Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 12 ก.ย.48      "ดูเผินๆ เหมือนจะดี สิ่งแวดล้อมไทยน่าจะดีขึ้น แต่มันมีอะไรซ่อนอยู่ ต้นทุนผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้น อาจจะทดแทนกับที่สหรัฐลดภาษีเลยก็ได้ ถือเป็นข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอีกอันหนึ่ง" นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงหัวข้อการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ


 


นายบัณฑูร ระบุถึงสาเหตุที่สหรัฐต้องบรรจุเรื่องสิ่งแวดล้อมในเอฟทีเอว่า เรื่องดังกล่าวเขียนอยู่ในกฎหมายซึ่งสหรัฐใช้เป็นกรอบใหญ่ในการเจรจากับทุกประเทศอยู่แล้ว โดยสหรัฐต้องการให้ประเทศคู่เจรจาบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ระบุชัดเจนว่าต้องการขายเทคโนโลยี สินค้า และบริการด้านสิ่งแวดล้อม


 


"พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าไทยทำไม่ได้ ก็เปิดให้สหรัฐเข้ามาทำเรื่องนี้ และหากดูจากเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับสิงคโปร์ในเรื่องนี้ ก็เป็นถ้อยคำไม่ต่างจากกฎหมายสหรัฐ หากไทยยอมรับเช่นเดียวกับสิงคโปร์ ก็เท่ากับตกเป็นอาณานิคมอำพราง เพราะยอมรับการบังคับใช้กฎหมายสหรัฐแล้ว"นายบัณฑูรกล่าว


 


นายบัณฑูร ระบุว่า สหรัฐยังเสนอถึงขั้นที่จะมีกลไกตรวจสอบด้วยว่าไทยบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมได้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ และมีการกำหนดโทษปรับถึง 15 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีความจำเป็น และถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของไทย  


 


ในส่วนที่ไทยเป็นภาคีในข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่แล้วนั้น นายบัณฑูรกล่าวว่า สหรัฐต้องการให้ไทยยึดถือในข้อตกลงเฉพาะที่ไทยและสหรัฐเป็นภาคีร่วมกันเท่านั้น ขณะที่สหรัฐไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาสำคัญๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ซีบีดี) พิธีสารเกียวโตเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ดังนั้นแม้ไทยจะร่วมเป็นภาคีทั้ง 2 ข้อตกลงก็นำมาบังคับใช้กับนักลงทุนสหรัฐไม่ได้


 


"ท้ายที่สุดสิ่งแวดล้อมจะถูกทำให้ดีขึ้นจริงหรือ ดูตัวอย่างกรณีนาฟต้า (เขตการค้าเสรีสหรัฐ-แคนาดา-เม็กซิโก) สำนักงานสถิติแห่งชาติเม็กซิโกชี้ว่าแต่ละปีเม็กซิโกได้การขยายตัวทางการค้า 14 พันล้านเหรียญ แต่มีต้นทุนความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่ต้องชดเชย 36 พันล้านเหรียญ" นายบัณฑูรระบุ


 


จากนั้น นายบัณฑูร กล่าวถึงข้อเสนอว่า ไทยควรกำหนดเป้าหมายในการเจรจาด้านสิ่งแวดล้อมของตัวเองให้ชัดเจน โดยควรตัดเรื่องการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมออกจากการเจรจา เพราะเป็นการแทรกแซงอธิปไตยของไทย พร้อมทั้งระบุลงไปว่า การทำเอฟทีเอ จะไม่ให้ข้อกำหนดอื่นขัดขวางหลักการในบทสิ่งแวดล้อม รวมถึงไม่ให้มีการขัดขวางการใช้พันธกรณีของอนุสัญญาอื่นๆ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ อีกทั้งควรระบุข้อกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ชัดเจนด้วยว่า จะไม่นำเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้


 


นายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และกรรมาธิการการพาณิชย์ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หอการค้าโลกมีท่าทีชัดเจนว่าอย่านำเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงานมาผูกกับการค้าในเอฟทีเอ เพราะจะเกิดปัญหาการกีดกันในแทบทุกกรณี อีกทั้งในทางวิชาการก็ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันได้ว่าการเชื่อมโยงกันจะทำให้ประเทศที่เจรจาดีขึ้น


 


"ถ้าอยากให้เป็นจริงควรผลักดันการบังคับใช้กฎหมายในประเทศเราเองดีกว่า ไม่ต้องผ่านเอฟทีเอ" นายเกียรติกล่าว


 


นายเกียรติ กล่าวด้วยว่า การเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐนั้นน่าเป็นห่วงในแทบทุกประเด็น โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ (NTB) ทั้งนี้ ในปี 2549 ประเทศไทยเจรจาเอฟทีเอกับ 12 ประเทศ ปี 2550 จะเจรจากับอีก 11 ประเทศ โดยมีงบประมาณในการศึกษาทั้งหมด 17 ล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังไม่รับฟังข้อเสนอแนะจากส่วนต่างๆ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องให้กันงบประมาณเพื่อมาชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ


 


ทั้งนี้ การเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ รอบที่ 5 จะจัดขึ้นราวปลายเดือนก.ย.นี้ ที่มลรัฐอาวาย สหรัฐอเมริกา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net