Skip to main content
sharethis


 


คณะกรรมาธิการรางวัลโนเบลประกาศเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมว่า ผู้ที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2005 ไปครองได้แก่ ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) และโมฮัมเหม็ด เอลบาราเด ผู้อำนวยการไอเออี ชาวอียิปต์ จากความพยายามในการป้องกันและยับยั้งการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์


      


ทั้งนี้คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้กล่าวสดุดีว่า ทางทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศและ เอลบาราเด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการได้รับการเชิดชูเกียรติ "จากความพยายามของพวกเขาในการป้องกันไม่ให้พลังนิวเคลียร์ ถูกใช้เพื่อจุดมุ่งหมายทางการทหาร และทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า พลังงานนิวเคลียร์เพื่อจุดมุ่งหมายแห่งสันตินั้น จะถูกใช้อย่างปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"


      


ในคำสดุดีของคณะกรรมาธิการยังได้ยกย่องเอลบาราเดว่าเป็น "ผู้แทนที่ไร้ซึ่งความหวาดกลัว" ในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ขณะที่ภาระหน้าที่ของทางไอเออีเอก็มีความสำคัญอย่างเหลือคณานับ


      


ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) องค์กรที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติของโลกปีล่าสุดนี้ ตั้งอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เป็นองค์การอิสระและมีความเกี่ยวเนื่องอย่างใกล้ชิดกับสหประชาชาติ ทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ


      


ส่วน เอลบาราเด ผู้อำนวยการองค์กรนี้ ปัจจุบันอายุ 63 ปี รับตำแหน่งผู้นำไอเออีเป็นสมัยที่ 3 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีบทบาทสำคัญในเวทีเจรจาข้อตกลงไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ 3 ประเทศที่ถูกประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐฯ ตราหน้าว่าเป็น "อักษะปีศาจ" ได้แก่ อิรัก ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน, อิหร่าน และเกาหลีเหนือ


      


ก่อนสหรัฐฯ จะนำทัพเข้าบุกอิรักในปี 2003 เอลบาราเดเคยร้องขอต่อสหประชาชาติให้ยืดเวลาในการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธโดยผิดข้อตกลงของอิรัก แต่สหรัฐฯ ตัดสินใจที่จะเดินหน้าโดยไม่ฟังเสียงทัดทาน สุดท้ายจึงต้องหน้าแตก เมื่อข้อมูลภายหลังเปิดเผยว่า ซัดดัมไม่มีอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงอยู่ในครองครอง


 


ทั้งนี้รางวัลที่ทางเอลบาราเดและไอเออีเอจะได้รับก็คือ เงินรางวัลมูลค่าประมาณ 52,890,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการมอบรางวัลในวันที่ 10 ธันวาคม ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์


 


นอกจากโนเบลสาขาสันติภาพที่เป็นไฮไลท์ของรางวัลอันทรงเกียรติของโลกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตามจุดประสงค์ของผู้ก่อตั้ง "อัลเฟรด โนเบล" นักอุตสาหกรรมและนักประดิษฐ์ (ผู้ประดิษฐ์ระเบิดไดนาไมต์) ชื่อก้องชาวสวีเดนแล้ว ก่อนหน้านี้ ได้มีพิธีประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ดังนี้


 


วันที่ 3 ตุลาคม รางวัลโนเบล สาขาสรีรศาสตร์หรือการแพทย์ ผู้ได้รับรางวัลคือ แบร์รี มาร์เชลล์ (Barry J. Marshall) จากมหาวิทยาลัยแห่งเวสเทิร์นออสเตรเลีย และ โรบิน วาร์เรน (J. Robin Warren) จากประเทศออสเตรเลีย จากการค้นพบว่ามีแบคทีเรียอยู๋ในกระเพาะอาหารทั้งๆ ที่มีสภาพเป็นกรด แถมยังเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะ นับเป็นการค้นพบที่พลิกวงการแพทย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ โดย 1 ในผู้รับรางวัลยังเคยได้รับรางวัลมหิดลอีกด้วย


      


วันที่ 4 ตุลาคม รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ผู้ได้รับรางวัลคือ นักวิทยาศาสตร์ 3 คนจาก 2 ผลงานวิจัยทางด้านแสง โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งมอบให้แก่ รอย เกลาเบอร์ (Roy J. Glauber) ศาสตราจารย์จากภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ที่คิดค้นทฤษฎีสนับสนุนทฤษฎีควอนตัมของแสง รางวัลอีกส่วนมอบให้จอห์น ฮอลล์ (John L. Hall) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสหรัฐหรือนิสต์ พร้อมกับ ธีโอดอร์ เฮนช (Theodor W. Hänsch) จากสถาบันควอนตัมฟิสิกส์แมกซ์ พลังก์ (MPQ : Max-Planck-Institut für Quantenoptik) ทั้งคู่ได้คิดค้นการนำไปสู่การพัฒนาสเปกโทรสโกปีโดยใช้เลเซอร์ได้อย่างละเอียดมากยิ่งขึ้น


      


วันที่ 5 ตุลาคม รางวัลโนเบล สาขาเคมี ผู้ได้รับรางวัลคือ อิฟ โชแว็ง (Yves Chauvin) จากสถาบันฟรองเซ เปโตร รูอีล มาเมซอง (Institut Français du Pétrole Rueil-Malmaison, France) ประเทศฝรั่งเศส และชาวอเมริกัน 2 คนซึ่งได้แก่ โรเบิร์ต กรับส์ (Robert H. Grubbs) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology : Caltech) สหรัฐฯ และ ริชาร์ด ชรอก (Richard R. Schrock) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเมสซาซูเซ็ต (Massachusetts Institute of Technology : MIT) ซึ่งพัฒนากระบวนการเมธาธีซิส (metathesis) ในการสังเคราะห์ทางเคมีของสารอินทรีย์


 


ทั้งนี้ยังมีรางวัลโนเบลอีก 2 ที่จะทยอยประกาศผลคือรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ในวันที่ 10 ตุลาคม และ สาขาวรรณกรรม ที่ยังไม่ได้กำหนดวัน


 


....................................................


เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net