Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 4 สิงหาคม 2548 ที่ห้องประชุม กอ.สสส.จ.ยะลา บนศาลากลางจังหวัด นายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย พ.อ.รังสรรค์ สิริรังษี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) จังหวัดยะลา เปิดแถลงข่าวกรณีที่ประชาชนหวั่นวิตกกระแสข่าวลือของกลุ่มผู้ไม่หวังดี ให้หยุดงานในวันศุกร์


   


นายบุณยสิทธิ์ กล่าวว่า การทำงานวันศุกร์ของข้าราชการที่เป็นมุสลิมอนุญาตให้ออกประกอบศาสนกิจได้ และในส่วนของผู้นำศาสนาได้ออกมาบออกแล้วว่า อิสลามไม่ได้ห้ามให้หยุดการทำมาหากิน


 


จากนั้น เวลา 15.00 น. วันเดียวกัน นายณฐพลฒ์ วิเชียรเพริศ รองผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุข(กอ.สสส.จชต.)จังหวัดยะลา และ พ.อ.กิตติ อินทรวง เลขาธิการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา นำกำลังทหารและพลเรือน พร้อมด้วยรถกระจายเสียงออกแจกจ่ายประกาศของ กอ.สสส.จ.ยะลา เรื่อง "องค์กรศาสนาปฏิเสธข่าวลือ และให้ยึดมั่นหลักศาสนา" ที่บริเวณตลาดสดถนนรถไฟเทศบาลนครยะลา เพื่อชี้แจงให้พ่อค้าแม่ค้าและประชาชน ตลอดจนผู้ที่สัญจรไปมาได้ทราบถึงกรณีที่มีผู้ห้ามไม่ให้ประกอบอาชีพในวันศุกร์ โดยอ้างว่าขัดต่อหลักศาสนาอิสลามนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด


 


นายณฐพลฒ์ กล่าวว่า ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าได้หวั่นไหว และขอให้มั่นใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ได้ให้ความคุ้มครองดูแลในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้อง และอย่าได้หลงเชื่อต่อข่าวลือ เนื่องจากการออกไปทำงานในวันศุกร์ ไม่ได้ขัดกับหลักศาสนาแต่อย่างใด เพราะอิสลามไม่ได้ห้าม หรือให้หยุดการทำมาหากิน หรือประกอบอาชีพในวันศุกร์


 


นายนิมุ มะกาแจ รองประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา กล่าวว่า ในศาสนาอิสลามนั้นมีวันสำคัญตลอดทั้งปี แต่ในวันสำคัญดังกล่าวนั้นไม่มีบทบัญญัติในการให้หยุดการประกอบอาชีพแต่อย่างใด แม้กระทั่งวันตรุษ หรือวันรายอ ที่เป็นวันสำคัญที่สุดในศาสนาอิสลามก็ไม่มีบทบัญญัติว่าต้องหยุด แต่เมื่อถึงเวลาประกอบศาสนกิจก็ทำตามปกติ


 


ส่วนที่ ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ชาวบ้านพบแผ่นปลิวเป็นแถลงการณ์ฉบับที่ 1 บริเวณแนวชายแดน และริมถนนสายยะรม-เบตง จึงนำมาให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบ คาดว่าน่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มพี่น้องชาวมุสลิมฝ่ายสงบ


 


เนื้อหาในใบปลิวดังกล่าวสรุปได้ว่า จากการเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน สร้างความสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้ ทั้งด้านจิตวิทยา ด้านสังคมและด้านเศรษฐกิจ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากกลุ่มที่อ้างว่าต่อสู้เพื่อที่น้องชาวมลายูมุสลิมปัตตานี เพื่อให้พ้นจากการถูกกดขี่จากชาวสยามที่ยึดครองแผ่นดินปัตตานีอันเป็นประวัติศาสตร์ที่สืบต่อเนื่องมาช้านาน และมีการอ้างในการเรียกร้องการปลดแอกชาติปัตตานีเป็นเงื่อนไขการสร้างสถานการณ์นั้น


 


ทั้งนี้ ในความจริงหลายเรื่องที่เกิดขึ้น ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและขบวนการค้ายาเสพติด จึงทำให้ขบวนการแปรสภาพจากจิตวิญญาณแห่งนักรบ นักต่อสู้ที่มีศักดิ์ศรี กลายเป็นนักรบรับจ้าง เพื่อก่อสถานการณ์เอื้อประโยชน์ต่อคนทำลายชาติและศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้ที่หลงทางอย่างให้อภัยไม่ได้


 


ในแผ่นปลิวยังระบุอีกด้วยว่า การต่อสู้และการญิฮาดในหลักศาสนานั้น เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และบริสุทธิ์ หลักการนี้ปกป้องศาสนามิให้ถูกทำลาย องค์พระอัลลอฮ์ (ช.บ.) ตรัสว่า การญิฮาดนั้นเป็นอาภรณ์ของผู้ที่มีความยำเกรงในพระองค์ เป็นสิ่งที่ดีเลิศ แต่การกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ห่างเหินกับหลักการดังกล่าว เป็นการง่ายที่กำหนดฆ่าคน ทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ แม้กระทั้งสร้างความแตกแยกระหว่างศาสนา


 


ทั้งนี้ หลักการอิสลามไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งการทำลาย หลักการอิสลามอยู่บนพื้นฐานแห่งความเคารพในสิทธิมนุษยชน สร้างสังคมให้ปกติสุข ศาสนาอิสลามเป็นดวงประทีปชี้นำทาง ส่องแสงสว่างให้แก่ประชาชาติ มิใช่การทำลายอย่างที่มีการแอบอ้างเกิดขึ้นในปัจจุบัน


 


 


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net