Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 ก.ค.48 เช้าวันนี้นางสาวคอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมรับประทานอาหารเช้ากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี และนายกันธีร์ ศุภมงคล รมว.การต่างประเทศ รวมทั้งมีการเจราจาทวิภาคีร่วมกับนายกันธีร์ในหลายประเด็น

โดยนางสาวคอนโดลีซซา ไรซ์ ระบุถึงประเด็นในการหารือกับนายกันธีร์ว่า มีทั้งประเด็นที่รัฐบาลเกาหลีเหนือตัดสินใจร่วมการประชุม 6 ฝ่ายที่กรุงปักกิ่งในเดือนส.ค.นี้ เรื่องความต้องการให้ไทยกดดันให้เกิดความปรองดองในพม่า เรื่องแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมาถูกต้องแล้ว รวมถึงการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ

นอกจากนี้นางไรซ์ยังรับปากจะทบทวนการขึ้นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในสินค้าทะเลของไทย เพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ซึนามิตามที่รัฐบาลไทยร้องขอ พร้อมกันนั้นยังได้ลงพื้นที่จังหวัดพังงาเพื่อเยี่ยมเยาวชนและชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยซึนามิด้วย

ขณะเดียวกันในวันนี้ (11 ก.ค.) ถือเป็นวันแรกของการการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ รอบที่ 4 ที่รัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 11-15 ก.ค.นี้ โดยก่อนหน้านี้ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลังระบุว่าในการหารือกับทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้แสดงจุดยืนกรอบการเจรจาของไทยว่ายังคงมีลักษณะ positive list approach

"ทางสหรัฐตอบข้อเสนอของไทยแล้ว ซึ่งจะทำให้นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจา เอฟทีเอไทย- สหรัฐ มีจุดยืนในการเจรจาที่ชัดเจน" ดร.สมคิดกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสหรัฐต้องการให้เป็นลักษณะ negative list approach ที่กำหนดให้เปิดเจรจาเสรีภาคบริการโดยให้ถือว่ารายการใดที่ประเทศไทยไม่ได้นำขึ้นมาเจรจาถือว่าพร้อมเปิดเสรีทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบ

ด้านนายนิตย์ พิบูลย์สงคราม เปิดเผยก่อนเดินทางไปเจรจาเอฟทีเอยังสหรัฐว่า การเจรจาผ่านมา 3 รอบมีความคืบหน้าในประเด็นที่เป็นประโยชน์กับไทยเกี่ยวกับการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี(NTBs) ได้แก่ มาตรฐานสุขอนมัยพืชและสัตว์ (SPS) และอุปสรรคด้านกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรฐานสินค้า (TBT)

สำหรับหัวข้อที่จะยกขึ้นเจรจากับฝ่ายสหรัฐฯนั้น ไทยจะผลักดันเรื่องการจัดตั้ง Committee on SPS เพื่อให้เป็นกลไกในการแก้ปัญหาที่ยังต้องเผชิญอยู่ ส่วน TBT ไทยจะผลักดันการมีความตกลงยอมรับมาตรฐานร่วม (Mutual Recognition Agreement :MRA) สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม
ขณะที่ในภาคบริการ สหรัฐรับปากที่จะหารือเรื่อง ข้อกำหนดคุณสมบัติวิชาชีพ (Professional Qualifications) ส่วนโทรคมนาคม ไทยจะไปอธิบายแผนแม่บทโทรคมนาคมแห่งชาติของไทย

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวว่ากระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ค.)
เพื่อตั้งสำนักยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ (สยค.)โดยหน่วยงานดังกล่าวเป็นแนวคิดของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้มีองค์กรเพื่อดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ ติดตามโครงการที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปิดเสรีตั้งแต่เริ่มเจรจา-ระหว่างเจรจา-หลังเจรจา และทำการประเมินผล เตรียมรองรับผลกระทบที่เกิดจากการตกลง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน

ทั้งนี้ จะต้องใช้งบประมาณราว 500 ล้าน บาท เพื่อบริหารโครงการ 3 ปี ใน 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการสร้างช่องทางเข้าถึงตลาดเป้าหมาย โดยเน้นประเทศจีนและญี่ปุ่น 2.โครงการศึกษาผลกระทบและวางแผนปรับโครงสร้างล่วงหน้ารับเอฟทีเอ 3.โครงการศูนย์ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ และ4.โครงการรณรงค์ความรู้ด้านการค้าต่างประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net