Skip to main content
sharethis


"ยังไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่" คำตอบของ ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อคำถามที่ว่าพอใจกับการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ที่ผ่านมาเพียงใด ก่อนที่จะหมดวาระในอีก 2 ปีข้างหน้า


 


เหตุผลที่ ศ.เสน่ห์ให้คือ สิทธิมนุษยชนถือเป็นระบบวัฒนธรรมอันหนึ่ง ไม่ใช่เพียงตัวบทกฎหมาย การทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ จึงถือเป็นการปฏิรูปวัฒนธรรม แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยยังคงทำร้ายตัวเองเหมือนเดิม เช่น การยอมรับความช่วยเหลือจากรัฐมากเหลือเกิน เหตุเพราะปัญหาเรื้อรังของความยากจน และวัฒนธรรมอุปถัมภ์ที่ฝังรากลึกมาช้านาน


 


นอกเหนือจากเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้ว เรื่อง "สิทธิชุมชน" ในการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น จึงเป็นเข็มมุ่งที่สำคัญอีกด้านหนึ่งในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน วัฒนธรรมอุปถัมภ์ ตลอดจนแก้ปัญหาสงครามแย่งชิงทรัพยากรระหว่างรัฐ/เอกชน กับชุมชน ที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาถึงกรรมการสิทธิฯ หลายร้อยเรื่อง และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


 


ศ.เสน่ห์อธิบายว่า สิทธิชุมชนเป็นช่องทางในการรักษาฐานทรัพยากร ที่เกิดขึ้นในบริบทของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ โดยไม่มองทรัพยากรเป็นเพียง "วัตถุดิบ" ตามแนวคิดปรัชญาตะวันตกที่ต้องการแสวงหามาด้วยราคาต่ำสุด เพื่อเป็นต้นทุนต่ำสุดในการผลิตสินค้า เพราะฐานทรัพยากรมีความหมายเป็นต้นทุนชีวิตของคนทั้งมวล โดยเฉพาะฐานทรัพยากรเขตร้อนอย่างประเทศไทย ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ


 


"แต่ถึงที่สุด เราต้องมองปัญหาอย่างเที่ยงตรง และเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของชุมชน ชุมชนที่ล่มสลายก็มีเป็นจำนวนมาก ประเด็นจึงไม่ใช่การเรียกร้องสิทธิชุมชน แต่ต้องฟื้นฟูสิทธิชุมชน"ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ สรุปหัวใจสำคัญ


 


อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาของคณะกรรมการสิทธิฯ แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็น "ยักษ์ไม่มีตะบอง" แต่ด้วยการทำงานที่แข็งขัน และไม่หวาดกลัวที่จะผลิตข้อเสนอแนะขัดแย้งกับอำนาจรัฐในหลายเรื่อง จึงน่าจะทำให้สังคมพอจะเรียกหน่วยงานนี้ว่า "องค์กรอิสระ" ได้เต็มปากเต็มคำที่สุดในห้วงเวลานี้


 


"เฉลี่ยแล้วปีหนึ่งเป็นสิบเรื่องที่เราเสนอรัฐบาลไป แต่ได้รับการตอบสนองน้อยมาก เราไม่มีอำนาจ แต่อย่าลืมว่าตะบองที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน ทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถที่จะปกป้องและเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพและไม่เป็นผู้ถูกกระทำ" ความรู้สึกของประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ที่เคยสะท้อนผ่านสื่อมวลชน


 


นอกจากปัญหาในเชิงโครงสร้างแล้ว ศ.เสน่ห์ ยังเล่าถึงอุปสรรคการทำงานด้านอื่นๆ ว่า แม้ต้นทุนสำคัญของคณะกรรมการสิทธิชุดนี้คือ กรรมการส่วนใหญ่ มีน้ำใสใจจริงในการทำงาน และมีใจอิสระ แต่ทั้งหมดก็มีที่มาแตกต่างกัน จึงต้องทำความเข้าใจกัน และเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันให้มากขึ้น ไม่ใช่แยกส่วนกันทำงานเหมือนที่ผ่านมา


 


นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาในส่วนข้าราชการของสำนักงานที่จะช่วยเขียนรายงาน หรือหนุนเสริมการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วย เพื่อผนึกกำลังกันสร้างกระแสให้สังคมตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนไว้เป็นหลักประกันที่คณะกรรมการสิทธิฯ ชุดใหม่ ไม่อาจปฏิเสธได้ หลังจากชุดแรกที่ "แข็งขัน"และ "อิสระ" นี้จะหมดวาระลงในวันที่ 13 ก.ค.2550


 


2 ปีหลังจากนี้ จะเป็นช่วงเวลาที่เคี่ยวข้นสำหรับการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ โดยเฉพาะส่วนที่ทำงานเกี่ยวกับ "ฐานทรัพยากร" ซึ่งเป็นปมปัญหาใหญ่สำหรับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศขณะนี้


 


งานสัมมนา "ฐานทรัพยากรและสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์สากล"  เมื่อวันที่ 26-28 ส.ค.ที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปรับและเชื่อมโยงกระบวนการทำงานของอนุกรรมการด้านฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิฯ  ซึ่งประกอบไปด้วย อนุกรรมการสิทธิในการจัดการดินและป่า, อนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่, อนุกรรมการด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,อนุกรรมการด้านพลังงานและอุตสาหกรรม, อนุกรรมการด้านทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญา


 


"ปัญหาการละเมิดสิทธิ โดยเนื้อแท้เป็นการแย่งชิงฐานทรัพยากร ที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ชาวบ้านต้องต่อสู้กันจนตัวตาย แปลงเดียวไร่เดียว สู้กันเป็น 10 ปี 20 ปี แต่ตอนนี้นโยบายรัฐเอื้อต่อทุนอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญ ทุกมิติของทุกอนุกรรมการกำลังถูกกระหน่ำด้วยการแก้กฎหมายทั้งระบบ 400 ฉบับที่ทำอย่างรวดเร็วมาก"


 


สุนี ไชยรส ประธานอนุกรรมสิทธิในการจัดการที่ดินและป่าสะท้อนภาพที่เป็นปัญหาร่วมของทุกอนุกรรมการ


 


นอกจากนี้เธอยังระบุด้วยว่า นโยบายที่ดูเหมือนช่วยเหลือคนจน อย่างโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน นอกจากจะเป็นการเปิดช่องให้นายทุนเข้าไปกว้านซื้อที่ดินได้กว้างขวางกว่าเดิมแล้ว นโยบายจดทะเบียนคนจน ยังเปิดโอกาสให้ผู้ว่าซีอีโอกวาดต้อนกรณีความขัดแย้งในที่ดินทำกินระหว่างชาวบ้านกับรัฐไปอยู่ในกรอบการจัดการของโครงการจดทะเบียนคนจน


 


"90% กำลังจะพิสูจน์สิทธิ์กันอยู่แล้ว ก็ต้องไปกองอยู่ที่ทะเบียนคนจน ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารัฐจะไปเอาที่ที่ไหนมาแจก นโยบายคนจนทำให้สิทธิ์ของประชาชนเบลอไปหมด รัฐบอกว่าอย่าเรียกร้องสิทธิ เดี๋ยวรัฐจะจัดให้เอง ทั้งที่มันคนละเรื่องกัน" สุนีกล่าว


 


นี่คือบทสรุปของ 96 กรณีปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องที่ดินและป่าระหว่างชุมชนกับภาครัฐภายในปี 2548  ซึ่งถือเป็นเพียง 1 ใน 5 ส่วนของปัญหาที่อนุกรรมการทั้ง 5 ชุดกำลังเผชิญอยู่


 


ท้ายที่สุดของการประชุมร่วมกันระหว่างอนุกรรมการด้านฐานทรัพยากรทั้งหมด มีการเตรียมที่จะปรับปรุงการทำงานเชิงรุกเกี่ยวกับกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับสังคม การจัดระบบฐานข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ยังคงกระจุกตัวและไม่ได้รับการเผยแพร่เท่าที่ควร ตลอดจนการปรับการทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งเอ็นจีโอ และชาวบ้านในพื้นที่ให้เข้มแข็งขึ้น


 


น่าจับตาดูอย่างยิ่งว่า ขณะที่สงครามแย่งชิงทรัพยากรกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ  2 ปีที่เหลือของ "ยักษ์ไม่มีตะบอง" ตนนี้จะเป็นเช่นไร จะหลงเหลือสิ่งใดไว้ให้สังคม เพราะไม่แน่ว่า หลังจากนั้นแล้วเราอาจไม่มีโอกาสมี "ยักษ์" อีกเลยก็เป็นได้ ! 


 


 


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net