Skip to main content
sharethis

นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ รองผู้ว่าการอาวุโสกลุ่มพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้หยุดทำงานเชิงรุก ในโครงการพัฒนาเหมืองสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เกิดความไม่สงบ เหตุ การณ์ไม่ค่อยดี หากลงไปทำกิจกรรมกับชาวบ้านกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจทำให้เกิดความแตกแยกขึ้นได้ โครงการฯ นี้ ยังต้องทำความเข้าใจกับประชาชนพื้นที่มากพอสมควร ถึงจะดำเนินการได้

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ถ้ามีแรงผลักดันของประชาชนในพื้นที่ ต้องการให้ดำเนินโครงการฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็พร้อมจะเข้าไปดำเนินการ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโครงการ แต่ตอนนี้ต้องปล่อยไปก่อน ไม่รุกแต่ไม่เลิก จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ขณะนี้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ยังประสานกับชาวบ้านตลอด

เป็นที่น่าสังเกตว่า ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้นายพิชยา เพิ่มทอง หัวหน้าโครงพัฒนาเหมืองสะบ้าย้อย ไปศึกษาแหล่งถ่านหินในประเทศพม่าและลาว โดยนาย
พิชยายังคงเดินทางเข้าพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการฯ อยู่เป็นระยะ

ก่อนหน้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จะตัดสินใจชะลอโครงการฯ นี้ ได้มีคนร้ายลอบวางเพลิงอาคารสำนักงานชั่วคราวโครงพัฒนาเหมืองสะบ้าย้อย ที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลสะบ้าย้อย เสียหาย 2 หลัง เมื่อเวลา 04.00 น. วันที่ 16 พฤษภาคม 2548 โดยในช่วงเกิดเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอยู่ในอาคารดังกล่าว ซึ่งเป็นคืนเดียวกับที่คนร้ายลอบก่อเหตุวางเพลิงและโรยตะปูเรือใบในจังหวัดสงขลา 8 แห่ง และจังหวัดปัตตานี 43 แห่ง

ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นายณรงค์ศักดิ์ ไปมอบเงินสนับสนับสนุนโครงการ 1 อำเภอ 1โรงเรียนในฝัน ให้กับโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา มีคนร้ายทิ้งใบปลิวที่บริเวณโรงพยาบาลสะบ้าย้อย ซึ่งอยู่ห่างจากโรงเรียนดังกล่าวประมาณ 300 เมตร มีข้อความว่า "แผ่นดินของกู ใครอย่ามายุ่ง (ปัตตานี)"

สำหรับการดำเนินการโครงการพัฒนาเหมืองสะบ้าย้อยนั้น เอกสารข้อมูลเบื้องต้นโครงการฯ จัดทำโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ระบุแผนงานระหว่างปีงบประมาณ 2547 - 2551 ไว้ดังนี้

การศึกษาและพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อพัฒนาทรัพยากรและชุมชน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงกลางปี 2549 ส่วนแผนมวลชนสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์สะบ้าย้อย เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนสิ้นสุดโครงการ เช่นเดียวกับการจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานและศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาฯ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงกลางปี 2549
สำหรับการศึกษาและจัดทำแผนป้องกันผลกระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อม (EIA) เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 ถึงสิ้นปี 2550 โดยจะดำเนินการขอประทานบัตร ตั้งแต่มกราคม 2549 จนถึงปี 2551

ทั้งนี้ การศึกษาและจัดทำแผนป้องกันผลกระทบชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่ในแผนระบุว่า จะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net