Skip to main content
sharethis

 พรมแดนติดต่อระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะทางนับพันกิโลเมตร  ในเขต 31 จังหวัด 170 อำเภอ/กิ่งอำเภอ มีทั้งลาว  พม่า มาเลเซียและกัมพูชา ต่างอยู่บนเส้นที่ขีดคั่น หากแต่รอยต่อของประวัติศาสตร์ยังไม่ลบเลือนแม้จะผ่านมาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตามที  สิ่งที่เลวร้ายกว่าสงครามครั้งอดีตคือเศษซากของทัศนคติในความเป็นศัตรูด้วยเส้นสมมตินี้ หรือการมองว่าพวกเราเป็น  "คนอื่น"

1 ใน ล้าน  สะท้อนเสียงคนไร้สัญชาติ


"แม่ไม่มีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค  ตอนนี้ออกนอกพื้นที่ไม่ได้  ตำรวจจะจับเอา  เพราะมี แต่บัตรสีฟ้าของพื้นที่ศูนย์อพยพเท่านั้น"  นางมาลี แย้มพรหม  ชาวบ้านต.ตะนาวศรี  อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เอ่ยปาก


นั่นอาจเป็นเพียงเสียงสะท้อนเบาๆ ของผู้หญิงตัวเล็กๆ วัย 32 ปี ที่สืบเชื้อสาย มาจาก กะเหรี่ยงชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาบริเวณเขตอ.สวนผึ้ง ถึงแม้ว่าตอนนี้เธอจะได้รับสัญชาติไทยและมีครอบครัวแล้วก็ตาม  แต่ความสัมพันธ์ทางเครือญาติยังมิอาจตัดขาดเช่นพรมแดนที่ขีดคั่นไว้


เธอยังสะท้อนให้ฟังอีกว่า  "ถ้าจะออกนอกอ.สวนผึ้ง ก็จะต้องทำใบขออนุญาตออกนอกพื้นที่อีก  ซึ่งตอนนี้ย่าก็มีอายุ 70 กว่าปีแล้ว  ส่วนแม่มีอายุ 50 ปี  การเดินทางก็ลำบาก  ซึ่งพวกเขาก็ตกสำรวจมาโดยตลอด  เพราะข้าราชาการไม่เข้ามาดูแลในพื้นที่ และชาวบ้านเอง ตอนนั้นก็ยัง


ไม่รู้ว่าบัตรสำคัญยังไง  พอตอนนี้ไม่มีก็เลยลำบาก"


สำหรับแม่และย่าวัยชราของเธอที่มีเพียงบัตรสีฟ้าที่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิตนั้น  เป็นเพียงสิ่งแรกที่ทำให้รู้ว่า สิ่งที่พวกเขาไม่ได้รับนั้นทำให้มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก  พวกเขาไม่มีสิทธิเลือกตั้ง  ยามที่หน่วยงานต่างๆ ไปแจกสิ่งของก็ให้เฉพาะแต่คนที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น


นอกจากนี้ ยังมีคนไร้รัฐหรือคนต่างด้าวอีกเป็นจำนวนมากที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย  ซึ่งหากเขาได้จดทะเบียนและมีบัตรประจำตัวประชาชน สิ่งที่พวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับก็น่าจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้  แม้ไม่เท่าเทียมกับคนไทยทั่วๆ ไปก็ตาม เช่น  การรักษาพยาบาล  สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ


เด็กๆ ไร้สัญชาติที่ ร.ร.ท่ามะขาม อ.สวนผึ้ง


นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่สถาบันการศึกษาหลายแห่งมิได้กีดกันเด็กๆ ไร้สัญชาติเหล่านี้ด้วย  อย่างเช่นที่โรงเรียนท่ามะขาม  หมู่ 5 ต.ตะนาวศรี อ.สวนผึ้ง  ที่บริการด้านการศึกษาและปัจจัยอื่นๆ แก่พวกเขาอย่างเท่าเทียม  และยินดีที่จะดูแลเด็กๆ ที่ต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างพรมแดนไทย-พม่า  จนมีเวลาเรียนน้อยเต็มที่


นางพจนพร  จิตเจริญทวีโชค  ผู้อำนายการโรงเรียนท่ามะขาม  บอกว่า  "โรงเรียนท่ามะขามมีเด็กที่มีทะเบียนบ้านเพียง 30% แต่ก็มีสิทธิเสมอภาคเท่ากันหมด  ทั้งกินข้าว ของแจก  แต่ส่วนใหญ่เด็กพวกนี้จะหายไป 1 ปี  แล้วก็จะกลับมาเรียนซ้ำชั้นใหม่  เพราะมักเข้าๆ ออกๆ อยู่ที่ศูนย์อพยพกับพ่อแม่"


ผอ.ร.ร. ท่ามะขาม  ยังกล่าวอีกว่า  ปัญหาที่เด็กๆ เหล่านี้เจอคือเรื่องค่าหนังสือและสุขภาพ  และเด็กๆ ก็ไม่มีเงินเรียนต่อระดับมัธยมศึกษา เพราะต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายอื่นๆ แม้รัฐบาลจะบอกว่าเรียนฟรีก็ตาม  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เด็กๆ ที่ค่อนข้างหัวดีส่วนใหญ่ก็เรียนไม่ค่อยจบ 


"เด็กช่วยตนเองไม่ได้เราก็ต้องช่วย  แบบประเภทขอให้มีกินก็พอ  ตอนนี้เด็กนักเรียนมีทั้งหมด 303 คน  แต่มาเรียนเพียง 80% และมีเด็กไร้สัญชาติถึง 97 คน  สำหรับการให้ความร่วมมือกับโรงเรียน  ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือดี  เขาก็ให้เป็นแรงมาเพราะเงินเขาไม่มี"  ผอ.พจนพร  บอกเล่าเกี่ยวกับนักเรียนตัวเล็กๆ และผู้ปกครองของพวกเขา


จากตำบลหนึ่งในเขตอ.สวนผึ้ง  ได้ฉายภาพการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและการพึ่งพาแบบเครือญาติ  เมื่อทุกชาติพันธุ์ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ความสงบสุขจึงเกิดขึ้นเพียงในหมู่ชนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น  ขณะที่การจัดระเบียบของส่วนกลางและทัศนคติของคนต่างพื้นที่ยังห่างเหินต่อสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา  หรือกล่าวได้ว่าห่างไกลจากความจริงนั่นเอง


หากแต่ยังมีหน่วยงานอีกไม่กี่แห่งที่เห็นความสำคัญและต้องการทำสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องปรากฏในสังคมไทย  สำหรับผู้ที่ไม่มีชื่ออยู่ในรัฐใดๆ แต่ตัวตนของพวกเขาได้อยู่ในดินแดนไทยแล้วนั้น  ก็จำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลเพื่อให้พวกเขามีตัวตนในทางกฎหมายด้วย


สภาทนายความเข้าถึงคนไร้สถานะทางทะเบียน


นายสุรพงษ์  กองจันทึก  รองประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน  ด้านชนชาติ  ผู้ไร้สัญชาติ  แรงงานข้ามชาติ  และผู้พลัดถิ่น  สภาทนายความ   กล่าวถึงกลุ่มคนไร้รัฐที่ตกสำรวจว่า  "พวกเขาไม่มีชื่ออยู่ในข้อมูลของรัฐเลย  สภาทนายความจึงต้องการช่วยเหลือชาวบ้านในทุกๆ เรื่อง   ซึ่งตอนนี้ที่สภาทนายความเป็นห่วงก็คือ  บุคคลที่ไม่มีอะไรเลย บัตรก็ไม่มี  สัญชาติก็ไม่มี  จะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรก  เราเริ่มต้นโดยทำแบบสอบถาม เก็บข้อมูลคนตกหล่นเหล่านี้  ก็ให้ชาวบ้านเก็บข้อมูลกันเองเพราะเราก็ไม่มีกำลังคนลงไปช่วย"


การช่วยเหลือด้านการเก็บข้อมูลสำรวจประชากรดังกล่าว  ก็เพื่อที่จะทำเป็นฐานข้อมูลสำหรับ  ยุทธศาสตร์และแนวปฏิบัติในการสำรวจบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ซึ่งทำให้ชาวบ้านตื่นตัวเอาข้อมูลมาตรวจสอบกันมากขึ้น  เพื่อให้ได้รับ สิทธิการศึกษา  การรักษาพยาบาล  การย้ายที่อยู่  แจ้งเกิดแจ้งตายให้ได้คุ้มครองตามกฎหมาย


นายสุรพงษ์  เห็นว่า นโยบายที่ผ่านมาผ่อนปรนโดยให้ชาวต่างด้าวอยู่ชั่วคราวต่อไปเรื่อยๆ  เพราะทำอะไรไม่ได้  แต่สำหรับการสำรวจคราวนี้  ต้องมีการพิสูจน์หากมีคนเพิ่มเข้ามาในภายหลังก็อาจจะดันออกไป  



"มีหลายฝ่าย  บางฝ่ายก็มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อคนต่างด้าว  ไม่อยากอยู่กับคนอื่น  ไม่ควรให้ฐานะกับบุคคลอื่น  ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญด้านความมั่นคงมาตลอด  แต่ผู้ได้รับผลกระทบก็คือบรรดาชาวบ้าน  แม้แต่ทางจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐก็หวาดระแวงมาตลอด  ประเทศมีแนวคิดเรื่องกลัวไว้ก่อนทำให้ไม่อยากรับรองสิทธิคนต่างด้าว  แค่ฟังชื่อเรียกก็แสดงถึงทัศนะคติที่ไม่ดีแล้ว"  นายสุรพงษ์  หรือพี่หนอนแห่งสภาทนายความ  เล่าให้ฟัง



อย่างไรก็ตาม  พี่หนอน  บอกอีกว่า  เราต้องมองตามความเป็นจริงว่าสิทธิในการมีสถานะบุคคลเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานนี้เพราะ แต่ประเทศไทยมีกระบวนการทำให้กลุ่มคนบางกลุ่มไม่ได้รับตามความเป็นจริง 



"การที่เขาไม่มีชื่อในทะเบียนรัฐ  หรือไม่ได้รับสิทธิการดูแลของรัฐ  เป็นความบกพร่องที่สำคัญของประเทศไทย เพราะว่าเราต้องดูแลและยอมรับทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย"  พี่หนอน  เน้นย้ำอีกรอบ



นอกจากนี้  ยังมีองค์กรที่ทำหน้าดูแลกลุ่มบุคคลไร้สัญชาติ ที่ทำงานเป็นเครือข่ายประสานกันทั่วประเทศ  นั่นคือคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์    ที่ประสานงานระหว่างภาครัฐและเอกชนในประเด็นบุคคลไร้สัญชาติ  บุคคลที่ยังไม่มีฐานะทางทะเบียน โดยทำงานในพื้นที่และอบรมให้ความรู้ชาวบ้านด้วย


องค์กรคริสต์ ไม่ทิ้งคนตกขอบ


นายธนาสิทธิ์  สุวรรณประทีป คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์   กล่าวว่า  ชาวบ้านเหล่านี้มีปัญหาคล้ายกันหมดทั้งด้านที่ดินทำกิน  การเรียน สุขภาพ  บัตรประชาชน องค์กรจึงนำความรู้ที่มีไปดูแลส่วนที่รัฐยังบกพร่องในการดูแลผู้คนในพื้นที่  และโบสถ์ก็ถือเป็นศูนย์รวมชาวบ้านโดยทุกอาทิตย์จะมีกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ในหมู่ชาวบ้านด้วยกันเอง


นับว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับชาวบ้านกลุ่มคนไร้รัฐเหล่านี้  เช่น  กะเหรี่ยง   ที่นับถือศาสนาคริสต์ และได้รับการดูแลเอาใจใส่จากองค์กรด้านศาสนาที่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออย่างจริงจังและติดต่อมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว


ทั้งนี้  นายธนาสิทธิ์หรือพี่เอ้  บอกว่า ทุกวันนี้ ชาวบ้านได้ทิ้งวัฒนธรรมเก่าแก่ออกไปเยอะแล้ว  และรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา  แต่พวกเขาก็อยู่ร่วมกันได้ในหมู่บ้านที่ติดต่อใกล้ชิดกัน  เนื่องจากไม่มีทัศนะคติที่ไม่ดีต่อกัน  แต่สำหรับบรรดาราชการนั้นแทบไม่มองผู้คนเหล่านี้เลย


"ส่วนใหญ่ตำรวจจะมาเรียกเงินบ้างตั้งแต่ 500บาทขึ้นไป  ถ้าใครถูกจับแล้วไม่มีใบขับขี่ก็จะโดนปรับอีก1,000-1,500 บาท   ความเป็นอยู่ที่แย่อยู่แล้วก็แย่ลงไปอีก  พวกเขาออกนอกพื้นที่ก็ไม่ได้  และส่วนที่ถูกทางการไล่ให้ไปอยู่ที่อื่นก็มักต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่มีแต่หินทำมาหากินอะไรไม่ได้"  พี่เอ้  เล่าถึงชะตากรรมที่กลุ่มคนไร้รัฐได้รับ


ขณะเดียวกัน  พี่เอ้  ยังกล่าวอีกว่า  "ตำรวจชอบคนไร้รัฐหรือคนต่างด้าวพวกนี้  เพราะจะเข้าไปเอาทุกอย่างที่เอาได้จากชาวบ้าน"


อย่างไรก็ตาม  เมื่อถามถึงแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล  ที่กำลังเริ่มนำมาเก็บสำรวจข้อมูลประชากรในขณะนี้นั้น  พี่เอ้ มองว่าชาวบ้านเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รับรู้ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องอธิบายให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง  ซึ่งทางคณะกรรมการคาทอลิกฯ ก็ได้ร่วมกับภาครัฐให้ความรู้แก่ชาวบ้านแล้ว


พี่เอ้ กล่าวในตอนท้ายว่า  "ผมออกนอกพื้นที่เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นและอธิบายทำความเข้าใจกับชนกลุ่มไร้รัฐเหล่านี้  ซึ่งถ้าเราจะทำอะไรแล้วเราก็ต้องติดตามดูผลและปัญหาที่เกิดตามมาหรือยังตกค้างอยู่  ไม่ใช่มองว่าเรื่องของชาวบ้านอย่างเดียว  ซึ่งขณะนี้เรากล้าที่จะเปิดกว้างให้ทุกคนโดยไม่จำกัดศาสนาในทุกพื้นที่"


ภารกิจของรัฐต่อคนไร้สัญชาตินับล้านคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ  ถือเป็นภารกิจท้าทายระหว่างความมั่นคงและมนุษยธรรม  ที่จะต้องไม่ล่วงล้ำกัน  หากแต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเส้นแบ่งที่ว่านี้มีอยู่จริงหรือไม่  และถ้าหากว่าความมั่นคงและมนุษยธรรมคือเรื่องเดียวกันแล้ว จะทำให้มุมมองต่อคนไร้สัญชาติเหล่านี้เปลี่ยนไปอีกมิติหนึ่งได้หรือไม่


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net