะลิแก้ว : รายงานจากกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net