Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 21 ก.ย.48      ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในงานสัมมนา "สิทธิส่วนตัว-เสรีภาพสาธารณะกรณี "มติชน-แกรมมี่" ใครละเมิดสิทธิใคร?"โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลมองว่าการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นเรื่องระหว่างเอกชน ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาลเข้าไปดูแล เพราะถ้าปล่อยให้การค้าเสรีสุดโต่ง  สังคมก็จะกลายเป็นเครื่องมือของเศรษฐกิจ และมติชน-บางกอกโพสต์ก็คือ เหยื่อ จึงไม่ควรปล่อยให้มีการซื้อขายกันอย่างเสรีเกินไป เพราะจะกลายเป็นการก่อการร้ายทางธุรกิจ


 


ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องการตรวจสอบในเชิงโครงสร้างการรุกคืบของทุนนิยม  และอาจจะทำเป็นข้อเสนอเกี่ยวกับกรอบกติกาการซื้อขายหุ้นสื่อ เนื่องจากหากสิทธิเสรีภาพสื่อถูกกระทบสิทธิประชาชนก็ย่อมถูกกระทบด้วย โดยเบื้องต้นจะมีอนุกรรมการเฉพาะกิจที่มีนักวิชาการซึ่งเชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้นเข้าร่วมศึกษาด้วย


 


นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นมติชน บางกอกโพสต์ อาจจะยังไม่เป็นละเมิดสิทธิ์ แต่ก็ถือว่าเป็นกระแสของความพยายามที่จะคุกคามสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งแนวโน้มของโลกกลุ่มนักการเมืองและทุนขนาดใหญ่พยายามเทคโอเวอร์ธุรกิจสื่ออยู่แล้ว


 


ส่วนที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย แม้รัฐบาลจะอ้างว่าไม่รู้เห็นแต่เวลานี้ประชาชนเชื่อไปแล้ว  ซึ่งการจะจัดการกับความเชื่อของสังคมเป็นเรื่องยาก และที่อ้างกันว่าแกรมมี่ได้หุ้นมติชน -บางกอกโพสต์ มาโดยไม่ได้ใช้ข้อมูลภายในมาก่อนจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อมีสิ่งที่น่าสังเกตว่า ทำไมธนาคารไทยพาณิชย์จึงอนุมัติปล่อยกู้เงินจำนวนกว่าพันล้านให้กับผู้บริหารแกรมมี่ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยที่ก็ไม่รู้ว่าแกรมมี่นั้นจะเอาเงินนี้ไปทำอะไร กรรมการสิทธิจึงจะมีการตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย โดยในโอกาสต่อไปก็จะเชิญทั้งแกรมมี่ ไทยพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์มาให้ข้อมูลดังกล่าว


 


นักวิเคราะห์เสียงแตก อินไซด์ข้อมูล


 


นายมนตรี  ศรไพศาล กรรมการบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง จำกัด มหาชน กล่าวว่า เท่าที่ติดตามการซื้อหุ้นมติชนของแกรมมี่นั้นน่าจะไม่มีอินไซด์เดอร์เทรดดิ้ง เพราะถ้าไปดูมูลค่าการซื้อขายก่อนที่จะมีการประกาศนั้นมีไม่มาก 


 


แต่ที่ราคาหุ้นมีการปรับขึ้นรุนแรงเกิดขึ้นหลังการประกาศเข้าซื้อของแกรมมี่แล้วซึ่งเป็นเช่นนั้นเข้าใจว่าเพราะมีการปล่อยข่าวในตลาดว่า จะผู้บริหารเก่าและใหม่ตกลงกันไม่ได้และจะมีการต่อสู้ช่วงชิงหุ้นเพื่อให้กลุ่มตนได้อำนาจบริหาร  


 


นายมนตรี ยังกล่าวอีกว่า กฎเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์มีอยู่ค่อนข้างที่จะดีอยู่แล้ว ถ้าเราสร้างกฎเกณฑ์ กติกาใหม่ขึ้นมาเพิ่มเช่น บอกว่า ถ้าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาประโยชน์สาธารณะห้ามมีการเทคโอเวอร์ หรือซื้อขายหุ้นเกินกว่าจำนวนเท่านั้นเท่านั้น ก็อาจเป็นการไปลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อย และอาจจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนต่างประเทศ


 


นายสุนันท์ ศรีจันทรา  ผู้ดำเนินรายการวิเคราะห์หุ้น เห็นว่า การเทคโอเวอร์กิจการแม้ไม่ผิด แต่กับสังคมไทยไม่เหมาะสม เหมือนเราจะไปเข้าบ้านเขาแต่ไม่ขออนุญาต และมติชนเป็นเหมือนสถาบันทางสังคม จึงไม่สมควร 


 


ทั้งนี้การซื้อหุ้นก็ถือเป็นความผิดพลาดของผู้บริหารแกรมมี่ ซึ่งการถอยก็เพราะรู้ว่า ถ้ายังดึงดันต่อเท่ากับฆ่าตัวตาย เช่นเดียวกับซื้อหุ้นบางกอกโพสต์  ที่สุดผู้บริหารแกรมมี่ต้องถอย ขายหุ้น เพราะนายสุทธิเกียรติ จิราธิ


วัฒน์ ผู้ถือหุ้นบางกอกโพสต์ ประกาศยืนยันว่า จะไม่ขายเพิ่ม ขณะที่เซาไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ผู้ถือหุ้นใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งก็ประกาศจุดยืนแล้วว่าจะอยู่ข้างนายสุทธิเกียรติ  


 


นายสุนันท์ เห็นว่า การที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์(กลต.) ที่ออกมาระบุว่า ได้ตรวจสอบการเข้าซื้อหุ้นมติชนของแกรมมี่แล้วว่าไม่มีอินไซด์เดอร์เทรดดิ้งนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะกระบวนการตรวจสอบต้องทำในช่วง 7-14 วันล่วงหน้าก่อนที่จะทำการซื้อขาย  ไม่ใช่จะใช้เวลาเพียง 2-3 วันแล้วออกมายืนยัน


 


ทั้งนี้เป็นไปได้ว่า มีการใช้ข้อมูลอินไซด์เดอร์เป็นประโยชน์ในการซื้อขายจริงๆ  เพราะหุ้นมติชน-บางกอกโพสต์ -แกรมมี่ จู่ๆ ก็ขยับราคาขึ้นมาทันที 4 บาท ภายใน 2 สัปดาห์ บาท  คนและคิดว่า เป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะไม่รู้ข้อมูลก่อนที่จะปล่อยกู้ให้แกรมมี่


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net