Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 4 ก.ย.48        "การที่เจ้าหน้าที่ของไทยพยายามเรียกร้องให้มาเลเซียส่งตัวชาวไทยมุสลิมกลับมา พูดไปคงไม่มีประโยชน์ แต่จะเป็นการขายหน้ามากกว่า และการที่รัฐบาลมาเลเซียจะร่วมผลักดันคนเหล่านี้กลับมายังประเทศไทยทั้งที่ยังมีสถานการณ์รุนแรงในภาคใต้ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศได้โดยจะมีองค์การระหว่างประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วยเช่น สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชา ชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และสุดท้ายก็อาจทำให้สถานการณ์ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้เลวร้ายมากยิ่งขึ้น" นายสมชาย หอมละออกล่าว


 


นายสมชาย หอมละออ ประธานคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ร่วมกับ นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะ กรรมการณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ( ครป.) นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานคณะทำงานนัก ต่อสู้สิทธิมนุษยชน และ น.ส.กชวรรณ ชัยบุตร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่ง ประเทศไทย ( สนนท.) ได้จัดแถลงข่าวกรณีชาวไทยมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 131 คนอพยพลี้ภัยเข้าไปในประเทศมาเลเซีย โดยร่วมกันเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยุติการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามพ.ร.ก.บริหารราชการแผ่นดินสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548


 


นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งส่งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ( กอส.) เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ และเข้าไปเยี่ยมชาวไทยมุสลิมทั้ง 131 คนที่ประเทศมาเลเซียเพื่อหาสาเหตุการลี้ภัยที่แท้จริงว่ามาจากการคุมคามของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกรณีใด


        


นายสมชาย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามเหตุผลและหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสนธิสัญญาผู้ลี้ภัยก็สามารถถือได้ว่าชาวไทยมุสลิมทั้ง 131 คนเป็นผู้หนีภัยประหัตประหาร ที่เป็นภัยจากการคุมคามซึ่งถูกจับกุมโดยไม่ชอบของเจ้าหน้าที่ หรือหนีภัยการข่มขู่ การถูกลอบสังหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของความหวาดกลัวที่ทำให้ต้องลี้ภัยไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งตามกฎหมายนี้ประเทศมาเลเซียไม่มีสิทธิ์ที่จะผลักดันชาวไทยมุสลิมเหล่านั้นให้กลับมายังประเทศไทย หรือดำเนินคดีลักลอบเข้าประเทศได้ เนื่องจากสถานการณ์ที่เป็นสาเหตุแห่งความหวาดกลัวยังไม่คลี่คลายหมดสิ้นไป แต่คนไทยเหล่านั้นจะกลับมาได้ก็ด้วยความสมัครใจ


       


นอกจากนี้ประธานคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน ยังกล่าวว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากคือการคุมคามการทำงานของนักต่อสู้สิทธิมนุษยชน นักศึกษา นักวิจัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา นายสะกอปา อาแว นักวิจัยผู้รวบรวมข้อมูลการวิจัยเรื่องคนหายก็ถูกลอบยิงจนได้รับบาดเจ็บสาหัส กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี


         


นายสุริยะใส เลขาธิการ ครป. กล่าวว่า ในส่วนของ ครป.ขอเรียกร้องรวม 3 ข้อ 1.ให้รัฐบาลเปิดหนทางให้ กอส. เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยไปเยี่ยมชาวไทยมุสลิมทั้ง 131 คนในประเทศมาเลเซียเพื่อสอบถามข้อมูลรายงานต่อสังคมว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพื่อสร้างความกระจ่างต่อสังคม เพราะเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อนเกี่ยวกับเรื่องระหว่างประเทศสูงมาก


 


" ที่ผ่านมาผมได้ข่าวมาโดยไม่ยืนยัน และควรต้องตรวจสอบเช่นกันว่า เรื่องการลี้ภัยนี้อาจจะซ้ำรอยกับการขึ้นบัญชีดำยาเสพติด เพราะทันทีที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. กระทรวงมหาดไทยเหมือนกับจะออกนโยบายให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่นำชื่อบุคคลในพื้นที่มารายงานตัวต่อทางการครั้งละประมาณ 15-20 คน ซึ่งคนเหล่านั้นจะอยู่ในลิสต์บัญชีผู้ต้องสงสัยหรือไม่เราไม่ทราบ แต่การตั้งธงให้นำบุคคลที่ต้องสงสัยมารายงานดังกล่าวเท่ากับเป็นการกดดันให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านอาจเหวี่ยงแห นำใครมาก็ไม่รู้แล้วให้รายงานตัวต่อทางการซึ่งกรณีจะคล้ายกับการขึ้นบัญชีดำคดียาเสพติด สุดท้ายแล้วทำให้สุจริตชนกลับเป็นแพะมีชื่ออยู่ในบัญชีดำผู้ค้ายาเสพติด" เลขาธิการครป. กล่าว


 


 นายสุริยะใสระบุข้อเรียกร้องข้อ 2.ว่า หากการลี้ภัยเกิดจากภัยคุมคามการประกาศใช้ พรก.จริง รัฐบาลก็ต้องแสดงความจริงใจการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วยวิธีสมานฉันท์และสันติวิธี อย่าทำแบบว่าตีสองหน้า ปากว่าตาขยิบ เพราะหากเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีกประเทศไทยก็ต้องตกที่นั่งลำบากในสายตาของประชาคมโลก


 


3.กรณีที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้สื่อมวลชนหยุดเสนอข่าวนั้น จะไม่เป็นประโยชน์ เพราะห้ามสำนักข่าวต่างประเทศไม่ได้ หากคนไทยต้องรู้ข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศ จะเป็นเรื่องน่าอับอายหรือไม่ แล้วจะอธิบายต่อประชาคมโลกอย่างไรเมื่อคนไทยไม่รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศของตัวเอง สื่อมวลชนควรจะพิจารณาด้วยตัวเองว่าเรื่องใดเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม


 


เลขาธิการ ครป. ยังกล่าวถึงการจัดโครงการบทบาทภาคประชาชนกับการมีส่วนร่วมในการลดความขัดแย้งตามแนวทางสมานฉันท์ และสันติวิธี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความเห็นของบุคคลต่างทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดเพื่อเสนอแนะต่อมาตรการการคลี่คลายสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งลดช่องว่างทางความคิดระหว่างคนในพื้นที่กับคนนอกพื้นที่ ซึ่งจะเริ่มจัดเวทีความคิดเห็น การอภิปรายศักยภาพสังคมกับการจัดการความขัดแย้งทั่วทุกภูมิภาค โดยเริ่มจัดครั้งแรกในวันที่ 17 ก.ย.นี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net