Skip to main content
sharethis


โดย ศูนย์ข่าวประสังคม จ.อุบล

 


ผอ.สำนักประชาสัมพันธ์ เขต 2 อุบลราชธานี แนะให้วิทยุชุมชนต้องปฏิบัติตามกฎหมายเดิมแม้ยังไม่ได้ กสช. เผยยังมีบางแห่งออกนอกลู่ ด้านเจ้าของวิทยุชุมชนท้อ ทำได้แค่รอต่อไป


 


จากกรณีที่เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 48 ที่ผ่านมา นายประวิตร บุญเทียม ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองกลางและตุลาการ เจ้าของสำนวนคดีขอให้เพิกถอน กระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่ นายประมุท สูตะบุตร ผู้สมัคร กสช.ยื่นฟ้องสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสรรหา ศาลให้เพิกถอนประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหา กสช. จำนวน 17 คน โดยยังขาดองค์ประกอบในส่วนของตัวแทนจากองค์กรเอกชน จนศาลเห็นสมควรให้ต้องเริ่มกระบวยการสรรหา กสช.ใหม่นั้น


 


ต่อเรื่องดังกล่าว นายธีระพงษ์ โสดาศรี ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ เขต 2 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลาที่รอให้รัฐบาลมีการสรรหาคณะกรรมการ กสช.กันใหม่นั้น ผู้ประกอบการวิทยุชุมชนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเดิมต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีสถานีวิทยุชุมชนบางแห่งฝืนกฎเกณฑ์ของบ้านเมือง โดยในส่วนของสำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 อุบลราชธานี ที่มีวิทยุชุมชนในการควบคุมดูแลกว่า 240 สถานี จะต้องกำชับให้สถานีเหล่านั้นปฏิบัติตามกฎที่ถูกต้อง


 


ด้านนายจีรวัฒน์ สว่างวงศ์ หัวหน้าฝ่ายรายการ ศูนย์การเรียนรู้วิทยุชุมชนภูมิปัญญาไทย อุบลราชธานี ความถี่ 96.75 MHz  กล่าวว่า กรณีการมีคำสั่งของศาลปกครองให้เพิกถอนรายชื่อการสรรหคณะกรรมการ กสช.นั้น ทำให้วิทยุชุมชนที่มีมากกว่า 3,000 สถานีต้องเป็นสถานวิทยุเถื่อนต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากไม่มีผู้ที่มีอำนาจอนุญาตให้จัดตั้งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นโอกาสที่ให้กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาหาผลประโยชน์มากขึ้นกับวิทยุชุมชน สังเกตุได้จากช่วงที่ทางการเร่งสรรหาคณะกรรมการ กสช.วิทยุชุมชนก็เร่งจัดตั้งขึ้นมาเช่นกัน ซึ่งเขาเองคาดว่าหากมี คณะกรรมการ กสช.แล้ว การจัดตั้งคลื่นจะเป็นไปด้วยความลำบาก ส่วนกรมประชาสัมพันธ์ หรือกรมไปรษณีย์โทรเลข ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้เข้ามาดูแลวิทยุชุมชนนั้น ก็มีอำนาจในการจัดการได้ไม่มาก


 


"ในส่วนของการจัดการที่คลื่นของเรานั้น มีความแตกต่างจากที่อื่นเพราะเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ที่ได้จัดตั้งมานาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเองก็รับรอง โดยนายสถานี คือ อ.สลา คุณวุฒิ นั้นได้รับยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย จากนั้นได้พ่วงวิทยุชุมชนเข้ามาก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเผยแพร่ความรู้แก่ชุมชน เราได้ปรับรูปแบบของตนเองเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ของทางการมาตลอดทั้ง 2 ปี ทางนายสถานีก็ต้องการที่จะจดทะเบียนและเสียภาษีให้ถูกต้องกับรัฐบาลแต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ก็ต้องรอต่อไป คิดว่าสถานีของเราคงไม่มีผลกระทบอะไรมาก"


 


ขณะที่นายสมคิด กมลภากรณ์ พนักงานปฏิบัติการระดับสูง ศูนย์ตรวจสอบการใช้คลื่นวิทยุ เขต 2 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า จากสถานการณ์การใช้ช่องโหว่ของกฎหมายการจัดสรรคลื่นความถี่ทำให้ปัจจุบันจังหวัดอุบลราชธานีมีสถานีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นทั้งหมด 99 สถานี หลายๆ คลื่นไปรบกวนคลื่นหลักที่มีอยู่จนทำให้การรับฟังไม่ชัดเจน หรือบางคลื่นไปรบกวนคลื่นวิทยุการบินของทหาร ต่อกรณีดังกล่าว ทางศูนย์ตรวจสอบฯ ได้ออกหนังสือระงับการออกอากาศ โดยที่ผ่านมาออกหนังสือไปแล้ว 7 ราย ส่วนใหญ่เป็นคลื่นวิทยุชุมชนที่อยู่ในเขตเทศบาลเมือง หากผู้ฟังพบเห็นการรบกวนคลื่นวิทยุหลักจากคลื่นวิทยุชุมชน โปรดแจ้งมาได้ที่ศูนย์ตรวจสอบ หมายเลขโทรศัพท์ 045-281706-8


 


"เท่าที่ได้ตรวจสอบมา กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของวิทยุชุมชนทั้งหมดยังอยู่ในกรอบที่ทางการกำหนด แต่อีก 20 เปอร์เซ็นนั้น ยังไม่ยอมปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ควรกำชับให้มากกว่านี้ แนวโน้มในอนาคตยังน่าจะเกิดวิทยุชุมชนเพิ่มมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ก็เพิ่มขึ้นเดือนละรายสองราย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของธุรกิจทั้งนั้น" นายสมคิดกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net