Skip to main content
sharethis

เวที "พม่ายุคเปลี่ยนผ่าน" ที่เชียงใหม่ถกสถานการณ์สื่อพม่า บ.ก.อิระวดี "ออง ซอ" ระบุพม่ายังไม่มีการปฏิรูปแท้จริง นอกจากปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ มีนักข่าวถูกดำเนินคดี แม้แต่เสียชีวิตขณะถูกทหารควบคุมตัว - ด้านสื่อพม่า-นักวิจัย มช. ให้ภาพสื่อกลุ่มชาติพันธุ์ หวังขจัดอคติเชื้อชาติแต่ทรัพยากรทำสื่อยังจำกัด - ผู้บริหารสถาบันสื่อพม่าเผยสถิติผู้อ่านสื่อออนไลน์ก้าวกระโดด แต่มาพร้อมขบวนการเฮทสปีช

อภิปรายโต๊ะกลม "สื่อและบทบาทของสื่อในยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย" ในการประชุมนานาชาติด้านพม่าศึกษา "พม่าในยุคเปลี่ยนผ่าน: ความเชื่อมโยง ความเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย" (Burma/Myanmar in Transition: Connectivity, Changes and Challenges) ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 26 ก.ค. 2558

 

26 ก.ค. 2558 - ในการประชุมนานาชาติด้านพม่าศึกษา "พม่าในยุคเปลี่ยนผ่าน: ความเชื่อมโยง ความเปลี่ยนแปลง และความท้าทาย" (Burma/Myanmar in Transition: Connectivity, Changes and Challenges) ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 24-26 ก.ค. ที่สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ในวันที่ 26 ก.ค. มีการอภิปรายโต๊ะกลมหัวข้อ "สื่อและบทบาทของสื่อในยุคเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย" (Media and Its Role in Democratic Transition) โดยหม่อง หม่อง เมียต  ผู้อำนวยการ Human Dignity Film Institute (HDFI), ซอ ลิน ทเว ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB), ออง ซอ บรรณาธิการบริหารนิตยสารอิระวดี และมิงทิน โกโกจี ผู้กำกับภาพยนตร์ในพม่า ดำเนินรายการโดย อัมพร จิรัฐติกร อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

เผยสถิติผู้อ่านสื่อออนไลน์พม่าโตแบบก้าวกระโดด แต่มาพร้อมขบวนการกระจายเฮทสปีช

หม่อง หม่อง เมียต ผู้อำนวยการ Human Dignity Film Institute (HDFI) กล่าวถึงสถานการณ์สื่อออนไลน์ในพม่าว่าในปี 2000 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1,000 ราย และในปี 2010 เพิ่มขึ้นเป็น 110,000 ราย

สำหรับการบริโภคสื่อในปี 2011 ในพื้นที่เมือง คนเข้าถึงทั้งหนังสือพิมพ์ 30% วิทยุ 40% และโทรทัศน์ 60% ส่วนในพื้นที่ชนบท มีคนเข้าถึงวิทยุ 55% และโทรทัศน์ 45% ขณะที่การเข้าถึงหนังสือพิมพ์เป็นไปอย่างจำกัด

ส่วนอินเทอร์เน็ต ในปี 2014 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศ 2.6 ล้านคน มีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ 13.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ใช้มือถือเพื่อใช้โซเชียลมีเดีย 3.4 ล้านคน ขณะที่เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น โดยมีผู้ใช้งานในประเทศ 1.24 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐก็เข้ามาใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับประชาชนโดยตรง อย่างเช่น เฟซบุ๊กของ เยตุด รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสาร

หม่อง หม่อง เมียต ยังเสนอว่า ในช่วงที่พม่าเผชิญปัญหาจลาจลด้านศาสนาทั้งการจลาจลในรัฐยะไข่ เหตุการณ์เผาชุมชนมุสลิมในเมกตีลา ฯลฯ มีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข่าวลือและข้อความปลุกระดมความเกลียดชังด้วย โดยเป้าหมายของการจลาจลก็คือ เพื่อสร้างการรบกวนต่อกระบวนการปฏิรูปการเมือง ค้ำจุนผู้มีอำนาจกลุ่มเดิม นอกจากนี้หม่อง หม่อง เมียต เชื่อว่ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการกระจายข่าวลือและข้อความปลุกระดมคือ กลุ่มที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้จากการเก็บสถิติข้อความที่ปลุกระดมเหล่านั้นพบว่ามีเลข IP address ที่แน่นอนและเป็นกลุ่มก้อน

สำหรับสถิติผู้อ่านสื่อออนไลน์นั้น หม่อง หม่อง เมียต กล่าวว่า จำนวนผู้อ่านสื่อออนไลน์เติบโตอย่างมาก ซึ่งมีปัจจัยเรื่องผู้ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นด้วย จากการนับจำนวนยอดไลค์เฟซบุ๊กเพจของหนังสือพิมพ์ออนไลน์ สื่อออนไลน์หลายแห่งก่อนปี 2011 มีผู้กดไลค์หลักหมื่น ปัจจุบันในปี 2015 หลังจากที่อินเทอร์เน็ต และอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพม่าแพร่หลายนั้น หนังสือพิมพ์ออนไลน์หลายแห่งมีผู้กดไลค์หลักล้าน เช่น Eleven Myanmar Journal 3.4 ล้านคน สำนักข่าวอิระวดี 2.4 ล้านคน เป็นต้น

 

ผู้สื่อข่าวพม่า-นักวิจัย มช. ให้ภาพสื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทรัพยากรจำกัด แต่หวังขจัดอคติต่อกันในพม่า

ซอ ลิน ทเว ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (Democratic Voice of Burma - DVB) และนักวิจัยศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอผลการศึกษาสื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า โดยเขาเริ่มต้นด้วยการนำเสนอรูปการ์ตูน "ปลาใหญ่กินปลาเล็กกันเป็นทอดๆ" เพื่ออธิบายว่าภาพรวมของสื่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเป็นอย่างไร

ทั้งนี้เขาวิจัยผ่านหนังสือพิมพ์กลุ่มชาติพันธุ์ 2 ฉบับ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ "คันธาราวดี ไทม์" (Kantaryawaddy Times) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ใช้ภาษาพม่าเป็นหลัก เผยแพร่และนำเสนอข่าวจากรัฐคะเรนนี และ "แสงไป" หนังสือพิมพ์ภาษาไทใหญ่ ซึ่งจำหน่ายในรัฐฉาน โดยนิยามของสื่อชาติพันธุ์ที่ใช้คือ สื่อที่ใช้ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งฉบับ บางส่วน และสื่อที่ใช้ภาษาพม่า แต่มีเนื้อหาและประเด็นความสนใจอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์

ซอ ลิน ทเว กล่าวด้วยว่า ผลของการจำกัดเสรีภาพสื่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าเป็นเวลายาวนาน ทำให้สังคมพม่าทั้งหมดมีองค์ความรู้เรื่องชาติพันธุ์ต่างๆ จำกัด บ่อยครั้งที่ข้อเรียกร้องของกลุ่มชาติพันธุ์กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องของพวกแบ่งแยกดินแดน และกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่ามักปรากฏภาพลักษณ์ในภาพยนตร์พม่าในเชิงลบ เช่น เป็นผู้ร้าย รับบทข่มขืน รวมทั้งรับบทตลก

หลังปี 2011 ซึ่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งปี 2010 กลุ่มชาติพันธุ์ พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับสื่อกระแสหลัก เพื่อทำให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์พยายามจดทะเบียนหนังสือพิมพ์ใช้ชื่อ "ปิตองสุ" หรือ "สหภาพ" แต่รัฐบาลไม่ยอม จึงใช้ชื่อจดทะเบียนว่า "Unity" แทน โดยสามารถจดทะเบียนได้ในปี 2012 โดยข้อมูลจนถึงปี 2014 ในพม่ามีหนังสือพิมพ์ของกลุ่มชาติพันธุ์อย่างน้อย 9 แห่ง

ซอ ลิน ทเว กล่าวว่า สถานการณ์สื่อของกลุ่มชาติพันธุ์หลังปี 2011 ดีขึ้น สื่อมวลชนกลุ่มชาติพันธุ์สามารถที่จะผลักดันวาระทางสังคมได้ เช่น โครงการสร้างเขื่อนมิตซง ในรัฐคะฉิ่น ซึ่งจากการนำเสนอมีผลทำให้รัฐบาลพม่าตัดสินใจชะลอโครงการดังกล่าว

สำหรับอุปสรรคของหนังสือพิมพ์ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ได้แก่ การกระจายสิ่งพิมพ์ เนื่องจากสภาพถนนที่ทุรกันดารในพม่า โดยเฉพาะพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ จำนวนยอดพิมพ์ที่จำกัด การแข่งขันกับสื่อหลัก อัตราการรู้หนังสือของประชาชนในพื้นที่ เพราะหลายพื้นที่ ประชากรชาติพันธุ์รู้แต่ภาษาพูด ไม่รู้ภาษาเขียน ขณะที่ในบางรัฐ ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์มีหลากหลาย ไม่มีการกำหนดภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นภาษากลาง อย่างเช่น กรณีของรัฐคะเรนนี มีระบบภาษาพูดอย่างน้อย 9 สำเนียงใหญ่ และมีระบบภาษาเขียนหลายระบบ ดังนั้นเจ้าของหนังสือพิมพ์ต้องเลือกว่าจะใช้ภาษาใดในหนังสือพิมพ์ ก็ยิ่งทำให้จำนวนผู้อ่านกลายเป็นกลุ่มเล็กลงไปอีก

นอกจากนี้ปัญหาใหญ่ของสื่อชาติพันธุ์ในพม่า ก็เช่นเดียวกับสื่อมวลชนในเมืองใหญ่ของพม่า คือ ปัญหาทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้มีนักข่าวที่ทำงานกับสื่อชาติพันธุ์อยู่จำนวนน้อยมาก นอกจากนี้การที่เจ้าของกิจการสื่อชาติพันธุ์ไม่สามารถจ้างนักข่าวด้วยเงินเดือนที่สูงได้ ทำให้ไม่มีแรงจูงใจให้มีสื่อมืออาชีพในการทำงานสื่อชาติพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสริมให้กับการทำงานของสื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น การมีเครือข่ายสื่อชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ทำงานร่วมกันในพม่า โดยในพื้นที่สื่อกระแสหลักอย่าง สถานีโทรทัศน์เสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า (DVB) มีเวลาออกอากาศให้กับภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ วันละ 2 รอบ โดยมีภาษาพม่าเป็นคำบรรยายประกอบด้วย

ในช่วงท้าย ซอ ลิน ทเว กล่าวว่า ผลของการทำงานของสื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นถูกเตือนในความทรงจำ อย่างเช่น สื่อมวลชนกระแสหลักในย่างกุ้ง เรียกชื่อ "รัฐคะยาห์" แต่สื่อท้องถิ่นยืนยันการใช้ชื่อ "รัฐคะเรนนี" ซึ่งเคยเป็นอิสระด้านการบริหารพื้นที่ในสมัยอาณานิคม สื่อกลุ่มชาติพันธุ์ยังส่งเสริมให้มีการฟื้นฟูอัตลักษณ์ ทำให้คนในรัฐกลุ่มชาติพันธุ์รู้จักพื้นที่ของเขาเอง สื่อกลุ่มชาติพันธุ์ยังทำหน้าที่เหมือนสุนัขเฝ้าบ้านของรัฐ โดยเฉพาะการจับตาโครงการของรัฐต่างๆ และยังมีส่วนแสดงออกถึงความรู้สึกของสาธารณชน ช่วยนำเสนอวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เป็นที่รู้จัก และยังเป็นสะพานเชื่อมต่อกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายในพม่าให้เข้าใจซึ่งกันและกัน

โดยซอ ลิน ทเว ยังมีความหวังว่าในอนาคต สื่อกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะยังรักษาบทบาทในการร่วมปฏิรูปประเทศพม่า

 

พม่ายังถึงไม่ยุคปฏิรูป แค่ปรับบรรจุภัณฑ์: สื่อพลัดถิ่นยึดยุทธศาสตร์รักษาสำนักงานไว้ต่างแดน

ผู้ขายหนังสือพิมพ์รายวัน รายสัปดาห์ในนครย่างกุ้ง ภาพถ่ายเดือนมีนาคมปี 2557 (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

ด้าน ออง ซอ บรรณาธิการบริหารนิตยสารอิระวดี กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะเรียกพม่าในปัจจุบันว่าอยู่ในยุค "Reform" (ปฏิรูป) แต่น่าจะเรียก "Re-packaging" (ปรับบรรจุภัณฑ์) มากกว่า ทั้งนี้รัฐบาลพม่าไม่ได้ต้อนรับให้อดีตนักศึกษา นักกิจกรรมในยุค 1988 กลับบ้าน โดยยังกล่าวติดตลกว่า เชียงใหม่ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมวิชาการแห่งนี้ยังเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับพวกเขามากกว่า ขณะที่รัฐบาลพม่าไม่ได้ต้อนรับพวกเขาให้กลับบ้าน แต่อยากให้กลับมาติดคุกมากกว่า

ออง ซอ อ้างถึงพระราชดำรัสพระเจ้ามินดง (ครองราชย์ ค.ศ. 1853-1878) ซึ่งเคยเป็นเหมือนการประกันเสรีภาพสื่อพม่าที่ว่า "ถ้าฉันทำผิด จงเขียนถึงฉัน ถ้าเหล่าราชินีทำผิด จงเขียนถึงพวกเธอ ถ้าพระโอรสพระธิดาทำผิด จงเขียนถึงพวกเขา ถ้าผู้พิพากษาหรือ เทศมนตรีทำผิด จงเขียนถึงคนเหล่านั้น ไม่ควรจะมีผู้ใดกระทำการต่อต้านนักข่าวถ้าพวกเขาเขียนความจริง พวกเขาควรจะเดินเข้าออกพระราชวังได้โดยอิสระ" อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบัน เมื่อสัปดาห์ก่อนศาลเพิ่งตัดสินปรับนักข่าว 2 ราย ได้แก่ จ่อ ซวา วิน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เมียนมา เฮอรัลด์ (Myanmar Herald) และอัน คอง มิน ผู้ช่วยบรรณาธิการ ในข้อหาหมิ่นประมาททำให้ประธานาธิบดีเสียชื่อเสียง โดยถูกปรับรายละ 1 ล้านจ๊าต (ประมาณ 28,000 บาท) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

และเมื่อไม่กี่วันนี้ วิกิลีกส์ได้เปิดเผยว่า บริษัทสปายแวร์ของอิตาลี "The Hacking Team" มีข้อเสนออุปกรณ์ดักจับข้อมูลแบบไม่ผิดกฎหมายให้กับรัฐบาลพม่า รวมไปถึงอุปกรณ์ IT ที่สนับสนุนการแทรกซึมออนไลน์ โดยเสนอขายผ่านหน่วยงานข่าวกรองของกองทัพพม่าเมื่อปีที่แล้ว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยสื่อมวลชนพม่าหลายแห่งยังถูกโจมตีออนไลน์ กรณีของนิตยสารอิระวดี ตัวเซอร์เวอร์ยังคงถูกโจมตีด้วย DDos ซึ่งการโจมตีเกิดขึ้นทุกเวลา เกิดขึ้นทั้งกลางวันกลางคืน เหมือนผู้ที่ลงมือต้องการหาช่องว่างเพื่อจะเจาะระบบให้ได้ ทั้งนี้การโจมตีหนักๆ มักเกิดขึ้นเมื่อเวลาที่นิตยสารอิระวดีรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างเรื่องโรฮิงญา สิทธิมนุษยชนในพม่า เรื่องออง ซาน ซูจี  ฯลฯ โดยประเด็นเรื่องการโจมตีระบบออนไลน์ของสื่อออนไลน์ ก็เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนในพม่าให้ความระมัดระวังเช่นกัน

นอกจากนี้นักข่าวพม่าจำนวนมากยังถูกรัฐบาลฟ้องร้อง และเมื่อปี 2014 มีนักข่าวอิสระชื่ออ่อง จอ หน่าย หรือที่รู้จักกันว่า "พาจี" ถูกฆ่าตายระหว่างที่ถูกทหารกองทัพพม่าควบคุมตัวภายหลังเดินทางออกมาจากการทำข่าวในพื้นที่การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ออง ซอ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไรในกิจการสื่อ และในเวลาเดียวกันสื่อมวลชนพม่าเองพยายามรักษาให้เสียงของสื่อมวลชนยังคงดังเพื่อรายงานข่าว สื่อมวลชนพม่าปัจจุบันต้องติดตามทั้งเรื่องโครงการพัฒนาของรัฐ แผนพัฒนาเมืองย่างกุ้ง กรณีการปะทะในเขตโกก้าง ทางตอนเหนือของรัฐฉาน รวมไปถึงรายงานการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เหมาะสมของชาติผู้บริจาคจากประเทศตะวันตก ฯลฯ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

บรรณาธิการบริหารนิตยสารอิระวดี กล่าวถึง ความเป็นเจ้าของสื่อในพม่าว่า สื่อมวลชนหลายแห่งถ้าเจ้าของไม่ใช่คนใกล้ชิดรัฐบาล ก็เป็นธนกิจการเมืองที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสาร เยตุด ที่ไปเปิดเฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารนั้น ควรจะรื้อเฟซบุ๊กนี้ไปได้แล้ว ไม่ควรจะเข้ามาใช้สื่อออนไลน์ เพราะรัฐบาล คนของรัฐบาล ใช้พื้นที่สื่อสารในโทรทัศน์และวิทยุมากพอแล้ว

ออง ซอ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม สำหรับสื่อพลัดถิ่นพม่ากลับเข้าไปเปิดสำนักงานในย่างกุ้งหลังปี 2011 ด้วยว่า แม้จะมีสำนักงานทำข่าวในพม่า แต่อย่างไรก็ตามในเมื่อยังไม่มีการปฏิรูปที่แท้จริงเกิดขึ้นในประเทศ จึงควรมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการรายงานสื่อ โดยนิตยสารอิระวดี ยังใช้วิธีแบบ นักข่าวคนหนึ่งอยู่ในประเทศ นักข่าวอีกคนหนึ่งยังต้องอยู่นอกประเทศ โดยจะดำเนินวิธีการเช่นนี้จนกว่าที่พม่าจะเปิดกว้างมากขึ้น ปฏิรูปมากขึ้น

ออง ซอ กล่าวว่า เขายังมองอนาคตของสื่อพม่าอย่างมีความหวัง ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการมีโทรศัพท์มือถือถูกลง ค่าลงทะเบียนซิมการ์ดที่เคยแพงปัจจุบันก็ถูกลง แค่ 3,000 จ๊าต (ประมาณ 84 บาท) ก็สามารถใช้มือถืออ่านสื่อออนไลน์หรือจะอ่านข่าวลือจากสื่อออนไลน์ได้แล้ว เขากล่าวเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในพม่าด้วยว่า พม่าจะเป็นประเทศโทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ ออง ซาน ซูจี เคยกล่าวว่า "Please Use Your Liberty to Promote Ours" (โปรดใช้เสรีภาพของคุณเพื่อสนับสนุนพวกเรา) สำหรับตัวเขาแล้วขอกล่าวว่า "Please Use Your Social Media and Mobile Phone to Promote Ours" (โปรดใช้โซเชียลมีเดียและโทรศัพท์มือถือของท่านสนับสนุนพวกเราด้วย) ออง ซอกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net