Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-13 ก.ค.2548 สภาทนายความชี้กระบวนการรัฐล่าช้า ดันเอ็นจีโอและตัวแทนชนเผ่า คนไร้รัฐ คนพลัดถิ่นและคนตกหล่น เป็นทีมสำรวจและช่วยเหลือผู้ไม่มีสถานะบุคคล โดยที่รัฐต้องไม่ผลักดันเขาออกนอกประเทศ ไม่จับกุม แต่ต้องให้ตัวแทนชาวบ้านทุกกลุ่มได้ประชุมร่วมกับภาครัฐทุกขั้นตอน ทั้งในระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ

ที่ห้องประชุม โรงแรมลานนา พาเลซ จ.เชียงใหม่ สภาทนายความร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒน
ธรรม ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การกำหนดสถานะบุคคลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้กับตัวแทนชนเผ่าบนพื้นที่สูง คนไร้รัฐ คนพลัดถิ่น และคนตกหล่น เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติในกรอบการทำงานเรื่องการกำหนดสถานะบุคคลและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานอนุกรรมการด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบัน มีบุคคลในประเทศไทยเป็นจำนวนมากนับล้านคน ที่ยังไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคนบนพื้นที่สูง ชาวเขา คนไร้รัฐ คนไร้รากเหง้า คนพลัดถิ่น และคนที่ตกหล่น จึงทำให้คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน ซึ่งคนเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าถึง
การคุ้มครองสิทธิและกระบวนการช่วยเหลือทางกฎหมายได้

"ทำอย่างไร ถึงจะให้พวกเขามีตัวตน มีลักษณะความเป็นคน โดยมีบัตรรับรองสถานะบุคคลอย่างแท้จริง ซึ่งคิดว่า ถ้าทางเอ็นจีโอที่รับผิดชอบงานด้านนี้ร่วมมือกันเก็บข้อมูลในพื้นที่ เชื่อว่าคนที่ได้รับการสำรวจทั้งหมด น่าจะได้บัตรสถานะบุคคลตามที่จำแนกเอาไว้ทุกคน เพราะที่ผ่านมานโยบายรัฐที่ผ่านมาไม่ได้มีการจำแนกคนออกมาให้ชัดเจน และรัฐก็ดำเนินการกันเอง โดยที่ให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมน้อย จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เกิดความไม่เข้าใจ เกิดช่องว่างระหว่างประชาชนกับรัฐมากขึ้น ดังนั้น รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น" นายสุรพงษ์ กล่าว

ด้าน นายวินิจ ล้ำเหลือ ประธานอนุกรรมการด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาด้านสถานะบุคคลนี้ ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่รัฐจะต้องไม่ทำการผลักดันพวกเขาออกนอกประเทศ และต้องไม่จับกุม แต่ต้องให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้ามีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ และควรมีการผลักดันยุทธศาสตร์ทางตรง ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ทางอ้อมเหมือนยุทธศาสตร์ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอให้คณะ
รัฐมนตรีเป็นมติออกมา เมื่อวันที่18 ม.ค.2548 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายฉัตรชัย บางชวด ตัวแทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ยอมรับว่าทางภาครัฐนั้นยังมีปัญหาในเรื่องการทำงานยังไม่เป็นระบบ มีความล่าช้า เนื่องจากกระบวนการพิจารณามีความซับซ้อน และไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมไปถึงปัญหาในเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพิจารณาหาแนวทางในการปฏิบัติให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์กันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net