Skip to main content
sharethis

เจริญ คำภีรภาพ


อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร


 


พระราชกำหนดนี้ใช้วิธีการที่แยบยล และใช้เทคนิคที่ยิ่งกว่าศรีธนญชัย ความหมายก็คือว่า รัฐธรรมนูญสร้างสิทธิขึ้นมา แต่ว่าพระราชกำหนดนี้ไปประกาศเขต คือกำหนดเอาเขตพื้นที่เสียก่อนว่าพื้นที่ใดเป็นเขตที่จะต้องประกาศว่าเป็นเขตที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากนั้นก็โอนอำนาจไปให้แกฝ่ายบริหาร แล้วฝ่ายบริหารก็ไปออกกฎหมายไปยกเลิกสิทธิที่ก่อตั้งโดยรัฐธรรมนูญ ท่านลองคิดดูซิ ท่านเอาทฤษฎีกฎหมายไหนมาอธิบายว่าฝ่ายบริหารสามารถออกฎหมายมาลบล้างรัฐธรรมนูญได้


 


สิทธิที่รัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ไปยกเลิกโดยอัตโนมัติ แต่พระราชกำหนดให้อำนาจคณะรัฐมนตรีประกาศเขต เขตให้อำนาจฝ่ายบริหาร ประเด็นก็คือฝ่ายบริหารมีอำนาจในการยกเว้นรัฐธรรมนูญกระนั้นหรือ....นี่ ถ้าไม่เรียกว่าเป็นปัญหาของนักกฎหมาย หรือเป็นปัญหาของกฎหมายจะเรียกว่าอะไร


 


อ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตกุล


อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ ปี 2534


อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


ถามว่า พระราชกำหนดฉบับนี้มันคืออะไร มันคือการรวมกันของพระราชบัญญัติ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติสถานการณ์ฉุกเฉิน 2495 กับพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก 2457 มารวมกันเป็นฉบับเดียว


 


เรื่องแบบนี้ นายกรัฐมนตรีคิดเองได้ไหม....ไม่ได้นะครับ นี้เป็นผลงานของนักกฎหมายระดับศาสตราจารย์  เข้าใจว่านักกฎหมายระดับรองศาสตราจารย์ หรือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ยังไม่สามารถเขียนให้บูรณาการขนาดนี้


 


ผมเองคิดว่าเป็นความเข้าใจถ้ามองโลกในแง่ดี คือ เข้าใจว่า นึกว่าทำแบบนี้แล้วจะแก้ปัญหาได้ โดยบูรณาการเสียแบบนี้ก็จะแก้ปัญหาได้  ทีนี้ปัญหา เราเห็นแล้วว่าภาคใต้ เราแก้ปัญหาด้วยอำนาจ มันจะยิ่งพังมาตลอด คือแก้ปัญหาแล้วกระทบกับคนบริสุทธิ์ มันจะยิ่งลุกลามไปกันใหญ่


 


ผมคิดว่าตอนนี้ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยยิ่งเข้มแข็งมากยิ่งพังเร็ว จะพังเร็วกว่า อาจจะอยู่ไม่ครบ เพราะเข้มแข็งมากเกินไป ถ้าเข้มแข็งน้อยกว่านี้จะอยู่ครบ  คืออำนาจยิ่งมากจะยิ่งพังเร็ว


 


เรื่องแบบนี้ ระดับศาสตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนไม่ทราบหรืออย่างไร ท่านร่างรัฐธรรมนูญ 2540 นะครับ ท่านได้เป็นเลขาของ กอส.ด้วยนะครับ  ไม่ปรึกษาหารือกันก่อนหรืออย่างไรครับ ผมสงสัยมากเลย  เพราะท่านเป็นคนร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้  คนทำ 3 เรื่องนี้นี่ เป็นคนคนเดียวกัน มันมีอะไรบางอย่างซึ่งขัดแย้งอยู่ในตัวเอง  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ยกย่องกันว่า มีสิทธิเสรีภาพดีที่สุดเท่าไทยเคยมีมา  แต่ก็ร่างกฎหมาย พ.ร.ก. งดใช้หมวดสิทธิเสรีภาพทั้งหมด 


 


ผมเรียนว่ามาตราที่มีปัญหาที่สุดคือ มาตรา 21 วงเล็บ 6 คือมาตรานี้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินขั้นร้ายแรง คือ 3 จังหวัดขั้นร้ายแรงไปแล้วนะครับ  นายกฯ มีอำนาจตามมาตรา 10 วงเล็บ 6 คือจะสั่งห้ามใดๆ สั่งการใดๆ ก็ได้  ถึงแม้จะคำว่าเท่าที่จำเป็นมากำกับไว้ก็ตาม สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่ดุลยพินิจอยู่ดี


 


ผมอยากให้เปรียบเทียบกับอำนาจแบบนี้ ไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่เคยมี เราเคยมีมาแล้ว 5 ครั้ง อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2502 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ตอนนั้นเรียกว่า มาตรา 17 ต่อมาอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2515 สมัยจอมพลถนอม  แล้วก็ปี 2519 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  แล้วก็ปี 2520 หลังยึดอำนาจ คือ มาตรา 27  แล้วล่าสุด รสช. มาตรา 27 เหมือนกัน นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้  เราเคยมีมาแล้ว 5 ครั้ง แต่ทั้งหมดนั้นล้วนแต่อยู่ในรัฐบาลที่เป็นเผด็จการทั้งสิ้น เป็นรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ขึ้นมาหลังจากฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง แล้วระหว่างร่างใหม่ ก็มีฉบับถาวรขึ้นมา สูตรของการปฏิวัติ เขาต้องมีอำนาจครอบจักรวาลอยู่อันหนึ่ง เพื่อประกันว่าปัญหาทุกอย่างจะต้องแก้ได้ โดยมีตัวนี้ ไม่ต้องมาขอตามกฎหมาย


 


ทีนี้ การห้ามทุกอย่าง เท่ากับสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ 40 มาตรา ตั้งแต่มาตรา 16 ถึง....  เท่ากับมันงดใช้  และจะงดใช้เมื่อใดก็ได้ตามแต่ท่านเห็นสมควร  ก็เท่ากับว่านายกฯ ได้ขึ้นไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญนะครับ  อย่าลืมว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ  ตอนนี้นายกฯ ได้ปีนขึ้นไปอยู่เหนือรัฐธรรมนูญและทหาร โดยฝีมือของนักกฎหมายระดับศาสตราจารย์ด้านมหาชน 


 


ผมเองก็เป็นลูกศิษย์ท่านมาก่อนนะครับ  อาจจะต้องมาพิจารณาแล้วว่า ตำราของเขาที่ใช้ในการประกอบการเรียนการสอนจะเอาอย่างไรดี 


 


ผมเรียนอย่างนี้นะครับ ไหนๆ ก็พูดแล้ว ก็ต่อให้จบเฉพาะประเด็นนี้  ผมอยากจะเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นการทำลายนายกฯ นะครับ  คือเป็นการทำลายนะครับ แล้ว 3 เดือนเห็นผลเลยครับ คือการประกาศอายุมัน 3 เดือน ให้ต่อ 1 ครั้ง  หมายถึงถ้า 3 เดือนไม่สำเร็จ มันเห็นผลเลยว่าทำลายขนาดไหน ขณะนี้ก็ทำลายไปมากแล้วนะครับ


 


เรื่องแบบนี้ นักกฎหมายมหาชนที่สอนเรื่องสิทธิเสรีภาพ สอนเรื่องหลักประชาธิปไตย สอนเรื่องหลักนิติรัฐ ไปเขียนกฎหมายแบบมาตรา 16, 11 (6) ได้อย่างไร ให้อำนาจทุกอย่าง นี่เป็นกฎหมายเผด็จการนะครับ ไม่ใช่กฎหมายที่ใช้ในระบอบประชาธิปไตย ท่านเขียนได้อย่างไร  ผมคิดว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยนะครับ


 


ผมเข้าใจว่า นี่อาจจะเป็นเจตนาหรือเปล่า  เจตนาทำลายนายกรัฐมนตรี  ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น  อาจจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีคนนี้ไม่รักระบอบประชาธิปไตยเท่าที่ควร เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก มีแนวโน้มเป็นฮิตเลอร์  เพราะฉะนั้น เลยเสียสละตนเองเข้าไปทำลายนายกรัฐมนตรี  ผมคิดในแง่ดีนะครับ คือถ้าคิดด้วยเหตุด้วยผลแล้ว ในฐานะอาจารย์สอนกฎหมายคนหนึ่ง  ผมคิดไม่ออกนะครับ ว่าคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนดีมาก ทำไมท่านถึงออกกฎหมายงดใช้รัฐธรรมนูญที่ท่านเขียนขึ้นมา  มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันเลย  ผมก็ต้องคิดว่าท่านพยายามปกป้องประชาธิปไตยอยู่


 


 


อ. คมสัน โพธิ์คง


อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


 


อาจารย์วิษณุแกก็สอนผม อาจารย์บวรศักดิ์แกก็สอนผม สิ่งที่ผมพูดให้ฟังก็คือสิ่งที่แกสอนและสิ่งที่อยู่ในร่างประกาศกรรมการสิทธิก็คือสิ่งเขียนอยู่ในตำราอาจารย์บวรศักดิ์ แต่พอถึงเวลาทำทำไมแกทำเสียเอง


 


อาจารย์วิษณุเนี่ยผมไม่แปลกใจเพราะว่าแกทำอย่างนี้มาตลอด ตั้งแต่รสช. ตั้งแต่ยุคไหนยุคไหนแกทำมาตลอด เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปสงสัยอาจารย์วิษณุเพราะนั่นคือพฤติกรรมปกติของแก แต่ทีผมไม่อยากเชื่อก็คืออาจารย์บวรศักดิ์แกก็พลอยไปกับเขาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net